
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation–ILO) ของสหประชาชาติ ระบุว่าทุก ๆ 150 คน ของประชากรโลก จะต้องมี 1 คน ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ทาสยุคใหม่
ILO ระบุว่า มีคนได้รับผลกระทบทั้งหมด 50 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านคนเมื่อ 4 ปีก่อน
“ทาสยุคใหม่” คืออะไร
ทาสยุคใหม่เป็นคำที่มีความหมายครอบคุลมถึงการเอารัดเอาเปรียบผู้คนด้วยการกระทำต่าง ๆ รวมถึง :
- การบังคับใช้แรงงาน – งานใด ๆ ที่ผู้คนถูกบังคับให้ทำโดยไม่เต็มใจ
- ทาสหนี้ – เมื่อคนถูกบังคับให้ทำงานเพื่อชำระหนี้ให้หมด
- ทาสโดยสายเลือด – การที่คนเกิดมาเป็นทาสและได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง
- บังคับแต่งงาน – เมื่อคนแต่งงานโดยไม่เต็มใจและไม่สามารถหย่าได้
- ทาสรับใช้ในบ้าน – นี่ไม่ใช่ทาสเสมอไป แต่คนรับใช้ในบ้านอาจจะเผชิญกับการล่วงละเมิดและการเอารัดเอาเปรียบในบ้านโดยไม่มีใครรู้
ILO ระบุว่า มีคนทั่วโลกราว 49.6 ล้านคนกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเป็นทาสยุคใหม่ หรือประมาณทุก 1 ใน 150 คน
“มันคือการเอารัดเอาเปรียบคนที่เปราะบาง โดยทั่วไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ดร.มอนตี ดัตตา รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยริชมอนด์ (University of Richmond) ในสหรัฐฯ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านการเป็นทาส กล่าว
“ประกอบกับการข่มขู่ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ”
มีคนถูกบังคับใช้แรงงานมากแค่ไหน
ILO ระบุว่า มีคน 27.6 ล้านคน เผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงาน
โดยเฉพาะแรงงานอพยพเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์นี้
พวกเขาคือคนที่มาจากประเทศยากจนซึ่งถูกเลือกให้ไปทำงานในต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่าง การก่อสร้าง, การเกษตร, การผลิตสิ่งทอ และงานบ้าน จากนั้นก็ถูกบังคับให้ทำงานเหล่านั้น ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้

ยวน เฟรเซอร์ จากองค์การยุติธรรมนานาชาติ สหราชอาณาจักร (International Justice Mission UK) กล่าวว่า “เราคิดว่า มีคนในโลก 4,000 ล้านคน ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย”
“ผู้คนติดอยู่ในการบังคับใช้แรงงานและการถูกลักลอบค้ามนุษย์ มีการปล่อยให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบพวกเขาโดยไม่ได้รับการลงโทษ”
ดร.ดัตตา กล่าวว่า บางที อินเดีย อาจจะเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้แรงงานเลวร้ายที่สุด
“สิ่งที่น่ากังวลมากที่นั่นคือการใช้แรงงานที่ถูกบังคับตามที่ต่าง ๆ อย่างเตาเผาอิฐ และการใช้แรงงานเด็ก” เขากล่าว
คาดว่ามีผู้หญิงและเด็กทั่วโลก 4.9 ล้านคน ถูกบังคับให้ทำงานทางเพศ
- ทาสทางเพศของอัล-ชาบับ
- เกาหลีใต้ : แกะรอยเส้นทางแรงงาน “ผีน้อย” ระลอกหลังโควิด
- แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล
“ความบอบช้ำทางใจจากทาสประเภทนี้บางทีอาจจะเลวร้ายกว่าความบอบช้ำทางใจจากการต่อสู้ในสงคราม” ดร.ดัตตา กล่าว
“และยังมีตราบาปติดมาด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้รอดชีวิตที่จะพูดถึงมัน อาจจะใช้เวลาหลายปีกว่าที่ผู้รอดชีวิตจะฟื้นตัวจากความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
มีคนถูกบังคับให้แต่งงานมากแค่ไหน
ILO ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกราว 22 ล้านคนตกอยู่ในสถานการณ์การถูกบังคับให้แต่งงาน
ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดร.ดัตตา กล่าวว่า โดยเฉพาะอินเดียและประเทศรอบข้างอย่างปากีสถาน ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีให้แต่งงาน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของ ILO บ่งชี้ว่า การบังคับแต่งงานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายที่สุดในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย โดยใน 1,000 คน มีคน 4.8 คน ในภูมิภาคนี้ถูกบังคับให้แต่งงาน
ใครทำให้เกิดทาสยุคใหม่
นายจ้างเอกชนมีส่วนรับผิดชอบต่อการบังคับใช้แรงงาน 86% ของทั้งหมดในโลก (รวมถึงการบังคับทำงานด้านเพศ)
ILO ประเมินว่า บรรดานายจ้างทำกำไรจากการบังคับใช้แรงงานทั่วโลก 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.2 ล้านล้านบาท)
โดย ILO ระบุว่า เงิน 51,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) ในจำนวนนี้ เป็นเงินที่นายจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทำกำไรได้จากการบังคับใช้แรงงาน 15.1 ล้านคน
ส่วนกำไรที่ทำได้ 46,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) มาจากบรรดาชาติพัฒนาแล้วในสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม ILO ระบุว่า ภูมิภาคที่มีทาสยุคใหม่มากกว่าที่อื่นในโลกเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรคือ บรรดาชาติในอ่าวเปอร์เซีย โดยมีคนถูกบังคับใช้แรงงาน 5.3 คนในทุก ๆ 1,000 คน
ยวน เฟรเซอร์ จากองค์การยุติธรรมนานาชาติ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า จำนวนคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์บังคับใช้แรงงานกำลังเพิ่มขึ้น เพราะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
“เพราะโควิด คนจำนวนมากติดอยู่ในต่างประเทศ หรือตกงาน พวกเขาต้องการเงินอย่างมาก ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของผู้ลักลอบค้ามนุษย์” เขากล่าว
“นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะกับการเพิ่มขึ้นของทาสอย่างยิ่ง”
…………..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว