สี จิ้นผิง : อเมริกาจะรับมืออย่างไรกับสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีจีน

  • จอห์น ซัดเวิร์ธ
  • ผู้สื่อข่าวประจำทวีปอเมริกาเหนือ
Xi graphic

ไม่กี่วันมานี้ สี จิ้นผิง เดินออกสู่สายตาของสื่อทั่วโลก ในฐานะผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในรอบหลายทศวรรษ

ธรรมเนียมการดำรงตำแหน่งผู้นำจีนที่จำกัดเอาไว้ 2 สมัยของบรรดาผู้นำก่อนหน้าเขาได้ถูกทำลายลง และการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ถือเป็นการกุมอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จของเขา ซึ่งอาจดำเนินสืบไปจนชั่วชีวิต

แม้ว่านายสีจะกุมอำนาจในประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง แต่สถานการณ์ในเวทีระหว่างประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะยิ่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ผู้นี้พยายามสร้างความแข็งแกร่งให้การปกครองแบบเผด็จการของจีนมากเพียงใด ก็ยิ่งเป็นการท้าทายฐานคติของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่ว่า “ยิ่งจีนร่ำรวยขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมีเสรีภาพมากขึ้นเท่านั้น”

ความเชื่อนี้ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการค้าระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลจีนมายาวนานหลายทศวรรษ

มันคือพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้แต่ละปีทั้งสองชาติมีการค้าระหว่างกันมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะนี้นายสีเริ่มการปกครองจีนเป็นสมัยที่ 3 และกำลังเผชิญสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และความพยายามกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงของอเมริกา ซึ่งบรรดานักวิจารณ์ระบุว่าเป็นความพยายาม “ทุกวิถีทาง” เพื่อสกัดการผงาดอิทธิพลของจีน

รัฐบาลจีนชี้ว่า ความสัมพันธ์ที่เย็นชาระหว่างสองชาติในช่วงไม่นานมานี้ เกิดจากการที่อเมริกาต้องการรักษาตำแหน่งมหาอำนาจของโลกเอาไว้

นโยบายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาระบุว่ารัฐบาลจีนเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของโลกมากกว่ารัฐบาลรัสเซีย และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มหารือว่าการที่จีนจะรุกรานไต้หวันนั้นมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้มากขึ้นทุกขณะ ไม่ใช่ภัยที่อยู่ห่างไกลอีกต่อไป

ท่าทีปัจจุบันของสหรัฐฯ ช่างแตกต่างจากห้วงเวลาในอดีตเมื่อครั้งที่ผู้นำสหรัฐฯ และจีนต่างประกาศร่วมกันว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทวิภาคจะเอาชนะความแตกต่างทางอุดมการณ์การเมือง และความตึงเครียดระหว่างกันในที่สุด

แล้วความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีนดำเนินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ความเคยชินต่อเสรีภาพ

การที่ประธานาธิบดีไบเดนปฏิบัติต่อจีนเยี่ยงคู่อริมากขึ้นทุกขณะนั้น ช่างย้อนแย้งกับท่าทีในอดีตของเขา

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 นายไบเดน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก คือตัวตั้งตัวตีผลักดันความพยายามในการต้อนรับจีนเข้าสู่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO)

“จีนไม่ใช่ศัตรูของเรา” นายไบเดนกล่าวต่อผู้สื่อข่าวขณะเดินทางไปนครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2000

คำพูดนี้มาจากความเชื่อว่า การค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะบีบให้จีนเข้าสู่ระบบที่มีมาตรฐานร่วมกัน และมีค่านิยมสากล ตลอดจนช่วยให้จีนผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ

Pascal Lamy, then director-general of the World Trade Organisation, signed the agreement of China's accession to the group in 2000.

ที่มาของภาพ, Getty Images

บรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ต่างก็วิ่งเต้นอย่างหนักให้จีนเปิดประเทศทำการค้ามากขึ้น โดยบริษัท British American Tobacco ต้องการขายสินค้าประเภทยาสูบในตลาดจีน ขณะที่สภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน องค์กรส่งเสริมความสัมพันธ์การค้าระหว่างสองชาติก็ต้องการเข้าถึงแรงงานราคาถูกในจีน

แม้จะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มสหภาพแรงงานอเมริกันที่กังวลว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานในประเทศจะตกงาน ขณะที่อีกฝ่ายแสดงความกังวลเรื่องปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน แต่สหรัฐฯ ก็ผลักดันให้จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้สำเร็จในปี 2000

นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเทกซัส ได้กล่าวในสุนทรพจน์อันโด่งดังต่อกลุ่มคนงานบริษัทโบอิง ระหว่างการหาเสียงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค.ปี 2000 ว่า

“ในกรณีการค้า” กับจีนนั้น “ไม่ใช่แค่เรื่องเชิงพาณิชย์ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า” ว่าการค้าจะช่วยให้จีนดำเนินไปตามครรลองของประชาคมโลก

“เสรีภาพทางเศรษฐกิจสร้างความเคยชินต่อเสรีภาพ และความเคยชินต่อเสรีภาพสร้างความคาดหวังต่อระบอบประชาธิปไตย”

ความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้มีความหวังขึ้นมาชั่วขณะว่าจะเกิดการปฏิรูปทางการเมืองขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีหลังจากจีนได้เข้าเป็นสมาชิก WTO อินเทอร์เน็ตได้เปิดโอกาสให้ชาวจีนสามารถพูดคุยและแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในอดีต

อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เปรียบเปรยการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตว่าเหมือนกับการ “พยายามตอกตะปูตรึง “เจลโล” (Jell-O ขนมเยลลียี่ห้อหนึ่ง) ไว้กับฝาผนัง”

ในยุคที่นายสีเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยแรก ในปี 2012 สื่อระหว่างประเทศต่างรายงานเรื่องความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจ และการถือกำเนิดของชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ในจีนว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจีนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน นายสีก็เริ่มแสดงให้เห็นแนวทางการปกครองประเทศของเขามาตั้งแต่เริ่มต้น โดยชี้ว่า ชาวจีนที่เริ่มแสดง “ความเคยชินต่อเสรีภาพ” นั้นไม่ใช่ผลผลิตจากยุคโลกาภิวัตน์ที่น่าให้การต้อนรับ แต่เป็นสิ่งที่ต้องขจัดให้หมดสิ้นไปด้วยทุกวิถีทาง

เอกสารหมายเลข 9 ที่สำนักงานกลางพรรคคอมมิวนิสต์เผยแพร่ออกมาหลังนายสีขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำได้ไม่นานได้กำหนดภัยอันตราย 7 ประการที่จะต้องป้องกันจากสังคมจีน เช่น “ค่านิยมสากล” แนวคิดเรื่อง “ประชาสังคม” ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ และเสรีภาพของสื่อ

นายสีเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือความอ่อนแอทางอุดมการณ์ และเป็นอุปสรรคต่อการยึดถือแนวทางสังคมนิยม อันจะนำไปสู่การล่มสลาย ดังเช่นที่เกิดกับสหภาพโซเวียต

แนวคิดเรื่องภัยคุกคามดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในสังคมจีน และนายสีมองว่าค่านิยมสากลเปรียบเสมือน “ม้าโทรจัน” ที่แฝงตัวเข้ามาบ่อนทำลาย และจะนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่จุดจบแบบเดียวกับโซเวียต ดังนั้นคำตอบของเขาคือการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ในการกระชับอำนาจตามลัทธิอำนาจนิยม และการปกครองประเทศตามระบบรัฐพรรคการเมืองเดียว

ตรึงเจลโลติดฝาผนัง

เมื่อเข้าสู่การปกครองประเทศในสมัยที่ 2 จีนก็เริ่มตอกตะปูตรึงเจลโลเข้ากับฝาผนังได้อย่างอยู่หมัด ทั้งการจำคุกบรรดานักกฎหมาย และปิดปากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ขจัดเสรีภาพในฮ่องกง และสร้างค่ายกักกันชาวมุสลิมอุยกูร์กว่าหนึ่งล้านคนในเขตปกครองตนเองซิเจียง ทางตะวันตกสุดของประเทศ

ถึงกระนั้น บรรดาชาติตะวันตกกลับยังเดินหน้าสนับสนุนเรื่องความร่วมมือทางการค้ากับจีน และยังไม่หันไปใช้นโยบายเพื่อสกัดการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน เช่นที่จีนกำลังอ้างอยู่ในปัจจุบัน

Cars roll down a highway cutting through the rapidly developing city July 16, 2007 in Beijing, China.

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเข้าเป็นสมาชิก WTO ช่วยให้จีนได้ประโยชน์มหาศาลจากความร่วมมือทางการค้ากับนานาประเทศ ในสหราชอาณาจักรมีช่วงเวลาที่เรียกว่า “ยุคทอง” ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้ากับจีนตั้งแต่ช่วงการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของนายสีและดำเนินเรื่อยมาจนถึงสมัยที่สอง

นี่ทำให้เราได้เห็นรัฐมนตรีและนักการเมืองอังกฤษจำนวนมากเดินทางเยือนจีน แม้จะมีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เนือง ๆ ก็ตาม

ในขณะที่บรรดานักการเมืองจากชาติประชาธิปไตยพากันป่าวประกาศให้โลกรู้ถึงประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน แต่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมักมีการหารือ “อย่างลับ ๆ”

ในช่วงนี้เอง นายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายคนเล็กของประธานาธิบดีไบเดน พยายามสานสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มบุคคลสัญชาติจีนที่มีความเกี่ยวโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองที่ส่งผลมาสู่เขาจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของนักลงทุนและนักธุรกิจนั้น ดูเหมือนหลายคนจะให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ที่ได้จากการทำธุรกิจกับจีนเหนือสิ่งอื่นใด บางคนมองว่า การมุ่งเป้าไปเฉพาะเรื่องการกดขี่ จำกัดเสรีภาพประชาชน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการจีนจะทำให้พลาดการมองภาพรวมที่ใหญ่กว่าในเรื่องความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

นี่ทำให้นักการเมืองและนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยละทิ้งคำมั่นสัญญาที่จะนำเสรีภาพทางการเมืองไปสู่จีน

แล้วสถานการณ์พลิกผันไปได้อย่างไร

จุดยืนต่อจีนที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างแรกคือ ความคิดเห็นของสังคม

ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา กลุ่มชาวอุยกูร์พลัดถิ่นออกมาเปิดโปงเรื่องการหายตัวไปของญาติพี่น้องที่ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลชาติตะวันตกจะอดกลั้นต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน ทั้งเรื่องควบคุมการนับถือศาสนา การจำคุกผู้เห็นต่าง และการบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียว

แต่การที่จีนมุ่งเป้าจำคุกและกดขี่ข่มเหงกลุ่มคนชาติพันธุ์หนึ่ง เพียงเพราะวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพวกเขานั้น ได้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อคนทั่วโลก เพราะการกระทำดังกล่าวกระตุ้นให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรปและที่อื่น ๆ

บริษัทที่มีห่วงโซ่อุปทานในซิงเจียงต้องเผชิญคำถามและความกังวลจากบรรดาผู้บริโภค ขณะที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็เผชิญแรงกดดันให้ดำเนินมาตรการตอบโต้การกระทำของจีน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่สร้างความกังวลให้คนทั่วโลก ทั้งการปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง การอ้างกรรมสิทธิ์และแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารในทะเลจีนใต้ ตลอดจนการคุกคามไต้หวันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของสำนักวิจัยพิวบ่งชี้ว่า 80% ของชาวอเมริกันมีทัศนคติเชิงลบต่อจีน เพิ่มขึ้นจากเมื่อทศวรรษก่อนที่มีเพียง 40%

ปัจจัยสำคัญอย่างที่สองที่ทำให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อจีนคือนายโดนัลด์ ทรัมป์

US President Donald Trump (R) and Chinese President Xi Jinping (L) shake hands during dinner at the Mar-a-Lago estate in West Palm Beach, Florida, on April 6, 2017

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในระหว่างอยู่ในอำนาจ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า ความร่วมมือทางการค้ากับจีนเป็นการเดิมพันที่ผิดพลาด และให้ผลตอบแทนไม่คุ้มเสีย โดยทำให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายขาดดุลการค้า

แม้จะมีเสียงวิจารณ์นายทรัมป์ที่ประกาศทำสงครามการค้ากับจีน แต่นี่ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญในจุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน

แม้แต่ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน ก็ดำเนินตามนโยบายบางอย่างของนายทรัมป์ เช่น การทำสงครามการค้า และการตั้งกำแพงภาษี

รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มตระหนักแล้วว่า แทนที่ความร่วมมือทางการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนจะช่วยเร่งให้เกิดการปฏิรูปการเมืองขึ้น ในประเทศนี้ แต่กลับส่งผลในทางตรงข้าม และยิ่งส่งเสริมรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการของจีนให้แข็งแกร่งขึ้น

จุดยืนใหม่

ไม่มีตัวบ่งชี้ถึงท่าทีใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนได้ชัดเจนแจ่มแจ้งได้เท่ากับการแสดงความคิดเห็นล่าสุดของประธานาธิบดีไบเดนต่อสถานะของไต้หวัน

เมื่อเดือน ต.ค. นายไบเดนตอบคำถามผู้สื่อข่าวซีบีเอสนิวส์ว่าสหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าปกป้องไต้หวันในกรณีที่จีนรุกรานหรือไม่

“ส่งครับ” เขากล่าว “หากมีการโจมตีอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ จงใจวางนโยบายที่คลุมเครือว่าจะให้ความช่วยเหลือไต้หวันกรณีที่จีนเข้ารุกรานหรือไม่

ฝ่ายหนึ่งมองว่าการยอมรับว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องนี้จะเท่ากับการเปิดไฟเขียวให้จีนเข้ารุกรานไต้หวัน แต่อีกฝ่ายมองว่า การจะให้ความช่วยเหลือไต้หวันจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้รัฐบาลไต้หวันกล้าประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น การประกาศอย่างชัดเจนดังกล่าวของนายไบเดนจึงสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่รัฐบาลจีน ซึ่งมองว่านี่คือการปรับเปลี่ยนจุดยืนครั้งสำคัญของสหรัฐฯ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ จะพยายามกลับลำความเห็นดังของนายไบเดนก็ตาม

แทนที่จะยึดมั่นในมาตรฐานและค่านิยมเดียวกับชาติตะวันตก ตอนนี้จีนกำลังนำเสนอลัทธิอำนาจนิยมที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในฐานะทางเลือกที่ดีกว่า และพยายามส่งเสริมระบบนี้ โดยชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังเสื่อมถอย

ปัจจุบันจีนมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกมาก และพยายามชี้ให้เห็นว่าโลกไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องทำการค้ากับจีนต่อไป และจะต้องเกรงกลัวว่าจะเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหากสร้างความไม่พอใจให้แก่จีน

อย่างไรก็ตาม ในกรุงวอชิงตัน ดีซี นักการเมืองทั้งฝ่ายริพับลิกันและเดโมแครตต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างแรงกล้าว่าจีนคือภัยคุกคามสำคัญต่อชาติ แม้ว่าปัจจุบันการหาห่วงโซ่อุปทานแหล่งใหม่จะไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี รวมถึงใช้เงินมหาศาลก็ตาม

ขณะเดียวกัน จีนก็มีมาตรการให้รางวัลแก่ผู้ที่ยังร่วมมือทางเศรษฐกิจกับตน และลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ยอมร่วมมือ

แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในการขึ้นครองอำนาจเป็นสมัยที่ 3 ของนายสีคือ โลกอยู่ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ขณะที่สหรัฐฯ พบว่าตนเองกำลังเผชิญกับความเป็นปรปักษ์จากทั้งจีนและรัสเซีย ซึ่งล้วนเป็นผลจากสิ่งที่ตนเองได้สร้างขึ้น

………

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว