
- โรบิน เลวินสัน-คิง
- บีบีซี นิวส์ โทรอนโต

ที่มาของภาพ, Getty Images
แคนาดากำลังพยายามอย่างมากในการนำผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอุดช่องว่างในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดจาก การที่ประชากรในยุคเบบี้บูมเมอร์เริ่มเกษียณออกจากตลาดแรงงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการนำคนจากต่างประเทศเข้ามามากเช่นนั้น
ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ รัฐบาลแคนาดาประกาศแผนการที่ท้าทายในการนำผู้ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศ 500,000 คนต่อปี ภายในปี 2025 โดยจะมีผู้ย้ายถิ่นใหม่เกือบ 1.5 ล้านคนเข้ามาในแคนาดาในช่วง 3 ปีต่อจากนี้
แผนการนี้จะทำให้แคนาดามีสัดส่วนจำนวนผู้พำนักถาวรในประเทศในแต่ละปีต่อจำนวนประชากร สูงกว่าสหราชอาณาจักร 8 เท่าตัว และสูงกว่าสหรัฐฯ เพื่อนบ้านทางใต้ 4 เท่าตัว
แต่ผลการสำรวจความเห็นเมื่อไม่นานนี้เผยให้เห็นถึงความกังวลใจเกี่ยวกับการรับผู้เข้ามาอยู่ใหม่เหล่านี้
เดิมพันครั้งใหญ่ของแคนาดา
เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่แคนาดาได้พยายามดึงดูดผู้พำนักอาศัยถาวร (permanent resident) ซึ่งไม่ใช่พลเมืองของแคนาดาแต่ได้รับสิทธิ์ในพักอาศัยอยู่ในประเทศได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา เพื่อรักษาจำนวนประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปีที่แล้ว แคนาดารับผู้พำนักอาศัยถาวรเข้ามา 405,000 คน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแคนาดา
เหตุผลที่ทำเช่นนี้เป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต่างจากชาติตะวันตกหลายชาติ แคนาดามีประชากรสูงอายุมากและมีอัตราการเกิดต่ำ นั่นหมายความว่า ถ้าต้องการทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป แทนที่จะหดตัวลง แคนาดาจะต้องนำผู้ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศ
จากข้อมูลของทางการ ปัจจุบันจำนวนผู้ย้ายถิ่นเข้ามาเท่ากับจำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในประเทศแคนาดาทั้งหมดแล้วในขณะนี้ และในปี 2032 คาดว่า จะมีจำนวนเท่ากับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ รัฐบาลแคนาดาประกาศว่า ภายในปี 2025 ทางรัฐบาลหวังว่า จะนำผู้ย้ายถิ่นรายใหม่เข้ามา 500,000 คนต่อปี เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในปี 2021 ราว 25%
ไม่เหมือนใครในโลก
ปัจจุบัน ราว 1 ใน 4 ของชาวแคนาดาเข้ามาในประเทศในฐานะผู้ย้ายถิ่น ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกจี 7 ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า เป็นเบ้าหลอมของโลก มีประชากรเพียง 14% เป็นผู้อพยพ
สหราชอาณาจักร มีประชากรที่เป็นผู้ย้ายถิ่นราว 14% เช่นกัน
เมเดลีน ซัมป์ชัน ผู้อำนวยการฝ่ายสังเกตการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า สหราชอาณาจักรตามหลังในเรื่องการรับผู้ย้ายถิ่น แต่สถิติของแคนาดาค่อนข้างจะ “สูงเกินไป”
สหราชอาณาจักร เกาะขนาดเล็กที่มีประชากรเป็นสองเท่าของแคนาดา มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นอยู่แล้ว ขณะที่แคนาดา ซึ่งมีประชากรเพียงกว่า 38 ล้านคน และมีผินแผ่นดินขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้มีพื้นที่ในการขยายตัวได้
“โดยทั่วไปแล้ว สหราชอาณาจักรไม่มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประชากรในแบบเดียวกับที่แคนาดาได้ทำไป” เธอกล่าว
เจฟฟรีย์ คาเมรอน นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ (McMaster University) ระบุว่า แม้แคนาดาและอีกหลายประเทศเผชิญกับอัตราการเกิดที่ต่ำ และประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุ แต่ความสำคัญของระบบจัดการคนเข้าเมืองขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
“ปัจจัยที่จำกัดสำหรับประเทศส่วนใหญ่คือ ความเห็นของประชาชน” เขากล่าว
ในสหรัฐฯ ซึ่งจำนวนผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศผ่านพรมแดนทางใต้เพิ่มไปถึงจุดที่สูงสุดตลอดกาล มีความกังวลว่า ผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาจะมีมากกว่างาน
ในช่วงก่อนออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ผู้ย้ายถิ่นจากสหภาพยุโรปจากยุโรปตะวันออกย้ายเข้ามาในสหราชอาณาจักร ทำให้เกิดผลกระทบต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี นางซัมป์ชัน กล่าวว่า ความเห็นที่สนับสนุนการย้ายถิ่นฐานได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ผู้คนเชื่อว่า ประเทศควบคุมการเข้ามาของคนได้ดีขึ้นกว่าที่เคยทำมา
ขณะที่แคนาดามีประวัติในการช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นอย่างดีมากอยู่แล้ว
“ผมคิดว่า เหตุผลส่วนหนึ่งสำหรับเรื่องนี้คือ ประชาชนไว้วางใจในระดับที่ว่า การย้ายเข้ามาแคนาดาได้รับการจัดการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐบาลและได้รับการจัดการในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อแคนาดา” นายคาเมรอน กล่าว
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศเลย
ในช่วงไม่กี่ปีนี้ การหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพที่ชายแดนของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น และทำให้เกิดพรรคการเมืองฝ่ายขวาพรรคใหม่ขึ้นมาในปี 2018 คือ พรรคประชาชนแห่งแคนาดา (People’s Party of Canada) โดยทางพรรคได้นำเรื่องนี้มาอภิปรายกันในระดับประเทศในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019

ที่มาของภาพ, Getty Images
หลายพื้นที่ของแคนาดาก็มีทัศนคติต่อผู้ย้ายถิ่นเข้ามาแตกต่างกัน
ตอนที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายที่ท้าทายในการรับผู้ย้ายถิ่นฐานรายใหม่เข้ามา 500,000 คนต่อปี รัฐควิเบกซึ่งได้กำหนดขีดจำกัดในการรับผู้ย้ายถิ่นของทางรัฐเอาไว้ ระบุว่า จะรับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาไม่เกิน 50,000 คนต่อปี นั่นหมายความว่า ควิเบก ซึ่งมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 23% ของประเทศ จะรับผู้ย้ายถิ่นเพียง 10% ของทั้งหมด
ฟรองซัวส์ เลโกลต์ ผู้ว่าการรัฐควิเบก กล่าวว่า เขากังวลว่า การเข้ามามากขึ้นของผู้ย้ายถิ่นจะทำให้การใช้ภาษาฝรั่งเศสในมณฑลนี้ลดลง
“ตอนนี้ที่ 50,000 คน ก็ยากในการหยุดยั้งการตกต่ำลงของภาษาฝรั่งเศสแล้ว” เขากล่าว
แม้จะเป็นความจริงที่ว่า แคนาดาอาจจะมีพื้นที่ในการรับผู้ย้ายถิ่นมากขึ้น แต่บางเมืองก็ยังคงรู้สึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เมืองขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างโทรอนโตและแวนคูเวอร์ ซึ่งประชากรราว 10% ของประเทศอาศัยอยู่ เผชิญกับวิกฤตราคาอสังหาริมทรัพย์
ในการสำรวจความคิดเห็นชาวแคนาดา 1,537 คน ที่จัดทำโดยเลเกอร์ (Leger) และสมาคมแคนาดาศึกษา (Association of Canadian Studies) ผู้ถูกสำรวจ 3 ใน 4 คน ระบุว่า พวกเขามีความกังวลมากหรือค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของแผนการใหม่ที่จะมีต่อที่อยู่อาศัยและงานบริการสังคม 49% ของผู้เข้ารับการสำรวจระบุว่า เป้าหมายนี้สูงเกินไป ขณะที่ 31% ของผู้เข้ารับการสำรวจระบุว่า ตัวเลขนี้เหมาะสมแล้ว
แนวทางของแคนาดา
นอกจากนี้ แคนาดายังมีความพิเศษต่างจากชาติอื่น ๆ ในโลกตะวันตกคือ การที่ให้ความสำคัญกับการอพยพด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยผู้พำนักอาศัยถาวรในแคนาดาราวครึ่งหนึ่งในปัจจุบันย้ายเข้ามาด้วยทักษะของตัวเอง ไม่ใช่เพราะย้ายตามครอบครัว
ภายในปี 2025 รัฐบาลหวังว่า จะทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60%
นายคาเมรอน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบที่แคนาดาออกแบบมา โดยในช่วงทศวรรษ 1960 แคนาดาได้เปลี่ยนจากการใช้ระบบโควตาซึ่งมีการมอบตัวเลขเป้าหมายให้ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากน้อยไม่เท่ากัน ไปเป็นระบบคะแนนซึ่งจะให้โอกาสแก่ผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะสูงและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของแคนาดามากกว่า
“หลักการเดียวกันนี้เป็นแนวทางของระบบในปัจจุบัน” เขากล่าวกับบีบีซี
นี่เป็นวิธีที่ไม่เหมือนใครในโลก แต่ว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ได้นำระบบคล้ายคลึงกันมาใช้

ที่มาของภาพ, Getty Images
ในสหราชอาณาจักร มีผู้พำนักอาศัยถาวรมากกว่า 1 ใน 4 เล็กน้อยที่ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ในสหรัฐฯ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์อยู่อาศัยถาวร หรือ กรีนการ์ด ราว 20% มาจากเหตุผลเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศส่งสัญญาณว่า ต่างก็หวังว่า จะเพิ่มสัดส่วนผู้อพยพที่มาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ที่ทั้งสองประเทศต่างจากแคนาดาคือ ผู้อพยพทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต้องได้รับการสนับสนุนจากนายจ้าง
ในแคนาดา การได้รับการเสนองานสามารถนำไปนับเป็นคะแนนรวมได้
แม้สหราชอาณาจักรเพิ่งเปลี่ยนมาใช้ระบบคะแนนเมื่อไม่นานนี้ แต่นางซัมป์ชัน กล่าวว่า ระบบนี้ยังคล้ายคลึงกับระบบเก่า ซึ่งให้โอกาสแก่ผู้อพยพที่ได้รับการเสนองาน
แคนาดาทำได้ตามเป้าหมายไหม
ไม่เพียงแต่แคนาดาจะรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจเข้ามามากกว่าชาติขนาดใหญ่อื่น ๆ เท่านั้น แคนาดายังเป็นหนึ่งในประเทศที่รับผู้ลี้ภัยเข้ามาจำนวนมากด้วย โดยในปี 2021 ได้รับผู้ลี้ภัยเข้ามา 20,428 คน
แต่แม้ว่าแคนาดาจะมีเป้าหมายที่ท้าทายในอนาคต ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แคนาดาไม่ได้ทำได้ตามที่คาดหวังไว้เสมอไป ในปี 2021 แคนาดาตั้งเป้ารับผู้ลี้ภัยให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศราว 59,000 คน แต่รับเข้ามาจริง ๆ ราว 1 ใน 3 เท่านั้น
ในการให้สัมภาษณ์กับซีบีซี (CBC) ฌอน เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า การที่ไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยได้ตามเป้าหมายส่วนใหญ่มาจากการปิดพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโควิดทั้งในแคนาดาและทั่วโลก
ภายในปี 2023 แคนาดาตั้งเป้าที่จะให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ 76,000 คน
…….
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว