ฮอร์โมนแห่งความรัก “ออกซิโทซิน” ซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจได้

getty images

ที่มาของภาพ, Getty Images

สำนวนคุ้นหูในนิยายรักโรแมนติกมักกล่าวไว้ว่า ความรักจะช่วยเยียวยารักษาแผลใจ แต่คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าคำพูดนี้จะเป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา

ทีมนักวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (biomedical engineering) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต (MSU) ของสหรัฐฯ รายงานผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Frontiers in Cell and Developmental Biology ว่าฮอร์โมนแห่งความรัก “ออกซิโทซิน” (oxytocin) สามารถซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจหลังเกิดอาการหัวใจวายได้

นี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบว่า ฮอร์โมนออกซิโทซินมีคุณประโยชน์ต่อหัวใจในเชิงกายภาพ ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วออกซิโทซินเป็นสารสร้างความสุข กระตุ้นให้เกิดความผูกพันทางใจ และเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคม นอกจากนี้ ยังควบคุมการบีบตัวของมดลูกเพื่อคลอดบุตร ควบคุมการผลิตน้ำนมและฮอร์โมนเพศชายอีกด้วย

มีการทดลองกับปลาม้าลายที่หัวใจบางส่วนถูกแช่แข็ง จนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของพวกมันขาดเลือดและตายไปถึง 1 ใน 4 ของทั้งหมด

แต่หลังจากได้รับออกซิโทซินแล้ว เซลล์ที่อยู่ตรงชั้นนอกของหัวใจปลาม้าลายดูเหมือนจะถูกตั้งโปรแกรมใหม่ โดยกลายเป็นเซลล์ที่เรียกว่า EpiPC ซึ่งมีสภาพคล้ายสเต็มเซลล์ แล้วเคลื่อนเข้าสู่ส่วนที่เสียหายด้านในเพื่อซ่อมแซมรวมทั้งฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจให้เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่

ตามปกติแล้วกระบวนการซ่อมแซมฟื้นฟูหัวใจแบบนี้ เกิดขึ้นได้ในอัตราที่ต่ำมากหากปราศจากการกระตุ้นด้วยออกซิโทซิน แต่กรณีของปลาม้าลายที่ถูกทำให้หัวใจวายดังข้างต้น ทีมผู้วิจัยพบการแสดงออกของเมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่เป็นสัญลักษณ์ของการผลิตออกซิโทซิน เพิ่มขึ้นในสมองของปลากว่า 20 เท่า

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

ส่วนการทดสอบกับเซลล์เนื้อเยื่อมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการนั้น มีการทดลองใช้ฮอร์โมนประสาท (neurohormone) ถึง 15 ชนิดกับเซลล์ดังกล่าว แต่ทีมผู้วิจัยพบว่ามีเพียงออกซิโทซินเท่านั้นที่สามารถกระตุ้นให้สเต็มเซลล์กลายเป็นเซลล์ EpiPC ที่ใช้ซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจได้

การกระตุ้นฟื้นฟูเซลล์ด้วยออกซิโทซินนั้น เกิดขึ้นได้สูงกว่าอัตราพื้นฐานตามปกติถึง 2 เท่า ทั้งได้ผลดียิ่งกว่าโมเลกุลชนิดอื่นใดที่เคยมีการทดสอบมา

ทีมผู้วิจัยระบุว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างฮอร์โมนออกซิโทซินและการสร้างเซลล์ EpiPC ที่ช่วยซ่อมแซมหัวใจอยู่อย่างแน่นอน โดยสองสิ่งนี้อาจสื่อสารถึงกันผ่านเส้นทางในระบบประสาทที่ควบคุมการแพร่กระจาย การเจริญเติบโต และการเปลี่ยนรูปเซลล์ให้มีลักษณะเฉพาะ

ในขั้นตอนต่อไป ทีมผู้วิจัยต้องการพัฒนาวิธีใช้ออกซิโทซินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย หรือผู้ที่รอดชีวิตจากอาการหัวใจวาย โดยต้องการให้ออกซิโทซินสามารถคงอยู่ในกระแสเลือดได้เป็นเวลานานขึ้น ซึ่งจะช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูกล้ามเนื้อหัวใจได้ดียิ่งขึ้น

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว