เอเปค : ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กลายเป็น “ศูนย์กลางความสนใจ” หลังไร้เงาไบเดน-ปูติน ?

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สื่อนานาชาติมองว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะถูกจับตามากที่สุดในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์​ ปูติน ของรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

นายสี และภริยา เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยาให้การต้อนรับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่จะเริ่มขึ้นในวันนี้ ถึง 19 พ.ย.

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีจีนได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 บนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย และได้หารือแบบทวิภาคีกับผู้นำสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ แต่การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคครั้งนี้ นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้เดินทางเข้าร่วม แต่ส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี เข้าร่วมแทน ทั้งที่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นศูนย์กลางของการแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างจีนและสหรัฐฯ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า การที่นายไบเดนไม่ได้เข้าร่วมเอเปค ทำให้นายสี มีแต้มต่อเพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของจีนต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ

นายสี เผยแพร่วิสัยทัศน์ของเขาในแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร วานนี้ (17 พ.ย.) ในการประชุมกับผู้นำภาคธุรกิจที่จัดขึ้นควบคู่ไปกับเอเปค โดยเขาประกาศต่อต้าน “ทัศนคติเรื่องสงครามเย็น ความเป็นเจ้าโลก การตัดสินใจแบบฝ่ายเดียว และการกีดกันทางการค้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง” ซึ่งซีเอ็นเอ็นมองว่า เป็นการวิจารณ์ถึงสหรัฐฯ​ โดยไม่ได้เอ่ยถึงสหรัฐฯ โดยตรง

“เอเชียแปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรเป็นเวทีแข่งขันของมหาอำนาจ เราจะไม่ยอมให้มีความพยายามก่อสงครามเย็นในยุคสมัยของเรา” สี กล่าวในแถลงการณ์

“ความพยายามแทรกแซงหรือบั่นทอนซัพพลายเชนอุตสาหกรรม… รังแต่จะทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก เดินหน้าไปสู่ทางตัน”

ผลงานในจี 20

การเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จี 20 และเอเปค ถือเป็นการกลับเข้าสู่เวทีโลกด้วยตนเองครั้งแรกของนายสี หลังขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเดือน ต.ค. และถือเป็นการพบปะกับผู้นำมหาอำนาจโลกแบบต่อหน้า เป็นครั้งแรกนับแต่เกิดโควิดระบาด

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายสี จิ้นผิง ประชุมแบบทวิภาคีและถ่ายภาพร่วมกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม กับเหล่าผู้นำโลกที่ตลอดมาพยายามเตือนว่า จีนเป็นภัยคุกคามระดับนานาชาติ

“ผลงานของนายสี ถือว่าประสบความสำเร็จ โลกยอมรับการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ของเขาโดยจำยอม และนายสีแสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถเรียกความสนใจของประชาชนทั้งในและต่างประเทศไทย” นายยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการไชนาโปรแกรม ของศูนย์ระดมสมองสติมสันเซ็นเตอร์ ในสหรัฐฯ กล่าว

“สำหรับเอเปคนั้น จีนจะเป็นศูนย์กลางความสนใจ ไม่ว่าไบเดนหรือปูติน จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ตาม และยิ่งผู้นำสองคนนี้ไม่มา นายสีจะไร้คู่แข่งในห้องประชุม… เอเปคจะเป็นเวทีของเขา”

นายสียังระบุในแถลงการณ์ถึงผู้นำภาคธุรกิจอีกว่า “ผมหวังว่าพวกคุณ ซึ่งล้วนเป็นผู้นำธุรกิจ จะ… เข้ากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูป เปิดกว้าง และพัฒนาสู่ความทันสมัยของจีน”

กมลา แฮร์ริส มาไทย

แม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคด้วยตนเอง แม้จะเข้าร่วมการประชุมจี 20 ด้วยเหตุผลว่าต้องร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาว แต่ได้ส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาเข้าร่วมการประชุมในไทยแทน

เจ้าหน้าที่อาวุโสทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวว่า นางแฮร์ริสจะหารือกับผู้นำภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานไปกับเอเปค และประกาศว่า “ไม่มีคู่ค้าใดในภูมิภาคนี้ที่ดีไปกว่าสหรัฐฯ”

กมลา แฮร์ริส ร่วมประชุมเอเปคแทนไบเดน

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แม้นายสีและนายไบเดน จะหารือทวิภาคีในการประชุมจี 20 พร้อมประกาศว่า แม้สหรัฐฯ​ และจีน จะแข่งขันกัน แต่จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และจะไม่ปล่อยให้เกิดสงครามเย็นขึ้น แต่เมื่อเดือน ต.ค. สหรัฐฯ ยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น ด้วยการออกมาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อจำกัดการจำหน่ายชิปชั้นสูง และอุปกรณ์ผลิตชิปให้กับจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมไปถึงเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเอเปคด้วย

ช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังได้เปิดตัว กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ ไอพีอีเอฟ ซึ่งถือเป็นนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของไบเดน เพื่อเข้าหาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อแข่งขันกับจีน โดย ไอพีอีเอฟ มีสมาชิกเป็นเขตเศรษฐกิจในเอเปคจำนวนมาก แต่ไม่มีจีนและรัสเซีย อยู่ในกรอบความร่วมมือด้วย โดยเชื่อว่า สหรัฐฯ จะผลักดัน ไอพีอีเอฟ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้าต่อจากประเทศไทย

เอเปคเป็นสนามอิทธิพลการเมืองโลก ?

แม้เป้าประสงค์หลักของเอเปคคือ ส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคี และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก แต่ด้วยสมาชิกที่หลากหลาย และครอบคลุมมหาอำนาจโลกหลายแห่ง รวมถึง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เมื่อผู้นำชาติมหาอำนาจมารวมตัวกัน จะกลายเป็นการช่วงชิงอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลก ตามสถานการณ์และวิกฤตโลกที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างในปีนี้ คือ ความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งเรื่องการค้าและประเด็นไต้หวัน รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ต่อประเด็นนี้ ผศ.ประพีร์ อภิชาตสกล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อยากให้ดูถึงจุดเริ่มต้นของเอเปค ที่ริเริ่มโดยออสเตรเลีย ซึ่งมองว่า “ตัวเองจะไปอยู่กลุ่มไหนดี” ประกอบกับเห็นความสำเร็จของการประชุมในกรอบอาเซียน และในช่วงนั้นยังไม่เกิดองค์การการค้าโลก

งานเลี้ยงอาหารค่ำเมื่อคืนวันที่ 17 พ.ย.

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ออสเตรเลียกลัวจะถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ ทำให้อยากสร้างกลุ่มที่ได้เข้ามาเข้าร่วม” จึงเกิดเอเปคขึ้นในปี 2532 ซึ่งปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง สหรัฐฯ จีน จีน-ไทเป (ไต้หวัน) และ จีน-ฮ่องกง โดยเรียกเป็น “เขตเศรษฐกิจ” มากกว่า “ประเทศ” ซึ่งการเลือกใช้คำแบบนี้เอง ทำให้แม้จีนและไต้หวัน ซึ่งมีความขัดแย้งกัน สามารถเข้าร่วมการประชุมในกรอบของเอเปคได้

สาเหตุของการเข้าร่วมเอเปคของ “เขตเศรษฐกิจ” ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้ว จะเกิดจากความกลัว “ตกขบวน” ยกตัวอย่าง อเมริกา ที่เล็งเห็นผลประโยชน์ไม่ใช่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป้าประสงค์หลัก คือ “ป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่น ๆ เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค”

“อีกอย่าง เขาก็แพร่ค่านิยมทางเศรษฐกิจและการเมืองสไตล์อเมริกัน มาในภูมิภาคนี้ได้ อเมริกาถึงตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ” โดยเฉพาะยิ่งจีนมีอิทธิพล และแสนยานุภาพทางทหารมากขึ้น เชื่อมสัมพันธ์เชิงรุกกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่การที่สหรัฐฯ จะเข้ามายับยั้งอิทธิพลของจีนโดยตรง ในฐานะประเทศนอกภูมิภาคนั้นทำได้ยาก การเข้าร่วมเอเปคจึงช่วยให้ “การปรากฏตัวของสหรัฐฯ มันเนียน ๆ ไม่แทรกแซงตรง ๆ”

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศว่าไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในครั้งนี้ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากต้องเข้าร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาวที่ทำเนียบขาว จึงส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีมาแทน

“ความรู้สึกตอนนี้ของเรา อาจเป็นความน้อยใจ เหมือนตอนที่เขา (อเมริกา) ไม่เชิญผู้นำไทยไปประชุมสุดยอดประชาธิปไตย… แต่การที่เขาไม่ได้มาด้วยตนเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สนใจ” ผศ.ประพีร์ แสดงความเห็นถึงประเด็นนี้

สี จิ้นผิง เยือนไทย ปัจจัยความสำเร็จเอเปค ?

นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มองว่า การที่ผู้นำจีนมาร่วมประชุมเอเปค สะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือในภูมิภาค และจีนเอง มีบทบาทสูงมากในการส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของไทย

EPA

ที่มาของภาพ, EPA

“เรามีความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับจีน ดังนั้น การที่จะมีการหารือกันในระดับสูงกับผู้นำจีน เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับจีน และกำหนดว่าในอนาคตเราจะมุ่งความร่วมมือไปด้านใด” นายธานี ระบุ

อย่างไรก็ดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลับมองว่า การเข้าสู่เอเปคของจีน มีเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจการค้า ซึ่งจะเห็นชัดมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ไม่เห็นด้วยการกับข้อกำหนดทางการค้า “เชิงบังคับ” ของชาติตะวันตก

“จีนไม่สนใจเลยนะ จีนโดดเดี่ยวตัวเองมาก่อน… ไม่ไว้ใจกลุ่มประเทศตะวันตก และมหาอำนาจที่อเมริกาหนุนหลัง” ผศ. ประพีร์ กล่าว พร้อมเสริมว่า จีนยังเห็นความสำคัญของเอเปค เพราะมีกิจกรรมน่าสนใจ มีพันธมิตรทางการค้าในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่เยอะ แต่ที่สำคัญ คือ เพราะ “เอเปครวมกลุ่มกันโดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายอะไร… สมัครใจล้วน ๆ”

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว