เซ็กส์นอกสมรสเสี่ยงติดคุก กฎหมายใหม่อินโดนีเซียจะกระทบการท่องเที่ยวแค่ไหน

 

Getty Images
สื่อออสเตรเลียตั้งฉายากฎหมายนี้ว่า “เที่ยวบาหลีห้ามมีเซ็กส์”

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในอินโดนีเซียกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ทว่า รัฐสภาอินโดนีเซียกลับผ่านกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ถือว่าผิดกฎหมาย แม้ว่าคุณจะเป็นชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนก็ตาม ทำให้หลายภาคส่วนมองว่า นี่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กล้าเข้ามาในอินโดนีเซีย

กฎหมายที่มีผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง จนนักเคลื่อนไหวมองว่าเป็น “ภัยพิบัติ” ด้านสิทธิมนุษยชน เพราะไม่เพียงทำให้การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสผิดกฎหมาย แต่ยังห้ามคู่รักที่ยังไม่แต่งงาน อาศัยอยู่ด้วยกัน รวมถึงจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและทางศาสนาด้วย

วานนี้ (6 ธ.ค.) รัฐสภาอินโดนีเซียได้ลงมติผ่านการปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาแบบยกเครื่อง ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านของชาวอินโดนีเซียหลายร้อยคน โดยคาดว่า จะมีการยื่นคัดค้านกฎหมายดังกล่าวในชั้นศาลต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้รัฐสภาจะผ่านการปรับแก้กฎหมายแล้ว แต่ประมวลกฎหมายอาญาใหม่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปี และมีผลครอบคลุมทั้งชาวอินโดนีเซีย ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศ รวมถึงผู้มาเยือนด้วย

สื่อออสเตรเลียให้ความสนใจการผ่านกฎหมายนี้อย่างมาก โดยหนังสือพิมพ์บางฉบับตั้งฉายาให้กฎหมายนี้ว่า “เที่ยวบาหลีห้ามมีเซ็กส์” (Bali bonk ban)

เศรษฐกิจอินโดนีเซียพึ่งพาการท่องเที่ยวจากออสเตรเลียเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เดินทางเข้าอินโดนีเซียด้วยจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในช่วงก่อนโรคโควิดระบาด โดยเฉพาะบนเกาะบาหลี ชาวออสเตรเลียหลายพันคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแทบทุกเดือน เพื่อสัมผัสอากาศที่อบอุ่น ดื่มเบียร์ราคาย่อมเยา และปาร์ตีริมชายหาดแบบข้ามคืน

นอกจากนี้เกาะบาหลียังถือเป็นเป้าหมายสำคัญของหนุ่มสาวชาวออสเตรเลียที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานวิวาห์ รวมถึงเยาวชนออสเตรเลีย ที่มักเดินทางมาเฉลิมฉลองสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่เกาะแห่งนี้อีกด้วย

ถ้าถูกจับ “คุณก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้รอดคุก” สมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก บาลี แทรเวล คอมมิวนิตี กล่าว

Getty Images
ถ้าถูกจับ “คุณก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้รอดคุก” สมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก บาลี แทรเวล คอมมิวนิตี กล่าว

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ออสเตรเลียแล้ว การเดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะบาหลี เสมือนเป็นพิธีกรรมสำหรับพวกเขา หรือไม่ก็เป็นการมาเที่ยวระยะสั้น ที่ถือว่ามีราคาถูก

แต่กฎหมายใหม่ที่รัฐสภาอินโดนีเซียอนุมัติ ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นข่าวลือมานาน ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ยังควรเดินทางไปอินโดนีเซียอีกหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อนักเดินทางต่างชาติแค่ไหน

บางคนระบุว่า จะเริ่มเดินทางไปอินโดนีเซียพร้อมทะเบียนสมรส ขณะที่หลายคนที่ยังไม่แต่งงานกัน กล่าวว่า จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่น เพราะตามกฎหมายใหม่อินโดนีเซีย หมายความว่า พวกเขาจะพักแรมในห้องโรงแรมเดียวกันไม่ได้

และถ้าถูกจับ “คุณก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้รอดคุก” สมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก บาลี แทรเวล คอมมิวนิตี กล่าว

“ช่างเป็นวิธีการที่ดีในการทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของบาหลี” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกคน กล่าว แต่ก็มีอีกหลายคนที่มองว่า กฎหมายนี้เป็นเพียง “กุศโลบายสร้างความหวาดกลัว” ที่ไม่มีทางใช้ได้จริง

Getty Images
“กฎหมายนี้จะทำให้ตำรวจใช้เป็นอาวุธขูดรีดเงินจากนักท่องเที่ยว หรืออาวุธให้นักการเมืองใช้กฎหมายหมิ่นศาสนา จัดการกับคู่แข่งทางการเมืองก็เป็นได้” ฮาร์โซโน

 

ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ซึ่งมีมาตราต่าง ๆ มากกว่า 600 มาตรา ระบุว่า คู่รักที่ยังไม่แต่งงาน หากจับได้ว่ามีเพศสัมพันธ์กัน จะถูกจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือหากพบว่าอาศัยอยู่ร่วมกันโดยยังไม่แต่งงาน จะถูกจำคุกสูงสุด 6 เดือน

ผู้สังเกตการณ์มองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจติดกับดักทางกฎหมายได้

“ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวออสเตรเลียมีแฟนหนุ่มหรือแฟนสาวที่เป็นคนอินโดนีเซีย” แอนเดรียส ฮาร์โซโน นักวิจัยอาวุโส ฮิวแมนไรทส์วอช บอกกับสถานีข่าวเอบีซี

“หากพ่อแม่ พี่ชาย หรือน้องสาว ของแฟนชาวอินโดนีเซีย แจ้งความกับตำรวจ จะกลายเป็นปัญหาได้”

อย่างไรก็ดี ทางการอินโดนีเซียระบุว่า ผู้มาเยือนไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะตำรวจจะดำเนินการสอบสวน ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเข้าแจ้งความ อาทิ พ่อแม่ คู่ครอง หรือบุตรของผู้ต้องสงสัยกระทำผิด

แต่นายฮาร์โซโน มองว่า ตัวกฎหมายถือว่ามีอันตรายในตัวของมันเอง เพราะอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้

“อาจพุ่งเป้าไปที่โรงแรม นักท่องเที่ยวต่างชาติ… กฎหมายนี้จะทำให้ตำรวจใช้เป็นอาวุธขูดรีดเงินจากนักท่องเที่ยว หรืออาวุธให้นักการเมืองใช้กฎหมายหมิ่นศาสนา จัดการกับคู่แข่งทางการเมืองก็เป็นได้”

“ชาวออสเตรเลียไม่ต้องกังวล”

ชาวออสเตรเลียตระหนักดีว่า หากกระทำผิดกฎหมายแม้เพียงเล็กน้อย อาจเผชิญปัญหาใหญ่ในอินโดนีเซียได้

โฆษกกระทรวงยุติธรรมอินโดนีเซีย พยายามคลายความกังวลใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ผู้ที่จะแจ้งความตามกฎหมายใหม่นี้ จะเป็นชาวอินโดนีเซียเป็นหลัก

“นั่นหมายความว่าชาวออสเตรเลีย ไม่ต้องกังวล” เว็บไซต์ข่าว WAToday รายงานคำพูดของ อัลเบิร์ต อาเรียส โฆษกกระทรวงยุติธรรมอินโดนีเซีย

“ระเบิดการท่องเที่ยวบาหลี” ฟิล โรเบิร์ตสัน

Getty Images
“ระเบิดการท่องเที่ยวบาหลี” ฟิล โรเบิร์ตสัน

 

อย่างไรก็ดี กฎหมายใหม่นี้ถือเป็นอีกความท้าทายต่อการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ที่ฟื้นตัวจากโควิดอย่างเชื่องช้าอยู่แล้ว

ปี 2019 มีชาวออสเตรเลียกว่า 1.23 ล้านคน เดินทางเที่ยวเกาะบาหลี ตามข้อมูลของสถาบันอินโดนีเซียในเมืองเพิร์ชของออสเตรเลีย

แต่ในปี 2021 ข้อมูลของ Statista ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 51 คน เดินทางมาที่เกาะบาหลี จากการระบาดของโควิด

ตอนนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอินโดนีเซียกำลังฟื้นตัวขึ้น โดยในเดือน ก.ค. 2022 สำนักสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 470,000 คนเดินทางเข้ามาในประเทศ ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุด นับแต่อินโดฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำเอเชีย ฮิวแมนไรท์สวอช ทวิตข้อความว่า กฎหมายใหม่นี้ จะ “ระเบิดการท่องเที่ยวบาหลี”

https://twitter.com/Reaproy/status/1600280122002923520

“ผมต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว”

โยมาน มัคคุเทศก์ที่ทำงานอยู่บนเกาะบาหลีมาตั้งแต่ปี 2017 เขาบอกบีบีซีว่า ผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ อาจ “รุนแรงมาก” ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่เพียงแค่บนเกาะบาหลีเท่านั้น

“ผมวิตกมาก เพราะผมต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว” เขากล่าว

บาหลียังมีประวัติเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ และภัยธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวบนเกาะ

“สงครามอ่าว เหตุวางระเบิดในบาหลี ภูเขาไฟปะทุ ภูเขาไฟเซเมรู ภูเขาไฟรินจานี แล้วก็มาโควิด การท่องเที่ยวบาหลีเปราะบางมาก” โยมาน กล่าว

รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมามากขึ้น โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน รัฐบาลประกาศวีซ่าแบบใหม่ ที่ทำให้ชาวต่างชาติอาศัยอยู่บนเกาะบาหลีได้นานถึง 10 ปี

ด้าน เมลิสซา จีรูกซ์ บล็อกเกอร์ชาวแคนาดา ที่อาศัยที่บาหลีนาน 18 เดือน เมื่อปี 2017 บอกกับบีบีซีว่า เธอรู้สึกตื่นตระหนก ที่รัฐสภาผ่านกฎหมายดังกล่าว หลังมีการพูดถึงมานานหลายปี

“นักท่องเที่ยวหลายคนคงเลือกไปที่อื่น มากกว่าต้องมาเสี่ยงติดคุก หากเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้” เจ้าของบล็อก A Broken Backpack กล่าว

“นี่ยังไม่พูดถึงคน ๆ เดียวที่เดินทางมาปาร์ตีที่บาหลี หรือผู้คนที่ตกหลุมรักกันระหว่างการเดินทางด้วยซ้ำ”

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว