“คาถาไล่เหา” บนหวีเสนียด คือประโยคเก่าแก่ที่สุดที่เขียนด้วยอักษรแทนเสียง

ทีมนักโบราณคดีของอิสราเอล ค้นพบจารึกข้อความซึ่งเป็นประโยคสมบูรณ์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่เขียนด้วยตัวอักษรแทนเสียง (alphabet) โดยข้อความนี้คือ “คาถาไล่เหา” บนหวีเสนียดที่ทำด้วยงาช้างจากยุค 3,700 ปีก่อน

วารสารโบราณคดีแห่งเยรูซาเลม (Jerusalem Journal of Archaeology) ตีพิมพ์รายงานการค้นพบข้างต้นโดยระบุว่า พบจารึกภาษาคานาอัน (Canaanite) บนหวีเสนียดโบราณที่ได้จากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีเมือง Lachish ในประเทศอิสราเอล เมื่อปี 2016

หวีเสนียดทำจากงาช้าง

ที่มาของภาพ, ISRAEL ANTIQUITIES AUTHORITY

ดร. แมเดลีเน มุมคูโอลู จากมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม (HUJI) เป็นผู้ค้นพบจารึกดังกล่าวโดยบังเอิญเมื่อปีที่แล้ว หลังตรวจสอบภาพขยายของหวีเสนียดโบราณที่ถ่ายด้วยสมาร์ตโฟน จนได้เห็นว่ามีตัวอักษรภาษาคานาอัน 17 ตัว ประกอบกันเป็นคำศัพท์ 7 คำ บนหวีดังกล่าว

ข้อความที่จารึกบนหวีคล้ายกับคำสวดภาวนาหรือคาถาโบราณที่ระบุว่า “ขอให้งาช้างนี้จงขุดรากถอนโคนตัวเหาในเส้นผมและหนวดเคราให้หมดสิ้นไป”

คานาอันคือนครรัฐโบราณในอิสราเอลที่ดำรงอยู่เมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาล โดยภาษาคานาอันนั้นเป็นภาษาแรกของโลกที่ใช้ระบบตัวอักษรแทนเสียงเขียนข้อความ ทั้งยังเป็นรากฐานของตัวอักษรภาษาฟีนีเชียน, ฮีบรู, อารบิก, กรีก และละติน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ ของยุโรปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีเมือง Lachish ในประเทศอิสราเอล

ที่มาของภาพ, EMIL ALADJEM

หวีเสนียดที่จารึกคาถาไล่เหาไว้ดังกล่าวมีขนาดเล็กจิ๋วเพียง 3.5 X 2.5 เซนติเมตร ทั้งยังมีซากของตัวเหาติดอยู่ แต่ก็มีลักษณะโดยทั่วไปไม่แตกต่างจากหวีเสนียดที่ทำจากโลหะหรือพลาสติกในทุกวันนี้ โดยด้านหนึ่งของหวีมีซี่ละเอียดจำนวน 14 ซี่ สำหรับสางเหาและไข่เหา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นซี่ที่ห่างกันมากกว่าจำนวน 6 ซี่ สำหรับสางผมที่พันกันยุ่งเหยิง

ดร. มุมคูโอลูแสดงความเห็นว่า “หวีเสนียดทำจากงาช้างนี้น่าจะเป็นของใช้ของคนชั้นสูง การที่มันมีขนาดเล็กมากอาจเป็นเพราะสะดวกต่อการพกพาติดตัว และสามารถแอบหยิบออกมาใช้ได้โดยไม่ทันมีใครสังเกตเห็น เป็นไปได้ว่าคนยุคนั้นก็รู้สึกอับอายต่อสังคมเหมือนกันถ้าตัวเองมีเหา”

หลักฐานทางโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดของโลก ซึ่งได้แก่ไข่เหาสภาพสมบูรณ์ในเส้นผมของมัมมี่ที่พบในประเทศบราซิล ชี้ว่ามนุษย์เริ่มถูกเหารบกวนตั้งแต่เมื่อ 10,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย หลักฐานจากดีเอ็นเอในงานวิจัยบางชิ้นยังชี้ว่า เหาบนหัวของมนุษย์สายพันธุ์โบราณอาจติดต่อมาสู่มนุษย์ยุคใหม่ตั้งแต่หลายหมื่นปีก่อนหน้านั้น

………….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว