มะเร็งเต้านม : ทำไมผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันเสี่ยงมะเร็งเต้านมชนิดร้ายแรงมากกว่า

 

Two researchers from Weill Cornell Medicine standing next to each other

ที่มาของภาพ, John Abbott

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างคนที่มีเชื้อสายแอฟริกันกับมะเร็งเต้านมชนิดร้ายแรง นักวิจัยกลุ่มนี้หวังว่า ผลการวิจัยจะช่วยให้ผู้หญิงผิวดำมาร่วมการทดลองทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในหมู่ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคนี้

“ฉันไม่เคยคิดว่ามีเรื่องที่ต้องกังวลเลย” ลาเวิร์น ฟอนต์เลอรอย หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 53 ปี จากนิวยอร์ก บอก

ลาเวิร์นใช้ชีวิตโดยรักษาสุขภาพอย่างดี เธอทานอาหารดี ๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ก่อนวันเกิดเมื่อเดือน ม.ค. ไม่นาน หมอแจ้งผลวินิจฉัยซึ่งทำให้เธอทั้งกลัวและงุนงง

“พวกเขาแค่บอกว่าฉันเป็นมะเร็งเต้านม” ลาเวิร์น เล่า “คนที่เป็นมะเร็งที่ฉันรู้จักส่วนใหญ่ไม่รอดชีวิต แน่นอนมันทำให้ฉันรู้สึกพังและกลัวมาก ๆ”

เธอค้นพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมประเภท triple-negative (TNBC) หรือมะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวตอบรับกับฮอร์โมนหรือยีนส์ HER2

นี่เป็นชนิดมะเร็งที่พบกันน้อยกว่าแต่โตเร็วกว่า และมีแนวโน้มที่จะลุกลามและคนที่หายแล้วจะกลับมาเป็นมากกว่า นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในบรรดามะเร็งเต้านมชนิดต่าง ๆ

ด้วยความที่มะเร็งตัวนี้ไม่มีตัวรับ 3 ชนิด ที่มะเร็งเต้านมชนิดอื่นมีทำให้ยาที่ใช้ไม่ได้ผลกับมะเร็งเต้านมประเภทนี้ มักพบมะเร็งชนิดนี้ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปีมากกว่า และส่งผลกระทบต่อผู้หญิงผิวดำมากเป็นพิเศษ

A picture of Laverne Fauntleroy

ที่มาของภาพ, Laverne Fauntleroy

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Jama Oncology พบว่าผู้หญิงผิวดำที่เป็นมะเร็งประเภท TNBC มีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงผิวขาวที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกันถึง 28%

งานวิจัยนี้ได้ยืนยันแล้วว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อสายแอฟริกันกับมะเร็ง TNBC

ดร.ลิซา นิวแมน จากวิทยาลัย Weill Cornell Medicine มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยมะเร็งเต้านมในผู้หญิงในภูมิภาคต่าง ๆ ของแอฟริกามา 20 ปีแล้ว งานวิจัยของเธอชี้ว่า TNBC พบได้ง่ายเป็นพิเศษในผู้หญิงจากทางตะวันตกของภูมิภาคตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) อาทิ ประเทศกานา

เธอบอกว่า อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะพันธุกรรมของผู้หญิงบริเวณนี้ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบนี้หลังจากต่อสู้กับโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเช่น มาลาเรีย

เธอบอกว่างานวิจัยชิ้นล่าสุดสำคัญมากในการพยายามเข้าใจโรคนี้

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้หญิงจากหลากหลายพื้นเพต้องมาเข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์

“น่าเสียดายที่ผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมาเข้าร่วมการทดลองเกี่ยวกับโรคมะเร็งเป็นสัดส่วนน้อยมาก และเราก็เห็นปรากฏการณ์นี้ในการทดลองมะเร็งเต้านมครั้งนี้เหมือนกัน”

“เมื่อคุณไม่มีตัวแทนที่หลากหลาย[มาเข้าร่วมการทดลอง] คุณก็ไม่เข้าใจว่าจะปรับใช้เทคนิคที่ก้าวหน้าขึ้นในการรักษายังไง”

ดร.นิวแมนบอกว่า เหตุผลส่วนหนึ่งคือคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันไม่ไว้วางใจระบบสาธารณสุขมาตั้งแต่ในอดีต

A solo headshot of Dr Lisa Newman

ที่มาของภาพ, Weill Cornell Medicine

“เรายังคงเห็นกรณีการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบในการให้บริการด้านสาธารณสุขอยู่ น่าเศร้าว่ามีการบันทึกไว้ว่าผู้ให้การรักษามะเร็งหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะเสนอให้ผู้ป่วยผิวดำเข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์น้อยกว่าคนไข้ผิวขาว”

ลาเวิร์นเห็นด้วยว่าผู้หญิงผิวดำต้องเข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์ นั่นเป็นเหตุที่เธอตัดสินใจเข้าร่วม

เธอบอกว่าประวัติศาสตร์คนผิวดำในสหรัฐอเมริกากันไม่ให้พวกเขามามีส่วนร่วมกับโครงการแบบนี้

“ฉันอยากจะมีส่วนร่วมในการทำให้อะไร ๆ ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป” เธอกล่าว “พวกเขาวิเคราะห์เลือดคุณ เวลาคุณเข้ารับการผ่าตัด ส่วนของร่างกายไม่ได้ใช้ – แม้กระทั่งเนื้อเยื่อที่จะทิ้ง – พวกเขาจะนำไปศึกษา”

ต่อมาในเดือน ก.ค. ลาเวิร์นหายจากมะเร็งหลังเข้ารับการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จ

“ทุกอย่างกำลังไปได้ดี… ฉันภูมิใจที่ฉันสมัครเข้าร่วมการวิจัย และฉันก็ภูมิใจที่ได้ช่วย ดร.นิวแมน”

ในอังกฤษ ผู้หญิงผิวดำเชื้อสายแอฟริกันมีแนวโน้มถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะท้าย ๆ มากกว่าผู้หญิงผิวขาวถึง 2 เท่า

ดร.จอร์เจ็ตต์ โอนิ แพทย์ด้านมะเร็งเต้านมจากเมืองนอตติงแฮม บอกว่า การขาดตัวแทนจากคนผิวดำในการทดลองทางการแพทย์เป็นปัญหาในสหราชอาณาจักรเหมือนกัน เธอบอกว่ายิ่งมีจำนวนคนที่เข้าร่วมการทดลองมากแค่ไหน ก็จะได้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญมากขึ้น

…….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว