100 Women : การบัญญัติศัพท์ใหม่ช่วยให้มีคำเรียกการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงที่ชัดเจนขึ้น

 

A woman screams and pulls at her hair as a mobile phone screen hovers over her.

Ghazal Farkhari

คำเตือน : บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ

ในภาษาอิตาเลียน คำว่า mano morta แปลว่า “มือมรณะ” เป็นสิ่งที่แม่พูดกับลูกสาว เพื่อน ๆ บ่นถึงในบทสนทนา และวัยรุ่นหญิงเตือนกันให้ระวังตัวในระหว่างเดินทางไปโรงเรียน

แต่ mano morta ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ ทว่ามีความหมายถึงการลวนลาม การลูบคลำเรือนร่างผู้หญิงโดยไม่ได้รับความยินยอมบนรถไฟหรือรถเมล์ที่แน่นขนัด

คำศัพท์เฉพาะในภาษาอิตาเลียนเช่น mano morta เป็นการบัญญัติคำเฉพาะเจาะจงถึงการล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างเคยประสบ แต่อาจไม่มีภาษาเฉพาะที่สื่อถึงการกระทำลักษณะนี้

ในภาษาอังกฤษนั้นมีคำที่สื่อถึงการล่วงละเมิดผู้หญิงที่เฉพาะเจาะจงหลายคำ เช่น gaslighting ซึ่งหมายถึงการปั่นหัว เพื่อควบคุมและทำร้ายจิตใจของคู่รัก ด้วยการจงใจป้อนข้อมูลเท็จให้อีกฝ่ายเกิดความสับสนและกังขาในความจำของตนเอง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

Upskirting หมายถึงการแอบถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิง ขณะที่ love bombing คือการระดมมอบความรักความใส่ใจ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ได้รับเกิดความรู้สึกพึ่งพาและเป็นหนี้บุญคุณ จนต้องทำตามความต้องการของผู้ให้ ซึ่งถือเป็นการทำร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง

ดร.อเลสเซีย ทรานเชส นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท ในอังกฤษกล่าวว่า การบัญญัติคำศัพท์ที่อธิบายถึงประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญบ่งชี้ว่า แนวคิดสตรีนิยมได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่ทางสังคม

BBC 100 Women ของบีบีซีซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ได้พูดคุยกับหญิง 3 คนจากสหราชอาณาจักร ทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกา ถึงบทบาทของภาษาในแง่นี้

Stealthing

Woman sits on a bed with her head in her hands. Cut outs of condoms appear next to her. Images: Getty Images

BBC

 

ละครโทรทัศน์ของบีบีซีเรื่อง I May Destroy You ที่ออกอากาศในปี 2020 ทำให้หลายคนได้รู้จักกับคำว่า stealthing ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ชายแอบถอดถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์โดยคู่นอนไม่ยินยอม

ละครเรื่องนี้ส่งสารไปไกลในดินแดนที่อยู่อีกทวีป ไมเต ออร์ซินี ส.ส.ประเทศชิลีวัย 34 ปี ได้มีโอกาสดูเรื่องนี้ และต้องตกใจกับฉากที่นางเอกในเรื่องถูกคู่นอนแอบถอดถุงยางอนามัยออกโดยที่เธอไม่ยินยอม

ในเวลาต่อมา ออร์ซินี ค้นพบว่า การกระทำที่เรียกว่า stealthing ถือเป็นการข่มขืนตามกฎหมายสหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา และในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ

การที่ stealthing ยังไม่ถูกกำหนดว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในชิลี ออร์ซินีซึ่งมีอาชีพนักกฎหมายจึงตัดสินใจผลักดันให้บัญญัติเรื่องนี้ในกฎหมายชิลี เพราะเธอได้ค้นพบว่า การล่วงละเมิดเช่นนี้เกิดขึ้นทุกหนแห่ง และในชิลีก็ไม่มีความคุ้มครองทางกฎหมายเพื่อช่วยผู้ตกเป็นเหยื่อ

“พวกเราอภิปรายกันยาวนานเรื่องการหาคำเรียก stealthing ในภาษาสเปน แต่ฉันไม่เห็นด้วย ฉันอยากให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำลักษณะนี้ได้รู้ว่าคำนี้ถูกใช้ในภาษาอังกฤษ และพวกเขาสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับคำนี้ทางอินเทอร์เน็ตได้…” ออร์ซินีเล่า

Maite Orsini rests her chin on her hand, as she looks into the distance in parliament

Maite Orsini
ไมเต ออร์ซินี อยากให้ stealthing ถูกบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาชิลี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าอาชญากรรมแบบนี้มีอยู่จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงและเด็กสาวรู้ว่าตนเองคือเหยื่อของพฤติกรรมนี้

 

ร่างกฎหมาย stealthing ของออร์ซินีผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรชิลีเมื่อเดือน ม.ค. และตอนนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบก็จะทำให้ stealthing เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเป็นการประทุษร้ายรูปแบบหนึ่งที่มีบทลงโทษตามกฎหมาย

ดร.ทรานเชส บอกว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงกำลังกอบกู้อำนาจทางภาษา เพราะในประวัติศาสตร์ผู้ชายมักเป็นฝ่ายเขียนพจนานุกรม บัญญัติคำศัพท์ต่าง ๆ ขึ้น

ออร์ซินีเห็นด้วยถึงบทบาทสำคัญของภาษาที่มีต่อผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด

“ฉันคิดว่า การบัญญัติคำเรียกพฤติกรรมที่ไม่เคยมีชื่อในอดีต อาจช่วยให้ผู้ถูกกระทำได้รู้ว่าตนเองคือเหยื่อ” เธอกล่าว

“ฉันอยากให้ stealthing ถูกบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าอาชญากรรมแบบนี้มีอยู่จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงและเด็กสาวรู้ว่าตนเองคือเหยื่อของพฤติกรรมนี้ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายของเรา และพวกเขาสามารถแจ้งความได้”

Downblousing

Woman buttons her shirt and a smartphone hovers over against a background of eyes. Images: Getty Images

BBC

 

ภาษายังสะท้อนความรู้สึกของผู้หญิงถึงความไม่ปลอดภัยยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

ร่างกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศฉบับใหม่ที่เสนอโดยนาโอมิ ลอง อดีตรัฐมนตรียุติธรรมไอร์แลนด์เหนือ ได้ถูกตราเป็นกฎหมายของไอร์แลนด์เหนือเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ลอง คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากบีบีซีให้อยู่ในทำเนียบ 100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลก ประจำปี 2022

กฎหมายฉบับนี้มีการบรรจุคำศัพท์ใหม่ขึ้นหลายคำ เช่น downblousing ซึ่งหมายถึงการแอบถ่ายหน้าอกผู้หญิงโดยไม่ได้รับความยินยอม

ลอง บอกว่า “นี่คือการคุกคามอย่างหนึ่ง…เป็นความพยายามสร้างความอับอาย ด้อยค่าผู้หญิง และสร้างความหวาดกลัว”

เธออธิบายว่า ในอดีตไม่มีการบัญญัติการก่ออาชญากรรมรูปแบบนี้ในกฎหมาย ทำให้ทั้งเหยื่อและตำรวจไม่รู้จะเอาผิดต่อพฤติกรรมนี้อย่างไร

Naomi Long smiles as she speaks into a microphone against a yellow background

Neil Harrison
นาโอมิ ลอง ผลักดันให้การการแอบถ่ายหน้าอกผู้หญิงเป็นความผิดทางอาญาในไอร์แลนด์เหนือ

 

“มันน่าคับแค้นใจมากเวลาที่คุณถูกล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งทำให้วิตกจริตและความอับอาย แต่เมื่อคุณไปแจ้งความ ตำรวจกลับบอกว่าไม่แน่ใจว่าสิ่งที่พวกเธอถูกกระทำถือเป็นอาชญากรรมหรือไม่”

ไอร์แลนด์เหนือถือเป็นชาติแรกในสหราชอาณาจักรที่กำหนดให้การแอบถ่ายหน้าอกผู้หญิงเป็นความผิดทางอาญา และเรียกร้องให้อังกฤษและเวลส์ดำเนินรอยตาม

ลองกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ภาษามีความสำคัญ การบรรยายสิ่งเหล่านี้ (การล่วงละเมิดทางเพศ) มีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้สังคมมีชื่อเรียกสิ่งที่พวกเขารู้ว่าเป็นสิ่งผิด แต่มักไม่สามารถเรียกด้วยคำที่เฉพาะเจาะจงได้”

Marital rape

A man holds the neck of a woman against a backdrop of bedsheets. Images: Getty Images

BBC

 

ในการทำงานแต่ละวัน ลาเมีย ลอตฟีย์ ต้องรับรู้เรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิงอียิปต์ ซึ่งหลายครั้งเป็นกรณีการถูกข่มขืนจากคู่สมรส (marital rape)

เธอเล่าว่า “ปัญหาของเรื่องนี้คือการที่ผู้หญิงเองอาจไม่ตระหนักว่านี่คือความรุนแรงทางเพศอย่างหนึ่ง”

ในฐานะหัวหน้าโครงการ New Women Foundation ที่ทำงานเพื่อสิทธิสตรีในอียิปต์ ลอตฟีย์ มักต้องเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัว รวมทั้งจัดหาที่พักพิงให้หญิงที่ถูกทารุณกรรม

รายงานในปี 2018 ขององค์การอนามัยโลกบ่งชี้ว่า 30% ของผู้หญิงอายุ 15-49 ปีที่แต่งงานแล้วหรือมีคู่รัก เคยถูกอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ

ในอียิปต์ผู้ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานข่มขืนต้องเผชิญโทษรุนแรง ตั้งแต่จำคุกตลอดชีวิต ไปจนถึงการประหารชีวิต แต่การข่มขืนคู่สมรสยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

องค์กรของลอตฟีย์พยายามช่วยร่างกฎหมายที่บัญญัติเรื่องการข่มขืนคู่สมรสให้เป็นความผิดทางอาญา และมีการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้รัฐสภาพิจารณาเป็นครั้งที่สองแล้ว และเธอก็รอคอยให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภา

ลอตฟีย์ชี้ว่า การข่มขืนเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับและมีบทลงโทษ ดังนั้นจึงยังมีกระแสต่อต้านการใช้คำว่า “การข่มขืนคู่สมรส” เพราะเมื่อบัญญัติคำนี้ให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายก็จะเป็นการประณามผู้ชายในทันที ดังนั้นจึงมีความพยายามจากผู้ชายที่พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้”

Lafta Lofty holds a microphone while speaking to a room

Lamya Lofty
ลาเมีย ลอตฟีย์ รณรงค์ให้ “การข่มขืนคู่สมรส” เป็นสิ่งผิดกฎหมายในอียิปต์

 

แม้การข่มขืนคู่สมรส จะเป็นคำแสลงหูที่มักถูกเพิกเฉยจากสังคมอียิปต์ราวกับว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่จริง แต่จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการฉายละครโทรทัศน์ในอียิปต์เรื่อง Newton’s Cradle เมื่อปี 2020 และมีฉากที่สามีบังคับให้ภรรยามีเพศสัมพันธ์ด้วย

ลอตฟีย์เล่าว่านี่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากออกมาเปิดเผยเรื่องที่ตัวเองตกเป็นเหยื่อการข่มขืนคู่สมรสแบบในละคร

ดร.ทรานเชส ชี้ว่าบทบาทของภาษาในกรณีนี้คือช่วยสร้างความรู้สึกร่วมของผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน

เธอคิดว่าคำศัพท์เหล่านี้ช่วยให้ผู้หญิงได้เห็นว่าประสบการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่ได้เจอมา ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับพวกเธอคนเดียว

“การบัญญัติศัพท์เรียกสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามันคือสิ่งที่ผู้หญิงคนอื่นเคยประสบกับเรื่องแบบเดียวกัน”

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

BBC 100 Women logo 2022

BBC

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว