กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนระหว่างผู้แทนไทยและขบวนการบีอาร์เอ็นที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 อาจต้องสะดุดลง หลังบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ประณามการลักพาตัว และสังหารสมาชิกของขบวนการในมาเลเซียเมื่อปลาย ก.ย.
นอกจากนี้ขบวนการบีอาร์เอ็น หรือชื่อทางการว่า แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional – BRN) ยังได้ประณามการ “บังคับตรวจดีเอ็นเอ” เด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งถือเป็นการ “สบประมาท” กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยและบีอาร์เอ็นที่ผ่านมาแล้ว 5 ครั้ง
ในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อ 18 ต.ค. นายอับดุล การิม คาลิด โฆษกของบีอาร์เอ็นได้ “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อการลักพาตัวนายยาห์รี ดือเลาะ หรือ ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ สมาชิกขบวนการวัย 42 ปี ในเมืองรันเตา ปันจัง ในประเทศมาเลเซียไปสังหารโหดเมื่อ 27 ก.ย. แล้วพบศพที่บวมอืดในแม่น้ำโกลกฝั่งไทยในอีก 2 วันต่อมา พบบาดแผลฉกรรจ์บริเวณสำคอ และรอยฟกช้ำทั่วตัว
เพจเฟซบุ๊ก Wartani รายงานสดพิธีฝังศพของนายยาห์รี เมื่อ 3 ต.ค. ที่กูโบบ้านพงกือปัส ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีชาวบ้านในพื้นที่นับร้อยคนไปร่วมพิธี โดยระบุว่า เขาถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย “อุ้ม” ในมาเลเซีย เมื่อ 27 ก.ย. เวลาประมาณ 15.30 น. ต่อมาญาติได้ประกาศตามหาแต่ไร้เบาะแส สุดท้ายมีการแจ้งว่าพบศพในแม่น้ำโกลก
นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระที่ติดตามข่าวในจังหวะชายแดนใต้มานาน กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า การลอบสังหารแล้วเผยให้เห็นศพครั้งนี้ดูเหมือนกับการต้องการส่งสัญญาณบางอย่างของผู้สั่งการ
“การอุ้มฆ่าผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การอุ้มฆ่าในมาเลเซียเป็นเรื่องแปลก นักฆ่ามืออาชีพสามารถกำจัดร่องรอยของศพได้ง่าย แต่การปล่อยให้ศพโผล่ให้เห็น มีนัยสำคัญ”
ในแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นยังเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการข่มขู่คุกคามสมาชิกของขบวนการ เด็ก ๆ ในชุมชนจังหวัดชายแดนใต้ที่พวกเราเรียกว่า “รัฐปาตานี-มาเลย์” ในระหว่างการพูดคุยสันติภาพ เพื่อให้เกิดสันติอย่างแท้จริง
ชุดความมั่นคงขอตรวจดีเอ็นเอเด็ก 10 เดือน
เพจเฟซบุ๊ก Wartani รายงานว่า ราว 10.00 น ของ 11 ต.ค. หน่วยงานความมั่นคงเจ้าหน้าได้นำกำลังกว่า 7 คันรถเพื่อตรวจค้นบ้าน น.ส. อาแอเซ๊าะ มะสาแม็ง ในพื้นที่ ม.2 บ้านกูแว ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หลังเสร็จการตรวจค้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ลูกชายอายุประมาณ 10 เดือน แต่แม่ไม่ยินยอม
ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัว น.ส. อาแอเซ๊าะ ไปที่ สภ.สายบุรี เพื่อสอบเกี่ยวกับสามี ขณะเดียวกันก็พยายามขอเก็บดีเอ็นเอของลูกและขอโทรศัพท์มือถือ เเต่เจ้าตัวไม่ยอมให้เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จนถึงเวลา 17.00 น. จึงอนุญาตให้กลับ เเละกำชับว่าจะไปเยี่ยมบ้านบ่อย ๆ จนกว่าจะยินยอม
เพจนี้ได้เผยแพร่วิดีโอคำสัมภาษณ์ของตัวแทนศูนย์ทนายความมุสลิมที่บ้านของหญิงผู้นี้ด้วย
พ.ต.อ. เฉลิมชัย เพชรกาศ ผู้กำกับการ สภ.สายบุรี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อชุดสืบสวนมั่นคงของ จ.นราธิวาส จำนวน 7-8 นาย ติดตามตัวของผู้ก่อความไม่สงบใน จ.นราธิวาส มา ก่อนปรากฏว่ามีครอบครัวอยู่ที่บ้านกูแว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จึงติดตาม และแจ้งตำรวจในพื้นที่ให้ร่วมด้วย ก็ไปที่บ้าน เจอกับภรรยาและลูกของเขา จึงเชิญตัวมาซักถามข้อมูลที่โรงพัก และในระหว่างการพูดคย มีการต่อรองเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ
“เขามาขอใช้สถานที่ โรงพักเราแค่อำนวยความสะดวกให้ ซึ่งที่สุดก็ไม่ได้เก็บ (ดีเอ็นเอ) นะ เพราะผู้ปกครองเขาไม่ยินยอม ก็ปล่อยตัวกลับไป” ผกก.สภ.สายบุรีกล่าว
พ.ต.อ. เฉลิมชัยชี้แจงว่า ในการขอเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมต้องทำตามระเบียบและขั้นตอน ซึ่งในอดีต จะเก็บของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อความสงบ/ผู้ต้องหาทั้งหมด โดยที่เจ้าตัวไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูกของผู้ก่อความไม่สงบ/ผู้ต้องหา ต้องเซ็นยินยอม และมีผู้นำท้องถิ่นหรือผู้นำศาสนาเป็นพยาน แต่ในระยะหลังมานี้ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เจ้าหน้าที่จึงไม่เก็บดีเอ็นเอของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ต้องหา หรือผู้กระทำความผิด
“กรณีนี้ (ขอเก็บดีเอ็นเอเด็ก 10 เดือน) อาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นในการเก็บ และไม่สมควรในการเก็บ ถ้าจะเก็บต้อง 1. ผู้ปกครองยินยอม 2. อายุเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ ในพื้นที่เองก็มีหน่วยนอกเข้ามาเยอะ ก็ต้องรองรับอะไรต่าง ๆ หลายเรื่อง โดยเจ้าของพื้นที่ก็หนีไม่พ้น ก็โดนเพ่งเล็งจากที่อื่นว่าสายบุรีมีเรื่องนั้นเรื่องนี้” ผกก.สภ.สายบุรีกล่าว
ภายหลังเกิดเหตุ พล.ต.ต. ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (รอง ผบช.ภ.9) ได้เรียกชี้แจงและกำชับให้เจ้าหน้าที่ชุดที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมพยาน หลักฐาน ดีเอ็นเอ ยึดกฎหมายเป็นหลัก และต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับรู้รับทราบด้วย ทั้งนี้ในส่วนของการปฏิบัติเกี่ยวกับดีเอ็นเอ จะมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยเน้นที่ผู้กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น
สิ่งที่ผิดแผกไปในวงเจรจาสันติสุข
การพูดคุยระหว่างรัฐไทยและบีอาร์เอ็นนับแต่ ม.ค. 2563 มีมาแล้ว 5 ครั้ง โดยการประชุมทุกครั้งเกิดในประเทศมาเลเซียซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก
ฝ่ายไทยประกอบด้วย คือ ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยมี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ โดยพบกับคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น ที่มีนายอนัส อับดุลเราะห์มาน (Anas Abdulrahman) เป็นหัวหน้าคณะ มี ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาเลเซียวัยเกือบ 80 ปี ผู้ได้รับการแต่งตั้งจาก ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เมื่อ ส.ค. 2561 ให้เข้ามามีบทบาทนำสันติสุขมาสู่ชายแดนมาเลเซีย-ไทย
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า การประชุมครั้งที่ 5 เมื่อ 1-2 ส.ค. มีการพูดคุยหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการการยุติความรุนแรงในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างคณะพูดคุยรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ทำข้อตกลงยุติความรุ่นแรงในเดือนรอมฎอน ระหว่าง 3 เม.ย.-14 พ.ค. ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฎิบัติร่วมกัน
ทั้งนี้ได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการริเริ่มรอมฎอนสันติสุขเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในห้วงต่อไป ความคืบหน้าที่สำคัญของการพบปะพูดคุยครั้งนี้คือ ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะต่อยอดการลดความรุนแรงที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ไปสู่การขยายผลความร่วมมือที่มีความเข้มข้นเป็นระบบและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
หนึ่งเดือนต่อมา อุสตาซนิคมะตุลเลาะ บิน เสรี ในฐานะตัวแทนคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น ให้สัมภาษณ์ข่าว The Reporters และ Patani NOTES เมื่อ 5 ก.ย. ตอบคำถามเรื่องของการเจรจาว่า คณะพูดคุยของกลุ่มบีอาร์เอ็นยอมรับรวมทั้งรับรู้ด้วยว่าสาธารณะอึดอัดใจกับความล่าช้าของการพูดคุยสันติภาพ
“สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือมันเดินหน้าช้ามาก และที่พูดนี้หมายถึงทั้งสองฝ่ายไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐบาลไทยฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถแตะประเด็นที่เป็นสารัตถะซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้มีการแก้ไขปัญหาได้จริง ๆ ทั้งคู่ยังจะต้องผ่านกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันอีก ฝ่ายเราเองมองว่ากระบวนการเดินไปช้ามากและไม่คล่องตัวทำให้นานาชาติที่สนับสนุนกระบวนการอยู่และอยากจะเห็นผลลัพธ์ของการพูดคุย อยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเคารพศักดิ์ศรีผู้เกี่ยวข้องเองก็รู้สึกได้”
ในส่วนของมาตรการลดความรุนแรง อุสตาซนิคมะตุลเลาะชี้ว่า บีอาร์เอ็นไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการใช้คำนี้ “คำว่าลดความรุนแรงมันให้ความหมายยาก จะวัดอย่างไร วันนี้ตาย 20 อีกวันตาย 19 คน แบบนี้ถือว่าลดความรุนแรงไหม หรือเมื่อวานจับ 8 วันนี้จับ 10 ถือว่าเพิ่มความรุนแรงไหม มันวัดยาก เพราะฉะนั้นเราไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่าลดความรุนแรง” เขาบอกว่าบีอาร์เอ็นเสนอให้สองฝ่ายหยุดยิงเพื่อความชัดเจนและทำให้ไม่มีปัญหาการกล่าวหาหรือตอบโต้กัน อย่างไรก็ตามข้อเสนอของบีอาร์เอ็นนี้เรื่องนี้ไม่ผ่านโต๊ะพูดคุย
หลังความสงบในช่วงรอมฎอนผ่านไป ความไม่สงบก็มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวแทนบีอาร์เอ็นตอบว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมาบีอาร์เอ็นไม่เคยอ้างว่าเป็นผู้ลงมือเหตุการณ์ใด ๆ รวมทั้งก็ไม่เคยปฏิเสธด้วย แต่เขายืนยันหลายครั้งว่าเหตุการณ์รุนแรงไม่เกี่ยวกับโต๊ะพูดคุย นอกจากนี้ตัวแทนคณะพูดคุยบีอาร์เอ็นย้ำตลอดว่ายังพร้อมร่วมมือในกระบวนการสันติภาพและเดินหน้าใช้ความพยายามต่อไปแม้ว่าจะมีปัญหาหลายจุดดังกล่าวมาแล้ว
นวลน้อย ธรรมสเถียร เขียนใน “ขยายประเด็น” ตอนล่าสุด ทางเว็บ decode plus เมื่อ 17 ต.ค. ว่า เส้นทางพูดคุยกระบวนการสันติภาพที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะถึงทางตันอีกแล้ว แม้มีการเดินหน้าพูดคุยกันระหว่างรัฐไทย และบีอาร์เอ็น แต่ทว่าการไม่มีอะไรคืบหน้า โดยเฉพาะท่าที “ลงมือทำ” และ “จริงจัง” จากฝั่งรัฐบาลไทยกับเป้าหมายของการ “ลดความรุนแรงในพื้นที่”
มีข่าวว่า บรรยากาศของการพูดคุยสันติภาพชุดใหญ่ครั้งหลังสุดส่อเค้าผิดแผกไปจากเดิมเป็นอย่างมาก หลายเสียงที่เข้าถึงโต๊ะพูดคุยยืนยันว่า ผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นปรับพฤติการณ์ในระหว่างการพบปะอย่างชัดเจน แม้ว่าพวกเขายังคงร่วมประชุมด้วยดีและมีข้อเสนอที่มีเนื้อหายังคงแถลงข่าวด้วยสาระที่ไม่หนีไปจากของฝ่ายรัฐบาลมากนัก แต่ทว่าในระหว่างการประชุมหนนี้ซึ่งเป็นหนที่ 5 กลับมีรายงานว่า พวกเขาแยกตัวและสงวนท่าทีอย่างมากจนไม่เหลือความเป็นกันเองอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงหนนี้นับว่าสร้างความแปลกใจอย่างยิ่งให้กับฝ่ายไทย
คำถามที่เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กในตอนแรกจึงถูกนำกลับมาพิจารณากันในหมู่นักสังเกตการณ์ว่าเอาเข้าจริงน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ คือเรื่องการที่คณะของไทยไม่ลงนามในเอกสารบันทึกถึงข้อตกลงใด ๆ อันที่จริงนี่เป็นเรื่องที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเรียกร้องมานานแล้ว ข้อเรียกร้องที่ให้ไทยกำหนดให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติโดยผ่านการรับรองของรัฐสภา บีอาร์เอ็นย้ำว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นทั้งนี้เพื่อให้มีข้อผูกมัดกับผลของการพูดคุยแต่ละครั้งแ ละเกิดความมั่นใจว่าไม่ว่าการเมืองไทยจะส่งใครมาเป็นรัฐบาลก็จะมีการสานต่อกระบวนการสันติภาพ การพูดคุยจะไม่ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
“เมื่อย้อนดูกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ เรากลับแทบจะไม่เห็นการออกมามี “แอ็กชัน” ของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้เลย เราไม่เคยได้ยินพล.อ.ประยุทธ์แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการสร้างสันติภาพอย่างจริงจัง หลายคนอาจจะรู้สึกด้วยซ้ำไปว่าการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้เป็นความพยายามของกลุ่มข้าราชการประจำล้วน ๆ โดยเฉพาะกลไกทางด้านความมั่นคงเช่นกองทัพภาคที่ 4 สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และกระทรวงการต่างประเทศ แม้สังคมจะได้ยินจากผู้เกี่ยวข้องว่านายกรัฐมนตรีใส่ใจ แต่ทว่าสังคมกลับไม่เห็นการขับเคลื่อนอันนั้น”
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว