
- เดวิด กริตเตน
- บีบีซี นิวส์
อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวโทษว่าสหรัฐฯ และอิสราเอลคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุประชาชนลุกฮือประท้วงทั่วประเทศ หลังเกิดกรณีหญิงสาวคนหนึ่งเสียชีวิตในขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรู้จักกันในนาม “ตำรวจศีลธรรม”
อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์ไม่สงบต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกว่า “เหตุจลาจล” ครั้งนี้เป็นการวางแผนของเหล่าศัตรูคู่อริของอิหร่านและบรรดาชาติพันธมิตร
การประท้วงทั่วประเทศในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของผู้นำสูงสุดอิหร่าน และเขาขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะทวีความรุนแรงขึ้น
สหรัฐฯ ระบุว่า รู้สึก “ตกใจ” กับการที่ทางการอิหร่านใช้ความรุนแรงจัดการกับบรรดาผู้ประท้วง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า มีความ “เป็นห่วงอย่างยิ่ง” ต่อรายงานเรื่องการ “ใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติ”
ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า กลุ่มผู้ประท้วงต่างเรียกร้อง “ความเป็นธรรมและหลักการแห่งความเสมอภาค” ที่ปฏิบัติต่อชายหญิงอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมชี้ว่า สหรัฐฯ จะ “ยืนหยัดเคียงข้างผู้หญิงอิหร่าน” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกด้วยความหาญกล้าของพวกเธอ”
ด้านสหราชอาณาจักร ได้เรียกนักการทูตอาวุโสที่สุดของอิหร่านประจำกรุงลอนดอนเข้าพบ เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลอิหร่านว่า “แทนที่จะกล่าวโทษบุคคลภายนอกว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความไม่สงบ พวกเขาควรรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง แล้วรับฟังความกังวลของประชาชนในชาติ”

ที่มาของภาพ, Mahsa Amini family
ทำไมคนอิหร่านลุกฮือประท้วง
มาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎการสวมฮิญาบเพราะมีเส้นผมโผล่ออกมาให้เห็นนอกผ้าคลุมศีรษะ และได้ถูก “กัชตีเอร์ชาด” (Gasht-e Ershad) หรือ “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เธอตกอยู่ในอาการโคม่าหลังจากล้มหมดสติที่ศูนย์ควบคุม แล้วก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอีก 3 วันต่อมา
ครอบครัวของ น.ส.อามินี กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระบองตีศีรษะเธอ แล้วจับศีรษะโขกกับรถคันหนึ่งของตำรวจ
ด้านตำรวจระบุว่า ไม่พบหลักฐานการทำร้าย น.ส.อามินี และเธอเสียชีวิตเพราะ “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”
การเสียชีวิตของ น.ส.อามินี ได้จุดกระแสโกรธแค้นและนำไปสู่การประท้วงของผู้หญิงอิหร่านที่พากันจุดไฟเผาผ้าคลุมศีรษะเป็นสัญลักษณ์การขัดขืนข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของสตรีที่เคร่งครัดของทางการ และพากันร้องตะโกนคำขวัญว่า “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” (Woman, life, freedom) และ “เผด็จการจงพินาศ” (Death to the dictator) ซึ่งหมายถึงอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี
หนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่งานสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารและตำรวจเมื่อ 3 ต.ค. ผู้นำสูงสุดอิหร่านกล่าวว่า การเสียชีวิตของ น.ส.อามินี “ทำให้พวกเราหัวใจสลาย”
ขณะเดียวกันอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอีชี้ว่า “แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือการที่คนบางส่วน ซึ่งไม่มีหลักฐาน หรือการสอบสวนใด ๆ ได้ออกมาสร้างความอันตรายบนท้องถนน เผาคัมภีร์อัลกุรอาน ถอดฮิญาบ แล้วจุดไฟเผามัสยิดและรถยนต์” เขากล่าวโดยไม่ได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ
อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในอิหร่าน กล่าวหาว่า มหาอำนาจต่างชาติคือผู้วางแผน “เหตุจลาจล” ที่เกิดขึ้น เพราะทนไม่ได้ที่อิหร่านมีความแข็งแกร่งในทุกด้าน”
“ผมพูดชัดเจนว่าเหตุจลาจลและความไม่สงบที่เกิดขึ้นถูกบงการโดยอเมริกาและขบวนการไซออนิสต์จอมปลอม [อิสราเอล] รวมทั้งพวกสายลับที่พวกเขาว่าจ้าง โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนอิหร่านขายชาติในต่างแดน”

ที่มาของภาพ, EPA
ผู้นำสูงสุดอิหร่านมักกล่าวโทษว่าการประท้วงและปัญหาต่าง ๆ ในประเทศเป็นฝีมือของศัตรูต่างชาติของอิหร่าน โดยไม่มีการเปิดเผยหลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของเขา
นอกจากนี้ อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่เผชิญ “ความอยุติธรรม” ในช่วงที่เกิดความไม่สงบนี้
อิหร่านฮิวแมนไรตส์ (Iran Human Rights) องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานในนอร์เวย์ ระบุว่า จนถึงบัดนี้มีประชาชนเสียชีวิตจากน้ำมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอิหร่านแล้วอย่างน้อย 133 คน ขณะที่สื่อของทางการอิหร่านรายงานยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 40 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวมอยู่ด้วย
ด้านสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อตำรวจศีลธรรมอิหร่าน โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สัปดาห์นี้รัฐบาลของเขาจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อผู้ใช้ความรุนแรงต่อกลุมผู้ประท้วงอย่างสันติ
ความเห็นของอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี มีขึ้น 1 วันหลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชั้นนำของอิหร่าน และมีผู้ถูกจับกุมไปหลายสิบคน

คาสรา นาจี ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามเข้าไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชารีฟ ในกรุงเตหะราน แต่นักศึกษาได้ปิดประตูมหาวิทยาลัย ทำให้เวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัย ส่งผลให้นักศึกษาพยายามหลบหนีออกทางลานจอดรถ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ที่รออยู่เข้าทุบตี จับปิดตา แล้วควบคุมตัวไป
การปิดล้อมได้ยุติลงหลังจากกลุ่มอาจารย์ และรัฐมนตรีคนหนึ่งเข้าเจรจา
เมื่อ 3 ต.ค. นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ประกาศจะไม่กลับเข้าเรียนจนกว่าเพื่อนที่ถูกจับไปจะได้รับการปล่อยตัว
การประท้วงยังมีขึ้นในสถานศึกษา และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในกรุงเตหะรานด้วย
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว