โรคอ้วน : การเหยียดรูปร่างในอินเดียเพิ่ม ขณะประชากรมีน้ำหนักตัวเกินปกติราว 135 ล้านคน

  • กีตา ปันดีย์
  • บีบีซีนิวส์, นิวเดลี

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐเกรละของอินเดียได้โพสต์เรื่องราวทางเฟซบุ๊กบอกเล่าประสบการณ์ที่เขาถูกเหยียดหยามรูปร่าง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอินเดีย

วี ศิวานกุตตี รัฐมนตรีด้านการศึกษาของรัฐเกรละ เล่าว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนเขาได้โพสต์ภาพที่ถ่ายกับเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง จากนั้นมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กคนหนึ่งเข้าไปคอมเมนต์ว่า “คุณควรลดพุงลงสักหน่อย”

ศิวานากุตตี ส่งข้อความตอบกลับว่า การเหยียดรูปร่างคนอื่นเป็น “การกระทำที่น่ารังเกียจ”

“การเหยียดรูปร่างเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะมีคำอธิบายอย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทุกระดับชั้นของสังคมเรา มีพวกเราหลายคนตกเป็นเหยื่อการถูกเหยียดรูปร่างจนถึงขั้นที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ” เขาระบุ

Kerala minister for general education V Sivankutty (2R) with students inside a re-modified low-floor old defunct public transport bus transformed into a classroom for pre-nursery school children through an initiative 'Education on Wheels' taken by the state government at Thiruvananthapuram on June 13, 2022

ที่มาของภาพ, Getty Images

“เราต้องยุติการเหยียดรูปร่าง จงเป็นคนที่มีแนวคิดสมัยใหม่” ศิวานากุตตีกล่าวทิ้งท้าย

ศิวานากุตตีเล่าให้บีบีซีฟังว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เขาได้ตระหนักว่าการเหยียดรูปร่างเป็นปัญหาที่อันตรายเพียงใด พร้อมชี้ว่า รัฐบาลระดับรัฐควรรณรงค์ให้เด็กนักเรียนและครูได้เรียนรู้เรื่องนี้ โดยบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนในสถาบันต่าง ๆ

ความคิดเห็นของศิวานากุตตี บวกกับหนังบอลลีวูดเรื่องล่าสุดที่ชื่อ Double XL ได้จุดประเด็นร้อนในสังคมอินเดียที่ผู้คนมักถือวิสาสะวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาของผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกวิจารณ์

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยสองดาราสาว ฮูมา กุเรษี และโสนากษี สินหา ซึ่งเคยเล่าถึงประสบการณ์เป็นเหยื่อการเหยียดรูปร่างมาแล้ว โดยสินหามักถูกรังแกทางโซเชียลมีเดียจากเรื่องน้ำหนักตัว ขณะที่กุเรษี เคยถูกนักวิจารณ์บอกว่า “เธอน้ำหนักตัวเกินกว่าที่จะรับบทวีรสตรีมา 5 กิโลกรัม”

ซาตรัม รามานี ผู้กำกับเรื่อง Double XL บอกกับบีบีซีว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาวเจ้าเนื้อ 2 คนที่พบว่าน้ำหนักตัวของพวกเธอเป็นอุปสรรคต่อความฝัน และพยายามหาวิธีก้าวข้ามปัญหานี้”

Huma Qureshi and Sonakshi Sinha in Bollywood film Double XL

รามานีเล่าว่า “ผมเคยเห็นคนที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์เผชิญการดูถูกเพราะน้ำหนักตัวของพวกเขา นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลย”

นักวิจารณ์หลายคนชี้ว่า อุตสาหกรรมหนังบอลลีวูดคือส่วนหนึ่งที่สร้างค่านิยมให้คนอินเดียมองว่าความอ้วนคือสิ่งน่ารังเกียจ และความผอมคือสิ่งสวยงาม

รามานีบอกว่า หนังเรื่อง Double XL ต้องการสื่อให้คนในสังคม “ยอมรับความงามของตัวเอง ไม่ว่าจะมีรูปร่าง ขนาด หรือสีผิวอะไร”

แม้ Double XL จะทำรายได้ไม่ดีเท่าหนังบอลลีวูดเรื่องอื่นที่เน้นการร้องเล่นเต้นรำ แต่รามานีบอกว่าเขาดีใจที่สังคมกำลังพูดถึงปัญหาการเหยียดรูปร่าง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะที่อินเดีย

นี่คือปัญหาที่ ฮาร์นิดห์ กอร์ นักกวีพลัสไซส์ต้องเผชิญ และเขียนเล่าเรื่องราวของเธอลงในคอลัมน์และโซเชียลมีเดีย

กอร์บอกว่า การเหยียดรูปร่างเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เพราะ “คนอินเดียส่วนใหญ่ไม่รู้จักขอบเขต และในครอบครัวของเราทุกคนต่างวิจารณ์รูปร่างหน้าตาของกันและกัน”

เธอชี้ว่าแม้ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ แต่ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะผู้หญิงมักถูกตัดสินว่ามีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการแต่งงานหรือไม่ และสาวอ้วนมักเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ในเรื่องนี้

กอร์เล่าว่าเธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome หรือ PCOS) ตอนอายุ 12 ปี ทำให้เติบโตมากับการถูกล้อเลียนเรื่องน้ำหนักตัว เพราะภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักเพิ่ม ประจำเดือนมาผิดปกติ และมีปัญหาผมร่วง

An illustration on Body shaming

ที่มาของภาพ, Getty Images

นักกวีหญิงรายนี้บอกว่า แม้หลายครั้งการเหยียดรูปร่างจะเกิดจากเจตนาดีของคนในครอบครัวที่มีความห่วงใยในสุขภาพ แต่เธอพบว่าทัศนคติของผู้คนในเรื่องนี้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วย เพราะคนส่วนใหญ่มักมองว่าคนอ้วนมีนิสัยเกียจคร้านและไม่มีวินัย ทำให้พวกเขาถูกกีดกันในตลาดงาน

เธอยกตัวอย่างเพิ่มว่า “ตอนที่ฉันไปโรงพยาบาลเพราะเป็นภูมิแพ้ แต่หมอกลับพูดว่าที่ฉันหายใจไม่ออกเพราะฉันอ้วนเกินไป และตอนที่ฉันข้อเท้าหัก หมอพูดว่าฉันคงจะกระดูกไม่หัก ถ้าน้ำหนักตัวไม่มากขนาดนี้”

พญ.จิตรา เสลวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่อมไร้ท่อบอกว่า แพทย์ “ไม่ได้รับการอบรมที่ดีพอเรื่องศิลปะการสื่อสาร” และเมื่อพูดถึงการเหยียดรูปร่าง แพทย์หลายคนมองว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนไข้พยายามลดน้ำหนัก

เธอชี้ว่า การเหยียดรูปร่างอาจส่งผลกระทบรุนแรงทางด้านสังคมและด้านจิตใจ เพราะการถูกตำหนิเรื่องน้ำหนักตัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตัวเองและสุขภาพจิต ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหา พฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ (eating disorder) และทำให้รู้สึกแปลกแยกจากสังคม จนกลายเป็นคนเก็บตัว

พญ.เสลวาน บอกว่า การตำหนิคนไข้ที่มีน้ำหนักเกินเป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผล และอาจทำให้คนไข้กลุ่มนี้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากแพทย์อีก

เธอชี้ว่า สถานการณ์นี้อาจรุนแรงขึ้น เพราะปัจจุบันอินเดียมีประชากรที่น้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนราว 135 ล้านคน ข้อมูลจากรัฐบาลและองค์การอนามัยโลกบ่งชี้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก โดยที่แพทย์หลายคนเตือนถึงวิกฤตโรคอ้วนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอินเดีย

พญ.เสลวาน บอกว่า ปัญหาน้ำหนักตัวเกินไม่ได้เกิดจากการเลือกรับประทานอาหารไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่ภาวะนี้มีความซับซ้อน เพราะอาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ฮอร์โมน และความเครียด ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่แพทย์และสังคมจะต้องเลิกพฤติกรรมเหยียดรูปร่างของคนอ้วน

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว