วิคเตอร์ บูท : สหรัฐฯ แลกตัว “พ่อค้าความตาย” ที่ไทยจับส่ง กับนักบาสหญิงอเมริกันในคุกรัสเซีย

 

นายบูทถูกคุมขังในประเทศไทย

Getty Images
นายบูทถูกคุมขังในประเทศไทย

 

วิคเตอร์ บูท เป็นหนึ่งในพ่อค้าอาวุธสงครามชื่อกระฉ่อนคนหนึ่งของโลก เขาเคยถูกจองจำในประเทศไทย ก่อนถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปสหรัฐฯ

ล่าสุด เขากลายเป็นข่าวอีกครั้ง หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ยอมปล่อยตัวเขาเพื่อแลกตัวกับนักบาสเก็ตบอลหญิงชาวอเมริกันชื่อดัง บริตนีย์ ไกรเนอร์ ที่ถูกรัสเซียคุมขัง

น.ส. ไกรเนอร์ ถูกรัสเซียคุมขังมาตั้งแต่เดือน ก.พ. หลังเจ้าหน้าที่สนามบินในกรุงมอสโกอ้างว่า พบน้ำมันกัญชาในสัมภาระของเธอ ขณะที่เธอกำลังจะขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับสหรัฐฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันในรัสเซีย

มีข่าวลือมาหลายเดือนแล้วตามการรายงานของสื่อสหรัฐฯ ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พยายามเจรจาขอให้รัสเซียปล่อยตัว น.ส. ไกรเนอร์ เพื่อแลกตัวกับอิสรภาพของบูท

อดีตเจ้าหน้าที่ทหารอากาศของสหภาพโซเวียตคนนี้ สร้างวีรกรรมไว้มากมาย จนเป็นแรงบันดาลใจเกิดเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งยิ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเขา เช่นเดียวกับสมญานาม “พ่อค้าแห่งความตาย”

วิคเตอร์ บูท เป็นใคร แล้วประเทศไทยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร

ทางการไทยส่งบูทไปให้สหรัฐฯ ในปี 2010 หลังปฏิบัติการล่อซื้อของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ หรือดีอีเอ เมื่อปี 2008

สื่อมวลชนไทยหลายรายอ้างรายงานของตำรวจไทย ลงรายละเอียดปฏิบัติการล่อซื้อดังกล่าวว่า อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของแอฟริกาใต้ ซึ่งทำงานให้กับดีอีเอ ล่อซื้ออาวุธมากมายจากนายบูท ทั้ง มิสไซล์ภาคพื้นสู่อากาศ 100 ลูก, ปืนอาก้า หรือ AK-47 จำนวน 20,000 กระบอก, ระเบิดมือ 20,000 ลูก, ปืนครก 740 กระบอก, ปืนยาวซุ่มยิง 2,350 กระบอก, ระเบิด ซีโฟร์ จำนวน 5 ตัน และเครื่องกระสุนอีก 10 ล้านนัด โดยหลอกว่าจะเอาไปให้กองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย หรือ ฟาร์ก

หลังจากทั้งสองฝ่ายหารือกันเรื่องการขนส่งอาวุธได้ไม่นาน บูทได้เดินทางมายังประเทศไทย และถูกทางการไทยจับกุมตัว ก่อนจะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัสเซีย

ไทยส่งตัวบูทให้สหรัฐฯ ในปี 2010

Getty Images
ไทยส่งตัวบูทให้สหรัฐฯ ในปี 2010

 

บูท อ้างว่า เขาเป็นเพียงนักธุรกิจที่เข้ามาทำธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเขาตกเป็นเหยื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรักปรำว่าเขาพยายามติดอาวุธให้กลุ่มกบฏในโคลอมเบีย

แน่นอนว่า คณะลูกขุนในสหรัฐฯ ไม่เชื่อเรื่องราวของเขา มีความเห็น เมื่อ เม.ย. 2011 ว่าเขามีความผิดฐานสมคบคิดสังหารชาวอเมริกัน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงส่งขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน และช่วยเหลือองค์กรก่อการร้าย และถูกศาลตัดสินจำคุกเขานาน 25 ปี

การตัดสินคดี บูท ใช้เวลาพิจารณานาน 3 สัปดาห์ โดยอัยการระบุว่า อาวุธที่บูธพยายามขายให้กบฎในโคลอมเบีย จะถูกนำไปใช้สังหารนักบินอเมริกันที่ทำงานกับรัฐบาลโคลอมเบีย

เส้นทางสู่พ่อค้าความตาย

บูท เป็นชาวรัสเซียที่เกิดในทาจิกิสถาน ในยุคสหภาพโซเวียต เขาเริ่มอาชีพในอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศในช่วงปี 2533 ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

หนังสือ Merchant of Death หรือ พ่อค้าความตาย (2007) ที่เขียนโดย ดักกลาส ฟาราห์ และสตีเฟน บรอน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ระบุว่า บูท สร้างธุรกิจขึ้นมาจากเครื่องบินกองทัพที่ถูกทิ้งไว้ที่ลานบิน ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

“สหประชาชาติได้เปิดโปงบูธ ในฐานะศูนย์กลางเครือข่ายใยแมงมุมของเหล่าพ่อค้าอาวุธ พ่อค้าเพชร และปฏิบัติการผิดกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้สงครามยังดำรงอยู่”

Getty Images
“สหประชาชาติได้เปิดโปงบูท ในฐานะศูนย์กลางเครือข่ายใยแมงมุมของเหล่าพ่อค้าอาวุธ พ่อค้าเพชร และปฏิบัติการผิดกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้สงครามยังดำรงอยู่”

 

บูท ใช้เครื่องบินของกองทัพ เช่น แอนโทนอฟ (Antonovs) และ อิลยูชิน (Ilyushin) พร้อมลูกเรือ เพื่อขนส่งสินค้าทั่วโลก และยังขายเครื่องบินและลูกเรือให้ผู้ที่สนใจซื้อด้วย

ตอนที่ศาลสหรัฐฯ ตัดสินความผิดของบูท เขามีอายุ 45 ปี

เขาเริ่มขนถ่ายอาวุธสงครามผ่านบริษัทที่ถูกตั้งไว้เป็นฉากหน้า ไปยังพื้นที่สมรภูมิต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วแอฟริกา

สหประชาชาติระบุว่า บูท เป็นคนใกล้ชิดของอดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ ที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในปี 2012 จากการมีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอน

“เขาเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า และนักขนส่งอาวุธ และแร่ธาตุ เขายังสนับสนุนระบอบของอดีตประธานาธิบดีเทย์เลอร์ เพื่อบั่นทอนสันติภาพในเซียร์ราลีโอน และหาประโยชน์จากช่องทางเข้าถึงเพชร” เอกสารของสหประชาชาติ ระบุ

สื่อในตะวันออกกลาง รายงานว่า บูท ยังเป็นพ่อค้าอาวุธให้กับกลุ่มอัลกออิดะห์ และตาลีบัน อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ทางการยังเชื่อว่า เขาเป็นผู้ติดอาวุธให้สองฟากที่กำลังสู้รบในสงครามกลางเมืองในแองโกลา และสนับสนุนอาวุธให้เหล่าแกนนำกลุ่มติดอาวุธ และรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐแอฟริกากลาง  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซูดาน ไปจนถึงลิเบีย

แลกตัวนักโทษกับนักบาสเก็ตบอลหญิงชื่อดัง บริตนีย์ ไกรเนอร์ ที่ถูกรัสเซียคุมขัง

Getty Images
นักบาสเก็ตบอลหญิงชื่อดัง บริตนีย์ ไกรเนอร์ ที่ถูกรัสเซียคุมขัง

 

บูท ให้สัมภาษณ์กับสถานีแชนแนลโฟร์ นิวส์ ในปี 2009 โดยปฏิเสธการทำธุรกรรมใด ๆ กับอัลกออิดะห์ และตาลีบัน

แต่เขายอมรับว่า ขนส่งอาวุธไปอัฟกานิสถานในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990s โดยอ้างว่า ส่งอาวุธเหล่านั้นให้ผู้บัญชาการทหาร เพื่อต่อสู้กับตาลีบัน

เขายังอ้างว่า ได้ช่วยรัฐบาลฝรั่งเศสขนส่งสินค้าไปยังรวันดา ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และขนส่งกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติด้วย

แม้กระนั้น หน่วยงานด้านกฎหมายไล่ล่าเขามาโดยตลอดจนถึงช่วงทศวรรษที่ 2000s เขาจึงย้ายออกนอกประเทศเบลเยียม ที่เป็นถิ่นพำนักของเขาในเวลานั้น ในปี 2002 หลังทางการออกหมายจับเขา

เชื่อกันว่า บูท เดินทางไปทั่วโลกด้วยนามแฝงหลายชื่อ โดยเดินทางผ่านหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอฟริกาใต้ ก่อนจะปรากฏตัวอีกครั้งในรัสเซีย เมื่อปี 2003

ในปีเดียวกันนั้น ปีเตอร์ เฮน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักร เป็นผู้ตั้งฉายาให้บูทว่า “พ่อค้าความตาย” หลังได้อ่านรายงานเกี่ยวกับตัวบูธ

“บูทเป็นผู้นำพ่อค้าความตาย เป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ ที่จัดส่งเครื่องบิน และจัดหาเส้นทางขนส่งอาวุธสงคราม… จากยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะบัลแกเรีย โมลโดวา และยูเครน ไปยังไลบีเรียและแองโกลา” เฮน กล่าว

“สหประชาชาติได้เปิดโปงบูท ในฐานะศูนย์กลางเครือข่ายใยแมงมุมของเหล่าพ่อค้าอาวุธ พ่อค้าเพชร และปฏิบัติการผิดกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้สงครามยังดำรงอยู่”

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว