เอเปค : 21 ผู้นำรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG”

เอเปค

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีประกาศ “ความสำเร็จอย่างงดงาม” ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) พร้อมระบุว่ามีความกังวลต่อผลกระทบจากสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์

ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจร่วมกันลงนามรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 และ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” อันหมายถึง เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งโอกาสนี้ เอเปคได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย

เศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1. การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ/การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ 2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4. การลดและบริหารจัดการของเสีย

ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงว่า การประชุมผู้นำเอเปค “จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม” โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีที่ผู้นำเอเปคเดินทางมาประชุมแบบพบหน้า และไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติรวมกว่า 5,000 คน

สี

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หยิบยกสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์ ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค “เข้าใจและมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไป”

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จัดขึ้นระหว่าง 18-19 พ.ย. ภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ทว่าเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องถูกขัดจังหวะ เมื่อนางกมรา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกรวมตัวฉุกเฉินผู้นำและผู้แทน 6 ชาติสมาชิกเอเปคเมื่อ 18 พ.ย. เพื่อร่วมกันประณามการยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปที่คาดว่าเป็นของเกาหลีเหนือ

ม็อบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะเดียวกันยังมีประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” จัดชุมนุมประท้วงคู่ขนานเวทีประชุมผู้นำเอเปค เพื่อขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ และเรียกร้องยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจ BCG โดยให้เหตุผลว่า “เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ และสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับประชาชนไทยและประชาคมโลกในอนาคต”

วานนี้ (18 พ.ย.) กลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ราว 350 คน เคลื่อนพลจากลานคนเมืองเพื่อมุ่งหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หวังยื่นหนังสือถึงผู้นำเอเปค ทว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นและสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง หลังออกเดินเท้ามาได้เพียง 300 เมตร จากระยะทางเป้าหมาย 10 กม. ทั้งนี้ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุมที่กระทำผิดซึ่งหน้า 25 คน และตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

ในระหว่างการปะทะกันที่ ถ.ดินสอ มีทั้งผู้ชุมนุม ผู้สื่อข่าว และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บด้วย

เช้าวันนี้ (19 พ.ย.) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การเคลื่อนขบวนจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 24 ชม. เพราะ “เกรงเกิดความไม่ปลอดภัย และเกรงกระทบภาพลักษณ์ของประเทศในวันที่มีประชุมผู้นำเอเปค” ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)  ตรวจสอบและจัดทำรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 พ.ย.

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้น ๆ หลังถูกถามถึงการชุมนุมต่อต้านการประชุมเอเปค โดยบอกว่า “ไม่มีอะไร เรียบร้อยดี”

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว