กปปส. : นักรัฐศาสตร์วิพากษ์ “การเมืองคนดี” จากยุค กปปส. ถึง ระบอบประยุทธ์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ตั้งวงวิพากษ์ “การเมืองคนดี” ของ กปปส. ซึ่งแสดงบทบาทและพลังเหมือน “เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ” เมื่อ 8 ปีก่อน ทว่าปัจจุบันฝ่ายอนุรักษนิยมตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ จากความไม่พอใจระบอบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และปัญหาภาพลักษณ์ที่เกิดจากการ “อนุญาตให้ใช้ความชั่วได้ในนามของความดี”

วันที่ 21 พ.ย. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนา “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหนังสือวิชาการเล่มล่าสุดของ รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

รศ.ดร. ประจักษ์ใช้เวลา 2 ปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ในระหว่างปี 2556-2557

กปปส.

ที่มาของภาพ, Getty Images

จากความสนใจเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง นักวิชาการหนุ่มพบว่า กปปส. เป็นขบวนการแรกและขบวนการเดียวที่เคลื่อนไหวในนามภาคประชาชน แต่ใช้ความเคลื่อนไหวนั้นทำลายการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นความรุนแรงในการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ จึงนำไปสู่การศึกษาต่อไปว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อ้างความชอบธรรมอะไรในการ “ปิดคูหาเลือกตั้ง” “ทำร้ายร่างกายคนอื่น” และ “นิยามประชาธิปไตยใหม่” ผ่านวาทกรรม “รักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง”

สิ่งที่เขาพบคือ อัตลักษณ์การเมืองคนดีถูกสร้างขึ้นมาอย่างโดดเด่นมาก โดยวางอยู่บนฐานแนวคิดราชาชาตินิยม พุทธแบบไทย และการเมืองของความไม่เสมอภาค ควบคู่กับการเมืองเชิงศีลธรรม ที่ทำให้คู่ตรงข้ามกับ กปปส. อย่างรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้สนับสนุน ถูกมองว่าเป็นศัตรู ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และไม่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้ชุมนุม กปปส.

“ถ้าไม่มี กปปส. ยากมากที่จะมี ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่ดำรงมาอยู่ถึงทุกวันนี้” คือข้อสรุปของ รศ.ดร. ประจักษ์

ประจักษ์

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

“เมื่อไม่มีกระทั่งประชาธิปไตย จะตรวจสอบการคอร์รัปชันได้อย่างไร”

เขาประกาศตัวว่าปฏิเสธการเมืองเชิงศีลธรรม เพราะไม่คิดว่าจะมีใครดีหรือชั่วล้านเปอร์เซ็นต์ แต่การเมืองสมัยใหม่วางอยู่บนฐานที่ว่าจะตรวจสอบการใช้อำนาจได้อย่างไร

“คุณอาจมีพฤติกรรมส่วนตัวที่เคร่งศาสนาและเคร่งศีลธรรม แต่พอมีอำนาจอาจใช้อำนาจออกนโยบายที่นำไปสู่ความเสียหายแก่สังคม หรือทำร้ายชีวิตคนอื่นก็ได้ มีงานศึกษาชีวประวัติผู้นำนาซีพบว่า ชอบฟังดนตรีคลาสสิค มีอารยธรรมสูงสง่า ไม่เคยฆ่าสัตว์ แต่ก็ออกนโยบายรมแก๊สฆ่าคนยิว 6 ล้านคนก็ได้ เพราะเขาเชื่อจริง ๆ ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่พลเมืองที่มีค่าควรจะใช้ชีวิตอยู่ ดังนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องกับศีลธรรมส่วนตัวของคนนั้น แต่ที่สนใจคือเมื่อมีอำนาจแล้วต้องถูกตรวจสอบและกำกับได้” รศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ทว่าเมื่อการเลือกตั้งถูกทำลายลง อาจารย์ประจักษ์จึงโยนคำถามกลับไปยังนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในวันนั้นว่า “เมื่อไม่มีกระทั่งประชาธิปไตย จะตรวจสอบการคอร์รัปชันได้อย่างไร” เพราะวันนี้การเมืองคนดีภายใต้ระบอบประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันหายไป เช่นเดียวกับผู้คนที่เคยขับไล่สิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” แต่ปัจจุบันก็มี ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โหวตเลือกนายกฯ ได้ ทำไมถึงไม่มีการตั้งคำถามเรื่องเผด็จการรัฐสภาอีกต่อไป

“พอประชาธิปไตยถูกทำลายลงไป มันไม่เหลือพื้นที่ให้แม้แต่ตัวคุณเองในการวิจารณ์สิ่งที่คุณไม่ชอบตอนนี้ ผมเชื่อว่ามีความอิหลักอิเหลื่ออย่างยิ่งในหมู่คนที่อาจเรียกตัวเองว่า อนุรักษนิยม คนดี คนมีศีลธรรมตอนนี้ เขาก็อาจไม่ชอบระบอบที่ดำรงอยู่ตอนนี้ แต่ก็รู้ว่ามีเสรีภาพให้น้อยในการวิจารณ์ คัดค้าน หรือเดินขบวนสร้างกลุ่มออกไปเดินขบวนเคลื่อนไหว เพราะก็จะเผชิญกับการถูกปราบปรามเช่นกัน” รศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

อภิปราย

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

อย่างไรก็ตามนักวิชาการผู้ศึกษาการเมืองวัฒนธรรมเชื่อว่า วาทกรรมคนดีจะถูกหยิบมาใช้ในการเมืองไทยต่อไป ตราบที่ผู้ใช้ยังไม่มีอย่างอื่นที่จะอ้าง ไม่มีนโยบายโดนใจประชาชน ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการหันไปสู่การเมืองเชิงศีลธรรม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นในฝ่ายขวาสุดโต่งทั่วโลก เพราะ เมื่อไม่มีนโยบาย จะชนะได้ก็ต้องอาศัยการปลุกปั่น ให้เป็นเรื่องคนดี-ชั่ว ขาว-ดำ

“ศีลธรรมของ กปปส. มีสถานะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ”

ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มธ. อ่านหนังสือของ “ลูกศิษย์” จนจบ ก่อนอ่านวิธีคิด-วิธีเขียนของอาจารย์ประจักษ์ ที่มองการเคลื่อนไหวของ กปปส. เป็นการชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองที่ผิดปกติในแง่หลักการเมืองและกฎหมายเสรีประชาธิปไตย ขณะที่นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธอิสระ หนึ่งในแกนนำ กปปส. ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวก ทำต่างหากที่ผิดปกติในแง่หลักศีลธรรมและต่อชาติบ้านเมือง ต่างฝ่ายต่างพูดถึงความผิดปกติไปคนละทาง

ในทัศนะของอาจารย์เกษียร กปปส. ชะลอโลกุตรธรรมปกติ (หลักศีลธรรมเหนือโลกียวิสัย) มากดทับโลกียธรรมปกติ (หลักการเมืองและกฎหมายปกติในทางโลกย์) ถ้ามองอย่างรัฐศาสตร์ สิ่งที่ กปปส. ทำเป็นสภาวะยกเว้นในการเมืองและกฎหมายปกติ

แต่ถ้ามองทางโลกุตรธรรม สิ่งที่ กปปส. ทำเป็นเรื่องปกติธรรมดาและพึงทำอย่างยิ่งเพื่อให้โลกการเมืองเบื้องต่ำที่ผิดปกติกลับเป็นปกติธรรมอย่างที่ควรเป็น กปปส. ไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสภาวะยกเว้นที่ผิดมาตรฐานทางสังคม ตรงกันข้าม พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นปกติ-อภิปกติ

“แกนนำและผู้ชุมนุม กปปส. มองว่า ศีลธรรมของกลุ่มตนมีสถานะอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติกาในระบอบประชาธิปไตย เพราะศีลธรรมของคนดีเป็นคุณค่าตัดสินความดีชั่วที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่ากฎหมายที่รัฐแอบอ้างมาปกป้องตัวเอง” ศ.ดร. เกษียรกล่าว

กปปส.

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

ความดี-ไม่ดี ที่ขึ้นอยู่กับ ผู้มีบารมีสูงสุด

ทั้งนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์เห็นตรงกันว่า การเอาศาสนาซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาไว้ในโลกการเมือง จะนำไปสู่ความสุดโต่งรุนแรง

อาจารย์เกษียรเรียกมันว่า “เอกภพแห่งพันธะธรรม” (Universe of Moral Obligation) พร้อมยกตัวอย่างว่า ในขณะที่  กปปส. นับนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือที่รู้จักในชื่อ “มือปืนป็อบคอร์น” อดีตผู้ต้องขังตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดียิงปะทะที่แยกหลักสี่ เมื่อ 1 ก.พ. 2557 อยู่ในเอกภพของตน ต้องห่วงใย ช่วยเหลือ ยกย่อง สนับสนุน แต่กลับไม่นับนายอะแกว แซ่ลิ้ว หรือ “ลุงอะแกว” พ่อค้าขายน้ำอัดลม วัย 72 ปี (ในขณะนั้น) ที่ถูกยิงในเหตุการณ์ดังกล่าวจนได้รับบาดเจ็บก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา อยู่ในเอกภพเดียวกัน

“การทำลายพวกมันเป็นพันธะและหน้าที่ที่พึงกระทำตามหลักศีลธรรม ถ้าไม่ทำ ไม่ฆ่า ถือว่าบาป เข้าทำนอง ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ ชาวพุทธพึงทำ เหมือนฆ่าปลาไปต้มแกง เอามาตักบาตรถวายพระ ย่อมเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ทำไปแล้วก็จะได้บุญ” ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเปรียบเทียบ และชี้ว่านี่คือ “ความรุนแรงตามคุณธรรม” (Virtuous Violence)

มือปืนป็อบคอร์น

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ขณะที่ ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นปัญหาที่มาจากแนวคิด คนไม่เท่ากัน กับ ความรุนแรง เพราะ “พอคนไม่เท่ากัน ความดี-ไม่ดี จึงไปอยู่ที่ใครคือผู้มีบารมีสูงสุดใน Moral Universe (พื้นที่ศีลธรรม)” สมัยก่อนเรื่องความรุนแรง เป็นสิ่งที่รัฐไทยพยายามกระมิดกระเมี้ยนหรือเหนียมอายค่อนข้างมากในการทำ แต่ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เขาเห็นว่า “รัฐไทยหันมาใช้ความรุนแรงในนามของความดีอย่างโจ่งแจ้งและอุจาดขึ้น”

นักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ผู้นี้มองว่า รัฐประหาร 2549 “เป็นรัฐประหารที่โน้มนำอุดมการณ์จริง ๆ” และ “เป็นการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องศีลธรรม” ซึ่งปัญหาของการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องศีลธรรม รวมทั้งระบบกฎหมายคือ เกณฑ์ objective (ภววิสัย) ที่เคยใช้ ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กลายเป็นว่า ผู้ใดอยู่ฝั่งใดถึงผิด นั่นเท่ากับว่าการโยนองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายออกไปหมดเลย

“เราโยนหลักกลาง ๆ คือมีเสมอภาคด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะสีอะไร เชื่ออะไร เราไปใช้เกณฑ์ที่ subjective (อัตวิสัย) เช่น ดูก่อนว่าทำไปเพื่อความดีไหม ถ้าลงโทษ ก็ลงน้อย หรือไม่ลงโทษเลย หรือได้ประกันก่อน คือมันมีข้อยกเว้นเยอะมาก เราก็จะเห็นว่า กปปส. เองก็ถูกลงโทษเหมือนกัน แต่ถ้าดูจากความรุนแรงที่รัฐไทยปฏิบัติต่อ กปปส. กับเสื้อแดงมันต่างกัน ถึงที่สุดของ กปปส. ที่โดนจริง ๆ คือคนเล็กคนน้อย แต่แกนนำเฉียดไปเฉียดมา มันรอดตลอด อันนี้คือปัญหา พอวาทกรรมคนดีแทรกเข้าไปในระบบกฎหมาย พอจะตัดสินอะไร ต้องไปกางดูก่อนว่านี่อยู่ใน universe (จักรวาล) เราไหม ไอ้นี่พวกเราไหม ถ้าอยู่ กฎหมายก็อุ้มหรือคุ้มครองคนดีเหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดสิ่งที่บอกว่า เป็นคนดีจะทำอะไรก็ได้ เพราะความดีคุณมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำแล้ว มันขึ้นกับว่าคุณเชื่อถูกหรือเปล่า” ดร. เข็มทองกล่าว

เขาสรุปว่า การทำให้กฎหมายเป็นเรื่องศีลธรรม จึงไม่ต่างจากการ “ให้เช็กเปล่าคนจำนวนหนึ่งไปทำอะไรก็ได้ ขอแค่อยู่ให้ถูกฝั่ง” ซึ่งสภาพเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะกฎหมายมีหลักของมัน และคุมด้วยการกระทำ ไม่ใช่อุดมการณ์ ความคิดที่ว่ากฎหมายใช้กับบางอุดมการณ์และไม่ใช่กับบางอุดมการณ์เป็นเรื่องที่ผิดและอันตราย

กปปส.

ที่มาของภาพ, LIGHTROCKET/ GETTY IMAGES

เปรียบฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นเสมือน “หุบเขาคนโฉด”

ดร. เข็มทองยังมองต่อไปถึงมรดกของ กปปส. จากการ “อนุญาตให้ใช้ความชั่วได้ในนามของความดี” ทำให้สภาพของฝ่ายอนุรักษนิยมดูไม่จืด พร้อมเปรียบเปรยฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นเสมือน “หุบเขาคนโฉด”

“ถ้าคุณจะมาทำมิจฉาทุจริตในแผ่นดินไทย อย่างแรกที่สุดคุณต้องเข้าพรรคให้ถูก พอเข้าถูก คุณอยากทำอะไรก็ได้ ถึงเวลาคุณรอดอยู่แล้ว อันนี้ผมไม่ได้พูดลอย ๆ ถ้าดูที่ผ่านมา แชร์ลูกโซ่ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก (ประธานโครงการ “คืนคุณแผ่นดิน” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน) คือคนที่เคยเป็นหัวหอกของฝ่ายอนุรักษนิยม”

ในความคิดของอาจารย์เข็มทอง ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจยึดถือคุณค่าคนละแบบกับเราได้ เชื่อในคุณธรรมอะไรบางอย่างที่อาจดูเก่า แต่ควรมีความสง่างามกว่านี้

“แต่ตอนนี้เราเห็นคนอย่างคุณอานันท์ (ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี) มหาจำลอง (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่า กทม. และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ) ปนอยู่กับพุทธะอิสระ  เสี่ยโป้ (นายอภิรักษ์ ชัชอานนท์ จำเลยคดีชักชวนเล่นพนันฯ) หรือ เคร้อยล้าน เขาอาจจะมีวิกฤตจริง ๆ ถึงยอมจับมือกับคนพวกนี้ มันทำให้ดูเละเทะไปหมด ในสภาก็กวาดคนมาเยอะแยะ มันทำให้ตัวเองเป็นคนปากว่าตาขยิบ ในขณะที่ตัวเองยังพูดถึงคุณธรรมเก่า เชื่อถือความเป็นไทย แต่สิ่งที่ทำขัดกับที่พูดมาทุกอย่าง และมีหลักฐานด้วย มันเลยทำให้คนรุ่นใหม่เวลาพูด ‘คนดี’ กลายเป็น ‘คนกี’  ‘คนดีย์’ กลายเป็นเรื่องชวนหัวไป” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็น

ดร. เข็มทองเป็นอีกคนที่ชี้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อจากการที่ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้สะท้อนภาพที่ดีที่สุดตน มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ “แล้วใครจะอยากยึดความดี ถ้าคนที่พูดเรื่องความดี หน้าตาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้”

“ผี” กปปส. กับ เรื่องเล่าแม่บท

ท่ามกลางคำจำกัดความของ “คนดี” ที่แตกต่างกัน ศ.ดร. เกษียณเห็นว่า วาทกรรมคนดีของ กปปส. ได้แสดงบทบาทและพลังเหมือนเรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ โดยกลายเป็นหลักการ/ความหมายสำคัญสูงสุด และกำกับและกดทับวาทกรรมรองอื่น ๆ พร้อมยกตัวอย่างวาทกรรมของคนดีที่ไปกดทับวาทกรรมชุดอื่น ๆ ไว้ ดังนี้

  • วาทกรรมศีลธรรม : ธรรมราชา
  • วาทกรรมชาติ : ราชาชาตินิยม, ความเป็นไทย ซึ่ง ศ.ดร.เกษียรบอกว่า มีประโยคหนึ่งของ กปปส. ที่ทำให้เขาตกตะลึงคือ “คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย”
  • วาทกรรมประชาธิปไตย : ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
  • วาทกรรมกฎหมาย : ราชนิติธรรม, ราชธรรมนูญ
  • วาทกรรมจิตเวช : กรณีนายทิวากร วิถีตน สวมเสื้อยืดที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถูกหาว่าป่วยเป็นโรคจิต ถูกจับไปส่งโรงพยาบาลโรคจิต แต่กรณี “เคร้อยล้าน” ผู้มีชื่อจริงว่านายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา ได้รับการปล่อยเป็นอิสระ มันทำให้ความหมายของจิตเวชเปลี่ยนไป
  • วาทกรรมจริง/เท็จ : กรณีมีการแชร์ภาพและข้อความที่อ้างว่า ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 พร้อมข้อความบรรยายว่า “มหาราชผู้ยิ่งใหญ่’ ที่ไม่เคยสู้รบกับใคร แต่สามารถทำให้ทุกคนยกย่องสรรเสริญได้ ทั่วโลกยอมแพ้ได้ มีแค่คนเดียว คือ คิงภูมิพล” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจนขณะนี้ก็ยังไม่อาจตรวจสอบแหล่งอ้างอิงที่แน่ชัดได้ แต่คนบางส่วนเชื่อว่า “น่าจะจริงได้ รออีกหน่อยก็จะจริง แค่ยังไม่จริงเท่านั้นเอง”
  • วาทกรรมประวัติศาสตร์ : ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน
CG
CG

ศ.ดร. เกษียรชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงความหมายของวาทกรรมปกติ เกิดจากการบังคับทางกฎหมาย และความรุนแรงของรัฐและภาคที่ไม่ใช่รัฐ ทำให้ “คนในสังคมเดียวกัน เข้าใจดี-ชั่ว จริง-เท็จ ผิด-ถูก ไม่เหมือนกัน สังคมไทยหลังผ่านประสบการณ์ กปปส. มาแล้ว ก็เจอกับภาวะแบบนี้และยังตกค้างกับสภาวะแบบนี้”

นักรัฐศาสตร์อาวุโสยังเปรียบเปรยปฏิบัติการที่ กปปส. ทำว่าเป็นความสุดโต่งที่ปรากฏมาเหมือน “ผี” ที่เคยอ่านในนิทาน จึงไม่ขอประเมินในแง่ดีว่าจะไม่มี “ผี” ตนอื่นปรากฏกายขึ้นมาอีกหลังจากนี้

“ผมคิดว่าแต่ก่อนอนุรักษนิยมไทยสติดี แต่หลังจาก กปปส. ผมว่ามันหายไปหมดเลย… แต่ในแง่กลับกัน มองว่าอะไรที่ขาดพร่องไป ผมคิดว่าการเชื่อในความดีอย่างยิ่งของอำนาจแบบสมัยรัชกาลก่อน การเชื่อในความดีอย่างยิ่งของอำนาจว่าเป็นไปได้ รักษาไว้ได้ มันไม่น่าจะมีอีกแล้ว ผมคิดว่ามันเปลี่ยนแปลง เมื่อความเชื่อในความดีอย่างยิ่งของอำนาจมันลดน้อยถอยลง ก็อาจจะทำให้ความสุดโต่งน้อยลงได้ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ” ศ.ดร. เกษียรกล่าว

“อาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี”

ในวงเสวนาวันนี้ ศ.ดร. เกษียรเปิดฉากสนทนาด้วยการอัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) ที่พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อ 11 ธ.ค. 2512 มาฉายขึ้นจอภาพ

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ศ.ดร. เกษียรระบุว่า ได้ยินพระบรมราโชวาทนี้บ่อยมากในช่วงหลังเหตุการณ์ พฤษภา 2535

ทว่าถ้าย้อนไปก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 มีประกาศสำนักพระราชวังเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อเวลา 22.44 น. ของวันที่ 23 มี.ค. 2562 โดย ร.10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังอัญเชิญพระบรมราโชวาท ร.9 เมื่อ 50 ปีก่อน มาให้ประชาชนในชาติได้ทบทวนและตระหนักถึงพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ “เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นการเตือนสติ ให้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสมัครสมานสามัคคี ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และความสุขของประชาชน”

หลังจากนั้นผู้ใช้งานทวิตเตอร์ได้ทวีตและรีทวีตข้อความในคืนก่อนวันเลือกตั้งจนถึงวันเข้าคูหา 24 มี.ค. 2562 ทำให้แฮชแท็ก #โตแล้วเลือกเองได้ และ #คนดี ขึ้นเป็น 2 ใน 5 เทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยม

น่าสนใจว่า การปรากฏขึ้นของพระบรมราชโชวาทในจังหวะสำคัญทางการเมืองส่งผลต่อการรับรู้และเข้าใจเรื่อง “คนดี” และ “คนไม่ดี” ในสังคมไทยอย่างไร

ศ.ดร. เกษียรอธิบายว่า เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จไม่เคยเบ็ดเสร็จเต็มร้อย และสิ่งที่ประกอบเรียกว่าความเป็นไทย ก็ไม่ได้มีมาจากเบื้องบน และก็ไม่ได้มีแต่พุทธศาสนาเท่านั้น ต่อให้เป็นกระแสหลักของความคิดและความหมายที่อยากให้ทุกคนเดินตามแม่บทนั้น แต่ถ้าไม่ตอบสนองประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วงและแต่ละรุ่น มันย่อมไม่กินใจพวกเขา และเขาย่อมแสวงหาเรื่องเล่าอื่นหรือความหมายอื่นที่กินใจเขามากกว่าหรือตอบเขามากกว่า

นักรัฐศาสตร์ ผู้เป็นอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 2519 เล่าว่า ภายหลังรัฐประหารโดย คสช. ได้ไม่นาน เขามีโอกาพบปะพรรคพวกคนเดือนตุลา และเชิญ ศ.ดร.  วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และอดีตอาจารย์กลุ่ม “นิติราษฎร์” มาร่วมงานด้วย ซึ่งภายหลังรัฐประหาร อาจารย์วรเจตน์ถูกกดดันมาก ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

“วันนั้นเราได้อภิปรายความรู้สึก สภาพบ้านเมืองอะไรต่าง ๆ พอถึงตอนจบ ผมได้รับมอบหมายให้พูดอะไรบางอย่างให้อาจารย์วรเจตน์ ผมนึกอะไรไม่ออกในบรรยากาศตอนนั้น ผมนึกออกอย่างเดียวว่าอาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี… อาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี  ไม่มีใครสามารถผูกขาดความหมายของคำว่าคนดีและความดีได้ต่อไปผู้เดียว ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนที่ผมพูดประโยคนี้เสร็จ อาจารย์วรเจตน์น้ำตาไหล” ศ.ดร. เกษียรย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน

วรเจตน์

ที่มาของภาพ, WATCHIRANONT THONGTEP/BBC THAI

อาจารย์เกษียรเสนอว่า ในจังหวะที่เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จเดิมไม่ตอบประสบการณ์ใหม่ มันไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องเล่าเบ็ดเสร็จชุดใหม่ได้ทันที แต่ต้องใช้เวลาสั่งสม บางทีเป็นแค่ความรู้สึก เสียงบ่น การแสดงแปลก ๆ เช่น ใส่ชุดไดโนเสาร์ออกมาเต้นรำ เป็นต้น

แต่มันคือจังหวะเต้นของหัวใจที่ไม่ยอมสยบ และต้องให้เวลากับมัน โครงสร้างความรู้สึกแบบนี้ก็จะค่อย ๆ หล่อหลอมอย่างเป็นระบบมากขึ้น รอให้คนมาจัดมันให้เป็นข้อคิด แนวคิด วาทกรรม ข้อเสนอที่เป็นระบบ ดังนั้นเราต้องให้โอกาสกับความคลุมเครือ และความพยายามสร้างเรื่องเล่าแม่บทใหม่ในสังคม

เสวนา

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

เกษียรไม่มีปัญหากับ “สลิ่มกลับใจ”

ในช่วงชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร/ราษฎร” เมื่อปี 2563-2564 มีอดีตแนวร่วม กปปส. ออกมาขอโทษที่เคยร่วม “เป่านกหวีด” และนำไปสู่รัฐประหาร 2557 ทำให้เกิดคำถามว่าปรากฏการณ์ “สลิ่มกลับใจ”  ส่งผลให้นิยาม “คนดี” เปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร

ส่วนตัวของ ศ.ดร. เกษียรบอกว่าไม่ได้มีปัญหากับตัวบุคคล คิดว่าบุคคลเปลี่ยนความคิดได้ แต่มีปัญหากับบุคคลที่ยึดติดกับอำนาจ ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด แล้วใช้อำนาจนั้นทำร้ายคนอื่น

“เวลาคุณทำร้ายคนด้วยอำนาจ โดยเฉพาะใช้ความรุนแรงในการทำร้าย คำขอโทษคืนความเป็นคนที่คุณทำร้ายลงไปไม่ได้ และคำขอโทษ ผมไม่แน่ใจว่าคืนความเป็นคนที่คุณทำลายลงไปเองเวลาคุณทำร้ายคนอื่น มันจะคืนได้หรือเปล่า” ศ.ดร. เกษียรกล่าว

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว