วันเอดส์โลก : UNAIDS ชี้โลกล้มเหลวในการจัดการเรื่องโรคเอดส์ในเด็ก

 

Martha Clara Nakato wearing a HIV awarness T-shirt

Martha Clara Nakato
มาร์ธา บอกว่าการที่เธอเปิดเผยว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้เธอได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รู้จักโรคเอดส์ครั้งแรกในฤดูร้อน (มิ.ย.-ก.ย.) ปี 1981 ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเอดส์นั้น ไม่ต่างอะไรจาก “หมายเรียกสู่ความตาย” แต่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บ่งชี้ว่า เด็กผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จำเป็น

ดร.โฟเด ซิมากา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ระบบ และบริการอย่างเท่าเทียมของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS ระบุว่า “โลกกำลังล้มเหลวในการจัดการเรื่องโรคเอดส์ในเด็ก แม้การป้องกันเด็กติดเชื้อจะเป็นสิ่งที่ทำได้ในปัจจุบัน แต่ในปี 2021 ยังมีเด็กติดเชื้อถึง 160,000 คน”

ข้อมูลจากยูเอ็นระบุว่า นับแต่เชื้อเอชไอวีแพร่ระบาดในโลก ทำมีผู้ติดเชื้อกว่า 84.2 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 40 ล้านคน

แม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากจะสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้โดยง่าย แต่ก็ไม่ใช่ในทุกกลุ่มคนหรือทุกพื้นที่ของโลก ยูเอ็นระบุว่า ในขณะที่ 76% ของผู้ติดเชื้อวัยผู้ใหญ่ได้รับยาต้านไวรัส แต่กลับมีเด็ก (วัย 0-14 ปี) เพียง 52% ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เหมาะสม

บีบีซีได้พูดคุยกับหนุ่มสาว 3 คนใน 3 ประเทศที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

“ลูกฉันต้องไม่เกิดมาพร้อมเชื้อเอชไอวี”

มาร์ธา คลารา นากาโต หญิงสาวชาวยูกันดา วัย 26 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีตอนอายุ 14 ปี

Martha Clara addressing a meeting

Martha Clara Nakato
“ฉันอยากให้คนรักฉันในฐานะผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะมันคือส่วนหนึ่งของฉัน แม้จะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของฉันก็ตาม”

 

มาร์ธารู้ว่าตัวเองติดเชื้อโดยบังเอิญ ตอนที่พาคู่แฝดชายของเธอไปตรวจเลือดหลังจากเขามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

เพราะการตรวจเลือดเป็นบริการฟรี มาร์ธาจึงลองตรวจบ้าง ผลปรากฏว่าเธอมีผลเป็นบวก ในขณะที่คู่แฝดของเธอไม่ติดเชื้อ

“ฉันจำได้ว่าคู่แฝดหันมาถามฉันว่า ‘เธอมีเพศสัมพันธ์หรือ’ ฉันตอบไปว่า ‘เปล่าเลย ฉันไม่รู้ว่ามันมาจากไหน’…”

พ่อแม่ของมาร์ธาเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่แม่ของเธอเสียชีวิตตอนที่มาร์ธาอายุ 5 ขวบ พ่อจึงเป็นคนเลี้ยงดูเธอมา

มาร์ธาพบว่าเธอเป็นคนเดียวที่ติดเชื้อเอชไอวีในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 8 คน

“ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป สื่อในสมัยนั้นมักนำเสนอเรื่องที่สร้างตราบาปให้ผู้ติดเชื้อ ในยุโรปการติดเชื้อเอชไอวีมักเชื่อมโยงกับการใช้ยาเสพติด แต่ในแอฟริกามักเชื่อมโยงกับเรื่องเพศ ซึ่งมันรุนแรงเกินไปสำหรับฉัน และทำให้ฉันคิดอยากฆ่าตัวตาย”

อย่างไรก็ตาม มาร์ธาพบว่าการช่วยเหลือวัยรุ่นที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน และการได้เข้ากลุ่มช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นช่วยเยียวยาจิตใจเธอ

“พวกเขาเห็นประกายในตัวฉัน และหวังว่าฉันจะช่วยนำทางพวกเขา พวกเขามาขอคำแนะนำจากฉัน”

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้มาร์ธากอบกู้ความมั่นใจในตัวเองกลับมาได้อีกครั้ง เธอทำได้ดีในการเรียน และยังร่วมประกวดนางงามที่จัดขึ้นโดยกลุ่มหนุ่มสาวที่ติดเชื้อเอชไอวี และปัจจุบันเธอได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดเวทีนี้ด้วย

Martha Clara Nakato in a white shirt and jeans

Martha Clara Nakato
มาร์ธาไม่เคยปกปิดสถานะผู้ติดเชื้อเอชไอวีกับคู่รักของเธอเลย

 

นอกจากนี้ มาร์ธายังทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิทางสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศ และการเจริญพันธุ์

แม้จะเผชิญความยากลำบากในการเปิดเผยว่าตนเองคือผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่มาร์ธาไม่เคยปกปิดสถานะนี้กับคู่รักของเธอ

“ฉันอยากให้คนรักฉันในฐานะผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะมันคือส่วนหนึ่งของฉัน แม้จะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของฉันก็ตาม”

มาร์ธาเล่าว่าเธอเคยมีแฟนมา 3 คน และทุกคนต่างทราบเรื่องที่เธอติดเชื้อเป็นอย่างดี ปัจจุบันชายทั้งสามยังสุขภาพดีและไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีจากมาร์ธา ซึ่งเธอบอกว่ายาต้านไวรัสช่วยให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายเธอลดลง

“ฉันมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าฉันจะเป็นแม่ในสักวันหนึ่ง และลูกของฉันจะไม่ได้รับเชื้อเอชไอวี ฉันพูดแบบนี้ด้วยความหวังสุดหัวใจ เพราะฉันได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมาก” เธอบอก

“ผมไม่คาดหวังมากจากสังคม”

ลูลู่ มันกัง ชายข้ามเพศวัย 23 ปี เป็นนักรณรงค์ด้านโรคเอดส์ในรัฐมณีปุระ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

เขาจบปริญญาตรีด้านสัตววิทยา และมีแผนศึกษาต่อทางด้านชีวเคมี

“ผมอยากทำวิจัยเรื่องประสิทธิภาพของยารักษาเอชไอวี” เขาบอก

Lulu Mangang wearing a black t shirt

Lulu Mangang
ลูลู่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีตอนอายุราว 6-7 ขวบ

 

ลูลู่เกิดมาในครอบครัวยากจนที่อาศัยในกรุงนิวเดลีเมื่อปี 1999 หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิตลงในปี 2002 น้าชายของเขาได้รับเขาไปเลี้ยง ลูลู่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีตอนอายุ 6 หรือ 7 ขวบ

“ผมคุยกับแม่ และท่านอธิบายว่าผมได้รับเชื้อจากท่าน” ลูลู่เล่า

แม่แนะนำให้ลูลู่เข้ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี และมันทำให้เขาได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติจากเพื่อนกลุ่มอื่น

“ตอนที่เล่นกัน จู่ ๆ เด็กคนหนึ่งก็พูดเรื่องผมติดเชื้อ และบอกไม่ให้ผมเข้าใกล้หรือเล่นกับเขา จากนั้นเราก็ทะเลาะและชกต่อยกันจนได้รับบาดเจ็บทั้งคู่”

Lulu Mangang in front of a lake

Lulu Mangang
ลูลู่เปิดเผยเรื่องตัวเองเพราะอยากสร้างแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวคนอื่น ๆ ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน

 

เมื่อโตขึ้น ลูลู่ได้เรียนรู้ในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น

“ผมไม่คาดหวังมากจากสังคม คนเราต่างกัน และเรามีวิธีคิดที่แตกต่างกันไป”

“บางคนมองเห็นผมในแบบที่ผมมองตัวเอง แต่บางคนก็ไม่เป็นอย่างนั้น”

ลูลู่บอกว่าเขาไม่ได้เผชิญปัญหาในการเข้าถึงการรักษาด้วยเหตุจากเพศสภาพของเขา

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเขาทำงานกับกลุ่มเอ็นจีโอ และทำให้ได้ทำงานกับหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวี

เขาเชื่อว่าการสร้างความตระหนักรู้เป็นสิ่งจำเป็นการในหยุดยั้งปัญหาการเลือกปฏิบัติ

“ผมตัดสินใจเปิดเผยเรื่องตัวเองไม่ใช่เพราะคนในรัฐที่ผมอยู่เปิดใจรับได้ง่ายกว่า แต่ผมทำเพราะอยากสร้างแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวคนอื่น ๆ”

นี่ทำให้มีหนุ่มสาวจำนวนมากขอคำปรึกษาจากเขา ซึ่งลูลู่บอกว่าการหาหนทางเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขา “เป็นเรื่องสำคัญที่จะมองไปทางอื่นในยามที่สังคมคอยแต่ปฏิเสธคุณ”

“ผมแค่พยายามรักตัวเอง” เขาบอก


ตัวเลขน่ารู้เรื่องเอดส์

  • มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก 38.4 ล้านคน ในปี 2021
  • มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลก 1.5 ล้านคน ในปี 2021
  • มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่สืบเนื่องจากโรคเอดส์ 650,000 คน ในปี 2021 ในจำนวนนี้ 110,000 คนเป็นเยาวชน (อายุ 0-19 ปี)
  • ปัจจุบันมีเยาวชนติดเชื้อเอชไอวี 2.7 ล้านคน

ที่มา : UNAIDS และ Unicef


“ฉันจะเปิดเผยสถานะเอชไอวีของตัวเอง เมื่อฉันพร้อม”

อายานา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 18 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงบิชเคก ประเทศคีร์กีซสถาน

เธอเล่าให้บีบีซีฟังว่า “ตั้งแต่จำความได้ ฉันก็ใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีแล้ว”

Ayana in a clinic

UN AIDS
อายานาติดเชื้อเอชไอวีจากสถานพยาบาล

 

UNAIDS ระบุว่า ระหว่างปี 2006-2007 มีเด็ก 391 คนติดเชื้อเอชไอวีจากสถานพยาบาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออายานา และแม่ของเธอได้เข้าร่วมการอบรมต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเลี้ยงลูกโดยไม่ต้องกลัว

ช่วงวัยรุ่น อายานาได้เข้ากลุ่มช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี

“เราช่วยเหลือกันและกัน และพูดคุยเรื่องโอกาสต่าง ๆ” เธอกล่าว

อายานาพบว่าเด็กหญิงคนอื่น ๆ ไม่ยอมกินยาเป็นประจำทุกวันแบบเธอ แต่เธอก็พยายามช่วยเหลือเด็กเหล่านี้

“ฉันมีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ยอมกินยา พวกเราจึงคิดคำลับเพื่อสื่อสารกัน เวลาที่ฉันจะเตือนเพื่อนให้กินยา ฉันจะถามว่าเธอรดน้ำดอกไม้แล้วหรือยัง”

อายานาเปิดเผยสถานะการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีของเธอเฉพาะกับคนในครอบครัวและญาติสนิท

“วันหนึ่งฉันจะเปิดเผยสถานะเอชไอวีของตัวเอง แต่ฉันจะไม่ทำเพื่อพ่อแม่ หรือเพื่อใคร ฉันจะทำเมื่อฉันพร้อม”

AIDS days celebrations

Getty Images
ยูเอ็นตั้งเป้ายุติการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กให้ได้ภายในปี 2030

 

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเธอได้เห็นความลำบากของเพื่อนที่ถูกเปิดเผยสถานะโดยไม่เต็มใจ

เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนคนหนึ่งของอายานาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและตราบาป หลังจากเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งขโมยสมุดไดอารีของเธอไป แล้วทราบว่าเธอคือผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เรื่องนี้แพร่ะสะพัดไปทั่ว จนเธอถูกข่มเหงรังแก และต้องย้ายโรงเรียนในที่สุด

อายานาเพิ่งได้รับการตอบรับเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และเธอหวังว่าจะได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“ชีวิตก็เหมือนสายน้ำไหล ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับฉันทำให้ฉันเป็นฉันในวันนี้ ฉันอยากใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป และดูว่ามันจะนำพาฉันไปที่ใดบ้าง”

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว