
เอวาลิน มูแซมบี
บีบีซีนิวส์ ไนโรบี

ที่มาของภาพ, Getty Images
คลิปวิดีโอไวรัลของเด็กนักเรียนชั้นประถมสองคนที่ฆ่าไก่ในเคนยากำลังแพร่กระจายในโลกออนไลน์ เรียกทั้งเสียงฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาใหม่ของประเทศ ซึ่งเน้นหนักไปที่ทักษะในเชิงปฏิบัติ
ในระหว่างการเรียนการสอนนอกห้องเรียนของนักเรียนวัย 11 ปี เรื่องการฆ่าไก่และการปรุงอาหารจากไก่ คลิปวิดีโอเผยให้เห็นภาพเด็กชายคนหนึ่งกำลังจับไก่ ขณะที่อีกคนถือมีดจ่อที่คอไก่อย่างประหม่า ท่ามกลางการเฝ้ามองด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเพื่อนร่วมชั้น โดยมีครูรับหน้าที่บันทึกภาพในฉากนี้ด้วยโทรศัพท์มือถือ และกล่าวแสดงความยินดีกับเด็กชายที่ตัดหัวไก่ออก จากนั้นจึงสั่งให้เด็กคนที่จับไก่ หย่อนมันลงในหม้อต้มน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ
แต่เมื่อเด็กวางหม้อลง ไก่หัวขาดก็กระพือปีกแล้วหนีไป
คลิปวีดีโอความยาว 19 วินาที จบลงด้วยเสียงหัวเราะของครู และไก่ไร้หัวที่โชคร้ายซึ่งยังคงวิ่งไปรอบ ๆ ขณะที่เด็ก ๆ ส่งเสียงกรีดร้องและพยายามวิ่งหนีไก่
เมื่อหัวไก่ถูกตัดออก ตัวไก่ยังสามารถวิ่งไปมาได้หลายนาที และในระยะเวลาสั้น ๆ วงจรประสาทไขสันหลังของมันจะยังมีออกซิเจนตกค้างอยู่
เป็นภาพที่เด็กเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่น่าลืมลงได้ง่าย ๆ
คลิปวิดีโอดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยคนจำนวนมากกังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็ก แต่แทบไม่มีใครยกประเด็นเรื่องความทุกข์ทรมานของไก่ เช่นเดียวกับในชนบทของเคนยาที่การเห็นไก่ถูกเชือดเป็นเรื่องธรรมดา
ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาระดับประถม นักเรียนกลายเป็นหนูทดลองสำหรับหลักสูตรใหม่ และมีประสบการณ์ผ่านโครงการเชิงปฏิบัติการมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เรียนทำหุ่นไล่กาไปจนถึงทดลองขายสินค้าที่ตลาด
ผู้สนับสนุนหลักสูตรใหม่ที่มุ่งเน้นตามความสามารถ (Competency Based Curriculum – CBC) มองว่านักเรียนมีทักษะเป็นนักบุกเบิกมากขึ้น โดยกล่าวว่า เป็นการปรับปรุงระบบการศึกษาและการสอบแบบเก่า ซึ่งช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตและการหางานทำในศตวรรษที่ 21 ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการประเมินผลจากบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดการโกงข้อสอบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติสำหรับรัฐบาล
ในเร็ว ๆ นี้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ราว 1.25 ล้านคน กำลังจะเข้าสอบวัดและประเมินผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ก่อนเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา
ถือเป็นครั้งแรกที่ผลสอบจะถูกนำไปคิดคำนวณเป็น 40% ของคะแนนทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากการเก็บคะแนนสะสมตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
‘เลี้ยงโรงเรียนด้วยเงินจากผู้ปกครอง’
แต่ผู้ปกครองบางคนไม่พอใจกับค่าใช้จ่ายของหลักสูตรใหม่ เนื่องจากโรงเรียนคาดหวังให้พ่อแม่บริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการเรียนภาคปฏิบัติ เช่น ไก่
ครูสอนวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียนประถมที่เมืองคังกุนโด ทางตะวันออกของเคนยา กล่าวว่า บางครั้งนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ถูกบังคับให้นั่งดูเพื่อนนักเรียนคนอื่นทำแบบทดลอง
“มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของฉัน กำลังเรียนเย็บผ้าเช็ดหน้าสำหรับโครงงานของพวกเขา และบางคนไม่มีเงินซื้อผ้า เราจึงลงเอยด้วยการให้นักเรียนบางคนใช้เศษผ้าที่เหลือจากของเพื่อนคนอื่น ๆ ที่ซื้อมา” เจมิมาห์ กิตารี บอกกับบีบีซี

ครูรายนี้ยังแสดงความรู้สึกว่า เพื่อนร่วมงานบางคนก็เอาเปรียบเช่นกัน ด้วยการขอให้เด็ก ๆ นำเนื้อมาโรงเรียน ซึ่งในความเห็นของเธอ นี่ไม่ใช่ข้อบังคับสำหรับวิชาทำสตูว์เนื้อ
“โรงเรียนที่ฉันสอนอยู่ในหมู่บ้านที่บางครอบครัวไม่สามารถกระทั่งจะซื้อเนื้อสัตว์ได้ เพราะอาหารราคาแพงขึ้น ฉันจึงไม่สามารถขอให้พวกเขาเอาเนื้อมาได้” เธอกล่าว
หลังจากวิชาปรุงอาหารจากไก่ ที่นักเรียนชั้นประถม 6 ทั่วประเทศได้ทดลองเรียนในเดือน ก.ย. มีรูปถ่ายหลายใบถูกแชร์ทางโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นครูกำลังกินไก่ในห้องพักครู
ส.ส.จากเคนยาตะวันตก ดิดมุส บาราซา ติงว่า บรรดาครูกินอาหารที่จ่ายโดยผู้ปกครองของนักเรียนที่แทบไม่มีเงินซื้ออาหาร “ตอนนี้บ้านไร่ไม่มีแม่ไก่แล้ว”
คำกล่าวของ ส.ส. รายนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่สหภาพแรงงานครู
การอภิปรายเรื่องไก่ดำเนินไปอย่างดุเดือด และไปถึงกับหูของประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต แห่งเคนยา ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่หลังเลือกตั้ง
เขาจึงแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ 49 คน เพื่อประเมินหลักสูตรใหม่ซึ่งเป็นโครงการของ อูฮูรู เคนยัตตา อดีตประธานาธิบดีเคนยาคนก่อนหน้า โดยมีเส้นตายอยู่ที่สิ้นปีนี้ว่า หลักสูตรใหม่ CBC ควรดำเนินต่อไปสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่จะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งจะเริ่มในเดือน ม.ค. 2023 หรือไม่
“หนังสือ และการออกแบบหลักสูตรพร้อมแล้ว แต่เรากำลังรอรับคำแนะนำก่อนที่เราจะสามารถแจกจ่ายได้” ศ.ชาร์ลส์ อง’ออนโด หัวหน้าสถาบันการพัฒนาหลักสูตรแห่งเคนยา ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี
ส่วนผู้ปกครองบางคนไม่สนใจการเน้นภาคปฏิบัติของหลักสูตรการเรียนการสอน แต่บอกว่าไม่ดีที่ขาดความสมดุลจากการลดเนื้อหาจากตำราไป
“ลูกสาวของฉันซึ่งเรียนอยู่ประถม 4 ต้องเรียน 12 วิชา และแต่ละวิชาก็มีโครงงาน พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในเทอมที่แล้วทำโครงงาน จึงไม่มีเวลาเรียนในตำราเรียนได้ครบ” โรซิน่า คิซิลู คุณแม่ลูกสองที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงไนโรบี บอกกับบีบีซี
ครูกิตารีกล่าวเสริมว่า การมุ่งเน้นภาคปฏิบัติจริงทำให้ครูผู้สอนเนื้อหาจบตามหลักสูตรได้ยากขึ้น โดยชี้ไปที่การหยุดชะงักของการเรียนในภาคเรียนที่ 2 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากการจัดเลือกตั้งทั่วไป
โดยข้อเท็จจริง ในช่วง 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา มีความไม่ปกติจากการแบ่งเป็นภาคเรียนเป็น 4 เทอม จากปกติ 3 เทอม โดยอ้างว่าเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไประหว่างการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 บ้างก็อ้างว่าต้องให้เวลาแก่บรรดาครูสักพักเพื่อปรับตัวและทำความเข้าใจกับหลักสูตรใหม่
ยังมีอีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อไม่นานนี้ หลังปรากฏคลิปวิดีโอนักเรียนในพื้นที่ชนบทนอนราบกับพื้น แล้วทำท่าว่ายน้ำ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าใช้สระว่ายน้ำได้
ทว่า มารีอน มูโธนี ครูชาวไนโรบี กล่าวว่า โครงการออกกำลังกายมี 2 ทางเลือกให้ครูผู้สอนคือ สามารถเรียนว่ายน้ำหรือกระโดดน้ำ หรือใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้
“เพื่อนร่วมงานของฉันบางคนพูดเกินจริง สิ่งที่ฉันเห็นบนโซเชียลมีเดียค่อนข้างแตกต่างจากแนวทางปฏิบัติที่เราได้รับ เมื่อเวลาผ่านไป ครูจะตระหนักว่าทุกสิ่งไม่จำเป็นต้องเน้นการไปปฏิบัติได้จริง” คุณครูมูโธนีบอกกับทางบีบีซี

ก่อนหน้านี้ สหภาพครูแห่งชาติเคนยา (KNUT) เคยออกมาแนะนำไม่ให้ใช้หลักสูตร CBC เป็นการทั่วไป จนกว่าคุณครูจะได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม
ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาบางคนแนะนำว่า ควรรอดูผลของโครงการนำร่องให้ครบวงจรทั้งระบบการศึกษา ก่อนพิจารณาใช้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้
โซเฟีย เอ็มเบวี ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนในกรุงไนโรบี เห็นด้วย โดยกล่าวว่าแม้หลักสูตร CBC นั้นมีเจตนาดีที่สุด แต่ก็ถูกเร่งการดำเนินเกินไป
โรงเรียนของเธอเปิดสอนหลักสูตรทางเลือกอื่น ซึ่งภายใต้กฎหมายของเคนยาได้อนุญาตสำหรับสถาบันเอกชนเลือกหลักสูตรได้เองตราบใดที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการศึกษาธิการ
ผู้ปกครองบางคนที่มีกำลังจ่ายก็ได้กำลังเลือกส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชนที่มีหลักสูตรที่มั่นคง เช่น ที่ผอ. เอ็มเบวีบอก เพราะไม่ต้องการให้อนาคตของลูกเป็นการทดลอง
ผอ. เอ็มเบวี ยังบอกกับบีบีซีอีกว่า “การยกเครื่องระบบการศึกษามีสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการหลายอย่าง เพื่อขยายความพร้อมของทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก และฝึกอบรมครูก่อนการเปิดตัวหลักสูตรอย่างเต็มรูปแบบ”
“ฉันแค่หวังว่าเราจะหยุดแทรกแซงการศึกษา และทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความมั่นใจว่าการศึกษานั้นมีคุณภาพดีสำหรับเด็ก ๆ”
ผอ. เอ็มเบวี ยังแนะนำว่า ทางออกหนึ่งสำหรับรัฐบาลคือการลงทุนในศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนที่ “ผู้เรียนสามารถได้รับความช่วยเหลือในการทำโครงการให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ที่ออกจากการเรียนกลางคัน”
และเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง และจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม คุณครูมูโธนีเสนอให้รัฐบาลจัดหาวัสดุอุปกรณ์บางอย่างที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอน
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว