เลือกตั้ง 2566 : “จ่านิว” กับ “โตโต้” บน “ถนนคนละเส้น” การเมืองภาคต่อของอดีตนักกิจกรรมนักศึกษา

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

อดีตแกนนำนักศึกษาสรุปความผิดพลาดที่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยไม่บรรลุเป้าหมายในการต่อสู้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพ บูชาตัวบุคคล และหลงอยู่ใน “ห้องเสียงสะท้อน” (Echo Chamber) ทว่าก่อนศึกเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึง นักกิจกรรมการเมืองหลายคนได้ย้ายตัวเองออกจากท้องถนนเพื่อต่อสู้ผ่านระบบพรรคการเมือง

ปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” เปิดตัวในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. (เขตบางนา-พระโขนง) ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เมื่อ 9 ก.ย. โดยถือเป็นการสู่ลงสนามเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของเขา หลังเคยสวมเสื้อพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ชิมลางชิงเก้าอี้ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 ในการเลือกตั้งปี 2562 แม้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ก็เก็บคะแนนให้ต้นสังกัดได้ 17,750 คะแนน

จ่านิว โตโต้

จ่านิว โตโต้, Sirawith Seritiwat/ Thai News Pix

ขณะที่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” กลับจากเรียนภาษาในต่างแดนได้ไม่นาน ก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อ 18 ต.ค. เพื่อเรียนรู้งานพรรคการเมือง ทว่ายังไม่พร้อมเสนอตัวเป็นผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งหนนี้

บีบีซีไทยสนทนากับ โตโต้ และ จ่านิว ต่างกรรมต่างวาระ เพื่อสำรวจเส้นทางที่ผ่านมา และก้าวย่างต่อไปบนถนนสายการเมืองของพวกเขา

ผ่าน-ไม่พบที่เวทีคนเสื้อแดง สู่ ผู้ร่วมวงต้านเผด็จการ

ปิยรัฐ วัย 31 ปี กับ สิรวิชญ์ วัย 30 ปี เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นเดียวกัน และเคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาด้วยกัน

ทั้งคู่มีอดีตร่วมกันตั้งแต่สมัยยังไม่รู้จักหน้า โดยต่างคนต่างไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) เมื่อปี 2553 ขณะนั้นโตโต้เพิ่งดร็อปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคค่ำ เพื่อเตรียมสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เขาขี่รถจักรยานยนต์จากที่พักย่านลาดกระบังไปสมทบกับเพื่อน ๆ ที่แยกราชประสงค์ ส่วนจ่านิวทำงานพิเศษอยู่แถวคลองเตย หลังเสร็จงานจัด-ประกอบ-เฝ้านิทรรศการ จึงแวะเวียนไปฟังปราศรัยที่เวที “คนเสื้อแดง” อยู่บ่อย ๆ

ต้าน คสช.

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/ BBC THAI

ในช่วงการชุมนุม “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ปี 2557 โตโต้ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับเพื่อนนักศึกษากลุ่ม “สามพระจอมปกป้องประชาธิปไตย” (พระนครเหนือ-ลาดกระบัง-บางมด)

จัดกิจกรรมคัดค้านการปิดคูหาเลือกตั้งของแนวร่วม “ม็อบนกหวีด” และดักคอกองทัพไม่ให้ลากรถถังออกมายึดอำนาจ เช่นเดียวกับ จ่านิว นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมาชิกสภานักศึกษา มธ. และผู้ก่อตั้งกลุ่ม “สภาหน้าโดม” ซึ่งเป็นโต้โผจัดกิจกรรมทำนองเดียวกันในรั้ว มธ.

เมื่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เกิดขึ้นจริง ทั้ง ปิยรัฐ-สิรวิชญ์ กระโจนลงสู่ท้องถนนในวันรุ่งขึ้น โดยร่วมกับนักศึกษาและประชาชนเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงออกในเชิงต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จากเคยผ่าน-ไม่พบกันที่เวทีคนเสื้อแดง เส้นทางของ 2 นักศึกษาเดินมาถึงจุดบรรจบ เมื่อร่วมจัดตั้งและเป็นสมาชิก “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย” (ศนปท.) ที่ลานโพธิ์ มธ. เมื่อ 28 พ.ค. 2557 ผนึกกำลังกันต่อต้านเผด็จการทหารตั้งแต่วันแรก ๆ ของการยึดอำนาจ จนถึงวันท้าย ๆ ก่อนคลายอำนาจ

ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ว่า “คนอยากเลือกตั้ง” โดยจัดชุมนุมที่ลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน เมื่อ 27 ม.ค. 2561 เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หลังหัวหน้า คสช. เลื่อนโรดแมปคืนอำนาจให้ประชาชนหลายครั้งหลายหน

โหวตแรกให้เพื่อไทย โหวตต่อไปให้พรรคต้นสังกัด

ก่อนเข้าทำงานในพรรคการเมือง ครั้งแรกที่มีโอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป จ่านิว-โตโต้ ต่างโหวตให้ พท.

จ่านิวให้เหตุผลว่า เขาสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก และติดตามตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย พอมีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกปี 2554 ในช่วงที่กำลังเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี และชีวิตเข้าสู่โหมดต้องทำงานพิเศษ รับค่าจ้างรายวันไม่เกิน 250 บาท ส่วนเงินเดือนคนจบ ป.ตรี ก็อยู่ที่หมื่นต้น ๆ เขาจึงรู้สึกว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ  300 บาท และขึ้นเงินเดือน ป.ตรี เป็น 15,000 บาท ของ พท. ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กินอิ่ม นอนหลับ ไม่ต้องพะว้าพะวงกับเรื่องปากท้อง

“ผมมองว่านโยบายออกแบบมาเพื่อแลกประโยชน์กับคะแนนเสียงของเรา ก็เป็นนโยบายที่รู้สึกว่าจับต้องได้ ตอนนั้นผมเลยเป็นโหวตเตอร์ให้เพื่อไทย” สิริวิชญ์เล่า

จึงไม่แปลกหากนิวโหวตเตอร์ในวันนั้น จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคที่เขาสนับสนุนในวันนี้

“มองว่าสุดท้ายแล้วปัญหาพื้นฐานคือเรื่องเศรษฐกิจ ผมมีจุดยืนว่าต้องมีประชาธิปไตยควบคู่เศรษฐกิจ ก็เห็นว่าเพื่อไทยมีโอกาสผลักดันนโยบายที่ใกล้เคียงกับผม”

แม้คาดหวังจะเห็นพรรคมวลชน แต่สิริวิชญ์ยอมรับว่ายังไม่มีพรรคเช่นนั้นในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันเขาไม่ได้มอง พท. เป็น “พรรคครอบครัว”

“ก็แล้วแต่จะมอง ถ้าบอกว่าบริหารโดยครอบครัวเดียว ก็คือครอบครัวเพื่อไทย เพราะการทำงานมีหลายกลุ่มหลายส่วน ไม่ใช่ทำโดยครอบครัวเดียว เป็นไปไม่ได้ มันมีกระบวนการ include คน (สร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน)”

อุ๊งอิ๊ง

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

ในระหว่างเรียนภาษาที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิริวิชญ์ยอมรับว่าเคยพบปะ-พูดคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ทรท. ผู้เป็นบิดาของ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” แพทองธาร ชินวัตร

“เขาก็ถามว่าสนใจไหม ถ้าสนใจก็ลองดูสิ เพราะมีบทบาทการเมืองมาขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่เล่นต่อก็น่าเสียดาย น่าจะขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ต่อไปได้ ทำให้ผมกลับมาคิดว่าในอดีตก็มีนักเคลื่อนไหวหลายคนไปเป็นนักการเมืองในไทยรักไทย ซึ่งขาที่มีส่วนผลักดันนโยบายพรรคก็คือคนยุคตุลา (อดีตผู้นำนักศึกษาปี 2516-2519) ผมเลยคิดว่าเราต้องทำอะไรให้มากขึ้น วันก่อนเราทำในนามนักศึกษา วันนี้เราโตขึ้นก็ต้องคิดถึงบทบาทใหม่” สิริวิชญ์กล่าว

จากเคยตั้งเป้าหมายลงเล่นการเมืองเมื่ออายุครบ 30 แต่เมื่อวัยถึง จ่านิวกลับรู้สึกว่า ยังไม่พร้อม เพราะยังไม่ได้ทำพื้นที่ หากจะลงสมัครก็อยากเริ่มจาก ส.ส.เขต จึงขอเรียนรู้ระบบพรรคไปพลางก่อน

ส่วนหนุ่มอีสานโดยกำเนิดอย่างโตโต้ ก็โหวตให้ พท. เมื่อครั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งหนแรกเช่นกัน เพราะเห็นว่า “เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ประกาศยืนตรงข้ามทหาร เราก็ไม่โอเคกับการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ชอบความไม่ยุติธรรมตั้งแต่เด็ก”

ทว่าเมื่อเติบใหญ่-ต้องเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้เลือก เป็น ผู้เล่น เขาเข้าร่วมอุดมการณ์กับชาวอนาคตใหม่ และสืบทอดมาถึง “พรรคทายาท” อย่าง ก.ก. โดยตัดสินใจทิ้งงานประจำในฐานะนายช่างออกแบบและประเมินราคาของการไฟฟ้านครหลวง มาทำงานสร้างเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่พรรคสีส้มปลายปี 2561

“พอถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง (ปี 2562) ปรากฏว่าผู้สมัครขอถอนชื่อไป ผมเลยตัดสินใจแก้ปัญหาให้พรรคด้วยการลงสมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เพื่อเก็บคะแนนเสียงให้พรรค ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้คะแนนถึง 1.7 หมื่น ผมโดนสบประมาทเยอะมาก ชาวบ้านบอก โห.. ได้เกิน 2 พันก็เก่งแล้วไอ้หนูเอ๊ย

เราก็คิดในใจว่ามากไป ได้ 500 ก็เก่งแล้ว เพราะตอนนั้นคนไม่รู้จักพรรคอนาคตใหม่ ไม่รู้จักธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.) พอได้มา 1.7 หมื่น ก็ถือว่าไม่ใช่เพราะผม แต่เป็นคะแนนของพรรค” ปิยรัฐระบุ

ธร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

กับศึกเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้มาถึง โตโต้บอกว่า “ละอายใจที่จะไปไหว้ขอคะแนนเสียงจากชาวกาฬสินธุ์” เพราะแม้เกิดที่นั่น แต่มาเติบโต-ใช้ชีวิตที่ กทม. อีกทั้งหลังจบการเลือกตั้งหนก่อน ก็มาช่วยงานพรรคในส่วนกลาง และเป็นผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ส. รังสิมันต์ โรม ไม่ได้ทำงานในพื้นที่เลย นอกจากนี้งมีภาระทางคดีความ-ต้องวิ่งขึ้นลงศาลใน กทม. จึงแจ้งเงื่อนไขทั้งหมดให้กรรมการสรรหาผู้สมัครทราบ

หลังจากนั้นชื่อ ปิยรัฐ ก็ได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 23 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ในนามพรรค ก.ก. โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ที่เขตบางนา-พระโขนง ซึ่งเขาคุ้นเคยกับประชาชนในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่รับผิดชอบสมัยเป็นพนักงานการไฟฟ้าฯ นาน 5 ปี แม้ชื่อตามทะเบียนบ้านจะอยู่ในเขตบางพลัดก็ตาม

“จะม็อบเมื่อไร”

กรรมการบริหารพรรค ก.ก. รายหนึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุที่โยกหนุ่มอีสานมาสู้ศึกเลือกตั้งในเมืองกรุง เพราะเป็นพื้นที่คาดหวังได้ของพรรค

“เราต้องการเอาคนอย่างโตโต้เข้าสภาให้ได้” และ “เรามั่นใจว่าเขามีแฟนคลับของเขาอยู่” แกนนำพรรคสีส้มกล่าว

ในช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อปี 2563-2564 โตโต้เป็นที่รู้จักในฐานะ “หัวหน้าการ์ดวีโว่” หรือผู้อำนวยการกองงานมวลชนอาสา “We Volunteer (WeVo)” ซึ่งมีหญิง-ชายอายุ 18-40 ปี ราว 600-700 ชีวิต ร่วมเป็นการ์ดอาสา น่าสนใจว่าเครือข่ายมวลชนที่โตโต้มีส่วนคัดสรร-สร้างเอาไว้ จะแปรเป็นคะแนนเสียงให้แก่เขาได้มากน้อยแค่ไหน

ปิยรัฐบอกว่าคงพูดได้ยาก แต่วีโว่สะท้อนความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการแค่ออกมาเรียกร้องหรือเป็นปากเสียง แต่ต้องการออกมาทำหน้าที่ เป็นอาสาสมัครที่อยู่แนวหน้า แม้จะถูกทำร้ายหรือถูกดำเนินคดีก็ไม่เกรงกลัว

“ทุกวันนี้พอลงพื้นที่ คนรุ่นใหม่ไม่ได้ถามผมเลยว่าเบอร์อะไร จะเลือกตั้งเมื่อไร มีแต่ถามว่าจะม็อบเมื่อไร เท่ากับว่าผมไม่ได้ไปหาเสียงเลย ไม่ได้คุยนโยบายพรรคเลย” โตโต้กล่าว

เวลาส่วนใหญ่ของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. รายนี้จึงหมดไปกับการอธิบายทฤษฎีการต่อสู้ว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศจะอาศัยพลังนอกสภาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อให้มีพลังทั้งในและนอกสภา โดยมีเป้าหมายเดียวกัน

“ผมไม่ได้มาหาเสียง ผมมาหาพวก การเมืองคือการหาพวก ถ้าผมพวกเยอะก็มีโอกาส ไม่ใช่แค่ชนะ แต่ผลักดันสิ่งที่พวกผมคิดให้สำเร็จได้” หนุ่มวัย 31 เผยหลักคิดในการทำงานการเมือง

วีโว่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการลงสนามเลือกตั้งของอดีตหัวหน้าการ์ดวีโว่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแส “ขาลง” ของผู้ประท้วงบนท้องถนน แม้แต่โตโต้เองก็ยอมรับว่าเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ “คนไม่มีจะกินแล้ว จะเอาที่ไหนไปม็อบ” “ถึงเวลาต้องทำมาหากินหลังจากปิดกิจการเพราะโควิดมาหลายปี” “แกนนำมีภาระเรื่องคดี จึงออกมานำม็อบไม่ได้” รวมถึงความคิดที่ว่า “จะเลือกตั้งอยู่แล้ว เดี๋ยวมันก็ไปแล้ว จะออกไปไล่ทำไม”

แต่ถึงกระนั้น เขาเห็นว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่า “ล้มมันบนถนนไม่ได้ ก็ไปล้มกลางสภา” ซึ่งในศึกเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา เคยมีแคมเปญ “จับปากกา ฆ่าเผด็จการ” มาแล้ว และน่าจะส่งต่อเป็นแคมเปญในศึกเลือกตั้งใหญ่ได้

ในมุมมองของโตโต้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนมีภาพชัดเจนเท่า ก.ก. ในการร่วมต่อสู้กับประชาชนบนท้องถนน “ไม่มีพรรคไหนกล้าพูดหรือกล้ายืดอกรับม็อบเท่าก้าวไกลแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่คนจะเลือกเราเพื่อปฏิรูปฯ”

เปลี่ยนรูปแบบ แต่เป้าหมายคงเดิม

แล้วอะไรคือความแตกต่างของ โตโต้-จ่านิว ในวันเป็นแกนนำมวลชนบนท้องถนน กับการทำงานพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา

โตโต้บอกว่า เขาเป็นคนยึดถือระเบียบวินัยค่อนข้างสูง พอเข้าพรรคก็ต้องเคารพกฎระเบียบและกลไกของพรรค ไม่ใช่จะคิด จะพูด จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ซึ่งไม่ใช่เพราะขี้ขลาด แต่ต้องดูด้วยว่าฝ่ายคู่ต่อสู้มีระเบียบวินัยการรวมหมู่ ไม่ว่าระบบทหาร หรือข้าราชการประจำ

“หลายคนอาจคิดว่าพอโตโต้ไปอยู่ในพรรค เหมือนจระเข้ไปอยู่ในโอ่ง ไม่ได้ฟาดหางหรอก ก็อาจถูก แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง พรรคมีกฎของพรรค การจะชนะได้ต้องฟังทุกเสียงในพรรค พุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกันให้แหลมคมชัดเจน”

วาระสภาที่อยู่ในใจของโตโต้มาโดยตลอดคือ การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ เพราะมองว่าจะช่วยปิดตายรัฐประหาร และเปิดช่องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ เพราะตราบใดที่หมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไข การแก้ไขมาตรา 112 ก็เป็นไปไม่ได้

ส่วนสิ่งที่จ่านิวคาดหวังในการเข้าร่วมงานกับพรรคสีแดงคือ “อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ อยากเห็นภาพใกล้เคียงกับปี 2554 กลับมา”

“ผมห่างไกลจากความเป็นนักศึกษาแล้ว สถาบันการเมืองที่สำคัญสำหรับประชาธิปไตยก็คือพรรคการเมือง ผมเลยเข้าไปมีส่วนร่วม” เขากล่าวโดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าพรรคจะมอบหมายภารกิจใดให้ทำ

ในวันที่อายุมากขึ้น สิริวิชญ์ยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับภาพลักษณ์-บทบาท-รูปแบบการทำงานใหม่ จากตอนเป็นนักศึกษาที่ทำตามความคิดและความเชื่อของตัวเอง ซึ่งคนอาจบอกว่า “เราบกพร่อง ทะลุดุดัน หัวรุนแรง” แต่ยืนยันว่าจุดยืนที่ไม่ยอมรับเผด็จการทหารไม่เคยเปลี่ยนแปลง

จ่านิว

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

“เพดานต่ำ”

“พอผมเข้าเพื่อไทย ต้องยอมรับเลยว่ามีปฏิกิริยา มีคนต่อว่าผมเป็นพวกเพดานต่ำ ที่ผ่านมาสนับสนุนตลอด ผิดหวัง ทำไมไปอยู่เพื่อไทย แสดงว่าไม่เข้าใจเสียงของประชาชน อ้าว.. แปลว่าคนที่จะเข้าใจเสียงของประชาชน ต้องมีแต่พวกเขาอย่างเดียวหรือ”

“ผมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ไม่ได้เปิดประเด็นสถาบันฯ ขนาดนั้น ถ้าผมเป็นคนเปิดแล้วไม่ทำ ไม่ตาม จะมาด่า อันนี้ผมไม่ว่าเลย” จ่านิวกล่าวในเชิงตัดพ้อ

จ่านิวระบุว่า การเคลื่อนไหวให้ประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ เป็นเรื่องที่ต้องประเมินต้นทุนและความเสี่ยงกันเอาเอง เพราะสังคมไทยยังไม่ให้เสรีภาพในการพูดประเด็นนี้  ทว่าในช่วงหลัง เขาพบวาทกรรมที่ว่าหากใครไม่พูดเรื่องสถาบันฯ กลายเป็นคนไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทั้งที่เรามีจุดมุ่งหมายให้คนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นใครเชื่อแบบไหนก็ไปตามทางของแต่ละคน ก็มาหาทางบรรจบกันได้ และขอร้องบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายให้ “ดูคนยาว ๆ”

“การสร้างม็อบ พอถึงจุดหนึ่ง จะม็อบทุกวัน เป็นปี ๆ ก็ไม่ได้เป็นผลดีกับเรา ก็ต้องประเมินด้วย เรามีหน้าที่ยืนหยัดในอุดมการณ์ ไม่ใช่ดันทุรัง”

“ขนาดผมไม่ได้พูดอะไรมากขนาดนั้น สิ่งที่ผมสูญเสียไปยังมากมายมหาศาลเลย ตอนนี้ผมต้องรักษาตัวเอง เพราะโดนมาเยอะทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต” จ่านิวกล่าว

มาก “บาดแผล” จากกระบวนการยุติธรรม

ผลจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนับจากปี 2557 ทำให้จ่านิวตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยรวม 15 คดี หรือเฉลี่ยปีละ 2 คดี ในจำนวนนี้มี 7 คดีที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล

โตโต้

ที่มาของภาพ, PIYARAT CHONGTHEP/FACEBOOK

ไม่ต่างจากสถานการณ์ของโตโต้ ผู้มีคดีความติดตัวถึง 21 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลตัดสินแล้ว 5 คดี ส่วนอีก 16 คดีที่เหลือ มีคดี 112 ด้วย 3 คดี จนเขารู้สึกว่า “มีบาดแผลเยอะเหลือเกิน” และ “ขยับทำอะไรแทบไม่ได้เลย” จึงต้องประเมินใหม่ว่าว่าตัวเองจะมีประโยชน์อย่างไรต่อขบวนการ ซึ่งเหลือทางเลือกไม่มากระหว่าง กลับไปทำมาหากิน แล้วเก็บเงินส่งให้ขบวนการ หรือ เข้าไปสู้ในสภา เป็นปากเป็นเสียง เพื่อเปิดทางให้คนข้างนอกทำงานได้อย่างเต็มที่

“ผมไม่ได้คิดว่าอยากไปใส่สูท หรืออยากมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง หลายคนคิดว่าโตโต้กลัวติดคุก เลยเอาสภาเป็นเกราะคุ้มกัน ถ้าเขา (ผู้มีอำนาจ) จะเอาจริง ๆ ก็สามารถให้ผมติดคุก 1 วัน แล้วเอาผมพ้นจากสภาพ ส.ส. ได้ตลอด ดังนั้นนักกิจกรรมที่มาเล่นการเมือง ไม่ใช่คนที่ทำแล้วตัวเองจะหลุดพ้น อย่างลูกเกด (ชลธิชา แจ้งเร็ว) ตอนเป็นนักกิจกรรมไม่เคยโดนคดี 112 พอเข้าการเมือง โดนไป 2 คดีแล้ว ดังนั้นอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นนักการเมืองแล้วจะได้อภิสิทธิ์” ปิยรัฐกล่าว

สำหรับ ลูกเกด-ชลธิชา เป็นนักกิจกรรมการเมืองร่วมรุ่นของ โตโต้ และ รังสิมันต์ โรม ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร 2557 และรณรงค์ให้ลงประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 โดยปัจจุบันทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรค ก.ก.

กับจ่านิวที่อยู่ต่างพรรค โตโต้ยืนยันว่าเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ในการต่อสู้อาจเห็นเป้าหมายเหมือนกัน แต่บางทีต้องมีรูปแบบหลากหลาย เปรียบเหมือนน้ำไหลจากที่สูงลงสู่มหาสมุทร แต่ไม่จำเป็นต้องไหลไปในทางเดียวกัน บางคนเจอหิน อาจหลบ ยอมอ้อมไปเลย แต่บางคนบอกไหลผ่านหินไปเลย เพราะน้ำหยดลงหิน ทุกวันหินยังกร่อน

ด้านจ่านิวมีโอกาสพบ “เกลอเก่า” อย่างโรม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเกิดบทสนทนาแซวกันไปมา

  • โรม : ทำไมไม่เดินมาแถวรามคำแหงหน่อยละ
  • นิว : ไปทำไมแถวรามฯ
  • โรม : อ้าว.. ก็พรรคผมอยู่ที่นั่น
  • นิว : อ๋อเหรอ นึกว่าอยู่ฝั่งธนฯ พอดีผมนั่งรถเมล์เลยไปเพชรบุรี (ถนนที่ตั้งพรรคเพื่อไทย) เลย
นิว โรม

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/ BBC THAI

“ความผิดพลาด” ของขบวนการประชาธิปไตย

เมื่อให้สรุปบทเรียนว่าอะไรคือความผิดพลาดของฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยยุคหลังรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย และคนไทยก็อยู่กับ “นายกฯ หน้าเดิม” มา 8 ปีแล้ว

คำตอบของสิรวิชญ์คือ ฝ่ายเคลื่อนไหวไม่ได้พูดถึงเป้าหมายใหญ่ขนาดนั้นร่วมกัน ซึ่งไม่ผิดที่ทุกฝ่ายจะมีหน้างาน มีประเด็นของตัวเอง แต่ระหว่างทางเกิดการฟาดฟันกัน “ทำไมกลุ่มนี้แสงเยอะเกินไป” ทำให้ “ต้องเสียเวลาสาละวนกับเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ทั้งที่กำลังฟาดฟันกับศัตรูใหญ่อยู่”

นักเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายอำนาจนิยมกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายขบวนการประเมินกองทัพ เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลไกรัฐต่ำเกินไป เพราะนักเคลื่อนไหวไปหลงอยู่ใน “ห้องเสียงสะท้อน” (Echo Chamber) หลงไปว่าฝ่ายถืออำนาจรัฐโง่ ไม่ทำงาน ทั้งที่กลไก อสม. และ กอ.รมน. ทำให้คนเชื่อมั่นในชนชั้นนำมาก แต่เวลานี้คิดว่าฝ่ายขบวนการน่าจะสรุปบทเรียนได้ดีขึ้น และอย่าเพิ่งตัดสินว่าเราฟังเสียงของประชาชนมากพอ เพราะเราไม่ใช่ตัวแทนของทุกกลุ่มขนาดนั้น

“เราต้องวิพากษ์วิจารณ์กันเองได้ ถ้าต้องมาคอยอวยขบวนการอย่างเดียว ถ้าการวิจารณ์เจ้าทำได้ปลอดภัยกว่าการวิจารณ์นักเคลื่อนไหว ผมว่าเรามาถึงจุดตกต่ำนะ เพราะเราเริ่มต้นจากการวิจารณ์สังคม แต่วันนี้เรากลับวิจารณ์กันเองไม่ได้” จ่านิวระบุ

ม็อบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ส่วนในทัศนะของโตโต้ แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ในอำนาจถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน ทว่าสั่นคลอนตลอดเวลา จะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้เติบโตในวันข้างหน้า มีแต่วันถดถอยลง

“ผมไม่ได้เห็นภาพ พล.อ. ประยุทธ์ที่จบแบบวีรบุรุษ ขณะที่ภาพของฝ่ายประชาธิปไตยมีความเติบโตและแหลมคมขึ้น จากไม่มีใครคิดว่าจะมีการพูดถึงสถาบันฯ ได้ในสภา เราก็เห็นแล้ว วันนี้เราได้มากกว่าเสีย แต่สิ่งที่เราเสียไปคือเวลา” โตโต้กล่าว

อย่างไรก็ตามปิยรัฐยอมรับเช่นกันว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเอกภาพนัก ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของประชาธิปไตย บางส่วนยังมีการบูชาตัวบุคคล แต่เชื่อว่าถ้าสังคมตื่นรู้ ก็จะขยายแนวร่วมและสร้างพรรคให้เป็นตัวแทนจริง ๆ ได้

ข้อวิเคราะห์ของโตโต้คือ พท. มีโอกาสชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 200-220 เสียง และต้องการอีก 30-50 เสียงเพื่อตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งก็จะมีเสียงของพรรคขนาดกลางที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หรือ พปชร. บางส่วนที่แตกออกมา

“ผมคิดว่าเพื่อไทยคงไม่ปฏิเสธโอกาสแบบนั้น เพราะเขาพูดชัดแล้วว่าปัจจัยที่จะไม่ร่วมรัฐบาลคือ พล.อ. ประยุทธ์ หากไม่มี พล.อ. ประยุทธ์ก็ร่วมกันได้ ดังนั้นก้าวไกลจึงไม่ใช่ตัวเลือกแรก ๆ ของเขา”

“เมื่อใดที่เพื่อไทยเลือกแบบนี้ ก้าวไกลก็จะเป็นพรรคเดียวที่เข้มแข็งในอุดมการณ์ คนก็จะตัดสินได้ง่ายขึ้น เพราะฐานเสียงไม่ใช่กลุ่มเดียวกันแล้ว อันนี้ก็จะเป็นสัญญาณว่าในอนาคตก้าวไกลจะเป็นตัวหลักในการจัดตั้งรัฐบาล วันนี้เรารอได้ รออีก 2 สมัย 8 ปี เด็กที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็จะเติบโตขึ้นมา คนแก่ก็สิ้นอายุขัยไป” ปิยรัฐกล่าวทิ้งท้าย

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว