ยานอวกาศโอไรออนกลับโลกสำเร็จ หลังโคจรรอบดวงจันทร์ นำร่องส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง

องค์การนาซาได้พายานอวกาศโอไรออน กลับสู่โลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ ที่ใช้เวลาเกือบ 26 วัน

แคปซูลของยานอวกาศโอไรออน ได้แตะพื้นโลกที่มหาสมุทรแปซิฟิก หลังเดินทางกลับสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ก่อนชะลอความเร็วการร่วงหล่นด้วยร่มชูชีพ

ภารกิจของยานอวกาศโอไรออนครั้งนี้ เป็นการทดสอบเท่านั้น จึงยังไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย แต่ครั้งต่อไป องค์การนาซา มุ่งจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง

คาดว่า ภารกิจครั้งหน้าจะเริ่มในช่วงปลายปี 2024 ตามติดด้วยภารกิจในปี 2025 และ 2026 เพื่อส่งมนุษย์ไปย่ำพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง

ยานโอไรออนกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย
EPA ยานโอไรออนกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

สำหรับยานอวกาศโอไรออน ในภารกิจชื่อ อาร์ทิมิส นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยบิล เนลสัน ผู้บริหาร ระบุว่า “ช่วงภารกิจอะพอลโล เราทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้น”

“เราจะทำสิ่งนั้นอีกครั้ง ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างออกไป เพราะครั้งนี้ เราจะกลับไปดวงจันทร์ เพื่อหาวิธีอยู่อาศัย ทำงาน สร้างนวัตกรรม และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อสำรวจห้วงอวกาศให้ไกลยิ่งขึ้น”

“แผนการคือการเตรียมความพร้อมส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2030s และไปให้ไกลกว่านั้น”

นาซาระบุว่า การกลับมาสู่โลกโดยสวัสดิภาพของยานอวกาศโอไรออน ถือเป็น “เป้าหมายอันดับ 1” ของภารกิจ

ยานอวกาศโอไรออน เดินทางกลับจากดวงจันทร์ และเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 4 หมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่ด้วยเกราะกันความร้อนที่หนา ทำให้แคปซูลยานอวกาศคงสภาพอยู่ได้ ไม่แตกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการเตรียมส่งนักบินอวกาศเดินทางไปพร้อมยานอวกาศในอนาคต

ร่มชูชีพชะลอการตก
EPA ร่มชูชีพชะลอการตก

แคปซูลยานอวกาศโอไรออน ตกลงมหาสมุทร ไม่ไกลจากเกาะกัวดาลูปของเม็กซิโก ก่อนที่ทีมเก็บกู้จะเดินทางเข้าไปตรวจสอบความเสียหายของยานอวกาศต่อไป

รู้จักภารกิจ ” อาร์ทิมิส 1″

ภารกิจภายใต้ชื่อ “อาร์ทิมิส 1” (Artemis I ) เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของเส้นทางประวัติศาสตร์สายใหม่ ที่จะนำมนุษยชาติหวนคืนไปประทับรอยเท้าบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง หลังร้างลาไปนานถึงครึ่งศตวรรษ นับแต่ภารกิจอะพอลโล 17 เมื่อปี 1972 สิ้นสุดลง

นอกจากจะเป็นภารกิจเพื่อการสำรวจอวกาศแล้ว โครงการอาร์ทิมิส 1, 2, และ 3 ยังเป็นภารกิจเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมอเมริกัน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้หญิงและคนผิวสีเชื้อชาติต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในแวดวง STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, คณิตศาสตร์) ที่ผู้ชายผิวขาวครอบครองอยู่ในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ภารกิจอาร์ทิมิสทั้งหมด อาจใช้งบประมาณสูงถึง 93,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงหลักปักฐานสร้างอาณานิคมต่างดาวให้มนุษย์ได้อยู่อาศัยกันในระยะยาว โดยเริ่มจากฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ ซึ่งจะปูทางไปสู่การนำมนุษย์เหยียบดาวอังคารได้ภายในช่วงทศวรรษ 2030 หรือไม่เกิน 20 ปีข้างหน้านี้
ดังนั้น ภารกิจอาร์ทิมิส 1 และ 2 จึงเป็นเสมือนการ “ซ้อมใหญ่” สำหรับภารกิจอาร์ทิมิส 3 ซึ่งจะนำมนุษย์อวกาศหญิงและชาวอเมริกันที่ไม่ใช่คนผิวขาวคนแรก ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ภายในปี 2025 เป็นอย่างเร็ว

แม้ภารกิจอาร์ทิมิส 1 จะยังไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย แต่มีการนำอุปกรณ์ทดสอบต่าง ๆ ที่จะช่วยตระเตรียมการเดินทางในรอบหน้าให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บรรจุเอาไว้ในตัวยานที่แคปซูลของลูกเรือและที่ส่วนของสัมภาระเพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์

มีการใช้หุ่นจำลองแทนมนุษย์อวกาศในที่นั่งลูกเรือ ซึ่งหุ่นนี้สวมชุดป้องกันที่ได้รับการออกแบบใหม่ ทั้งยังติดตั้งเซนเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนและปริมาณรังสีอันตรายที่มาสัมผัสร่างกาย เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่เยือนดวงจันทร์ในอนาคต

ภารกิจอาร์ทิมิส 1 ใช้เวลาทั้งหมด 25 วัน โดยจรวด SLS ที่นำส่งยานนั้น ถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่และทรงพลังเป็นพิเศษยิ่งกว่าที่เคยมีมา เพื่อรองรับภารกิจสำรวจอวกาศที่ยาวนานและต้องขนสัมภาระจำนวนมาก โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุดถึง 95,000 กิโลกรัม ในการทะยานขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก

เหตุใดต้องใช้เวลาถึงครึ่งศตวรรษเพื่อกลับไปดวงจันทร์ ?

ภารกิจอาร์ทิมิส 1 สำเร็จลงด้วยดี เป็นการเดินหน้าภารกิจอาร์ทิมิส 2 ในปี 2024 โดยในคราวนี้จะทดลองส่งมนุษย์อวกาศให้เดินทางไปกับยานโอไรออนด้วย แต่จะยังคงทำการทดสอบเพียงแค่โคจรรอบดวงจันทร์โดยไม่ลงจอด

ส่วนภารกิจอาร์ทิมิส 3 ที่จะเกิดขึ้นในสองปีต่อมา จะส่งมนุษย์อวกาศ 4 คนกลับไปเยือนดวงจันทร์ โดยเลือกผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติเพียง 2 คน ลงเหยียบพื้นและเดินบนดวงจันทร์

มนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 50 ปีก่อน
NASA/JSC/ASU/@ANDYSAUNDERS_1 มนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

นาซาได้วางภารกิจให้มนุษย์อวกาศที่กลับไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี ออกสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตั้งฐานที่มั่นในระยะยาว รวมถึงการเข้าไปสำรวจในเงามืดบริเวณแอ่งหลุมรอบขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำแข็งที่คาดว่า จะนำมาใช้บริโภค รวมทั้งใช้สกัดเอาออกซิเจนเพื่อทำอากาศหายใจ และอาจสกัดเอาไฮโดรเจนจากน้ำแข็งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย

มนุษย์ย่ำลงพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 1972 ในปฏิบัติการอะพอลโล 17 โดยจีน เคอร์นาน และแฮร์ริสัน ชมิตต์ ใช้เวลา 3 วันอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนเดินทางกลับสู่โลก

หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดมนุษยชาติถึงต้องประวิงเวลานานนับครึ่งศตวรรษ กว่าจะเดินทางกลับไปเยือนดวงจันทร์ได้อีกครั้ง คำถามนี้ทำให้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดกล่าวหาว่า เหตุการณ์ที่มนุษย์อวกาศชาวอเมริกันในภารกิจอะพอลโลลงเดินบนดวงจันทร์นั้น เป็นเพียงการถ่ายทำภาพยนตร์และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง

…………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว