
รัฐปัญจาบทางภาคเหนือของอินเดียกลายเป็นรัฐแรกที่อนุญาตให้นักโทษในเรือนจำได้รับสิทธิเยี่ยมเพื่อทำกิจกรรมฉันสามีภรรยากับคู่สมรส โดยที่ผู้ต้องขังในคดีฆาตกรรมวัย 60 ปีคือผู้ใช้สิทธินี้เป็นรายแรก
กูร์จีต ซิงห์ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำโกอินด์วาล มาประมาณ 2-3 เดือนเล่าให้บีบีซีฟังว่า รู้สึก “เหงาและเศร้าใจ” ขณะที่อยู่ในเรือนจำ แต่ได้รู้สึก “ผ่อนคลายมากที่ผมได้รับอนุญาตให้พบกับภรรยา และใช้เวลาอยู่กับเธอตามลำพัง 1-2 ชั่วโมง”
การเยี่ยมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากหน่วยงานราชทัณฑ์รัฐปัญจาบระบุว่า ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีจะได้รับอนุญาตให้คู่สมรสเข้าเยี่ยมเพื่อทำกิจกรรมฉันคู่รักได้เป็นเวลา 2 ชั่วโมงในทุก 2 เดือน
ทางการเปิดเผยกับบีบีซีว่า นับตั้งแต่นั้นก็มีผู้ต้องขังกว่า 1,000 รายสมัครขอใช้สิทธิดังกล่าว และเกือบครึ่งได้ใช้สิทธิเข้าเยี่ยมนี้แล้ว
สุนิล ซิงห์ นักกฎหมายที่ว่าความในศาลสูงสุดระบุว่า ที่ผ่านมา หลายรัฐในอินเดีย เช่น ราชสถาน และมหาราษฏระ อนุญาตให้ผู้ต้องขังความประพฤติดีอาศัยอยู่ในเรือนจำเปิดร่วมกับครอบครัวได้ และศาลทั่วประเทศก็มักอนุญาตให้นักโทษออกจากเรือนจำได้เป็นการชั่วคราวเพื่อ “รักษาความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา”
อย่างไรก็ตาม นักโทษส่วนใหญ่ในอินเดียซึ่งมีกว่าครึ่งล้านคนมักถูกจองจำโดยที่ไม่ได้พบหน้าคู่สมรสเป็นเวลานานหลายปี
การริเริ่มโครงการนี้เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาจึงทำให้รัฐปัญจาบ กลายเป็นรัฐแรกที่อนุญาตให้ผู้ต้องขังสามารถใช้เวลาส่วนตัวกับคู่สมรสภายในเรือนจำได้
หลังจากเริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อ 20 ก.ย. ที่เรือนจำ 3 แห่งจากทั้งหมด 25 แห่งในรัฐปัญจาบ ก็มีการขยายโครงการไปยังเรือนจำ 17 แห่งเมื่อ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า เรือนจำที่เหลือนั้นมีขนาดเล็กเกินไปที่จะจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังใช้สิทธินี้
เรือนจำที่เข้าร่วมโครงการต้องจัดห้องที่มีเตียงนอนและห้องน้ำเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถทำกิจกรรมส่วนตัวกับคู่สมรสได้ โดยคำสั่งของรัฐบาลระบุว่า คู่สมรสได้รับอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ และในเรือนจำบางแห่งมีการจัดบริการถุงยางอนามัยให้ด้วย
ฮาร์ปรีต สิธุ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บอกกับบีบีซีว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อจำกัดระดับความเครียดของผู้ต้องขัง และเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง และ “การเยี่ยมของคู่สมรสเพื่อทำกิจกรรมทางเพศนั้นเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางชีวภาพ”

ปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน ฟิลิปปินส์ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย เดนมาร์ก และบางรัฐของสหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิการเยี่ยมเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวกับคู่สมรส ขณะที่บราซิลและอิสราเอลอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเข้าเยี่ยมในลักษณะนี้ได้
อามิต ชาห์นี ทนายความเล่าว่าก่อนหน้านี้เรือนจำอินเดียไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังประกอบกิจกรรมทางเพศกับคู่สมรสภายในเรือนจำ ด้วยเหตุนี้เขาจึงยื่นคำร้องต่อศาลสูงนิวเดลีเพื่อให้ศาลตัดสินว่านี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษ โดยชี้ว่า นี่คือ “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”
เขาอธิบายว่า การลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่อาจเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่คู่สมรสของบุคคลเหล่านี้จะถูกพรากสิทธิที่จะได้มีความสัมพันธ์ทางกายกับคู่สมรส
คำร้องของนายชาห์นีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ขณะเดียวกันผู้ต้องขังและคู่สมรสจำนวนมากพยายามยื่นเรื่องขอทัณฑ์บนเพื่อ “รักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่” หรือเพื่อ “ผลิตทายาทไว้สืบสกุล” และศาลก็อนุมัติคำร้องของพวกเขา โดยชี้ว่าสิทธิดังกล่าวเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐานไม่ใช่สิทธิพิเศษ”

ในรายงานว่าด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ในเรือนจำอินเดียระบุว่า ปัญหานี้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อแนะนำให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิรูประบบในเรือนจำ
สำหรับคำสั่งในรัฐปัญจาบนั้นให้สิทธินี้แก่ผู้ต้องขังที่รับโทษเป็นเวลานาน และไม่มีสิทธิได้รับทัณฑ์บน นอกจากนี้ยังกำหนดประเภทของผู้ต้องขังที่จะไม่ได้รับสิทธินี้ เช่น:
- ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูง สมาชิกแก๊งอาชญากรรม และผู้ก่อการร้าย
- ผู้ต้องขังในความผิดล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ ผู้ก่อคดีทางเพศ และคดีความรุนแรงในครอบครัว
- ผู้ต้องขังที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ จนกว่าจะหายป่วยและผ่านการรับรองจากแพทย์ประจำเรือนจำ
- ผู้ต้องขังที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
- ผู้ต้องขังที่ผู้คุมประเมินว่ามีพฤติกรรมไม่ดี และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบในเรือนจำ
ลาลิต โคห์ลี ผู้บัญชาการเรือนจำโกอินด์วาล ซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยสูง และเป็นผู้อนุมัติคำร้องขอเยี่ยมเพื่อทำกิจกรรมของคู่สมรสอธิบายว่า เมื่อคู่สมรสเข้าไปในห้องที่เรือนจำจัดให้ก็จะมีการล็อกประตูจากด้านนอก และจะมีการปิดหน้าต่างและทางเข้าออกต่าง ๆ ตามกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัย
“คู่สมรสจะได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาด้วยกัน 2 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่มักใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และในกรณีที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถกดกริ่งเรียกผู้คุมได้” นายโคห์ลี อธิบาย พร้อมระบุว่า โครงการนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจากบรรดาผู้ต้องขัง
โจกา ซิงห์ วัย 37 ปี ที่ถูกคุมขังในระหว่างรอการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการนอกใจคู่สมรสเล่าว่า รู้สึกทุกข์ใจที่ไม่สามารถพบหน้าภรรยาเป็นเวลาหลายเดือน แต่เมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินี้เขาก็รู้สึกดีใจมาก
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับโครงการนี้ โดยบางฝ่ายชี้ว่า เรือนจำมีไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำผิด และการอนุญาตให้มีการเยี่ยมในลักษณะนี้ได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่เยื่ออาชญากรรมและครอบครัวของพวกเขา
หนึ่งในผู้วิจารณ์คือมารดาของ สิธุ มุสวาลา นักร้องเพลงแร็พชื่อดังที่ถูกฆาตกรรม ได้กล่าวหาทางการรัฐปัญจาบว่า “จัดหาเตียง” ให้นักโทษหาความสุขทางเพศในเรือนจำ และ “อำนวยความสะดวกสบายให้บรรดาแก๊งอาชญากรรมในคุกมากเกินไป”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยชี้ว่า กลุ่มชายที่ถูกจับกุมในคดีฆาตกรรมนายมุสวาลาไม่ได้รับสิทธินี้ เพราะเป็นสมาชิกแก๊งอาชญากรรม
อามิต ชาห์นี ทนายความผู้รณรงค์เรื่องนี้เรียกร้องให้ทางการอินเดียขยายโครงการนี้ไปยังเรือนจำทั่วประเทศ โดยชี้ว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการปฏิรูประบบทัณฑสถาน
เขากล่าวว่า “จุดประสงค์ของกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่การลงโทษผู้ต้องขัง แต่ยังรวมถึงการปรับปรุงพวกเขา เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้เมื่อพ้นโทษไปแล้ว”
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว