เฮติ : กราดยิง รุมโทรมหญิง เรียกค่าไถ่ ไร้ขือแปในกรุงปอร์โตแปรงซ์

 

ผู้หญิงคนหนึ่งร้องไห้ ขณะที่ความรุนแรงจากแก๊งต่าง ๆ ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ทำให้ผู้คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน 19 พ.ย. 2022

Reuters
ผู้หญิงคนหนึ่งร้องไห้ ขณะที่ความรุนแรงจากแก๊งต่าง ๆ ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ทำให้ผู้คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน 19 พ.ย. 2022

 

ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ แม้ไม่มีเขตแดนบ่งบอก แต่คุณต้องรู้ว่า ตัวเองอยู่ในพื้นที่ไหน เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตของคุณได้ แก๊งอาชญากรรมที่แข่งขันกันกำลังแบ่งเมืองหลวงของเฮติแห่งนี้ออกเป็นเสี่ยง ๆ ก่อเหตุลักพาตัว ข่มขืนและสังหารผู้คนตามอำเภอใจ พวกเขาใช้เลือดกำหนดพื้นที่อิทธิพล การข้ามจากพื้นที่ของแก๊งหนึ่งเข้าไปในอีกพื้นที่หนึ่งของอีกแก๊งหนึ่ง คุณอาจจะไม่ได้กลับออกมาอีกเลย

ผู้ที่มีชีวิตอยู่ที่นี่ต้องจดจำแผนที่นี้ให้ขึ้นใจ มีการแบ่งเมืองออกเป็น 3 เขตคือ สีเขียว, สีเหลือง และสีแดง โดยพื้นที่สีเขียวหมายถึงพื้นที่ที่ปลอดจากแก๊งอาชญากรรม สีเหลืองหมายถึงอาจจะปลอดภัยในวันนี้ แต่อาจจะตายได้ในวันพรุ่งนี้ ส่วนสีแดงคือ พื้นที่ที่ห้ามเข้า พื้นที่สีเขียวกำลังหดหายไป เพราะแก๊งติดอาวุธต่าง ๆ เริ่มขยายอำนาจมากขึ้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนของเฮติระบุว่า กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ควบคุมและก่อการร้ายในพื้นที่อย่างน้อย 60% ของกรุงปอร์โตแปรงซ์ และพื้นที่โดยรอบ พวกเขาล้อมเมืองหลวงแห่งนี้ไว้ ควบคุมถนนสายต่าง ๆ ทั้งขาเข้าและขาออก สหประชาชาติระบุว่า แก๊งอาชญากรรมต่าง ๆ สังหารผู้คนไปแล้วเกือบ 1,000 คน ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ของปีนี้

กรุงปอร์โตแปรงซ์ตั้งอยู่ระหว่างเนินเขาเขียวขจีกับน้ำทะเลแคริบเบียนสีฟ้า สภาพอากาศร้อน และไร้คนเหลียวแล ตามพื้นที่ต่าง ๆ มีขยะวางทับถมกันถึงระดับเข่า อยู่ในประเทศที่กำลังพังทลาย ปัจจุบันเฮติไม่มีประมุขของรัฐ (คนล่าสุดถูกสังหารขณะอยู่ในตำแหน่ง) ไม่มีรัฐสภาที่ปฏิบัติงานได้ (แก๊งอาชญากรรมต่าง ๆ ควบคุมพื้นที่โดยรอบรัฐสภา) และนายอาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ชื่นชอบอย่างมาก แต่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน

กราฟิก

BBC

 

ทั้งหมดส่งผลให้เฮติอยู่ในภาวะชะงักงัน ขณะที่ประชาชนเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 4.7 ล้านคน กำลังเผชิญกับความอดอยากรุนแรง สหประชาชาติระบุว่า ผู้คนราว 200,000 คน ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ กำลังเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ต่างจากทุพภิกขภัย นี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทวีปอเมริกา อหิวาตกโรคกลับมาระบาดอีกครั้ง แต่การระบาดที่เลวร้ายที่สุดคือ แก๊งติดอาวุธต่าง ๆ

พวกเขาเป็นผู้กำหนดเวลาของที่นี่ ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าระหว่าง 06.00-09.00 น. เป็นช่วงที่เกิดการลักพาตัวมากที่สุด หลายคนถูกชิงตัวไปจากท้องถนนขณะเดินทางไปทำงาน หลายคนถูกจู่โจมในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเย็นตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น.

พนักงานราว 50 คน ของโรงแรมในเมืองของเรา ต้องอาศัยอยู่ที่โรงแรม เพราะอันตรายเกินไปในการเดินทางกลับบ้าน แทบไม่มีใครออกไปข้างนอกหลังฟ้ามืดเลย ผู้จัดการโรงแรมบอกว่า เขาไม่ออกจากอาคารเด็ดขาด

กราฟิก

BBC

การลักพาตัวเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต สหประชาชาติระบุว่า มีการแจ้งเหตุลักพาตัว 1,107 กรณี ระหว่างเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ สำหรับบางแก๊ง นี่คือที่มาของรายได้หลัก ค่าไถ่ตัวอยู่ระหว่าง 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,900 บาท) ไปจนถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34.7 ล้านบาท) ถ้ามีการจ่ายค่าไถ่ เหยื่อส่วนใหญ่รอดชีวิตกลับมา แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานก่อน

“พวกผู้ชายถูกทุบตีและเผาด้วยวัสดุต่างๆ อย่าง พลาสติกที่กำลังละลาย” เกดอน ฌอง จากศูนย์วิเคราะห์และวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน (Centre for Analysis and Research in Human rights) ของเฮติ กล่าว “ผู้หญิงและเด็กหญิงอาจถูกรุมข่มขืน สถานการณ์นี้ทำให้บรรดาญาติต้องรีบหาเงินมาจ่ายค่าไถ่ บางครั้งพวกก่อเหตุลักพาตัวจะโทรศัพท์หาญาติของเหยื่อ เพื่อที่พวกเขาจะได้ยินเสียงขณะที่กำลังมีการข่มขืนอยู่ผ่านทางโทรศัพท์”

ตอนเช้าในเดลมาส

เราเดินทางโดยใช้รถหุ้มเกราะ ปกติแล้วจะใช้รถเช่นนี้ในแนวหน้าของการสู้รบในพื้นที่สงครามอย่างยูเครน แต่จำเป็นต้องใช้รถหุ้มเกราะในกรุงปอร์โตแปรงซ์เพื่อป้องกันพวกก่อเหตุลักพาตัว ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองเช่นนี้ได้ เฮติเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและหายนะทางการเมือง

ตำรวจที่จุดเกิดเหตุอาชญากรรม

BBC / Goktay Koraltan
ตำรวจที่จุดเกิดเหตุอาชญากรรม

 

การขับรถไปยังจุดนัดหมายช่วงเช้าตรู่ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เราต้องผ่านจุดเกิดเหตุอาชญากรรมจุดหนึ่งในย่านเดลมาส 83 ที่ชนชั้นกลางพักอาศัยอยู่ ปลอกกระสุนเกลื่อนทางเดิน สะท้อนแสงอาทิตย์เป็นประกาย ชายคนหนึ่งนอนคว่ำหน้าจมกองเลือด เสียชีวิตอยู่ที่ท้ายซอย

รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสีเทาคันหนึ่งชนติดอยู่กับกำแพง ด้านหนึ่งมีรูพรุน พบปืนเอเค-47 วางอยู่บนพื้นด้านข้างรถ ตำรวจพร้อมอาวุธแน่นหนาล้อมรถกระบะคันนี้ไว้ บางคนปิดหน้าไว้และชักอาวุธออกมา คนที่ผ่านไปมาพากันมามุงดู พวกเขามีคำถามมากมาย แต่ไม่มีใครเอ่ยปากถาม เมื่อคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในเงามืดของแก๊งเหล่านี้ การนิ่งเงียบเป็นผลดีมากกว่า

รถขับเคลื่อนสี่ล้อพรุนไปด้วยรูกระสุน

BBC / Goktay Koraltan
รถขับเคลื่อนสี่ล้อพรุนไปด้วยรูกระสุน

 

ตำรวจบอกเราว่า พวกเขายิงปะทะกับกลุ่มลักพาตัวที่ออกมาหาเหยื่อรายต่อไปในช่วงเช้าตรู่ แก๊งนี้วิ่งหนีไปได้ หนึ่งในนั้นทิ้งรอยเลือดไว้ ได้มีการแกะรอยผู้ต้องสงสัยก่อเหตุลักพาตัวมาจนถึงตรอกนี้ ซึ่งเขาได้ถูกสังหาร

“มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่นายหนึ่งกับพวกคนร้าย หนึ่งในนั้นเสียชีวิต” ตำรวจที่ทำงานมานาน 27 ปี ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ กล่าว

เขากล่าวว่า สถานการณ์ในกรุงปอร์โตแปรงซ์เลวร้ายมาก ฉันถามว่า ไม่อาจหยุดยั้งพวกแก๊งเหล่านี้ได้หรือ “เราหยุดยั้งพวกเขาได้ ในวันนี้” เขาตอบ

ในเช้าวันเดียวกัน ในอีกฝั่งหนึ่งของเมือง ฟรองซัวส์ ซังแคลร์ นักธุรกิจวัย 42 ปี ได้ยินเสียงปืนขณะติดอยู่บนถนน เขาเห็นชายพร้อมอาวุธหลายคนจี้รถ 2 คันข้างหน้าเขา เขาจึงบอกคนขับให้เลี้ยวรถกลับ แต่ขณะที่พวกเขากำลังพยายามหนี ก็ถูกพบเห็นเสียก่อน

ฟรองซัวส์ ซังแคลร์

BBC / Wietske Burema
ฟรองซัวส์ ซังแคลร์

 

“ทันใดนั้น ผมก็ถูกยิงขณะอยู่ในรถตัวเอง เลือดเต็มไปหมดเลย” เขาเล่าให้เราฟัง ขณะนั่งอยู่บนรถเข็นที่โรงพยาบาลที่ดูแลโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medicins Sans Frontieres–MSF)

“ผมอาจจะถูกยิงที่ศีรษะก็ได้” เขากล่าว “มีคนอื่น ๆ อยู่ในรถด้วย” แขนของเขาซึ่งถูกกระสุนยิงทะลุมีผ้าพันแผลพันไว้อยู่

ฉันถามเขาว่า เคยคิดออกไปจากประเทศเพื่อหลบหนีความรุนแรงไหม “เป็นหมื่น ๆ ครั้ง” เขาตอบ “ผมไม่สามารถโทรหาแม่เพื่อเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง เพราะแม่อายุมากแล้ว จากเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ ถ้าคุณออกไปได้ก็จะดีกว่า”

นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ชาวเฮติส่วนใหญ่ ไม่มีที่ไป

คลอเดตต์ เป็นเหยื่อจากกระสุนปืนเช่นกัน

BBC / Wietske Burema
คลอเดตต์ เป็นเหยื่อจากกระสุนปืนเช่นกัน

 

หอผู้ป่วยของโรงพยาบาลของ MSF เต็มไปด้วยเหยื่อที่ถูกกระสุนปืนยิง หลายคนถูกลูกหลง คลอเดตต์ ซึ่งเพิ่งได้รับการทำแผลที่ขาซ้ายที่ขาดเสร็จ บอกฉันว่า เธอไม่สามารถแต่งงานได้แล้ว เพราะเธอกลายเป็นคนพิการไปแล้ว ส่วนลีเลียน วัย 15 ปีที่นอนอยู่ใกล้ ๆ กำลังเล่นเกมครอสเวิร์ดฆ่าเวลา เธอถูกยิงเข้าที่ท้อง

“แม่และหนูออกไปหาอะไรกินข้างนอก” เธอกล่าว “ตอนที่เรากำลังสั่งอาหารอยู่ หนูรู้สึกอะไรบางอย่าง จากนั้นหนูก็ล้มลงและร้องด้วยความเจ็บปวด หนูไม่คิดเลยว่า จะมีชีวิตรอด ปกติหนูได้ยินเสียงปืนไกลจากบ้าน ในวันนั้น ได้ยินเสียงปืนใกล้เข้ามา”

แม้แต่ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งคนล่าสุดของเฮติ ก็ไม่มีความปลอดภัยขณะอยู่ที่บ้านพักของเขา นายโฌเวเนล โมอิส ถูกมือปืนสังหารในเดือน ก.ค. 2021 ตำรวจกล่าวหาว่า เป็นฝีมือของทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย โดยมีการจับตัวทหารรับจ้างโคลอมเบียไว้ราว 20 นาย แต่กว่าหนึ่งปีต่อมา ก็ยังไม่มีใครถูกไต่สวนจากการลั่นไกหรือสั่งการลอบสังหาร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผู้พิพากษาหลายคนวนเวียนเข้ามาพิจารณาคดีนี้ ตอนนี้คดีนี้อยู่ในมือของผู้พิพากษาคนที่ 5

การสังหารประธานาธิบดีทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจขึ้น ซึ่งบรรดาแก๊งต่าง ๆ ได้แข่งกันแย่งชิงอำนาจนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ของพวกเขา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ มีความเกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญทางการเมืองทุจริต ทั้งที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พวกเขาจัดหาอาวุธให้กับแก๊งเหล่านี้ หรือให้เงิน หรือการคุ้มครองทางการเมือง กลับกันพวกแก๊งเหล่านี้ก็จะช่วยทำงานสกปรกในการสร้างความหวาดกลัว ให้การช่วยเหลือ หรือสร้างความไร้เสถียรภาพขึ้น ตามที่นักการเมืองเหล่านี้ต้องการ

กราฟิก

BBC

นักธุรกิจที่ร่ำรวยหลายคนก็มีสายสัมพันธ์กับพวกแก๊งเหล่านี้ด้วย

“พวกนักการเมืองและแก๊งบางแก๊งที่อยู่ในย่านยากจนที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมาก มีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด แต่นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2011 ความสัมพันธ์เหล่านั้นก็มีแบบแผนมากขึ้น” เจมส์ โบยาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเฮติ (State University of Haiti) กล่าว

“พวกเขา [แก๊งต่าง ๆ] ถูกใช้เป็นคนรับช่วงต่อในการสร้างความรุนแรงทางการเมือง”

บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ปัจจุบันมีกลุ่มติดอาวุธราว 200 กลุ่มทั่วประเทศเฮติ ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งอยู่ในเมืองหลวง

ถ้าสมาชิกแก๊งถูกจับตัว เพียงแค่ผู้ที่ให้การหนุนหลังอยู่โทรศัพท์มา ก็สามารถช่วยปล่อยตัวพวกเขาออกไปพร้อมกับปืนได้โดยไม่ต้องรีรอ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีอาชญากรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ไม่มีการดำเนินคดี

กราฟิก

BBC

 

“ไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ” มารี โรซี ออกุสต์ ดูเซนา จากเครือข่ายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Defence Network) ของเฮติ กล่าว “ผู้พิพากษาไม่อยากจะทำงานในคดีเหล่านี้ พวกเขาได้รับเงินจากแก๊งพวกนี้ ตำรวจบางส่วนก็เหมือนกับคอยช่วยเหลือแก๊งพวกนี้อยู่ ให้รถหุ้มเกราะและแก๊สน้ำตา

เกดอน ฌอง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่หลายคนเป็นสมาชิกในแก๊งด้วย “เรารู้มาว่า มีตำรวจที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ก็อดีตตำรวจอย่างน้อย 2 นาย อยู่ในแต่ละแก๊ง เรารู้ว่า รถที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนของตำรวจถูกใช้ในการลักพาตัว แต่ไม่รู้ว่าองค์กรตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่”

เจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันและอดีตตำรวจมีแก๊งของตัวเองที่ชื่อว่า บาซ พิลาต์ บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า แก๊งนี้ควบคุมถนนสายหลักบางส่วนในย่านการค้าของกรุงปอร์โตแปรงซ์

การสมรู้ร่วมคิดของตำรวจไม่ใช่เรื่องลึกลับ เจ้าหน้าที่อาจได้รับเงิน 300 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,400 บาท) ต่อเดือน และเจ้าหน้าที่บางคนก็อาศัยอยู่ในย่านที่แก๊งอาชญากรรมควบคุมอยู่ สำหรับพวกเขา อาจจะเป็นเรื่องของความอยู่รอด ไม่มีทางเลือก

เรื่องราวของสามีคนหนึ่ง

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งอยู่ห่างจากไมอามี่โดยการนั่งเครื่องบินราว 2 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรงเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นราวกับว่า พวกแก๊งในกรุงปอร์โตแปรงซ์กำลังเข้าร่วมการแข่งขันที่โหดเหี้ยม และผู้คนในเมืองราว 1 ล้านคน อาจตกเป็นเหยื่อได้ทุกคน

ผู้ชายร่างผอมบางในวัยไม่ถึง 40 ปี คนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแก๊งเหล่านี้ เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เขาและภรรยาของเขาต้องเผชิญเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ย่านที่เขาอยู่ถูกแก๊งหนึ่งควบคุมอยู่ ซึ่งเหล่าอริของแก๊งนี้ได้เข้ามาก่อเหตุสังหารอย่างเมามัน เพื่อความปลอดภัยของเขา เราจึงไม่ระบุชื่อย่านนั้น หรือกลุ่มติดอาวุธที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเขาเริ่มพูด เขาก็พูดติดต่อกันไม่ยอมหยุดนาน 13 นาที ราวกับว่า เขาไม่สามารถเก็บคำพูดหรือความเจ็บปวดรวดร้าวของเขาไว้ได้อีกต่อไป

“ผมบอกตัวเองว่า มีการยิงปืนเกิดขึ้นใกล้กับเรามากเกินไป เราควรจะพยายามออกมา” เขากล่าว “แต่พวกเขาเข้ามาบุกล้อมย่านนั้นแล้ว ผมกลับเข้าไปในบ้านพร้อมกับภรรยา ผมกลัวมากจนตัวสั่น ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ส่วนใหญ่พวกเขาจะฆ่าผู้ชาย ภรรยาของผมให้ผมซ่อนอยู่ใต้เตียง และเอากองผ้ามาบังผมไว้ ส่วนหลานชายของผมซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า”

หลังจากนั้นไม่นาน พวกผู้ชายก็เข้ามาในบ้าน ทุบตีภรรยาของเขา และสั่งให้เธอบอกข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกของแก๊งในพื้นที่ ตอนที่หลานของเขาพยายามจะวิ่งหนี พวกมันยิงและฆ่าเขา ชายที่เป็นสามีคนนี้ยังคงซ่อนตัวอยู่อย่างทรมานใจ

“ผมอยากจะวิ่งหนี ผมอยากจะร้องไห้ออกมาดัง ๆ สิ่งที่ทำให้ผมเจ็บปวดที่สุด ก็คือการที่ผมอยู่ใต้เตียง ผมมองไม่เห็นแต่ผมได้ยินเสียงพวกผู้ชายกำลังข่มขืนภรรยาของผม พวกเขากำลังข่มขืนเธอ และผมอยู่ใต้เตียง พูดอะไรไม่ได้”

ต่อมา บ้านของพวกเขาถูกเผา เขาและภรรยาต่างหนีออกไปคนละทิศละทาง พวกเขายังคงอยู่กันคนละที่ พักกับเพื่อน ๆ และญาติ แต่เขาหวังว่า พวกเขาจะได้กลับมาสร้างบ้านใหม่และอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับลูกที่ยังเล็กของพวกเขาอีกครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้น “เป็นรอยแผลที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตวิญญาณ” ภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์อยู่ และพวกเขาก็ไม่รู้ว่า เขาเป็นพ่อของเด็กในท้องหรือไม่ หรือคนเป็นพ่อจะเป็นหนึ่งในหมู่คนร้าย ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาบอกว่า เขาจะยอมรับเด็กคนนี้และตั้งชื่อลูกตามชื่อเขา

“สิ่งที่ผมเผชิญเทียบอะไรไม่ได้เลย” เขาเล่า “มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีลูกเพียงคนเดียว พวกมันเชือดคอเขาต่อหน้าเธอ เด็กหนุ่มคนนั้นไม่ได้อยู่ในแก๊งไหนเลย”

สามีและภรรยาคู่นี้ถูกปล้นทรัพย์สินไปเกือบหมด รวมถึงความรักที่เขามีต่อประเทศนี้ด้วย “เฮติถูกลบออกไปจากหัวใจของเราแล้ว” เขากล่าว “ถ้าเรามีโอกาส เราจะไปจากที่นี่”

หลังจากนั้น เขาก็ร้องไห้อย่างหนักจนอกกระเพื่อม

คำบอกเล่าที่ฉันได้รับฟังจากคนที่นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่ฉันเคยได้ยินมาในช่วงการเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศกว่า 30 ปี รายงานข่าวจากกว่า 80 ประเทศ

ส่วนแก๊งในปอร์โตแปรงซ์ ไม่มีขีดจำกัดใด ๆ

ภายในเวลา 2-3 วัน ฉันได้พบกับเหยื่อรุมข่มขืน 3 ราย คนที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น เธอและญาติคนหนึ่งถูกคนร้ายกลุ่มเดียวกันข่มขืน พวกมันขู่ว่า จะเผาพวกเธอทั้งเป็นภายในบ้านของพวกเธอ ส่วนผู้หญิงอีกคนกำลังตั้งครรภ์ 6 เดือนในตอนที่ถูกทำร้าย ขณะที่เธอกำลังถูกรุมข่มขืน สามีของเธอถูกนำตัวออกไปฆ่า หลายเดือนต่อมา เธอก็ยังหาศพเขาไม่พบ

พวกแก๊งเหล่านี้ใช้การข่มขืนเป็นอาวุธเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงและเด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ฝ่ายอริควบคุมอยู่ ในช่วงสงครามแย่งชิงพื้นที่กันในเดือน ก.ค. บรรดานักเคลื่อนไหวบอกว่า ในย่านซิตี โซเลล์ ซึ่งเป็นเขตที่ยากจนที่สุดของเฮติ มีคนถูกฆาตกรรมมากกว่า 300 คน ส่วนใหญ่ศพไหม้เกรียมเป็นตอตะโก และมีผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างน้อย 50 คน ถูกรุมข่มขืน

เครือข่ายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเฮติ ซึ่งเก็บหลักฐานการข่มขืนในซิตี โซเลล์ ระบุว่า ผู้รอดชีวิตจำนวนมาก “รู้สึกเสียใจที่ยังมีชีวิตอยู่” ผู้รอดชีวิต 20 คน ถูกข่มขืนต่อหน้าลูก ๆ ของพวกเธอ ส่วนอีก 6 คน เห็นสามีของพวกเธอถูกฆ่าก่อนที่พวกเธอจะถูกรุมข่มขืน

พื้นที่ส่วนใหญ่ของซิตี โซเลล์ ถูกควบคุมโดยแก๊งที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปอร์โตแปรงซ์นั่นคือ ตระกูล G-9 และพันธมิตร แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า แก๊งนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีที่ถูกลอบสังหารและพรรครัฐบาลของเขา โดยมีความชำนาญในการกรรโชกทรัพย์

แก๊ง G-9 ได้ปิดกั้นคลังน้ำมันในเมืองในเดือน ก.ย. ทำให้ประเทศเฮติกลายเป็นอัมพาตนานเกือบ 2 เดือน และทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม

ผู้นำกลุ่มนี้เป็นอดีตตำรวจชื่อ จิมมี เชริซิเอร์ หรือมีฉายาว่า “บาร์บีคิว” ซึ่งมักจะจัดแถลงข่าวเป็นครั้งคราว เราได้ร้องขอสัมภาษณ์ผ่านคนกลาง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ปัจจุบันเขาอาจจะพูดน้อยลง เพราะเขาเพิ่งถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตรเมื่อไม่นานนี้ จากการถูกกล่าวหาว่า คุกคามสันติภาพและความมั่นคงของเฮติ

สหรัฐฯ และแคนาดา เพิ่งคว่ำบาตรนักการเมืองเฮติ 2 คนเมื่อไม่นานนี้ รวมถึงโจเซฟ แลมเบิร์ต ประธานวุฒิสภาด้วย จากข้อกล่าวหาสมรู้ร่วมคิดกับแก๊งเหล่านี้

แหล่งข่าวหลายแหล่งระบุว่า การคว่ำบาตรกำลังส่งผลกระทบบางอย่าง เพราะบรรดานักการเมืองซึ่งใช้งานแก๊งเหล่านี้ ต้องการที่จะกบดาน

“อาชญากรยึดประเทศเป็นตัวประกัน”

ตอนที่ฌอง ซิมซัน เดซันคลอส ไปถึงถนนร้างชายขอบย่านหนึ่งที่ถูกแก๊งยึดครองอยู่ เขาไม่พบอะไรเกี่ยวกับครอบครัวของเขา ยกเว้นซากรถยนต์ญี่ห้อซูซุกิของครอบครัวเขาที่ถูกเผา ซากของร่างภรรยาและลูกสาว 2 คนของเขาที่ดำเป็นตอตะโกถูกนำไปไว้ที่สถานที่เก็บศพแล้ว

รถยนต์ที่ถูกเผา

BBC / Goktay Koraltan
รถยนต์ที่ถูกเผา

โฌเซตต์ ฟิลส์ เดซันคลอส วัย 56 ปี กำลังพาซาร์ฮัดจี ลูกสาววัย 24 ปี ไปมหาวิทยาลัย และพาลูกสาวอีกคนที่ชื่อว่า เชอร์วูด ซอนด์จี ไปซื้อของสำหรับวันเกิดของเธอ เธอกำลังจะมีอายุครบ 29 ปี หญิงสาวทั้งสองคนต่างก็เรียนกฎหมายเหมือนกับพ่อของพวกเธอ พวกเธอคือ “เจ้าหญิง” ของเขา

“วันที่ 20 ส.ค. ผมสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป” เขากล่าว “ไม่ใช่แค่ครอบครัวของผม ทั้งหมด มี 8 คนที่ถูกฆ่าในวันนั้น มันคือการสังหารหมู่”

ฌอง ซิมซัน เดซันคลอส พร้อมกับภรรยาและลูกสาว 2 คน

BBC
ฌอง ซิมซัน เดซันคลอส พร้อมกับภรรยาและลูกสาว 2 คน

 

นายเดซันคลอส เชื่อว่า ภรรยาและลูกสาวของเขาขัดขืนความพยายามในการลักพาตัวและถูกแก๊งที่ชื่อว่า 400 มาวาโซ (400 Mawazo) ที่โหดเหี้ยมซึ่งกำลังขยายพื้นที่ของตัวเอง ยิงเสียชีวิต “ผมชี้นิ้วไปที่พวกเขา” เขากล่าว การสังหารเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่รอบนอกของย่านที่ชื่อว่า ครัวซ์ เดส์ บูเกต์ (Croix des Bouquet) ซึ่งถูกแก๊งนี้ควบคุมอยู่

นายเดซันคลอส ซึ่งพูดเสียงนุ่มและแต่งตัวดี เป็นทนายความและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน เขาต้องการจะได้ยินเสียงภรรยาและลูกสาวอีกครั้ง

“คุณมักจะเฝ้ารอโทรศัพท์จากลูกที่คุยกับคุณว่า ‘พ่ออย่างนั้น พ่ออย่างนี้’ ผมสูญเสียคนอันเป็นที่รักในชีวิต และลูก 2 คนที่เราเลี้ยงดูในประเทศที่สาหัสประเทศนี้ มันเหมือนกับว่า คุณเป็นมหาเศรษฐกิจแล้วจู่ ๆ ก็กลายเป็นคนยาจก”

แม้ว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยง เขากำลังหาความยุติธรรมให้กับภรรยาและลูกสาว

“ครอบครัวคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไม่ตามหาความยุติธรรมก็จะเป็นการทรยศพวกเขา” เขากล่าว

“ลูกสาวของผมรู้ว่า พ่อของพวกเธอคือนักสู้ ไม่ยอมทิ้งผู้คน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงครอบครัวของเขาเอง ความเสี่ยงนี้ยิ่งใหญ่ แต่ตอนนี้มีอะไรที่ผมต้องเสียอีกล่ะ”

เขาอยากจะให้โลกรู้เกี่ยวกับเฮติในปัจจุบันอย่างหนึ่งคือ แก๊งเหล่านี้ควบคุมประเทศอยู่

“พวกอาชญากรได้ยึดประเทศเป็นตัวประกัน” เขากล่าว “พวกนั้นสร้างกฎหมายของตัวเองขึ้นมา พวกมันฆ่าคน ข่มขืน ทำลายทุกอย่าง ผมอยากให้ลูกสาวของผมเป็นการเสียสละครั้งสุดท้าย เป็นหญิงสาวคนสุดท้ายที่ถูกฆ่า”

เขาพูดด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า แต่เขารู้ว่า ความปรารถนานี้อาจจะไม่เป็นความจริง

ในเฮติ พวกแก๊งต่าง ๆ ทำงานแทนรัฐ นายกรัฐมนตรีอาเรียล อองรี ไม่สามารถแม้แต่จะไปสำนักงานของตัวเองได้ เพราะกลุ่มติดอาวุธควบคุมพื้นที่นั้นอยู่ เราได้ร้องขอสัมภาษณ์เขาหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ

กราฟิก

BBC

รัฐบาลเฮติได้ “เรียกร้องความช่วยเหลือ” จากกองกำลังนานาชาติเพื่อช่วยนำความสงบกลับคืนมา

มีการพูดคุยที่สหประชาชาติเกี่ยวกับความจำเป็นสำหรับกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่ของสหประชาชาติ แต่ดูเหมือนว่า ไม่มีชาติไหนที่กระตือรือร้นเป็นผู้นำ หรือแม้แต่จะเข้าร่วม

การแทรกแซงจากต่างชาติเคยสร้างชื่อเสียงที่ไม่ดีไว้ และมีประวัติที่ไม่ดีนักที่นี่ มีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดเกิดขึ้นในภารกิจสหประชาชาติครั้งล่าสุด และการนำเชื้ออหิวาตกโรคผ่านกองกำลังรักษาสันติภาพจากเนปาลเข้ามาในเฮติ โรคระบาดนี้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน

มีความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับนำทหารต่างชาติเข้ามาในประเทศ คนที่ทำธุรกิจบางส่วนสนับสนุนเรื่องนี้ พวกเขาเคยใช้กลุ่มติดอาวุธ แต่ตอนนี้ต้องการให้กลุ่มเหล่านี้ถูกควบคุม เช่นเดียวกับคนที่ติดอยู่ในพื้นที่ที่แก็งต่าง ๆ ควบคุมอยู่ ก็สนับสนุนเช่นกัน มีเสียงคัดค้านจากผู้นำประชาสังคม ซึ่งระบุว่า เฮติจะต้องจัดการเรื่องนี้เอง

ขณะที่ประชาคมโลกอภิปรายกันถึงเรื่องนี้และยังลังเลที่จะเข้ามา แก๊งต่าง ๆ ก็ก่อเหตุสังหารหมู่กันตามปกติ

แหล่งข่าวในพื้นที่บอกว่า กลุ่มติดอาวุธกำลังขยายดินแดนของตัวเอง เพราะเลยกำหนดจัดการเลือกตั้งมาแล้ว ตอนที่นักการเมืองเข้ามาหาเสียงในพื้นที่ที่แก๊งต่าง ๆ ยึดครองอยู่ พวกเขาต้องจ่ายเงินให้กับมือปืน

ความโหดเหี้ยมล่าสุดเกิดขึ้นที่ทางเข้ากรุงปอร์โตแปรงซ์ทางตอนเหนือเมื่อ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นรายงานว่า คนในพื้นที่บางส่วนพบเห็นชายติดอาวุธหลายคนจากแก๊งที่เกิดขึ้นใหม่แก๊งหนึ่ง พยายามที่จะขยายฐานที่มั่น และได้แจ้งตำรวจ

กลุ่มมือปืนเหล่านั้นได้ตอบโต้กลับในช่วงกลางคืน โดยสังหารคนไปอย่างน้อย 11 คน และจุดไฟเผาศพบางส่วน

เลือดถูกนำมาใช้ขีดเส้นพรมแดนของที่นี่อีกครั้ง คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้จำเป็นต้องปรับปรุงแผนที่ในใจใหม่ เพราะกำลังมีพื้นที่ที่เปลี่ยนจากสีเขียวกลายเป็นสีแดงเพิ่มขึ้นอีกที่หนึ่งแล้ว

รายงานเพิ่มเติมโดย เวียตสเคอ บูเรมา, ยอกทาย โครัลทาน และ อันเดร พอลเทอร์

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว