
อดีตเจ้าของร้านรับทำป้ายโฆษณาในสุราษฎร์ธานี ต้องกลายเป็นคนตาบอดจากอุบัติเหตุระหว่างทำงาน กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างเปลี่ยนความสิ้นหวังจนคิดจะจบชีวิต ให้เป็นความมุ่งมั่นบนเส้นทางใหม่ในฐานะหมอนวดในกรุงเทพฯ
“สวัสดีครับ ผมหมอแก้วนะครับ วันนี้ผมจะมานวดให้ครับ”
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
ชายในเครื่องแบบพนักงานสีขาว เอ่ยทักทายผู้เข้ารับบริการนวดแผนไทย ด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง และใบหน้ายิ้มแย้มสดใส พร้อมจ้องตรงมาที่ผู้รับบริการ แม้ดวงตาทั้งสองข้างของเขา จะมองเห็นไม่เห็นแล้วก็ตาม

วิชา ชูสุชน หรือหมอแก้ว วัย 61 ปี เป็นพนักงานนวดประจำร้านอาสาวดี ร้านนวดเพื่อสุขภาพที่อยู่ภายใต้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย โดยก่อนที่จะมาเป็นพนักงานร้านนวด เขาเคยเป็นคนตาปกติ และเจ้าของร้านรับทำป้ายโฆษณาใน จ.สุราษฎร์ธานี มาก่อน
ภายในห้องนวดขนาดราว 15 ตารางเมตร ด้วยแสงไฟนวลสลัว วิชา เล่าย้อนความตอนที่ตนยังมองเห็นได้ปกติ “ผมเปิดร้านรับทำป้ายโฆษณามาก่อน ทำป้ายหน้าร้าน งานเหล็กทุกชนิด ก็เรียกได้ว่าเราก็มีฐานะประมาณหนึ่ง”
“แต่อยู่มาวันหนึ่ง มีการตัดเหล็กกับไฟเบอร์ และสะเก็ดของเหล็กกับไฟเบอร์มันปลิวใส่ดวงตาข้างขวาผม แม้ว่าตอนนั้นผมจะใส่แว่นตาป้องกันก็ตาม แต่มันก็ยังเล็ดลอดเข้าไป” วิชา ชี้นิ้วไปที่แว่นกันแดดของเขา เพื่อโชว์จุดที่โดนสะเก็ดเหล็ก
- คนพิการ กับ โอกาสในการมีงานทำกับคนปกติในไทย ในปี 2565
- คนพิการ : “ลอเรน เอเวอร์รี” สาวอังกฤษหัวใจไทย ที่ต่อสู้เพื่อให้คนพิการเดินทางได้อย่างเท่าเทียมในกรุงเทพฯ
- สัตวแพทย์ทางทะเลกับงานอนุรักษ์ท่ามกลางความท้อแท้
หลังประสบอุบัติเหตุครั้งนั้น วิชา รู้สึกระคายเคืองและเจ็บตา จึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
“หมอก็บอกว่า เดี๋ยวตาจะบอดนะ ต้องรีบผ่าตัดด่วนเลย” พร้อมกับยื่นใบคำร้องยินยอนรับการผ่าตัดให้ วิชาเซ็น ซึ่งการรักษาตอนนั้น หมอได้ฉีดก๊าซเข้าไปในดวงตา ซึ่งทำให้อาการดีขึ้น แต่พอก๊าซหมดก็ทำให้ดวงตามองไม่เห็น ต้องรับการผ่าตัดอีกครั้ง
“อาจจะเป็นที่เรา หรืออาจจะเป็นที่หมอก็ได้ มันก็พิสูจน์ยาก” และเป็นสิ่งที่ วิชา ยังไม่ได้คำตอบจนถึงทุกวันนี้

แม้ผ่าตัดไปสามครั้ง แต่อาการไม่ได้บรรเทา อีกทั้งยังลามไปที่ดวงตาข้างซ้าย “ตาข้างซ้ายก็เริ่มเลือนราง มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าเพราะติดเชื้อหรืออะไร หมอก็แนะนำให้ผ่าตัดข้างซ้าย ก็ต้องผ่าตัดตามคำแนะนำของหมอ”
สองปีแห่งความ (สิ้น) หวัง
สรุปแล้ว วิชา เข้ารับการผ่าตัดดวงตารวมทั้งสิ้นห้าครั้ง ดวงตาด้านขวาสามครั้ง และข้างซ้ายสองครั้ง โดยครั้งที่สอง แพทย์ผู้รรักษาพบว่า ภายในดวงตาข้างซ้ายของวิชามีพังผืด ทำให้ไม่สามารถใส่วุ้นตาได้ จึงต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทันสมัยกว่า
“ตอนที่ผมไปถึงหาดใหญ่ เขาก็บอกว่ามันไม่สามารถรักษาได้ ผมเลยยอมไป (โรงพยาบาล) ในกรุงเทพฯ ที่กรุงเทพฯ เขาก็ไม่ได้รักษาให้เนื่องจากพังผืดในดวงตา แต่ทางโรงพยาบาลเสนอให้ผ่าตัดให้ดวงตาเราแฟบไป ไม่ให้มีดวงตา เราก็คิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร เราเลยตัดสินใจที่จะปฏิเสธไป” วิชา อธิบาย
“เราก็อยากลองรักษาอีกครั้งหนึ่ง ความหวังคือ เราอยากมองเห็นอีกครั้ง สักนิดก็ยังดี เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ณ ตอนที่คุยอยู่ มันก็ยังมีเหมือนดวงไฟลอยอยู่ในตาของผม เป็นแผ่นใหญ่ ๆ ลอยไปมา ก็ยังหวังที่จะรักษาอีกสักครั้ง”
ความหวังนั้นเองที่ทำให้ ชายวัย 57 ปี ทุ่มเวลาไปกว่า 2 ปี และหมดค่าใช้จ่ายไปกว่า 200,000 บาท
โลกอันมืดมิด สู่การตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
“พอดวงตามืดลง หมอก็ไม่ค่อยอยากรักษาเรา เราก็หมดทุกอย่าง ทางที่เดินก็เดินยาก ทางที่ไปก็ไปยาก” วิชา เล่าด้วยเสียงที่เศร้าสร้อยลงอย่างรู้สึกได้
วิชาเล่าว่า คู่ชีวิต ณ ตอนนั้น ไม่ดีเหมือนเดิม
เมื่อมองไม่เห็น เขาจึงตัดสินใจกลับไปบ้านเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช และต้องมีชีวิตอยู่เพียงลำพัง
“ผมรู้สึกหมดสิ้นทุกอย่าง เพราะชีวิตเราแต่ก่อนคืออยู่สบาย อยากได้อะไรก็ทำได้ อยากมีรถยนต์ก็ซื้อมาขับได้ แต่พอตาบอด แค่จะเดินไปไหนก็ลำบาก”
วิชา มีบุตรอยู่สามคน ก่อนที่จะเลิกรากับแฟนไปก่อนที่ตาจะบอด ซึ่งลูก ๆ ก็คอยช่วยเหลือค่ารักษาบางส่วน แต่ก็มีวันหนึ่ง ที่เขาบังเอิญไปได้ยินบทสนทนาระหว่างลูกกับแฟนของลูกว่า “ตังค์เรามีแสนกว่า ตอนนี้มีเหลือแค่สี่พันบาท เพราะรักษาพ่อไปหมดแล้ว”
“พอนึกถึงคำที่ลูกพูด เสียงมันยังคงก้องอยู่ในรูหูผม” วิชา ยกมือปาดน้ำตาตัวเอง ก่อนที่จะเล่าต่อว่า “ตั้งแต่วันนั้น ผมก็ไม่อยากให้ลูกผมมีภาระ ถึงแม้ลูกจะทำหน้าที่ดูแล แต่ก็กลัวจะกลายเป็นภาระลูก ก็คิดอยากจะฆ่าตัวตาย”
*คำเตือน เนื้อหาอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามฆ่าตัวตาย และความเชื่อส่วนบุคคล

สองวันหลังจากที่ได้ยินคำพูดของลูกตัวเอง วิชาตัดสินใจที่จะจบชีวิตที่บ้านของตนเอง “ผมเอายาที่หมอให้ ประมาณร้อยกว่าเม็ด เอาใส่แก้ววางไว้ข้างเตียง หลังจากนั้นผมก็โทรสั่งเสียลูก บอกลูกว่า ‘ลูกก็สบายดีแล้ว ถ้าพ่อเป็นอะไรไปก็ไม่ต้องเป็นกังวล’” วิชา บอกว่าถึงแม้ลูกจะห้าม แต่ตนก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดไปแล้ว อีกทั้งลูกของตนก็อยู่ไกล คนละจังหวัด
“ตอนนั้นเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า ผมกำลังจะกรอกยาเข้าปาก ก็มีเสียงเขย่าประตูใหญ่ ผมก็คิดว่าสงสัยจะเป็นญาติที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงมาห้ามไว้ แต่หลังจากนั้นก็มีเสียงเคาะกระจก เคาะประตูดังจากทั่วทุกสารทิศ พอสักครู่หนึ่ง ก็รู้สึกได้ว่ามีลมผ่านหู คล้ายกับมีคนกระโดดมาข้างตัว และก็ตามมาด้วยเสียงรองเท้าแตะ เดินเวียนรอบผมอยู่สามรอบ และเสียงจากห้องครัวก็ดัง”
“ผมก็รู้สึกว่ามันแปลก ๆ แล้ว ก็เลยตะโกนไปว่า ‘ลูกไม่อะไรแล้ว ลูกจะไม่ฆ่าตัวตาย ไม่ต้องห่วงแล้ว ลูกมาขออาศัยอยู่นะ’ และเสียงก็เงียบไป”
หลังสงบสติอารมณ์ได้แล้ว ตัวเขาก็ค่อย ๆ เดินไปที่ห้องครัว และคลำตามตู้กับข้าวเพื่อตรวจความเสียหาย แต่ตู้ทุกอย่างกลับปิดสนิท ไม่มีร่องรอยการรื้อค้นแต่อย่างใด หลังจากนั้น วิชาก็กลับมานอน โดยก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงภวังค์ แล้วก็รู้สึกถึงมือมาลูบที่ผม
“ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นผีบ้านผีเรือนที่มาคอยห้ามไว้”
ศักดิ์ศรีของคนตาบอด
แม้เวลานั้น วิชาจะไม่เหลือใครในความรู้สึก แต่ในความเป็นจริง ญาติพี่น้องของเขาล้วนแสดงความห่วงใย บ้างก็ซื้ออาหารมาให้ บ้างก็สนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์
“แต่ที่เป็นแรงสนับสนุนหลัก ก็คือลูก เพราะเขายังคอยดูแลผม พอลูกดีกับผม ผมก็ชื่นใจ ไม่อยากสร้างภาระให้เขาอีก”
เมื่อตัดสินใจเริ่มชีวิตใหม่ในฐานะคนตาบอด วิชา ก็ได้รับโอกาสจากสมาคมตาบอดแห่งภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ให้สมัครบัตรคนพิการ เพื่อรับเงินเดือนละ 800 บาท นอกจากนั้น ยังแนะนำให้ไปเรียนนวด เพื่อนำทักษะมาประกอบอาชีพอีกด้วย
“ลูกจะไม่อยากให้ผมไป เพราะกลัวว่าผมจะโดนหลอก แต่ไหน ๆ เราก็บอดแล้ว เราไปเรียนนวดดีกว่า จะได้ไม่เป็นภาระ” วิชา บอกกับบีบีซีไทย
วิชา ใช้เวลากว่าสองปีเรียนการนวด ตั้งแต่หลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา 255 ชั่วโมง การเรียนเป็นผู้ช่วยแพทย์ นวดฝ่าเท้า รวมถึงการเป็นวิทยากร ซึ่งภายหลังก็ได้ยื่นสอบมาเป็นพนักงานนวดของร้านอาสาวดี ที่อยู่ภายใต้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
“จริงๆ ผมอยากให้คนตาบอดได้ทำงานตามมาตรา 33 และ 35 คนสายตาพิการจะได้ไม่อยู่ลำบาก เพราะบางคนเขาไม่ได้มีต้นทุนชีวิตอะไรเลย ถ้าได้ตรงนี้ก็จะทำให้เขามีอาชีพ สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือแม้แต่เลี้ยงครอบครัวได้”
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ระบุว่า
- จ้างงานคนพิการมาตรา 33 ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน ในสัดส่วนของพนักงานที่มิใช่คนพิการ จำนวน 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน
- จ่ายเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯ แทนการจ้างงานคนพิการ
- การจัดให้สัมปทานตามมาตรา 35 ในกรณีที่นายจ้างหรือสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ ไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 ให้นายจ้างหรือสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ ให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้
รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้พิการในไทยทั้งสิ้น 2,108,536 คน โดยมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 1,061,096 คน ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 393,998 และ ทางการมองเห็น 186,701 คน
…..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว