จอร์เจีย เมโลนี : นโยบายของนายกรัฐมนตรีอิตาลีคนใหม่จะกระทบสหภาพยุโรปอย่างไร

 

Giorgia Meloni

ที่มาของภาพ, Reuters

แคทยา แอดเลอร์

บรรณาธิการภูมิภาคยุโรป

จากนักเคลื่อนไหวในวัยรุ่นผู้มีแนวคิดขวาจัดและมีพื้นเพมาจากย่านชนชั้นแรงงานในกรุงโรม ตอนนี้ฝันของจอร์เจีย เมโลนี กลายมาเป็นจริงแล้วหลังก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี

ในฐานะนักการเมืองที่ทั้งทำงานหนักและฉลาดหลักแหลม นางเมโลนี แสดงบุคลิกเด่นสองด้านตลอดการหาเสียงที่ผ่านมา ด้านหนึ่ง เธอมีท่าทีแข็งกร้าวและกล้าลุย อีกด้านหนึ่ง เธอวางตัวเป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างพอดี และในที่สุด ส่วนผสมดังกล่าวก็ปูทางให้เธอก้าวเข้าสู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอิตาลีได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี มีชาวอิตาลีหลายล้านคนที่ไม่ได้โหวตเลือกเธอ พวกเขาบอกว่าแนวคิดชาตินิยม, นโยบายปกป้องทางการค้า (protectionism), แนวคิดต่อต้านผู้อพยพ และค่านิยมเรื่องครอบครัวแบบอนุรักษ์นิยม ไม่ได้สะท้อนตัวตนของพวกเขา

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีนักสำหรับอียู หรือสหภาพยุโรป

อียูกังวลที่นางเมโลนี มีแนวคิดชาตินิยมอย่างแรงกล้า อิตาลีเป็นประเทศสมาชิกอียูที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 และยังเป็นประเทศร่วมก่อตั้งอียูด้วย แต่นางเมโลนีเคยแสดงออกว่าเคลือบแคลงใจต่อสหภาพนี้

ระหว่างหาเสียง เธอมักพูดว่าอิตาลีถูกเหยียบย่ำโดยประเทศอียูที่ใหญ่กว่าและร่ำรวยกว่า แม้ว่าเธอไม่เคยออกมาเรียกร้องให้อิตาลีเลิกใช้เงินยูโรหรือให้ออกจากการเป็นสมาชิกอียู มองกันว่าเธอจะโอนเอียงไปทางประเทศยุโรปที่ถูกอียูมองว่า “เป็นปัญหา” อย่างฮังการีและโปแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องนโยบายผู้อพยพ

“อย่างไรก็ดี อียูไม่ควรจะต้องตื่นตระหนกอะไร” นิโคเลตตา ปิรอซซิ จากสถาบันความสัมพันธ์นานาชาติในกรุงโรม บอกกับฉัน เธอบอกว่าเมโลนี เป็นนักการเมืองที่มองอะไรตามความเป็นจริงและเล็งเห็นว่าเงินทุนจากอียูสำคัญแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินช่วยเหลือเรื่องโควิด-19 ที่ประเทศต่าง ๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ เพื่อที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่

สถานะการเงินของอิตาลีอาจเป็นอีกเรื่องที่อียูกังวล อิตาลีเป็นประเทศที่มีหนี้มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป แต่คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการของนางเมโลนี ต้องอาศัยงบประมาณสูง นโยบายที่เธอสัญญาไว้มีทั้งการสนับสนุนดูแลผู้พิการ การเลี้ยงดูเด็ก คนวัยเกษียณ และผู้หญิงอิตาลี เธอบอกว่าเธอพยายามจะชักชวนให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้นเพื่อจะได้ลดจำนวนแรงงานอพยพในอิตาลี

คำสัญญาเหล่านั้น – รวมถึงที่ให้คำมั่นว่าจะเก็บภาษีแบบอัตราคงที่ – ต้องใช้เงินเยอะมาก ไม่ว่านโยบายเหล่านี้จะทำได้จริงหรือไม่ นี่หมายความว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณไปทำอย่างอื่นน้อยลง และต้องเผชิญแรงกดดันให้ไปกู้เงินเพิ่ม

Leader of Brothers of Italy Giorgia Meloni holds a sign at the party's election night headquarters

ที่มาของภาพ, Reuters

ชัยชนะของนางเมโลนี เกิดขึ้นในช่วงที่ยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตสงครามในยูเครน นายกรัฐมนตรีคนใหม่รู้ดีว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของชาวอิตาลีตอนนี้คือวิกฤตค่าครองชีพและค่าพลังงาน อิตาลีได้รับผลกระทบเป็นพิเศษเพราะพวกเขาเคยต้องนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต กังวลว่าฤดูหนาวอันยากลำบากอาจทำให้นางเมโลนี เจอแรงกดดันจากประชาชนจนเธออาจยอมเลิกใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ที่ทำให้เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอีกสองพรรค คือ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี และมัตเตโอ ซัลวินี มีสายสัมพันธ์เก่าแก่กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย อย่างไรก็ดี จอร์เจีย เมโลนี คิดว่าตัวเองมีท่าทีเอนเอียงสนับสนุนชาติยุโรปในฝั่งตะวันตกและสหรัฐอเมริกา

ตอนนี้ อียูคงได้แต่คาดหวังว่าจะไม่เกิดกระแสแนวคิดชาตินิยมขวาจัดไปทั่วยุโรป รัฐบาลของนางเมโลนี เป็นรัฐบาลอิตาลีที่มีแนวคิดขวาจัดมากที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ประเทศสมาชิกอียูไม่ได้สมานสามัคคีทางการเมืองอย่างที่ผู้สนับสนุนอียูฝันให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี หรือนายกรัฐมนตรีมาร์ก รัตเต ของเนเธอร์แลนด์ ดูเหมือนผู้นำส่วนใหญ่ในอียูจะเห็นตรงกันว่า: เรามาร่วมมือกันหากว่าทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ เช่นการซื้อวัคซีนช่วงการระบาดใหญ่ แต่ลืมไปเลยหากจะมาเอาอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศไปหลอมรวมกันมากเกินไป

ถ้ามองในมุมนี้ จอร์เจีย เมโลนี จะสามารถเข้ากันกับผู้นำอียูคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว