ทำไม ความวิตกกังวล อาจส่งผลดีต่อเรา

  • ดร.เทรซี เดนนิส-ทิวอรี
  • นักจิตวิทยาคลินิก, บีบีซี ฟิวเจอร์

ตอนที่ลูกชายฉันคลอดออกมาพร้อมกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease) ฉันก็เหมือนพ่อแม่ทั่วไปที่รู้สึกว่าไปต่อไม่ถูก และเมื่อลูกต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ ฉันก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความรู้สึกไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้จะเข้าใจว่าการผ่าตัดอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็รู้ว่ายังมีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน หากฉันดูแลลูกอย่างดีที่สุด

ในห้วงเวลาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพยายามคิดเฉพาะแง่บวก แต่ฉันก็ได้เรียนรู้ว่าฉันสามารถใช้ความรู้สึกวิตกกังวลเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้

แม้รู้ว่าอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่การกระทำของฉันก็อาจมีผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ความวิตกกังวลของฉันช่วยผลักดันให้ฉันได้ดำเนินชีวิตต่อไปในสถานการณ์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนสิ้นหวัง ฉันเชื่อว่าความวิตกกังวลอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราใช้รับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองว่าความวิตกกังวลคือเรื่องที่สร้างความอึดอัดใจ และมีความหมายเท่ากับความรู้สึกเชิงลบ

ในช่วงหลายสิบปีก่อน ผู้คนมองว่าความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความรู้สึกไม่สบายใจ ทว่าทุกวันนี้ ดูเหมือนเรากำลังอยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวล ดังจะดูได้จากคำว่า anxiety (ความวิตกกังวล) ได้รับการสืบค้นเพิ่มขึ้นกว่า 300% นับแต่ปี 2004

และการสำรวจพบว่า 31% ของประชากรในสหรัฐฯ เคยมีประสบการณ์เป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) ครั้งหนึ่งในชีวิต อาการเหล่านี้อาจมีตั้งแต่โรควิตกกังวลทั่วไป (generalised anxiety disorder) ไปจนถึงโรคแพนิค (panic disorder) และโรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety disorder)

ที่ผ่านมา สังคมและแวดวงการแพทย์มักมองความวิตกกังวลในเชิงลบ แต่ฉันในฐานะนักจิตวิทยาคลินิกอยากเสนอมุมมองและวิธีรับมือแบบใหม่ เพื่อทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากความรู้สึกนี้

Anxiety can help to prepare us for what we are about to experience

ที่มาของภาพ, Getty Images

ความวิตกกังวลคือข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน บางอย่างเลวร้ายอาจเกิดขึ้นได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นมันจึงช่วยเราในการเตรียมตัว ยืนหยัด คอยระแวดระวัง เกิดความเชื่อมโยงกับสังคม ให้ความหวัง และช่วยให้ปฏิบัติตนในทางที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายหรือภัยพิบัติเกิดขึ้น

ความรู้สึกวิตกกังวล ไม่เพียงจะทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น แต่สมองของเรายังมีสมาธิจดจ่อและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เมื่อเราต้องเผชิญกับเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้

ดังนั้นความวิตกกังวลจึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นหนึ่งในสมองของเรา ช่วยผลักดันให้เราทำงานในสิ่งที่เราสนใจและเป็นห่วง ช่วยให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากอธิบายด้วยมุมมองตามทฤษฎีวิวัฒนาการ อาจพูดได้ว่าความวิตกกังวลไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่มีส่วนช่วยต่อการมีชีวิตรอดของเรา

แม้โรควิตกกังวล (anxiety disorder) จะถูกจัดให้เป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่มีอาการหนักก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่หากพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกกังวลตามธรรมชาตินั้น อาจถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งอาจส่งผลดีต่อเราด้วย

ถ้าความวิตกกังวลเป็นเรื่องดีแล้วเหตุไฉนถึงทำให้เรารู้สึกแย่

Anxiety must feel bad to work – its name derives from the ancient Latin and Greek words for choked, painfully constricted, and uneasy

ที่มาของภาพ, Getty Images

ความวิตกกังวลต้องทำให้เรารู้สึกแย่ก่อน แล้วจึงจะทำให้เกิดผลดีตามมา หากดูรากศัพท์ของคำว่า anxiety ซึ่งแปลว่าความวิตกกังวล จะพบว่ามาจากภาษากรีกและละตินโบราณที่มีความหมายว่า หายใจไม่ออก การถูกบีบคั้นอย่างเจ็บปวด ซึ่งล้วนสะท้อนความรู้สึกเชิงลบ

ความรู้สึกเหล่านี้คือตัวกระตุ้นให้เราทุ่มเทความสนใจ และใช้ความพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอันตราย หรือเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักพยายามหลีกเลี่ยงและเพิกเฉยต่ออารมณ์ความรู้สึกที่มีประโยชน์นี้ แต่หากมองความวิตกกังวลว่าเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนไฟไหม้ สิ่งนี้ก็จะกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น เข้าดับไฟ หรือป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอีกในอนาคต

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อความเครียดที่เกิดจากความไม่แน่นอนนี้ และการฟังความวิตกกังวลของตัวเองโดยเชื่อว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เราทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ ถือเป็นขั้นแรกในการเรียนรู้ที่จะใช้ความวิตกกังวลในทางที่ถูกต้อง

การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดดังกล่าวส่งผลในเชิงบวกอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้เป็นโรคกลัวสังคมถูกขอให้ทำภารกิจที่ทำให้รู้สึกเครียด เช่น การพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก โดยที่ไม่มีเวลาเตรียมตัว แต่คนกลุ่มนี้ได้รับการสอนให้คิดว่าการตอบสนองต่อความวิตกกังวลคือการส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมจะรับความท้าทายต่าง ๆ (แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจ) ผลปรากฏว่าคนกลุ่มนี้สามารถทำภารกิจได้ดีกว่าเมื่ออยู่ภายใต้แรงกดดัน พวกเขามีความมั่นใจ วิตกกังวลน้อยลง ตลอดจนมีอัตราการเต้นของหัวใจคงที่และความดันเลือดในระดับที่ต่ำกว่า

Learning to manage anxiety – to work around it and with it – could better prepare us for future challenges

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเผชิญหน้าและรับมือกับความวิตกกังวลถือเป็นกุญแจสำคัญในการเยียวยาปัญหานี้ ยกตัวอย่างงานวิจัยในหมู่ทหารผ่านศึกที่สามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) ด้วยการมุ่งความสนใจไปยังเหตุที่กระตุ้นความวิตกกังวล มากกว่าการหลีกเลี่ยงนึกถึงมัน

การเรียนรู้ที่จะวิตกกังวลอย่างถูกต้อง คือการค้นหาหนทางให้ผ่านพ้นความรู้สึกนี้ไปได้มากกว่าการหลีกเลี่ยงรับมือกับมัน เพื่อใช้ประโยชน์จากความวิตกกังวลให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ และเพื่อให้สามารถแยกแยะได้ว่าความวิตกกังวลบางอย่างอาจไม่มีประโยชน์และจำต้องฝึกฝนในการปล่อยวาง

ดังนั้นวงจรของกระบวนการคิดนี้มี 3 ส่วนคือ ฟัง ใช้ให้เกิดประโยชน์ และปล่อยวาง

ความวิตกกังวลไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นตัวนำสาร ที่บอกว่าเรากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน และเราจำเป็นต้องรับฟัง เพื่อหาหนทางรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น หากพิจารณาแล้วว่าความกังวลนี้ไม่มีประโยชน์และไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ มีแต่จะยิ่งทำให้รู้สึกเครียดและกังวลยิ่งขึ้นก็จงปล่อยวาง แล้วทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลง ออกกำลังกาย ปรึกษานักจิตบำบัด หรือคุยกับเพื่อนที่มักให้คำแนะนำที่มีประโยชน์

เมื่อ 180 ปีก่อน นักปราชญ์ชาวเดนมาร์ก เซอเรน เคียร์เคอการ์ด เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ผู้เรียนรู้ที่จะวิตกกังวลในทางที่ถูกต้อง ได้เรียนรู้ในขั้นสูงสุด”

เราล้วนเกิดมาพร้อมกับความวิตกกังวล การเป็นมนุษย์คือการเรียนรู้ว่าแม้ความวิตกกังวลจะเป็นเรื่องยากจะรับมือ บางครั้งทำให้รู้สึกกลัว แต่เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะมองมันอย่างเป็นมิตร เป็นประโยชน์ และเป็นบ่อเกิดของความเฉลียวฉลาด เมื่อเราช่วยบรรเทาความกังวลเท่ากับเราช่วยตนเองไปด้วย

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว