ฟุตบอลโลก 2022 : ผู้ประท้วงรัฐบาลอิหร่านกับภารกิจประท้วงในมหกรรมบอลโลกกาตาร์

 

An Iranian football fan holds a football shirt with the name 'Mahsa Amini' on it

Getty Images
แฟนบอลชาวอิหร่านใช้มหกรรมบอลโลกที่กาตาร์เป็นเวทีระดับโลกเพื่อประท้วงรัฐบาลอิหร่าน

 

แฟนบอลชาวอิหร่านจำนวนมากคว่ำบาตรการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ เพราะผิดหวังกับทีมชาติอิหร่านที่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล

แฟนบอลเหล่านี้รู้สึกว่าฟุตบอลทีมชาติอิหร่านยังทำไม่มากพอในการสนับสนุนการประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่พวกเขามองว่าได้เข่นฆ่าประชาชนไปหลายร้อยชีวิต

แต่กลุ่มแฟนบอลชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ต่างแดนได้ตัดสินใจเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ เพื่อให้เปลวไฟการประท้วงได้ลุกโชติช่วงในสนามการแข่งขันแห่งนี้ต่อไป

“ฉันดีใจที่ได้อยู่ที่นี่ และได้ทำสิ่งนี้ เพราะฉันได้เห็นความกลัวในแววตาของพวกเขา” ทารา (นามสมมุติ) แฟนบอลหญิงชาวอิหร่านกล่าว

เธอบอกกับบีบีซีว่า สนามแข่งบอลโลกครั้งนี้เต็มไปด้วยกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลอิหร่านซึ่งเดินทางมาเชียร์ทีมชาติที่ไปฟาดแข้งที่นี่

Iran's football team poses for a photo ahead of their first World Cup match against England

Getty Images
“ทีมเมลลี” เคยเป็นขวัญใจแฟนบอลทุกกลุ่มในอิหร่าน แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นปมสร้างความแตกแยกในชาติ

 

อามีร์ (นามสมมุติ) เป็นอีกคนที่เดินทางไปยังกรุงโดฮาพร้อมกับรานา (นามสมมุติ) ภรรยาของเขา

“ผมคิดว่ารัฐบาลอิหร่านไม่ต้องการให้ฝ่ายต่อต้านเดินทางมาชมมหกรรมบอลโลกครั้งนี้ เพื่อที่จะมีแต่คนที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ที่นี่ [สนามแข่ง]” เขาบอก

ด้านรานาเสริมว่า “นี่ควรจะเป็นทริปฮันนีมูนของพวกเรา”

ทว่าการเข้าชมการแข่งขันครั้งนี้กลับกระตุ้นให้เธอเกิดความรู้สึกที่ขัดแย้งในใจ

“ฉันรู้สึกเหมือนฉันกำลังไว้ทุกข์ พี่น้องร่วมชาติของฉันล้มตาย แม้ฉันจะตื่นเต้นกับการมาที่นี่ และฉันสนุกไปกับเกมการแข่งขัน แต่ฉันก็ไม่มีความสุข” เธออธิบาย

“พวกเขาทำให้ทีมอยู่ฝั่งตรงข้ามเรา”

อิหร่านตกอยู่ในความวุ่นวายจากการประท้วงที่ขยายวงไปทั่วประเทศตั้งแต่เดือน ก.ย. ภายหลังหญิงสาววัย 22 ปีที่ชื่อ มาห์ซา อามินี เสียชีวิตในขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรู้จักกันในนาม “ตำรวจศีลธรรม” เพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎการสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่าฮิญาบ

ชาวอิหร่านจำนวนมากต่างเฝ้าสงสัยว่าฟุตบอลทีมชาติอิหร่าน ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ทีมเมลลี” (Team Melli) จะยืนอยู่ฝ่ายผู้ประท้วงหรือฝ่ายรัฐบาล

ก่อนจะออกเดินทางไปแข่งขันที่กาตาร์ ทีมเมลลีได้เข้าพบกับประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี และภาพดังกล่าวที่เผยแพร่ไปในโลกโซเชียลมีเดียได้สร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอิหร่านที่พากันตำหนิและเรียกร้องให้คว่ำบาตรทีม

“ทีมเมลลีเป็นของประชาชน ประชาชนผู้ไม่มีสิทธิมีเสียง” ทาราบอก “ทีมเมลลีเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมเราทุกคนไว้ด้วยกัน…แต่พวกเขา (รัฐบาล) ทำให้ทีมอยู่ฝั่งตรงข้ามเรา”

ในการแข่งขันนัดแรกทุกคนต่างลุ้นระลึก

รานาบอกว่า “อยากให้อิหร่านชนะ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”

แต่การได้เห็นผู้หญิงสวมเสื้อยืด และทาเล็บที่มีข้อความว่า “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” ก็ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงในสนามเกิดความฮึกเหิม

“มันเหมือนสโมสรลับ แต่ก็ไม่ลับขนาดนั้น” รานากล่าว “พวกเราส่งเสียงเชียร์กันและกัน”

The nails of Iranian female football fans have the protest slogan 'women, life, freedom' written on them

BBC
แฟนบอลหญิงเพนต์เล็บเป็นคำขวัญว่า “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” เพื่อประท้วงรัฐบาล

 

ทีมชาติอิหร่านปฏิเสธที่จะร้องเพลงชาติในการแข่งขันนัดแรก

แต่แฟนบอลฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทำให้คนทั้งโลกได้ยินพวกเขา โดยร้องตะโกนชื่อ “อาลี คาริมี” อดีตนักฟุตบอลที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอิหร่านอย่างเปิดเผย และเป็นนักเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่ง

การแข่งขันนัดที่ 2

แต่บรรยากาศในการแข่งขันนัดที่ 2 ของทีมชาติอิหร่านแตกต่างจากนัดแรกมาก

แม้มีการตรวจความปลอดภัยอย่างเข้มงวดก่อนเข้าสนามแข่ง แต่ทารา อามีร์ และรานา สามารถลักลอบเอาอุปกรณ์ประท้วงเข้าไปได้

“มันน่ากลัวมาก คุณรู้สึกได้ว่ากำลังตกอยู่ท่ามกลางการคุกคาม” ทาราบรรยาย

คนทั้งสามเล่าให้บีบีซีฟังว่า รู้สึกได้ว่ามีฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอิหร่านเข้าไปชมการแข่งขันนัดนี้มากกว่านัดก่อน

“ทันทีที่พวกเราเริ่มตะโกนคำขวัญการประท้วง พวกที่อยู่แถวถัดไปก็เริ่มพูดว่า ‘คนอิหร่านผู้มีเกียรติ คนอิหร่านผู้มีความภาคภูมิใจ’ นี่คือคำขวัญที่พวกเขาใช้ในการปิดปากพวกเรา” ทาราเล่า

ผู้ประท้วงทั้งสามเล่าต่อว่าเห็นคนในสนามบางคนส่งสัญญาณบอกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ยึดอุปกรณ์ประท้วงจากแฟนบอลในสนาม

เมื่อถามถึงความรู้สึกตอนที่ทีมชาติอิหร่านยิงประตูลูกแรกได้ในการดวลแข้งกับทีมชาติเวลส์

ทาราบอกว่า “พวกเราไม่ได้เชียร์กันมากมาย เพื่อน 3 คนและฉันโอบกอดกันและร้องไห้”

ไม่ปลอดภัย

กาตาร์และอิหร่านมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกันมายาวนานหลายปี

ในปี 2017 อิหร่านเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่สนับสนุนกาตาร์ในขณะที่ชาติอาหรับอื่น ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่ทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม หรือไอเอส

ด้วยเหตุนี้ แฟนบอลชาวอิหร่านที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของพวกเขาในศึกบอลโลกที่กาตาร์

ทาราบอกว่า “ฉันไม่รู้สึกปลอดภัยที่นี่ รู้สึกเหมือนมีพวกทางการอิหร่านจำนวนมากคอยตามคุกคาม”

Iranian fans hold up a banner reading 'woman, life, freedom' during the FIFA World Cup Qatar 2022 Group B match between England and Iran at Khalifa International Stadium on 21 November 2022 in Doha, Qatar

Getty Images
ป้ายคำขวัญ “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” โบกสะบัดในการแข่งนัดแรกของทีมชาติอิหร่าน

 

แม้จะมีความเสี่ยง แต่ทารา รานา และอามีร์ ยังคงเข้าชมการแข่งขันนัดที่ 3 เพราะการมาที่นี่คือภารกิจของพวกเขา

“ฉันได้ยินว่าผู้สื่อข่าวบางคนไม่ได้รับการออกวีซ่ามาที่นี่ ดังนั้นพวกเราจึงมีความสำคัญมากขึ้น” รานากล่าว

“ตอนนี้พวกเราคือผู้สื่อข่าว” ทาราบอก

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว