โลกรวน : ไข 5 ความเข้าใจผิดที่ผู้คนมีต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • มาโก ซิลวา
  • ผู้เชี่ยวชาญข้อมูลเท็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Illustration of melting planets displayed on smartphones and tablets.

ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ แต่ในโลกโซเชียลมีเดีย กลับยังเต็มไปด้วยข้อมูลเท็จที่เป็นอุปสรรคต่อการที่ผู้คนจะทำความเข้าใจถึงปัญหาโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามโลกในปัจจุบัน

ในขณะที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) กำลังดำเนินอยู่ที่ประเทศอียิปต์ระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย. การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับข้อมูลเท็จ

นี่คือข้อมูลเท็จที่พบบ่อยที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องจริง”

บางคนที่มีความเชื่อว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นจริง มักหันไปหาทฤษฎีสมคบคิดเพื่อสนับสนุนความเชื่อของตนเอง

พวกเขาอาจเชื่อว่าปัญหาโลกร้อนเป็นการลวงโลกที่ทำกันอย่างซับซ้อนโดยขบวนการลับหรือกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดโลกาภิวัตน์ ขณะที่บางส่วนเชื่อว่านี่คือขบวนการหาเงิน หรือแม้แต่แผนการอันชั่วร้ายในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างเหล่านี้

มีการประเมินว่า 99% ของนักวิทยาศาสตร์มีความเห็นตรงกันว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริงและเป็นผลมาจากน้ำมือของมนุษย์

ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ระบุว่า นับแต่ปี 1850 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วทุกมุมโลก

รายงานในปี 2021 ของ IPCC ระบุว่า “ชัดเจนว่าอิทธิพลของมนุษย์ทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นโลกร้อนขึ้น”

ดร.เอลลา กิลเบิร์ต นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยขั้วโลกใต้แห่งอังกฤษ (British Antarctic Survey หรือ BAS) กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทุกหนแห่ง เราแค่ดูอากาศสุดขั้วในปีนี้เป็นเครื่องยืนยันได้”

A worker uses a torch to cut steel pipes near the coal-powered Datang International Zhangjiakou Power Station at Zhangjiakou China.

ที่มาของภาพ, Getty Images

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาของโลกตะวันตก”

ปัญหาโลกร้อนเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์และทำให้โลกร้อนขึ้น

ประเทศร่ำรวย เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี คือผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ดังนั้นผู้คนในประเทศยากจนกว่าจึงมองว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “ปัญหาของชาติตะวันตก” ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาต้องแก้ไข หรือส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา

แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว เช่นในปากีสถาน ซึ่งชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดมีสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ว่า ประเทศยากจนกว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการเตรียมรับมือ

ดร.ลิซา สคิปเปอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ในเยอรมนี ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาของคนทั้งโลก” พร้อมชี้ว่า แม้แต่ประเทศยากจนที่สุด และมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมน้อยที่สุด ไม่ใช่เหยื่อที่จะอยู่นิ่งเฉย แต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้จะต้องร่วมฟังการหารือเรื่องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งร่วมถึงการประชุม COP27 ที่มีเรื่องความยุติธรรมด้านภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญ

View of a COP27 sign on the road leading to the conference area in Egypt's Red Sea resort of Sharm el-Sheikh.

ที่มาของภาพ, Reuters

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจดีสำหรับเรา”

สำหรับประเทศที่มีสภาพอากาศหนาวจัด ความคิดเรื่องโลกร้อนขึ้นอาจฟังเหมือนเป็นเรื่องดี

ยกตัวอย่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่เคยพูดว่า หากรัสเซียมีสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น ผู้คนก็จะ “เสียเงินไปกับเสื้อโค้ทขนสัตว์น้อยลง และผลผลิตธัญพืชจะเพิ่มสูงขึ้น” ซึ่งเป็นมุมมองที่ยังมีการพูดต่อกันในโซเชียลมีเดียของรัสเซียมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ปัญหาก็คือ ผลผลิตที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตทั่วโลกที่ได้รับความเสียหายจากปัญหานี้

IPCC ประเมินว่า หากอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายให้แก่โลกมูลค่า 54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่านี้จะเพิ่มเป็น 69 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

นี่อาจทำให้อนาคตของโลกดูมืดมน เพราะประเทศในแถบตะวันออกกลางอาจได้เห็นพื้นที่เกษตรกรรมกลายสภาพเป็นทะเลทราย ประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจจมอยู่ใต้ทะเล และประเทศในแอฟริกาอาจเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร

แม้ในประเทศเมืองหนาวอย่างรัสเซีย ปัญหาไฟป่า เช่นที่เคยเผาผลาญไปทั่วเขตไซบีเรียในปี 2021 อาจเกิดบ่อยขึ้น เพราะมีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งขึ้น

An Adelie penguin stands atop a block of melting ice near the French station at Dumont d'Urville in East Antarctica.

ที่มาของภาพ, Reuters

“ระดับน้ำทะเลไม่ได้สูงขึ้น มันแค่น้ำขึ้นน้ำลง”

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อน 90% ที่เกิดขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ น้ำแข็งที่อยู่บนบก เช่น ตามธารน้ำแข็งต่าง ๆ ได้เริ่มละลาย และการที่น้ำมีปริมาตรเพิ่มขึ้นเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น มหาสมุทรก็จะขยายขนาดขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเช่นกัน

ในโซเชียลมีเดียมักมีผู้ไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโพสต์ข้อความว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง แต่ในความเป็นจริงกลับมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง คือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในทะเลที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คงที่ ไม่ได้มีความรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

แต่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 160 มิลลิเมตร เป็น 210 มิลลิเมตร

ศาสตราจารย์ เคน ไรซ์ จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ระบุว่า “นี่เป็นระดับที่สูงขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นศตวรรษที่ 20”

แม้การเปลี่ยนแปลงนี้อาจมองไม่เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า แต่ได้ส่งผลกระทบให้เห็นอย่างชัดเจน เพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และมีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ระดับน้ำทะเลอาจสูงแตะ 2 เมตรภายในสิ้นปี 2100

นี่หมายความว่าประชากรหลายล้านคนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย อาจต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมเขตที่อยู่อาศัย

Residents wade through flood water following a massive flood in Obagi Community, Rivers State, Nigeria.

ที่มาของภาพ, Reuters

“สายเกินไปที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เป็นเรื่องยากที่เราจะไม่เกิดความวิตกกังวลเมื่อฟังข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มักเอ่ยถึงคำเตือนต่าง ๆ เช่น “โอกาสสุดท้าย” หรือ “สัญญาณเตือนสภาพอากาศที่เป็นอันตราย”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว และจะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายร้อยปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ยังพอมีข่าวดี เพราะนักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ควบคู่ไปกับการหาหนทางดักจับก๊าซชนิดนี้ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมการประชุม เช่น COP27 จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นโอกาสที่บรรดานักการเมืองจะร่วมกันหารือถึงแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.กิลเบิร์ต จาก British Antarctic Survey ชี้ว่า “ทุกการกระทำที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างความแตกต่างในทางที่ดี”

“โอกาสที่จะลงมือแก้ปัญหานี้กำลังน้อยลงทุกขณะ แต่ก็ยังพอมี และเราต้องฉวยโอกาสนี้เอาไว้” เธอกล่าว

……….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว