ส่องสัมพันธ์เวียดนาม-จีน-สหรัฐฯ หลัง สี จิ้นผิง รับ เหงียน ฟู้ จ่อง ยิ่งใหญ่

เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นผู้นำต่างประเทศชาติแรกที่พบสี จิ้นผิง หลังผู้นำจีนได้ครองตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่ 3 การพบกันครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไรต่อการทูตในภูมิภาคและไทย

นายเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เยือนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา หรือ 1 สัปดาห์หลังจากที่นายสี ได้ครองตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดนับตั้งแต่ยุคของเหมา เจ๋อตุง ผู้ปฏิวัติประเทศจีนให้กลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายเหงียน ฟู้ จ่อง ในวัย 78 ปี มีปัญหาสุขภาพ จึงไม่ค่อยได้เดินทางออกนอกประเทศนัก แต่เขาได้เลือกเดินทางเยือนจีน ในการเยือนต่างประเทศครั้งแรก หลังรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอีกสมัยเมื่อ ม.ค. 2564 ตามที่เคยสัญญาไว้กับนายสี แสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศและทั้ง 2 พรรคอย่างมาก

ความสัมพันธ์ของ “สหายและพี่น้อง”

ในการพบกันครั้งนี้ นายสี จิ้นผิง และนายเหงียนฟู้จ่อง ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงยังมีภาพที่ทั้งคู่จับมือและกอดกัน ซึ่งถือเป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อยนักระหว่างนายสี จิ้นผิงกับผู้นำประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่จีนใช้มาตรการเข้มงวดในการป้องกันโควิด-19

นอกจากนี้ นายสี จิ้นผิง ยังได้มอบเหรียญมิตรภาพแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้แก่นายเหงียน ฟู้ จ่องโดยกล่าวว่าเหรียญดังกล่าวแสดงถึงมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างจีนกับเวียดนามในฐานะ “สหายและพี่น้อง” เหรียญรางวัลนี้มอบให้แก่ผู้ที่สนับสนุนความทันสมัยของจีน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับทั่วโลก และรักษาสันติภาพของโลก ส่วนนายเหงียน ฟู้ จ่องก็เชื่อว่าเหรียญนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าทั้ง 2 ประเทศจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น

การพบกันด้วยรอยยิ้ม

ที่มาของภาพ, TTVXN

ซีซีทีวี สถานีโทรทัศน์ของทางการของจีนรายงานว่า ในระหว่างการพบกัน นายสี จิ้นผิง กล่าวต่อนายเหงียน ฟู้ จ่องว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามควรจะรีบสร้างความสุขให้กับประชาชนและพัฒนาความก้าวหน้าของมนุษยชาติ เร่งสร้างสังคมนิยมที่ทันสมัย และ “อย่ายอมให้ใครมาขัดขวางความก้าวหน้า” ของทั้ง 2 ประเทศได้

เวียดนามเลือกข้างจีน ทิ้งสหรัฐฯ?

เห็นได้ชัดจากคำพูดของนายสี จิ้นผิงว่าจีนต้องการให้เวียดนามอยู่เคียงข้างจีนท่ามกลางบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ทั้งในประเด็นไต้หวันและรัสเซีย-ยูเครน

“การต้อนรับผู้นำเวียดนามอย่างสมเกียรติของสี จิ้นผิง มีเป้าหมายเพื่อชักชวนเวียดนามให้เห็นพ้องกับวิสัยทัศน์ของการคงอยู่ของการปกครองแบบพรรคเดียวต่อไป  เช่นเดียวกับการบรรลุสันติภาพในทะเลจีนใต้ เพื่อให้เขาได้ใช้เวลาไปจัดการกับสหรัฐฯ” ฮาเวิร์ด จาง บรรณาธิการบีบีซีแผนกภาษาจีน ให้ความเห็น

ก่อนการพบกันครั้งนี้ ดร.อเล็กซานเดอร์ วูวิง จากศูนย์ศึกษาเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในรัฐฮาวาย กล่าวกับ บีบีซีภาษาเวียดนามว่า “ความใกล้ชิดกัน คือ ส่วนหนึ่งของความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการดึงเวียดนามมาใกล้ตัวมากขึ้น และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ”

ดร.วูวิง วิเคราะห์ว่า นโยบายการทูตแบบ “ไผ่ลู่ลม” ที่เวียดนามเคยใช้รับมือกับประเทศมหาอำนาจในช่วงหลังสงครามเย็นนั้นเกิดขึ้นได้เพราะหลังสงครามเย็น มหาอำนาจมุ่งเน้นการร่วมมือกันมากกว่าแข่งขันกัน แรงกดดันให้ต้องเลือกข้างจึงไม่รุนแรงจนทำลายความร่วมมือของเวียดนามกับมหาอำนาจต่างๆ แต่ยุคนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา การทูตแบบไผ่ลู่ลมของเวียดนามถูกทำลายลง ทั้งจีนและรัสเซียต่างกดดันเวียดนามให้ต้องเลือกข้างพวกเขามากขึ้น

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

บีบีซีเวียดนาม วิเคราะห์ว่า แม้แถลงการณ์ร่วมกันของจีนและเวียดนามระบุว่าเวียดนามจะส่งเสริมการพัฒนาในโครงการแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative: BRI) “สนับสนุนและเต็มใจเข้าร่วม” แผนพัฒนาตามสไตล์ของจีน เช่น ความริเริ่มการพัฒนาโลก (Global Development Initiative: GDI) รวมถึงยอมรับ ความริเริ่มความมั่นคงโลก (Global Security Initiative: GDI) ซึ่งวางตัวเป็นขั้วตรงข้ามกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก แต่ก็ไม่อาจแปลความได้ว่าเวียดนามยอมศิโรราบให้กับจีน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ เองก็มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดของ “ชนชั้นนำทางการเมือง” ของเวียดนามดี ไม่ต่างจากผู้นำจีน คำพูดที่ใช้ในแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับ “ล้วนเป็นภาษาทางการทูตที่ไม่ได้อันตรายอะไร”

ด้าน เผิง เหนียน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านเอเชียศึกษา (RCAS) ของจีน มองว่า การพบกับของผู้นำเวียดนามและจีนเป็นเพราะผู้นำเวียดนามต้องโน้มน้าวจีนว่าเวียดนามให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์จีน-เวียดนามเป็นอันดับแรก ก่อนที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางไปกัมพูชาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับผู้น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12-13 พ.ย. นี้ ต่อด้วยการประชุมกับผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ระหว่าง 13-16 พ.ย.

ในทางหนึ่ง เวียดนามพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่อีกทางหนึ่ง เวียดนามต้องรักษาความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีนไว้เสมอ และพยายามทำให้จีนคลายความกังวลต่อความสัมพันธ์ของเวียดนามและสหรัฐฯ ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้

เผิง เหนียน กล่าวว่า นายเหงียน ฟู้ จ่อง ไปจีนเพื่อตอกย้ำจุดยืนของเวียดนามว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามจะไม่เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ของเวียดนามกับจีน เพราะเวียดนามยังคงในนโยบายเดิม นั่นคือ 1. เวียดนามจะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการทหารกับใคร 2. เวียดนามจะไม่เป็นพันธมิตรกับประเทศใดที่มุ่งทำร้ายประเทศอื่น 3. เวียดนามจะไม่อนุญาตให้ประเทศใดมาตั้งฐานทัพในเวียดนามหรือใช้แผ่นดินเวียดนามทำร้ายประเทศอื่น 4. เวียดนามจะไม่ใช้กำลังหรือข่มขู่จะใช้กำลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เวียดนามยังต้องพึ่งพาจีนในด้านเศรษฐกิจ

ผศ. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า จีนเองก็จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับเวียดนามและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไม่ให้ประเทศกลุ่มนี้เอนเอียงไปทางสหรัฐฯ มากเกินไป ในยามที่จีนกำลังมีประเด็นไต้หวันอยู่

ส่วน เวียดนามจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีน เพราะเวียดนามเองก็ยังคงไม่มั่นใจนักว่าสหรัฐฯ จะช่วยเวียดนามได้มากแค่ไหน หากจีนเดินหน้าทางการทหารบริเวณหมู่เกาะพาราเซล สแปรต์ลีย์ในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันจีนก็ยังถือไพ่ด้านเศรษฐกิจเหนือเวียดนามอยู่

BBC

จีนถือเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามแม้จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามระบุว่า จีนเป็นผู้นำสินค้าเวียดนามที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 55,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2002 ถึง 37 เท่า โดยสินค้าแปรรูปและสินค้าสำเร็จรูปของเวียดนามส่งออกไปจีนคิดเป็นร้อยละ 77.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม ส่วนเครื่องจักรและวัตถุดิบการผลิตจากจีนก็คิดเป็นร้อยละ 94.15 ของรายได้จากการนำเข้าสินค้าของเวียดนาม

ขณะเดียวกัน เวียดนามก็เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน และใหญ่อันดับ 6 ของจีน โดย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) จีนได้ตัดลดภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนามมากกว่า 8,000 รายการ รวมถึงสินค้าเกษตรด้วย

ด้านสวี่ ลี่ผิง ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่สถาบันสังคมศาสตร์จีน ให้สัมภาษณ์กับโกลบอล ไทม์ส ว่า จีนและเวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ 2 พรรคก็มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนาน จีนและเวียดนามต่อสู้เคียงข้างกันป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติและเจ้าอาณานิคม ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจึงนำด้วยความสัมพันธ์ของ 2 พรรค

ทั้ง 2 ประเทศตัดสินใจปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในยุค 1970-1980 แล้วทั้ง 2 ประเทศก็พัฒนาอย่างรวดเร็วและทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ว่าสังคมนิยมที่ทันสมัยสามารถพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพและมั่นคงกว่าระบบการเมืองของตะวันตก

ส่วนจ้าว เหว่ยหัว ผู้อำนวยการศูนย์ความสัมพันธ์จีนกับประเทศเพื่อนบ้าน ของสถาบันการต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ต้าน กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเข้าใจเป็นอย่างดีว่าความสัมพันธ์ที่สันติและมั่นคงกับจีนจะทำให้เวียดนามบรรลุ “เป้าหมายแห่งศตวรรษ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ทั้งการทำให้เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2030 และกลายเป็นประเทศพัฒนารายได้สูงภายในปี 2045

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้ง 2 ประเทศนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า จีนจะลงทุนกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอีก โดยผู้นำเวียดนามได้เปิดเผยหลังการพบกันว่า จีนเตรียมเร่งแผนยุทธศาสตร์พัฒนาร่วมกับเวียดนาม ส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมจีนและเวียดนาม เพื่อสร้าง “ซัพพลายเชนที่มั่นคง” ร่วมกัน ซึ่งจะรวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีของเวียดนาม และความร่วมมือด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้าน ซาง เหวียน บรรณาธิการบีบีซีแผนกภาษาเวียดนามมองว่า การเข้ามาลงทุนของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ทำให้อิทธิพลของทุนจีนลดลง ในขณะที่ข้าราชการรุ่นใหม่และนักธุรกิจรุ่นใหม่ของเวียดนามล้วนเป็นมิตรและนิยมชมชอบค่านิยมตะวันตกมากกว่าแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ผู้นำรุ่นเก่าก็อายุมากขึ้น

ปัญหาพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ยังไม่หายไป

สวี่ ลี่ผิง กล่าวว่า จีนและเวียดนามมีประเด็นขัดแย้งกันหลายเรื่อง รวมถึง พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามช่วยให้ทั้ง 2 ประเทศจัดการความขัดแย้งอย่างสันติได้

อย่างไรก็ตาม ผศ.มรกตวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ภาพลักษณ์ความสามัคคีของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จะออกมาดีมากผ่านแถลงการณ์ของผู้นำเวียดนามและจีนจะเต็มไปด้วยภาษาดอกไม้ แต่เมื่ออ่านระหว่างบรรทัดแล้วก็ยังเห็นว่าเวียดนามยังมีความกังวลเกี่ยวกับหมู่เกาะพาราเซล สแปรตลีในทะเลจีนใต้อยู่ โดยกล่าวว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องรักษาสันติภาพและความสงบสุขบนพรมแดนทางบกและทางทะเล เพื่อไม่ให้ปัญหาทางทะเลกระทบกับความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศ

นอกจากนี้ อาจยังต้องจับตาว่า รัฐบาลเวียดนามจะสามารถทำให้คนเวียดนามทั่วไปรู้สึกสนิทใจกับจีนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้คนเวียดนามยินดีกับเศรษฐกิจและการค้าที่ดีขึ้น แต่คนเวียดนามเองก็ยังมีความเคลือบแคลงใจกับจีนนักจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่เคยมีต่อกัน ดังนั้น ความคุกรุ่นเหล่านี้ก็ยังมีโอกาสปะทุขึ้นมาได้ หากเกิดเหตุการณ์อะไรที่สะกิดแผลในใจของประชาชนเวียดนาม

TTVXN

ที่มาของภาพ, TTVXN

ด้วยเหตุผลนี้ ผศ.มรกตวงศ์ จึงมองว่า เวียดนามไม่สามารถทิ้งสหรัฐฯ ได้แน่นอน เพราะเวียดนามยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในการคานอำนาจกับจีนในกรณีที่เวียดนามมีปัญหาพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

ด้าน ซาง เหวียน บรรณาธิการบีบีซีแผนกภาษาเวียดนาม เห็นพ้อง และมองว่า การต้อนรับที่ยิ่งใหญ่ก็เพื่อเอาใจเวียดนามไม่ให้ปันใจออกห่าง ท่ามกลางรายงานข่าวว่ารัฐบาลฮานอยหันไปหาสหรัฐฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้

ไทยควรมองความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียดนามอย่างไร

ผศ.มรกตวงศ์ มองว่า แม้คนไทยอาจจะมองว่าเรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับไทยเท่าไหร่นัก แต่เวียดนามก็เป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่ไทยคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวมาตลอดว่าจะมาแซงไทย และการพบกันครั้งนี้ก็มีความน่าสนใจอย่างมากในแง่ที่เวียดนามสามารถวางยุทธศาสตร์ของตัวเองออกมาได้อย่างดี ทำให้ประเทศกลายเป็นที่สนใจจากทั้งสหรัฐฯ และจีน ยกระดับความสำคัญของเวียดนามในระดับการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ เวียดนามเองก็ยังพยายามถีบตัวเองขึ้นมามีบทบาทหรืออำนาจต่อในเวทีอาเซียนมากขึ้น โดยเวียดนามพยายามจะพิสูจน์ตัวเองด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับความสำคัญของเวียดนามในการเมืองระหว่างประเทศนี้ก็จะช่วยให้เวียดนามมีบทบาทมากขึ้น แต่จะมีอำนาจต่อรองมากแค่ไหนก็ยังต้องจับตาดูต่อไป

ผศ.มรกตวงศ์ แสดงความเห็นว่า ไทยอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินความสัมพันธ์กับมหาอำนาจตามแบบเวียดนาม แต่ไทยควรทบทวนสถานะของตัวเองว่า ปัจจุบันไทยเป็นที่สนใจของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนมากน้อยแค่ไหน และไทยควรนำประเด็นอะไรมาเป็นจุดขายให้ประเทศมหาอำนาจยังคงให้ความสำคัญกับไทย โดยที่ไม่เข้ามามีอิทธิพลหรือกดดันไทยมากจนเกินไป

ซึ่ง ผศ.มรกตวงศ์ มองว่าไทยไม่มีประเด็นท้าทายเท่าเวียดนาม อย่างประเด็นพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ จึงน่าสามารถทำได้ หากมีการวางยุทธศาสตร์ที่ดี

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว