- ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
การเสียดสีการเมืองของสแตนด์อัพคอเมเดียนชื่อดัง “โน้ส-อุดม แต้พานิช” กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง การฟ้องร้องทางกฎหมาย และการฟาดฟันทางอุดมการณ์ ดรามาที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนถึงอะไรในสังคมไทย และ “นักร้อง” เป็นกลไกอะไรในปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐ
“สมมติว่าตอนนี้เราขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันอยู่ เป็นเครื่องบินที่เรียกว่าประเทศไทย ปกติเครื่องบินเนี่ย เขาขับด้วยกัปตันที่เชี่ยวชาญ แต่ตอนนี้กัปตันทั้งหลายที่ขับเครื่องบินเก่ง ขับเป็น ไม่ได้ขับ ที่ขับอยู่คือพนักงานรักษาความปลอดภัย” นี่คือคำพูดของ โน้ส-อุดม แต้พานิช ในช่วงท้ายการแสดง “เดี่ยว 13” ที่แสดงสดไปเมื่อปลายเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 ก่อนที่จะเริ่มเผยแพร่บนเน็ตฟลิกซ์ ตั้งแต่ 11 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา
เนื้อหาที่แฟนคลับโน้ส-อุดม ที่ได้ชมการแสดงสด และรู้สึกปกติกับการเสียดสีการเมืองที่โน้สเคยทำมาหลายครั้งแล้วในการแสดง “เดี่ยว” ครั้งก่อน ๆ กลับเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับไม่ได้
“ซีดีโน้สอุดมที่ผมสะสมไว้หลายสิบแผ่นได้ลงถังขยะเป็นที่เรียบร้อยวันนี้” นี่คือโพสต์หนึ่ง จากหลายข้อความแสดงความไม่พอใจต่อการเสียดสีการเมืองของโน้ส ที่แสดงออกผ่านสังคมออนไลน์ นับแต่เริ่มเผยแพร่ “เดี่ยว 13” บนเน็ตฟลิกซ์
อุดม แต้พานิช มีชื่อเล่นเดิม คือ อู๊ด แต่รู้จักกันในชื่อ โน้ส มาจากคำว่า nose ที่แปลว่า จมูก เพราะเป็นฉายาที่เพื่อนตั้งให้แล้วเรียกกันจนติดปาก แต่ต่อมาเพี้ยนเป็น โน้ต ในหลายสื่อ
จากเนื้อหาในการแสดงตลก ที่ไม่ตลกสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้ “นักร้อง” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท.
ด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่ โน้ส-อุดม พูดและมีผู้เผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น เข้าข่ายสนับสนุนการชุมนุม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 โดยเฉพาะท่อนที่ระบุว่า “วันนี้รถติดเยอะหน่อย มีม็อบไล่คนที่เราอยากจะไล่เขา ก็ให้อภัยเขาไปนะครับ ถือว่าเขาทำงานแทนเรา”
สำหรับนักแสดง “สแตนด์อัพคอเมดี้” (Stand Up Comedy) อย่าง กตัญญู สว่างศรี ผู้ก่อตั้ง A Katanyu Comedy Club มองว่า นี่เป็นเรื่องตลกในเรื่องตลกอีกที และสะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่เข้าใจถึงวงการสแตนด์อัพคอเมดี้ หรือ การเดี่ยวไมโครโฟน
“การเอาโจ๊กที่เขาเสียดสีบนเวที มาจริงจัง สำหรับผมเป็นเรื่องตลกซ้อนเรื่องตลกอีกที คือเหมือนกับว่า ล้อเล่นกันอยู่จะเอาอะไรจริงจังมาก” และ “คนมาจริงจังกับการล้อเล่นแบบนั้น เพราะมันมีความจริงซ่อนอยู่ในเรื่องตลก”
ด้าน ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า “การร้อง” ของนายศรีสุวรรณ แม้กระทั่งเรื่องเล็กอย่างคำพูดใน “เดี่ยว 13” อาจกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกในสังคมไทย
“คุกคามไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเรื่องไหน ไปจนถึงเรื่องเดี่ยวไมโครโฟน ซึ่งเป็นพื้นที่ของเรื่องตลก คุณจะทนไม่ได้เลยเหรอ”
คนไทย…ไม่เข้าใจ “เดี่ยวไมโครโฟน” ?
งานหลักของ ยู-กตัญญู คือการเป็นนักเขียน นักคิด พิธีกรรายการโทรทัศน์ และโปรดักชันเฮาส์ แต่สิ่งที่เขาชื่นชอบคือการสร้างเสียงหัวเราะ และเริ่มฝึกการ “สแตนด์อัพคอเมดี้” ผ่านการรับชมยูทูป ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งในเวลานั้น ประเทศไทยยังไม่มีวงการนี้มาก่อน เพราะ โน้ส-อุดม เป็นแค่บุคคลเดียว แต่ไม่มีเดี่ยวไมโครโฟนหน้าใหม่เกิดขึ้นเลย
จึงเป็นที่มาของการสร้างชุมชนของผู้รักในสแตนด์อัพคอเมดี้ ทั้ง A Katanyu Comedy Club และ “ยืนเดี่ยว” ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายคอนเทนต์สแตนด์อัพคอเมดี้ในไทย เพื่อผลักดันให้วงการมีผู้เล่นและผู้ชมมากขึ้น จนปัจจุบัน เขาระบุว่ามี “สแตนด์อัพคอเมดี้” ทั้งหน้าเก่าและเกิดใหม่ มาแสดงบนแพลตฟอร์มเกือบ 100 คนแล้ว
เมื่อผู้เล่นมากขึ้น เนื้อหาก็หลากหลายขึ้น การเสียดสีการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ถึงขนาดที่มีกลุ่มคอเมเดียน ชื่อ Comedy Against Dictatorship ที่แสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านเรื่องตลก ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผ่านมุกต่าง ๆ
“ผมเชื่อว่า เมื่อไหร่ที่เกิดเสียงหัวเราะกับความคิดที่มันแตกต่าง แล้วเกิดคำถามในสังคม ผมเชื่อว่ามันจะค่อย ๆ ชงให้เกิดประเด็นแบบพี่โน้ส มันอาจเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้…สังคมจะรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้” กตัญญู บอกกับบีบีซีไทย
แต่เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คอนเทนต์เสียดสี พล.อ. ประยุทธ์ ของ โน้ส-อุดม จนถึงขั้นฟ้องร้องต่อตำรวจเพื่อหวังดำเนินคดี ยิ่งสะท้อนว่า คนไทยยังไม่เข้าใจความเป็นสแตนด์อัพคอเมดี้มากพอ
“มันคือการที่ผู้เล่นหรือผู้แสดง เอาเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พี่โน้สเล่า เรื่องตูด เรื่องอึ เรื่องการเมือง มาสร้างสรรค์แล้วก็นำเสนอ เป็นงานสร้างสรรค์แนวตลก”
แต่การที่ผู้คนนำโจ๊กที่ “เดี่ยว 13” เสียดสีการเมืองมาเป็น “เรื่องจริงจัง”, กตัญญูมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะไปโทษนักแสดงสแตนด์อัพฯ ที่เพียงสะท้อนแง่มุมบางอย่างที่เกิดขึ้น แต่ควรตั้งคำถามกับสังคมว่า “มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมอ่อนไหวกับเรื่องนี้”
“ในฐานะที่เป็นสแตนด์อัพคอเมเดียน ผมมองว่า มันอาจยังไม่ใช่เรื่องที่สังคมไทยเข้าใจมากพอ… ความมุ่งหมายมันเพื่อความสนุก ความบันเทิง ความตลก มันก็เหมือนเรื่องเล่าชุดหนึ่ง”
มหากาพย์ดรามา “เดี่ยว 13”
11 ต.ค. – “เดี่ยว 13” เริ่มการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ และเริ่มมีกระแสชื่นชมและต่อต้านเนื้อหาในช่วงสุดท้ายของการแสดงที่เป็นเชิงเสียดสี พล.อ. ประยุทธ์ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เช่น
“ใจถึง พึ่งไม่ค่อยได้ สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ ยืนยันเรื่องความโปร่งใส แต่ไม่ให้ตรวจสอบ พร้อมชนทุกปัญหา ด้วยสติปัญญาที่มี 84,000 คือจำนวนเซลล์สมอง จุดแข็งคือหัว จุดอ่อนคือสิ่งที่อยู่ในนั้น ฉลาดพูด ตอนไม่พูดฉลาดกว่า นายกผู้แก้ปัญหาชาติด้วยการแต่งเพลง ท่านผู้อาสามากู้ชาติ ชาติล่าสุดเพิ่งกู้ญี่ปุ่นไป”
“สมมติว่าตอนนี้เราขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันอยู่ เป็นเครื่องบินที่เรียกว่าประเทศไทย ปกติเครื่องบินเนี่ย เขาขับด้วยกัปตันที่เชี่ยวชาญ แต่ตอนนี้กัปตันทั้งหลายที่ขับเครื่องบินเก่ง ขับเป็น ไม่ได้ขับ ที่ขับอยู่คือพนักงานรักษาความปลอดภัย”
ทั้งนี้ มีเนื้อหาตอนเปิดการแสดงที่โน้ส-อุดม กล่าวว่า “ผมคิดถึงการขึ้นมาอยู่บนเวทีนี้มาก ปลื้มมาก ขอแสงผมเพิ่มหน่อยได้ไหม ผมหิวมันมากเลยครับ” และเมื่อสปอตไลท์ส่องไปที่ตัวเขา โน้ส พูดต่อว่า “เข้าใจความรู้สึกของ ศรีสุวรรณ จรรยาแล้วฮะ”
12 ต.ค. – โน้ส-อุดม เคลื่อนไหวโดยโพสต์รูปภาพในเพจ “เดี่ยว” พร้อมแฮชแท็ก #กูสะดวกแบบนี้ ทำให้นายศรีสุวรรณ โพสต์ข้อความว่า “โน้ส เดี่ยว-13 ให้ท้ายม็อบก้าวล่วงหรืออย่างไร พูดเอามัน เอาฮา ไร้เหตุผล และให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน เดี๋ยวเจอกัน”
13 ต.ค. – นายศรีสุวรรณ โพสต์รูปภาพอีก เป็นภาพถ่ายคู่กับป้าย บก.ปอท ว่า “#กูก็สะดวกที่จะร้องเรียนแบบนี้”
14 ต.ค. – สภาทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความที่เขียนโดยนายกสมาคมฯ ว่า โน้ส-อุดม เพียงแค่ออกความคิดเห็นเท่านั้น หาใช่การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการกล่าวหาใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
“รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ยังสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา จึงย่อมมีสิทธิตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์
16 ต.ค. – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงกรณีนี้ว่า “ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไร” เพราะ “ติดตามดูคุณโน้สมาตลอด ชื่นชมในความสามารถ ส่วนเรื่องวิจารณ์รัฐบาลเขาก็พูดมาทุกการแสดงเดี่ยว ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าเขาพูดเพื่อความบันเทิง คนดูก็มีวิจารณญาณในการฟังอยู่แล้ว”
18 ต.ค. – นายศรีสุวรรณ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ บก.ปอท. ถึงบทพูดของ “เดี๋ยว 13” ช่วงหนึ่งที่เขาระบุว่า มีเจตนาหรือจงใจที่จะให้ทุกคนที่รับฟังและรับชม ให้อภัยกลุ่มที่ออกมาชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ การชุมนุมเหล่านี้ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนข้อกำหนดใน ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน และสอดไส้การชุมนุมเป็นเรื่องการยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมเพื่อขับไล่ผู้นำรัฐบาลแต่อย่างใด
แต่ก่อนจะเข้ายื่นหนังสือ นายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ได้ก่อเหตุเข้าทำร้ายนายศรีสุวรรณ โดยระบุว่า “มาตบนักร้อง มันต้องร้องในสิ่งที่ควรจะร้อง ไม่ควรเห็นต่างจนเกินไป”
“การเมืองมันอยู่ในทุกคน”
กตัญญู นักสแตนด์อัพคอเมเดียนที่อยู่ในวงการมานาน มองว่าสาเหตุที่เนื้อหาของ โน้ส-อุดม ใน “เดี่ยว 13” กลายเป็นประเด็นถกเถียงขนาดนี้ ทั้งที่การแสดง “เดี่ยว” หลายครั้งก่อนหน้านั้น ก็มีการเสียดสีรัฐบาล เป็นเพราะทุกวันนี้ คนไทยเข้าถึงสังคมออนไลน์มากขึ้น และการแสดงความเห็นมีความหลากหลาย
แต่บริบทสังคมและการเมือง ทำให้บทสนทนาในโลกออนไลน์ กลายเป็น “การฟาดฟันกัน” และเนื้อหาที่ควรเป็นความตลกบันเทิง กลับกลายเป็น “การต่อสู้ทางความคิด ทางอุดมการณ์” ทั้งที่ ตัว โน้ส-อุดม อาจไม่ได้ยึดโยงกับอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง และสิ่งที่พูดออกมาบน “เดี่ยว 13” เป็นการเสนอความคิดสร้างสรรค์บนความเป็นคอเมดี้
“ผมรักเดี่ยวอันนี้ของพี่โน้สมาก ๆ… ความแหลมคมของการเล่นสแตนด์อัพครั้งนี้ คือ การโยนประเด็นลงไป แล้วทุกคนสนใจ ทุกคนพูดเรื่องนี้” และแม้ส่วนตัวจะไม่คิดว่า โน้ส-อุดม ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางตรง “แต่งานของเขาสะท้อนความคิดทางสังคมออกมา แล้วมันทำให้เกิดการถกเถียง”
ในฐานะ “เดี่ยวไมโครโฟน” เหมือนกัน กตัญญู เชื่อว่า เป้าประสงค์หลักของ โน้ส-อุดม คือ ความสนุก ความบันเทิง และเสียงหัวเราะ
ส่วนการที่คอนเทนต์ของโน้ส-อุดม จะแตะเรื่องการเมืองนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะ “การเมืองมันอยู่ในทุกคน ฉะนั้นการเมืองที่อยู่ในสแตนด์อัพคอเมดี้ มันคือชีวิตธรรมดาที่ทุกคนก็พูดได้ เห็นได้ และเล่าได้”
หิวแสง หรือเบี่ยงแสง… และกลไกที่ชื่อ “ศรีสุวรรณ”
สำหรับ ผศ.ดร. วิไลวรรณ ผู้สังเกตความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการสื่อสารมานาน 3 ทศวรรษ ทั้งในฐานะผู้สื่อข่าว และอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน มองว่า การที่เนื้อหาของโน้ส-อุดม ใน “เดี่ยว 13” กลายเป็นข้อถกเถียง เป็นเรื่องที่ดี และหากดูประวัติศาสตร์การเกิดสแตนด์อัพคอเมดี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว เนื้อหาก็มักเป็นการเสียดสีการเมืองกับสังคม สอดรับกับสถานการณ์ในขณะนั้น
สำหรับประเด็นนี้ เธอตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของนายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะ “ตัวป่วน” “การแย่งชิงพื้นที่สื่อ” และ “การเบี่ยงเบนประเด็นในสังคมไทย” มากกว่าตัวเนื้อหาของ โน้ส-อุดม
การเป็น “นักร้อง” ของนายศรีสุวรรณ ที่ปี 2565 ร้องไปแล้วราว 60 เรื่อง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก และเรื่องตลก อย่างกรณี “เดี่ยว 13” อาจสะท้อนถึงกลไกของขั้วการเมืองฝั่งรัฐบาลที่ใช้กฎหมายในการกดทับและคุกคาม
คำถามสำคัญที่ ผศ.ดร.วิไลวรรณ อยากให้สังคมสนใจมากกว่า เรื่อง “หิวแสง” คือ กลไกนี้เกิดขึ้นโดย “บังเอิญหรือตั้งใจ” และนายศรีสุวรรณ เป็น “ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาจากฝั่งการเมืองของรัฐ” หรือไม่ เพราะผลลัพธ์ของการกระทำนายศรีสุวรรณทุกครั้งที่ออกมา มักเกิดผลดีกับฝั่งรัฐทั้งสิ้น
ประเด็นที่แท้จริงของเรื่องนี้ อาจเป็น “รัฐบาลชุดนี้กลัวพลังโซเชียล (มีเดีย)” และการที่เนื้อหาเสียดสีรัฐบาลไปอยู่บนเน็ตฟลิกซ์ ที่ดูเมื่อไหร่และกี่รอบก็ได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลกลัว
“แต่ก็ต้องคำถามด้วยว่า รัฐบาลกลัวอะไรนักหนา… และเราก็เห็นศรีสุวรรณออกมา ทุกครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของรัฐบาล” ผศ.ดร.วิไลวรรณ วิเคราะห์
และการที่สื่อมวลชนและสำนักข่าวต่าง ๆ ให้ความสนใจ “นักร้อง” อย่างนายศรีสุวรรณ แทบทุกครั้งที่เขาออกมานั้น อาจารย์วารสารศาสตร์ มธ. เตือนว่า สื่อตระหนักหรือไม่ว่า “กำลังให้แสงเขา” จนกลายเป็นการเบี่ยงประเด็นออกจากแก่นที่เป็นสาระ และกำลังสนับสนุนกลไกปฏิบัติการข่าวสารของรัฐบาลโดยไม่รู้ตัว
ท้ายสุด กตัญญู ที่มักนำรายได้จากงานหลัก มาค้ำจุนความหลงใหลในสแตนด์อัพคอเมดี้ อยากให้ประเด็นที่เกิดขึ้น นำไปสู่การสร้างสังคมที่ทุกคน “หัวเราะในสิ่งที่แตกต่างจากความคิดของเราได้”
กตัญญู หยิบยกคำพูดของ จิมมี คาร์ สแตนด์อัพคอมเมเดียนชื่อดัง เชื้อชาติชาติบริติช-ไอริช ว่า”เวลาที่คุณฟังมุขตลกเสียดสีโหด ๆ ได้ มันทำให้เวลาที่คุณเศร้ามาก ชีวิตเลวร้ายมาก ก็ยังขำได้…”
“แต่ถ้าคุณเครียดไปกับมัน ยอมรับไม่ได้ วันหนึ่งที่คุณเจอความทุกเศร้าที่ทรมานสาหัส คุณก็จะกอดมันไว้”
……….
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว