โซเชียลมีเดียช่วยข่าวประท้วงอิหร่านดังทั่วโลกได้อย่างไร

  • เฟอรานัก อมิดี
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
A protester holds a portrait of Mahsa Amini during a demonstration in Istanbul on 20 September 2022

ที่มาของภาพ, Getty Images

เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่อิหร่านเผชิญการประท้วงทั่วประเทศ ผู้นำการประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและนักเรียนหญิงพากันถอดผ้าคลุมศีรษะออกมาโบกสะบัด หรือจุดไฟเผา พร้อมกับร้องตะโกนคำขวัญว่า “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” (Woman, life, freedom)

การลุกฮือประท้วงของคนอิหร่านมีขึ้นหลังจากหญิงสาววัย 22 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตในขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรู้จักกันในนาม “ตำรวจศีลธรรม” เพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎการสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่าฮิญาบ

แม้กิจกรรมประท้วงในแต่ละวันจะสิ้นสุดลง และผู้คนต่างกลับบ้านกันอย่างปลอดภัย แต่การเคลื่อนไหวประท้วงยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องทางโซเชียลมีเดีย และไม่ใช่แค่ในอิหร่าน แต่เกิดขึ้นทั่วโลก

นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามปี 1979 มีชาวอิหร่านจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ แล้วอพยพไปอยู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นี่จึงทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางให้คนอิหร่านพลัดถิ่นได้รวมกลุ่มกัน

โซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และติ๊กตอก กลายเป็นสื่อที่มาบทบาทสำคัญในการประท้วงอิหร่านครั้งล่าสุดนี้ แม้ว่าทางการอิหร่านจะพยายามตัดอินเทอร์เน็ต และปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียเหล่านี้

“ปั่นแท็ก” ทวิตเตอร์

A woman burns a headscarf at a demonstration in north-eastern Syria

ที่มาของภาพ, Getty Images

การทำให้แฮชแท็กติดเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์เป็นหนึ่งในวิธีการที่ชาวอิหร่านทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศได้รับความสนใจไปทั่วโลก

หลังการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี แฮชแท็ก #mahsaamini ได้รับการรีทวีตถึง 252 ล้านครั้งในภาษาฟาร์ซี และ 57 ล้านครั้งในภาษาอังกฤษ ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน ระหว่าง 12 ก.ย. ถึง 12 ต.ค.

เนจิน ชีรักไฮอี นักกิจกรรมจากกลุ่มเพื่อสิทธิสตรีอิหร่าน Iranian Women’s Rights กล่าวว่า “ผู้คนมักพูดว่า การต่อต้านรัฐไม่มีอยู่จริง หรือหากมีก็น้อยมาก และกระแสต่อต้านจะต้องถูกขจัดไป”

“แฮชแท็กมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนหากันเจอ และยอมรับในอำนาจของพวกเขา”

ในยุคที่การชุมนุมประท้วงไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ชีรักไฮอีชี้ว่า แฮชแท็กและทวิตเตอร์ได้สวมบทบาทผู้นำการประท้วง

“ผู้คนต้องการอะไรจากแฮชแท็ก? ความหวัง คำแนะนำ และข้อมูลข่าวสาร” เธออธิบาย “นี่คือสิ่งที่แฮชแท็กช่วยเหลือผู้ประท้วง”

อย่างไรก็ตาม แฮชแท็กและทวิตเตอร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชาวอิหร่านทั้งในประเทศและต่างแดนได้ยินเสียงกันและกัน แล้วป่าวประกาศสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอิหร่านให้โลกรับรู้

ศิลปะสื่อการประท้วงทางอินสตาแกรม

Foroozan's image of a woman cutting her hair in front of an iconic Iranian bridge

ที่มาของภาพ, Foroozan

ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ศิลปินชาวอิหร่านต่างหาหนทางอันชาญฉลาดในการหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของกระทรวงที่กำกับดูแลด้านวัฒนธรรมและแนวทางตามหลักศาสนาอิสลาม

โฟรูซาน คือศิลปินผลิตผลงานดิจิทัลซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิส ของสหรัฐฯ

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอใช้ผลงานศิลปะของตัวเองเพื่อสนับสนุนการประท้วงภายในอิหร่านผ่านทางอินสตาแกรม

หนึ่งในผลงานที่เธอใช้ เป็นภาพหญิงสาวยืนอยู่ด้านหน้าสะพานซิโอเซโปล (Sio-se-pol) สัญลักษณ์สำคัญในเมืองอิสฟาฮาน โดยที่กำลังตัดผมหางม้าของตัวเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อต้านผู้ปกครองอิหร่าน และผู้หญิงทั่วโลกพากันตัดผมตัวเองเพื่อแสดงความเห็นหนึ่งเดียวกับผู้หญิงอิหร่าน

โฟรูซาน อธิบายถึงผลงานชิ้นนี้ให้บีบีซีฟังว่า “ในการทำงานของฉัน ฉันชอบจินตนาการว่าตัวละครหรือผู้คนจะเป็นอย่างไร หากพวกเขาไม่ถูกเซ็นเซอร์ ผลงานชิ้นนี้คือความฝันที่ฉันมี…บางทีมันอาจกลายเป็นกิจกรรมประจำปีที่ผู้หญิงจะทำเพื่อยกย่องมาห์ซา อามินี”

อัฟรา ช่างภาพที่อาศัยในนครซานฟรานซิสโก เป็นศิลปินอีกคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงครั้งล่าสุดในอิหร่าน

เธอเล่าว่าตอนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ประท้วงในอิหร่านนั้น มีผู้หญิงหลายคนตัดผมแสดงสัญลักษณ์การสนับสนุนสตรีในอิหร่าน “หลังจากนั้นเส้นผมของพวกเธอก็ตกเกลื่อนพื้น และฉันคิดว่าเราควรทำอะไรสักอย่างกับเส้นผมพวกนี้ ฉันเลยเก็บเส้นผมมาทำเป็นสัญลักษณ์ Woman, Life, Freedom”

Unity for Freedom คือวิดีโอสั้นที่ผลิตขึ้นโดยศิลปินคนหนึ่งในอิหร่าน ที่เรียกตัวเองว่า เบนยามิน วิดีโอนี้ได้กลายเป็นกระแสโด่งดังทางโซเชียลมีเดีย

ตัววิดีโอแสดงให้เห็นแขนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่กำลังใช้กระบองทุบตีแขนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว ทว่าแขนรอบข้างต่างช่วยกันหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวจนเอาชนะเจ้าหน้าที่ได้ในที่สุด วิดีโอจบลงด้วยภาพเจ้าหน้าที่ร่วมชูมือเป็นสัญลักษณ์ตัว v ที่หมายถึงชัยชนะร่วมกับแขนของประชาชนที่อยู่รอบตัว

FreeIranianWomen2022 เป็นบัญชีอินสตาแกรมที่โพสต์คลิป ศิลปะ และมีมที่ได้รับแรงบังดาลใจจากการประท้วง

ในวิดีโอหนึ่งเผยให้เห็นศิลปินกำลังวาดภาพของผู้ประท้วงหญิงบนธนบัตรเรียล แทนที่ภาพของอยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามในปี 1979

รัฐบาลอิหร่านรู้ดีถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคมในศตวรรษที่ 21

ดังนั้นเมื่อการประท้วงปะทุขึ้น ทางการจึงตัดอินเทอร์เน็ต และปิดกั้นการขึ้นถึงอินสตาแกรม รวมทั้งพื้นที่สนทนาอย่างแอปพลิเคชัน วอตส์แอปป์ แต่ถึงอย่างนั้นผู้คนก็หาหนทางโพสต์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ

อารมณ์ขันบนติ๊กตอก

ปฏิกิริยาของทางการที่มีต่อกลุ่มผู้ประท้วงมักเป็นความรุนแรง

Iran Human Rights องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานในนอร์เวย์ระบุว่า เหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นในอิหร่านทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 201 คน ในจำนวนนี้ 23 คนเป็นเด็ก

แม้จะตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความมืดมน แต่คนอิหร่านก็พยายามใช้อารมณ์ขันเพื่อปลุกปลอบใจกันและกัน

หลังจากรายการข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์ทางการอิหร่านถูกแฮกขณะกำลังออกอากาศ ผู้คนก็พากันล้อเลียนผู้ประกาศข่าวชายที่ขณะนั้นทำสีหน้าเรียบเฉย โดยทำคลิปวิดีโอใส่ภาพของเขาเข้ากับคลิปดังของสนูป ด็อก และเควิน ฮาร์ต ที่กำลังหัวเราะอยู่ในรายการทอล์กโชว์ของพวกเขา

ห้ามบทเพลง ภาษา และการเต้น

A young protester with red ink on her face that spells "HELP" cuts her hair with scissors during a demonstration against the death of Mahsa Amini on September 23, 2022 in Berlin, Germany

ที่มาของภาพ, Getty Images

ข้อบังคับการสวมฮิญาบ และการที่ผู้ประท้วงมองว่ากฎหมายอิสลามเข้าไปก้าวก่ายชีวิตประจำวันของประชนอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นประเด็นร้อนที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลมีเดีย

ในช่วงต้นของการประท้วง คนอิหร่านใช้ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมเป็นช่องทางบอกเล่าสาเหตุที่พวกเขาออกมาประท้วง หลายคนแสดงความไม่พอใจที่ทางการก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่นการฟังเพลง

เพลงป๊อปของศิลปินตะวันตก หรือเพลงป๊อปที่ผลิตนอกประเทศอิหร่านถือเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศมานานหลายทศวรรษ และทางการมักเรียกตรวจค้นรถ หรือแม้แต่เข้าค้นตามบ้านประชาชนเพื่อตรวจหาสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ดนตรีที่ไม่เหมาะสม”

นอกจากนี้ การเต้นรำในที่สาธารณะก็เป็นสิ่งต้องห้ามในอิหร่าน ยกเว้นการเต้นรำแบบดั้งเดิมที่อนุญาตให้แสดงได้โดยผู้ชาย ผู้หญิงอิหร่านไม่มีสิทธิร้องเพลงและเต้นรำในที่สาธารณะ แม้ว่าจะมีการลักลอบเปิดชั้นเรียนเต้นรำแบบลับ ๆ อยู่บ้างก็ตาม

ในปี 2017 รัฐบาลได้ห้ามชั้นเรียนเต้นออกกำลังกาย “ซุมบ้า” ที่มีตามสถานออกกำลังกายที่แยกเพศชาย-หญิง โดยชี้ว่าเป็นกิจกรรมที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

An Iranian female activist performs as people shout slogans during a protest following the death of Iranian Mahsa Amini, in Istanbul, Turkey, 02 October 2022

ที่มาของภาพ, EPA

นอกจากการร้องรำทำเพลงแล้ว ทางการอิหร่านยังควบคุมเรื่องภาษาด้วย โดยในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา ชนกลุ่มน้อยในอิหร่านถูกห้ามไม่ให้สอนภาษาของตนเองในโรงเรียน

ซารา โมฮัมมาดี ครูสอนภาษาเคิร์ด กำลังรับโทษจำคุก 5 ปีฐานสอนภาษาแม่ของตน

โซเชียลมีเดียนับเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การประท้วงในอิหร่านดังกึกก้องไปทั่วโลก เป็นช่องทางให้ชาวอิหร่านทั้งในและนอกประเทศได้แสดงความรู้สึกนึกคิด และช่วยให้คนทั่วโลกได้ติดตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอิหร่าน

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

เนจิน ชีรักไฮอี จากกลุ่ม Iranian Women’s Rights เชื่อว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอิหร่านสอดคล้องกับจุดประสงค์ของบรรดาผู้สร้างโซเชียลมีเดีย

“ความฝันดั้งเดิมของบรรดาผู้สร้างอินเทอร์เน็ตคือการให้พื้นที่แก่ทุกคน” เธอกล่าว

“สิ่งที่เรากำลังเห็นในอิหร่านคือการที่ผู้คนในประเทศไม่มีสื่อที่เป็นตัวแทนประชาชน โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นสื่อกลางสำหรับผู้คน มันคือสื่อที่ช่วยกระจายอำนาจให้ประชาชนมีเสียงและได้รับการมองเห็น”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว