วันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก : กอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อเหมือนแม่จิงโจ้ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตของทารกคลอดก่อนกำหนด

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อเดือน มี.ค. โอโจมา เอโคมุน คุณแม่ชาวไนจีเรีย ได้ให้กำเนิดลูกคนแรกของเธอ หลังจากตั้งครรภ์นาน 31สัปดาห์เท่านั้น

ลูกชายของเธอ ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 700 กรัม ถูกนำตัวเข้าตู้อบทารกแรกเกิด หลังจากที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1 กิโลกรัม บรรดาแพทย์ที่ศูนย์แม่และเด็กอามูโว โอโดฟิน ในเมืองลากอสของไนจีเรีย ได้ห่อตัวทารกมาติดไว้ที่อกของแม่ ผิวหนังของแม่และลูกได้สัมผัสกันโดยตรง

วิธีการง่าย ๆ เช่นนี้ แต่ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี รู้จักกันในชื่อว่า “การดูแลลูกแบบจิงโจ้”

“อยู่ตรงนั้น ลูกปลอดภัยดี” เอโคมุน คุณแม่วัย 26 ปี กล่าวว่า “ฉันรู้สึกดีกับไออุ่นระหว่างตัวลูกและตัวฉัน”

ดีกว่าตู้อบ

วิธีการนี้ซึ่งกุมารแพทย์ 2 คนได้นำมาใช้ครั้งแรกในปี 1978 ที่แผนกสูติกรรมของโรงพยาบาลซาน ฮวน เดอ ดิออส (San Juan de Dios Hospital) ในกรุงโบโกตาของโคลอมเบีย ปัจจุบันได้รับการยอมรับแล้วจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization–WHO) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติ

ทารกในตู้อบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ข้อแนะนำก่อนหน้านี้ให้ใช้ตู้อบ

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ข้อแนะนำใหม่มีความสำคัญต่อพื้นที่ที่ไม่มี (หรือไม่สามารถพึ่งพา) ไฟฟ้าในการให้พลังงานแก่ตู้อบได้

การวิจัยใหม่เผยให้เห็นว่า การเริ่มใช้วิธีการที่เรียกว่า “การดูแลลูกแบบจิงโจ้” และการส่งเสริมให้มีการให้นมแม่แก่ลูกทันที แทนที่จะรอให้ทารกมีอาการทรงตัวก่อน อาจช่วยชีวิตทารกได้มากถึง 150,000 คนต่อปี

“การดูแลลูกแบบจิงโจ้” ทำอย่างไร

องค์การอนามัยโลกระบุว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสาธารณสุขเร่งด่วน แต่ละปีคาดว่า มีทารก 15 ล้านคน คลอดก่อนกำหนด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 10 ของทารกที่เกิดทั่วโลก ส่วนจำนวนทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีมากกว่า 20 ล้านคน ตัวเลขนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น และปัจจุบันการคลอดก่อนกำหนดกำลังนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

ทารกที่น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์และคลอดก่อนกำหนด อาจเผชิญกับปัญหาหลายอย่างหลังลืมตาดูโลก หากไม่มีการเก็บสะสมไขมันไว้ในร่างกาย พวกเขาอาจเผชิญกับปัญหาในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวเอง และสูญเสียความร้อนในร่างกายอย่างรวดเร็ว จึงมีการนำตู้อบมาใช้เพื่อช่วยให้ทารกเหล่านี้รักษาอุณหภูมิที่คงที่

ปัญหาสำคัญคือ ทารกคลอดก่อนกำหนดราว 4 ใน 5 อยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ

การนำทารกมาห่อติดไว้กับหน้าอกของแม่ เพื่อให้ผิวหนังของแม่และลูกได้สัมผัสกันโดยตรง ช่วยให้ผู้เป็นแม่สามารถส่งความร้อนในร่างกายให้แก่ลูกได้ ทำให้อุณหภูมิคงที่และลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติในช่วงวันแรก ๆ หลังการเกิดได้อย่างมาก

วิธีการรักษาที่ราคาถูกนี้สามารถนำไปใช้แก้ขัดได้และช่วยลดแรงกดดันเรื่องความพร้อมของสถานพยาบาล

องค์การยูนิเซฟได้ตอกย้ำถึงการวิจัยนี้เช่นกัน ซึ่งได้ชี้ถึงข้อดีที่มีต่อแม่และทารก โดยพบว่า “การดูแลลูกแบบจิงโจ้” :

  • ทำให้ทั้งแม่และทารกผ่อนคลายและสงบลง
  • ควบคุมอัตราการเต้นหัวใจและการหายใจของทารก ช่วยให้ทารกปรับตัวเข้ากับชีวิตนอกครรภ์มารดาได้ดีขึ้น
  • กระตุ้นการย่อยอาหารและความอยากอาหาร
  • ควบคุมอุณหภูมิ
  • ทำให้แบคทีเรียที่เป็นมิตรของแม่เข้าอยู่อาศัยบนผิวหนังของทารก ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคได้
  • กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนที่สนับสนุนการให้นมแม่และการเลี้ยงดูลูก

ทุ่มเท

แต่การดูแลลูกแบบจิงโจ้จำเป็นต้องมีการทุ่มเทอย่างมาก ทารกที่น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์จำเป็นต้องได้รับการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้ออย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 18 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับผู้เป็นแม่ นั่นหมายความว่า มีเวลาพักเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

นักวิจัยระบุว่า การอุ้มลูกด้วยวิธีการนี้ อาจมีข้อดีทั้งทางด้านสุขภาพและอารมณ์ทั้งต่อตัวแม่และลูก

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่อันทิน เอฮี คุณแม่วัย 40 ปีจากลากอส ซึ่งคลอดลูกสาวก่อนกำหนดในเดือนเม.ย. ชื่นชอบช่วงเวลาที่เธอได้ใกล้ชิดกับลูกสาวตัวน้อยที่ชื่อว่า เอฮี เช่นนี้

ด้วยการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ดูแลแม่และเด็กในลากอส อันทิน เอฮี ได้เรียนรู้วิธีการใช้ผ้าพันตัวทารกติดกับอกของเธอด้วยผ้าลินิน หลังจากที่ลูกสาวของเธอมีอาการทรงตัวแล้ว

“ฉันไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย จนกระทั่งมาเจอสถานการณ์นี้” เธอกล่าว “บอกตามตรง มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก ปกติเราจะสวมชุดนอนแล้วก็นำลูกมาใส่ไว้ข้างใน ติดกับตัวเพื่อให้รู้สึกถึงความอบอุ่น มันตลกแต่ก็น่ารักดี”

“ลูกอาจต้องอยู่อย่างนั้นทั้งวัน เมื่อคุณวางลูกไว้บนหน้าอก ลูกจะสงบ ไม่งอแง รู้สึกผ่อนคลาย”

การศึกษาขนาดเล็กบางแห่งระบุว่า ทารกที่ได้รับการดูแลด้วยวิธีการนี้ อาจจะร้องไห้น้อยลงและนอนหลับสนิทมากขึ้น

แม้ว่าจะมีการมุ่งเน้นการดูแลลูกแบบจิงโจ้กับคนที่เป็นแม่ แต่ก็เริ่มมีการวิจัยที่แนะนำให้คนที่เป็นพ่อดูแลลูกด้วยการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อซึ่งจะให้ผลคล้ายคลึงกัน

ปกป้องและฟูมฟักดูแล

เกือบ 80% ของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดอยู่ในประเทศรายได้ต่ำ

ที่มาของภาพ, Getty Images

สำหรับคุณแม่มือใหม่อย่าง โอโจมา เอโคมุน เทคนิคนี้ทำให้เธอได้ปกป้องและฟูมฟักดูแลลูกชายตัวน้อยในขณะที่อ่อนแอที่สุด

แม้ว่าตอนนี้ลูกชายของเธอจะพ้นขีดอันตรายแล้ว และเติบโตขึ้นทุกวัน เธอก็ตั้งใจว่า จะอุ้มลูกแนบอกเช่นนี้ต่อไป

“ฉันจะทำต่อไปจนกระทั่งลูกเริ่มเดินได้” เธอกล่าว

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว