ไข้อีดำอีแดง : เชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ อันตรายแค่ไหน และผู้ปกครองต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโรคนี้

หน่วยงานสาธารณสุขในสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าสังเกตอาการติดเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (group A Streptococcus หรือ GAS) ในบุตรหลาน หลังจากมีเด็กอย่างน้อย 6 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อขั้นรุนแรงของแบคทีเรียชนิดนี้

แพทย์ชี้ว่านับแต่สหราชอาณาจักรยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เชื้อชนิดนี้จะแพร่ระบาด และเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

Child unwell with flu

Getty Images

แม้โดยทั่วไปเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอจะไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรง แต่การติดเชื้อชนิดลุกลามรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักและมีภาวะแทรกซ้อนได้

สเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอคืออะไร

คือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่บางครั้งพบอยู่ในลำคอและผิวหนัง

หลายคนอาจมีเชื้อชนิดนี้อยู่โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่หากเชื้อแพร่สู่ผู้อื่นก็อาจทำให้ผู้นั้นล้มป่วยได้

ติดต่อได้อย่างไร

เชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอแพร่สู่กันได้ผ่านการไอและจาม

บางครั้งมักพบการระบาดในสถานที่อย่างโรงเรียน และบ้านพักคนชรา

มีอาการอย่างไร

ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมักมีอาการไม่รุนแรง เช่น เจ็บคอ หรือติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งสามารถรักษาได้โดยง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ

แต่เชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอก็อาจทำให้เกิดอาการหลายอย่าง และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อบางรายมีอาการรุนแรงกว่า

หนึ่งในโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้คือ ไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

ไข้อีดำอีแดงคืออะไร

ในสหราชอาณาจักร ไข้อีดำอีแดง คือโรคที่เจ้าหน้าที่การแพทย์ต้องแจ้งกรณีต้องสงสัยการระบาดต่อหน่วยงานคุ้มครองสุขภาพในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

Child in bed with scarlet fever

Getty Images
โรคไข้อีดำอีแดง ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว

โรคนี้ทำให้มีผื่นแดง และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง เจ็บคอ รวมทั้งคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ

ในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม อาจสังเกตเห็นผื่นแดงได้ยาก แต่อาจสามารถสัมผัสได้ถึงผิวหนังที่สากเหมือนกระดาษทราย

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่แพทย์เรียกว่า “ลิ้นสตรอเบอร์รี” (strawberry tongue) เพราะมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำและมีฝ้าขาวขึ้น

ในประเทศไทย กรมควบคุมโรคระบุว่า มักพบพบโรคไข้อีดำอีแดง ในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี โดยผู้ป่วยจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามผิวหนังเกือบทั่วร่างกาย รวมถึงมีไข้สูง และมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย

โรคไข้อีดำอีแดงถือเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายเองได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้อาการแย่ลงจนเป็นอันตรายต่อหัวใจ ไต และอวัยอื่น ๆ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ร่วมกับให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 16 พ.ย. 2565 ระบุว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้อีดำอีแดงในเด็กอายุ 5-14 ปี จำนวน 237 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุดคือ ตาก ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงสุดได้แก่ กระบี่ กรุงเทพฯ และกาญจนบุรี

สเตร็ปโตคอสคัสชนิดเออันตรายแค่ไหน

ในบางกรณีซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย เชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเออาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามรุนแรงที่เรียกว่า invasive Group A Streptococcus หรือ iGAS ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต

การติดเชื้อลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ผ่านปราการป้องกันของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยมักพบในผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคอื่นอยู่แล้ว หรืออยู่ระหว่างการรักษาโรคอื่น เช่น ผู้บำบัดโรคมะเร็ง ซึ่งส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

สัญญาณเตือนอาการ iGAS

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง

การพบแพทย์เพื่อรับรักษาแต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางสุขภาพของสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง มีอาการเจ็บปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งในร่างกาย ร่วมกับอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการท้องร่วง ให้รีบเข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที

ควรทำอย่างไรเมื่อบุตรหลานล้มป่วย

หากผู้ปกครองคิดว่าบุตรหลานของตนมีอาการติดเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ ควรรีบปรึกษาแพทย์

รวมทั้งแจ้งข้อมูลการติดต่อสัมผัสกับผู้ที่เพิ่งติดเชื้อชนิดนี้ให้แพทย์ทราบด้วย

มีวัคซีนหรือไม่

ปัจจุบันไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ แต่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

………..


ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว