ทำไมคนจีนจำนวนไม่น้อยรัก เจียง เจ๋อหมิน

อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ของจีน ผู้ปกครองจีนผ่านยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจากปลายทศวรรษที่ 1980 สู่สหัสวรรษใหม่ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวัย 96 ปี

รัฐบาลจีนได้สั่งให้อาคารราชการทั่วประเทศลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้อดีตผู้นำ

เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นสู่อำนาจภายหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และปกครองจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในห้วงเวลาที่จีนกำลังผงาดขึ้นกลายเป็นมหาอำนาจโลก

สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีน ยืนยันว่า “เจียง เจ๋อหมิน ได้ถึงแก่อสัญกรรมจากโรคลูคีเมีย และอวัยวะหลายส่วนหยุดทำงาน ในนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเวลา 12.13 น. (เวลาจีน) วันที่ 30 พ.ย. 2022”

 China's President Jiang Zemin

Reuters

เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นสู่อำนาจ แทนประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อปี 1989 ซึ่งในช่วงนั้น จีนเพิ่งเปิดประเทศ และอยู่ในช่วงปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัย ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศต่อการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง

ดังนั้น การขึ้นสู่อำนาจของเจียง เจ๋อหมิน จึงถูกวางไว้เป็นผู้นำที่มีแนวทางประนีประนอม ด้วยความหวังว่าจะสร้างความสามัคคีและบรรเทาความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง และฝ่ายที่มีแนวคิดเสรีนิยมมากกว่า

เขายังเป็นผู้นำจีนในช่วงที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1997, การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี 2001 ทำให้เศรษฐกิจจีนเป็นสากลมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคสมัยของเจียง ในปี 2001 จีนยังชนะสิทธิเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2008 อีกด้วย

แม้จะปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจด้วยดี จนได้รับคำชมอย่างกว้างขวาง แต่เขาถูกวิจารณ์หนักต่อการใช้กำลังปราบปรามลัทธิฝ่าหลุนกง ในปี 1999 โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนมองลัทธินี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรค

โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คุห์น ผู้เขียนอัตชีวประวัติของเจียง เจ๋อหมิน ในชื่อหนังสือว่า “ชายผู้เปลี่ยนจีน ชีวิตและมรดกของเจียง เจ๋อหมิน” เขียนไว้ว่า การนำจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก “เป็นปัจจัยสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเลขสองหลักนานกว่าทศวรรษ”

“ทิศทางเศรษฐกิจของจีนชัดเจนในยุคสมัยนั้น ในความคิดของผม และจนถึงวันที่สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งของเขา จีนก็ย้อนกลับไปสู่จีนแบบเก่าไม่ได้อีกต่อไป”

ผู้นำที่รักของคนจีนจำนวนไม่น้อย

China's President Jiang Zemin

Reuters
เจียง เจ๋อหมิน ทำท่าอุดหูเมื่อได้ยินเสียงตะโกนจากกองทัพผู้สื่อข่าวในการประชุมเอเปกที่มาเลเซียเมื่อปี 1998

หลังมีข่าวการอสัญกรรมของนายเจียง เจ๋อหมิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกแถลงการณ์ยกย่องให้เขาเป็น “ผู้นำที่โด่ดเด่นซึ่งเปี่ยมด้วยเกียรติภูมิ” และ “นักสู้คอมมิวนิสต์ที่ผ่านบททดสอบอันยาวนาน”

ขณะที่สื่อของทางการจีน เช่น หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ และสำนักข่าวซินหัว ได้เปลี่ยนหน้าเว็บไซต์เป็นสีขาว-ดำ เพื่อแสดงความไว้อาลัย

ส่วนสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีได้ยกย่องบทบาทการเป็นผู้นำของเขาภายหลังเหตุปราบปรามผู้ประท้วงอย่างนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 โดยระบุว่า

“ในช่วงวิกฤตการเมืองรุนแรงในจีนช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 1989 สหายเจียง เจ๋อหมิน ได้สนับสนุน และบังคับใช้การตัดสินใจที่ถูกต้องของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านความไม่สงบ ปกป้องอำนาจรัฐสังคมนิยม และพิทักษ์ผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชน”

ในช่วงที่เขาอยู่ในอำนาจ นายเจียง เจ๋อหมิน ได้เสนออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเขาเองที่เรียกว่า “ทฤษฎีสามตัวแทน” (Three Represents theory) เพื่อปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์ให้ทันสมัย

U.S. President Bill Clinton with Chinese President Jiang Zemin

Reuters

นอกจากนี้ เขายังพยายามกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยเดินทางเยือนหลายครั้ง และเสนอให้ความร่วมมือในการทำ “สงครามปราบปรามการก่อการร้าย” กับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11

นายเจียง เจ๋อหมินยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้มีบุคลิกที่มีสีสันมากกว่าเหล่าผู้นำจีนในอดีต เขาเป็นที่จดจำจากการฮัมเพลงของราชาเพลงร็อกแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ ในการประชุมผู้นำโลกเวทีหนึ่ง และการลงว่ายน้ำที่นอกชายฝั่งฮาวาย

หลังจากวางมือทางการเมือง อดีตประธานาธิบดีจีนผู้นี้แทบไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชน แต่ถึงอย่างนั้น เขาได้กลายเป็นมีมที่โด่งดังทางอินเทอร์เน็ต

ชาวจีนหลายคนวาดภาพล้อเลียนนายเจียง เจ๋อหมินด้วยความรักใคร่พร้อมกับแว่นตาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเขา และเชื่อมโยงภาพลักษณ์นี้กับสัตว์ประเภทอึ่งอ่างคางคก โดยเหล่าแฟนคลับรุ่นใหม่ของเขามักเรียกตัวเองว่า “ผู้บูชาคางคก”

อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้มีความรู้สึกเชิงบวกแบบเดียวกัน

เจียง เจ๋อหมิน ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 96 ปี

Getty Images
พิธีศพของนายเจียง เจ๋อหมิน จะไม่มีการเชิญผู้นำรัฐบาลต่างชาติเข้าร่วม

นายหวัง แดน หนึ่งในแกนนำนักศึกษาในการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ต่างแดน เรียกนายเจียง เจ๋อหมิน “จอมฉวยโอกาสทางการเมือง”

เขาโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า “เจียง เจ๋อหมิน ดูเหมือนจะเป็นคนเปิดกว้าง แต่ที่จริงเขาพยายามเปลี่ยนจีนให้กลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (planned economy)…ทว่าถูกเติ้ง เสี่ยวผิง สกัดไว้ เขาเป็นนักการเมืองหัวอนุรักษนิยมเสมอมา”

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า การบริหารงานของเจียง เป็นต้นตอนำไปสู่การทุจริตคอรัปชันที่กว้างขวาง ซึ่งยังเป็นที่ครหามาจนถึงวันนี้

เจียง เคยกล่าวถึงประโยชน์ของการที่ “ทุกคนมั่งคั่งได้อย่างเงียบ ๆ” ในขณะที่กระชับอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะรัฐบาลพรรคเดียว แทนการปฏิรูปการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์รายงานว่า อดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ที่เพิ่งตกเป็นข่าวถูกเชิญตัวออกจากพิธีปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อ ต.ค. และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเข้าร่วมพิธีศพของนายเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งจะไม่มีการเชิญผู้นำรัฐบาลต่างชาติเข้าร่วม โดยคณะกรรมการจัดพิธีศพระบุว่าเป็นไปตามธรรมเนียบปฏิบัติของจีน

……….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว