ทำความรู้จักยา “เลแคเนแมป” ที่อาจพลิกแนวทางรักษาโรคอัลไซเมอร์

นักวิทยาศาสตร์ยกย่องตัวยา “เลแคเนแมป” (Lecanemab) ในฐานะตัวยาแรกของโลกที่ช่วยชะลอความเสียหายต่อสมองมนุษย์จากโรคอัลไซเมอร์

เจมส์ กัลป์ลาเฮอร์ ผู้สื่อข่าวด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ของบีบีซีระบุว่า ผลการวิจัยถึงผลลัพธ์การใช้ตัวยานี้ ได้เปิดประตูสู่ยุคสมัยใหม่ของการใช้ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ หลังแพทย์และนักวิจัย พยายามหาหนทางรักษาโรคนี้มานานหลายทศวรรษ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายว่า โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุก 10-15% ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบ 20-30% ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี

เลแคเนแมป ช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้

Getty Images
เลแคเนแมป ช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้

สำหรับภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยบกพร่องในด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน และบริหารจัดการ การรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือ ความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว

อย่างไรก็ดี ตัวยา “เลแคเนแมป” ยังแสดงผลชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่ ผลข้างเคียงของตัวยานั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ไม่เพียงเท่านั้น เลแคเนแมป จะช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้ ก็ต่อเมื่อให้ผู้ป่วยรับยาในช่วงแรกเริ่มของโรคเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มานาน จะใช้ยาตัวนี้ไม่ได้ผล

แต่สำหรับวงการแพทย์ที่พยายามหาหนทางรักษาโรคอัลไซเมอร์มายาวนาน แต่ต้องพบกับความผิดหวังและสิ้นหวังแล้ว ประสิทธิภาพของยาตัวนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยสถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์ในสหราชอาณาจักรระบุว่า ผลการใช้ตัวยานี้ “มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด”

เลแคเนแมป แสดงผลอย่างไร

เลแคเนแมป เป็น แอนติบอดี หรือโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ แต่นักวิจัย ได้ปรับแต่ง เลแคเนแมป ให้เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว มันจะเข้าจู่โจมโปรตีนที่มีลักษณะเป็นสารเหนียวที่เรียกว่า “เบตา อะไมลอยด์” (beta amyloid) ที่ก่อตัวขึ้นในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

อะไมลอยด์ คือ โปรตีนที่เกาะกลุ่มกันในพื้นที่ว่างระหว่างเซลล์ประสาท หรือ นิวรอน จนกลายเป็นคราบจุลินทรีย์ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยก่ออาการของอัลไซเมอร์

หนึ่งในนักวิจัยระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังการพุ่งเป้ายับยั้ง เบตา อะไมลอยด์ ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน คือ ศาสตราจารย์ จอห์น ฮาร์ดี โดยเขามองว่า ผลวิจัยนี้เป็นการค้นพบ “ครั้งประวัติศาสตร์” และเชื่อว่า “เรากำลังเห็นจุดเริ่มต้นของการรักษาโรคอัลไซเมอร์”

ด้านศาสตราจารย์ ทารา สไปร์ส-โจนส์ จากมหาวิทยาลัยแห่งเอบินเบระ ระบุว่า ผลการวิจัย “มีความสำคัญเพราะพวกเราเผชิญกับความล้มเหลว 100% มายาวนาน”

ปัจจุบัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์รับยา เพื่อบรรเทาอาการ แต่ยังไม่มีตัวยาไหนที่นำไปสู่การรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

ทีมวิจัยได้ทดลองใช้ยา เลแคเนแมป กับอาสาสมัคร 1,795 คนที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรก โดยให้ยา เลแคเนแมป ทุก ๆ 2 สัปดาห์

ผลการทดลองที่ได้รับการนำเสนอในการประชุมว่าด้วยการทดลองทางคลินิกว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ในนครซานฟรานซิสโก และตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์เจอร์นัล ชี้ว่า แม้จะไม่ได้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้เหมือนปาฏิหาริย์ แต่เมื่อรับยาไปแล้ว 18 เดือน พบว่า สมองเสื่อมช้าลงราว 1 ใน 4 จากอัตราปกติ

เดวิด เอสซัม อายุ 78 ปี อาศัยอยู่ในเมืองเคนท์ ของสหราชอาณาจักร เข้าร่วมในการทดลองครั้งนี้ด้วย โดยเขาป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำให้ต้องเลิกทำงานเป็นช่างไม้ เพราะจำวิธีการสร้างตู้ไม้ หรือการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ได้แล้ว อาการของโรคเริ่มรุนแรงถึงจุดที่เขาต้องใช้นาฬิกาแบบดิจิทัล เพราะมองหน้าปัดนาฬิกาแบบดั้งเดิมแล้วบอกเวลาไม่ได้

เดวิด เอสซัม อายุ 78 ปี (ขวา)

BBC
เดวิด เอสซัม อายุ 78 ปี (ขวา)

 

“เขาไม่ใช่ชายคนที่เขาเคยเป็น เขาต้องการความช่วยเหลือในแทบทุกเรื่อง ความจำของเขาในเรื่องปกติทั่วไป แทบไม่เหลืออยู่แล้ว” เชอริล ภรรยาของเอสซัม กล่าว แต่การทดลองตัวยานี้ ทำให้ครอบครัวเริ่มมีความหวัง

เดวิด ระบุว่า “ถ้าใครก็ตามสามารถชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือยับยั้งมันได้ จะยอดเยี่ยมมาก โรคนี้มันน่ากลัว”

มีประชากรโลกกว่า 55 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เหมือนกับเดวิด และคาดว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะพุ่งสูงเกิน 139 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2050

ตอนนี้ ทางการสหรัฐฯ กำลังประเมินผลการทดลองดังกล่าว เพื่อเตรียมตัดสินใจว่า จะนำตัวยา เลแคเนแมป มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในวงกว้างหรือไม่ ขณะที่ผู้พัฒนาตัวยา คือ บริษัทยา ไอไซ และ ไบโอเจน มีแผนจะเริ่มกระบวนการอนุมัติใช้ตัวยาในนานาประเทศปีหน้า

ตัวยายังแสดงผลชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้เพียงเล็กน้อย

Getty Images
ตัวยายังแสดงผลชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้เพียงเล็กน้อย

ตัวยานี้จะเปลี่ยนอะไรได้ไหม

นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ยังถกเถียงกันถึงผลลัพธ์​ใน “โลกแห่งความเป็นจริง” ของตัวยานี้ เพราะหากวัดตามระยะการป่วยโรคอัลไซเมอร์ 18 จุด ตั้งแต่อาการปกติ ถึงอาการสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ตัวยานี้ช่วยชะลอโรคได้ 0.45 จุด เท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น การใช้ตัวยา เลแคเนแมป ยังมีความเสี่ยงด้วย เพราะผลการสแกนสมองพบ ภาวะเลือดออกในมอง (17% ของผู้เข้าร่วมการทดลอง) ภาวะสมองบวม (13%) และราว 7% ของผู้ร่วมทดลองต้องยุติการใช้ยา จากผลข้างเคียง

อีกคำถามสำคัญคือ หากรักษาด้วยยาไป 18 เดือนแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว