นักร้องเอไอกำลังผงาดในวงการเพลงเค-ป็อป

 

Eternity is a K-pop band generated using AI technology - all her members are virtual

Pulse9
Eternity วงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

 

นับตั้งแต่ปล่อยซิงเกิลแรกที่ชื่อ I’m Real ในปี 2021 วงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ที่ชื่อ Eternity ก็มีผู้รับชมหลายล้านครั้งทางออนไลน์

พวกเธอร้อง เต้น และมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงไม่ต่างจากนักร้องหญิงวงอื่น ๆ

ทว่าสิ่งที่พวกเธอไม่เหมือนกับศิลปินเค-ป็อปชื่อดังส่วนใหญ่ก็คือสมาชิกทั้ง 11 คนของวงไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ แต่เป็นตัวละครเสมือนจริงยิ่งยวดที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ

พัค จีอึน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัทเทคโนโลยีเอไอ Pulse9 ผู้สร้างเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ กล่าวว่า “ธุรกิจที่กำลังทำกับวง Eternity เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่”

“ความได้เปรียบของการมีศิลปินเสมือนจริงคือศิลปินเหล่านี้ไม่มีปัญหาเหมือนที่ศิลปินเค-ป็อปที่เป็นมนุษย์ต้องเผชิญ เช่น ข้อจำกัดทางกายภาพ หรือความตึงเครียดทางจิตใจ”

ช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาเพลงเค-ป็อปเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่เกาหลีใต้ และศิลปินจำนวนมากได้ขึ้นแท่นซูเปอร์สตาร์ที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นทั่วโลก

ความสำเร็จนี้ทำให้เจ้าของธุรกิจสื่อบันเทิงเกาหลีใต้พยายามมองหาช่องทางเพื่อขยายความสำเร็จนี้ด้วยการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น เทคโลโลยีเอไอ, ดีปเฟก (deepfake) และอวตาร (avatar)

K-pop superstars Blackpink are also using the metaverse to reach a wider audience

YG Entertainment
ศิลปินเค-ป็อปหลายวงหันมาใช้เทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริงเพื่อให้เข้าถึงแฟนเพลงได้มากขึ้น

 

การสร้างวง Eternity ใช้เทคโนโลยีเอไอแบบระบบเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ซึ่งทำงานโดยจำลองเครือข่ายประสาทในสมองมนุษย์ เพื่อทำให้สามารถเข้าใจและเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมากที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงแรก บริษัทจะสร้างใบหน้าจากจินตนาการขึ้นมา 101 ใบหน้า โดยแบ่งบุคลิกออกเป็นลักษณะต่าง ๆ เช่น น่ารัก เซ็กซี่ ไร้เดียงสา และชาญฉลาด

จากนั้นก็ให้แฟนเพลงลงคะแนนเลือกบุคลิกที่พวกเขาชื่นชอบมากที่สุดเป็นต้นแบบให้นักออกแบบของ Pulse9 สร้างสรรค์นักร้องเสมือนจริงเหล่านี้ขึ้นมา

ในการพูดคุย หรือพบปะกับแฟนเพลงทางออนไลน์ บริษัท Pulse9 ก็จะใช้ศิลปินนิรนามในสังกัดมาสวมบทนักร้องวง Eternity

ในขณะที่เทคโนโลยีดีปเฟกกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความกังวลเรื่องการนำไปใช้ปลอมแปลงภาพบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เช่น การตัดต่อใบหน้าผู้หญิงไปใส่ในหนังลามกอนาจาร หรือการนำใบหน้าผู้นำรัสเซียและผู้นำยูเครนไปใช้เผยแพร่ข่าวปลอมทางโซเชียลมีเดีย

พัค จีอึน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ฉันพยายามพูดอย่างชัดเจนเสมอว่านี่คือตัวละครจากจินตนาการ” เธออธิบายว่า Pulse9 สร้างศิลปินเสมือนจริงเหล่านี้โดยยึดตามแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมเอไอของสหภาพยุโรป (อียู)

Virtual characters, like this one from Eternity, can be 'more human than humans,' says tech businesswoman Park Jieun

Pulse9
พัค จีอึน ชี้ว่าข้อได้เปรียบของศิลปินเอไอคือไม่มีปัญหาเหมือนที่ศิลปินมนุษย์ต้องเผชิญ เช่น ข้อจำกัดทางกายภาพ หรือความตึงเครียดทางจิตใจ

 

นอกจากนี้ เธอยังชี้ว่าข้อดีอีกอย่างของวงดนตรีที่สร้างจากเทคโนโลยีเอไอ คือการที่ผู้สร้างสามารถควบคุมภาพลักษณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมาได้

“เรื่องอื้อฉาวที่ศิลปินเค-ป็อปที่เป็นมนุษย์ก่อขึ้นอาจเป็นเรื่องที่สร้างความบันเทิง แต่มันก็เป็นอันตรายต่อธุรกิจด้วย” พัค จีอึน กล่าว

เธอเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ในทางที่ดี และลดความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะที่ศิลปินเกิดความกดดันจากการทำงานในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความทุ่มเทสูงนี้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวสลดของศิลปินเกาหลีใต้ที่ตัดสินใจปลิดชีพจากแรงกดดันในอาชีพและการถูกข่มเหงรังแกทางโซเชียลมีเดียหลายคน เช่น ซอลลี่ อดีตสมาชิกวง f(x) และคู ฮารา จากวง KARA

ตัวช่วยหรือมาแทนที่

สำหรับมนุษย์ การจะได้ก้าวขึ้นเป็นศิลปินเค-ป็อปได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก

ฮัน เยวอน วัย 19 ปี เป็นนักร้องนำเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ที่ชื่อ mimiirose ในสังกัด YES IM Entertainment

Han Yewon is a human lead vocalist of K-pop girl group mimiirose

BBC
ฮัน เยวอน นักร้องนำวง mimiirose บอกว่ากว่าจะได้เป็นศิลปินที่มีผลงานเพลงของตัวเองจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก

 

เธอใช้เวลาเกือบ 4 ปีในฐานะศิลปินฝึกหัด และต้องรอโอกาสท่ามกลางการแข่งขันที่สูงเพื่อให้รับคัดเลือกเป็นศิลปินที่มีผลงานเพลงของตัวเอง

“ฉันฝึกซ้อมวันละกว่า 12 ชั่วโมง แต่ถ้าคุณยังทำได้ไม่ดีพอ คุณก็จะต้องอยู่ซ้อมนานขึ้น”

การที่ศิลปินเอไอกำลังหลั่งไหลเข้าสู่วงการเค-ป็อป ทำให้เยวอนรู้สึกกังวลใจ

“เพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปมากในระยะหลัง ฉันกลัวกว่าตัวละครเสมือนจริงจะเข้ามาแทนที่ศิลปินที่เป็นมนุษย์” เธอบอก

Band members' faces are created using AI technology

Pulse9
ใบหน้าสมาชิกวง Eternity ที่สร้างจากเอไอ

 

Emergen Research บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดคาดว่า ตลาดมนุษย์ดิจิทัลและอวตารทั่วโลกจะมีมูลค่าแตะ 527,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030

ขณะเดียวกันวงเค-ป็อปอื่น ๆ ได้เปิดรับเทคโนโลยีอวตารอย่างรวดเร็ว และธุรกิจนี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีค่ายธุรกิจเค-ป็อปรายใหญ่ที่สุด 4 บริษัทได้นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้กับศิลปินของตน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแฟนเพลงได้ทั่วโลก และไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาแบบที่มนุษย์จริงมี

ยกตัวอย่างวง aespa ที่มีนักร้องหญิง 4 คน และแต่ละคนต่างมีศิลปินเอไอเป็นตัวแทนของตัวเองเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับแฟน ๆ ในโลกเสมือนจริง

Girl band aespa has four human members and four virtual avatars

SM Entertainment
วง aespa กับศิลปินเอไอตัวแทนของพวกเธอ

 

ขณะที่วง Blackpink ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้ารางวัลการแสดงในโลกเสมือนจริงยอดเยี่ยม (Best Metaverse Performance) ของเอ็มทีวีที่มีการมอบให้เป็นครั้งแรกในปี 2022

ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด มุน ซูอา และเพื่อนวง Billlie ของเธอต้องยกเลิกการแสดงสดและการพบปะแฟนเพลง ด้วยเหตุนี้ค่ายเพลงต้นสังกัดจึงสร้างภาพอวตารของพวกเธอขึ้นเพื่อพบปะกับแฟนเพลงในโลกเสมือนจริง

แม้ มุน ซูอา จะรู้สึกทึ่งที่ตัวละครอวตารจะดูเหมือนพวกเธอมาก แต่เธอยังชอบที่จะพบหน้าแฟนเพลงในโลกแห่งความจริงมากกว่า

“ฉันไม่คิดว่ามันคือสิ่งคุกคาม…ที่จะมาแทนที่พวกเรา” เธอกล่าว

All-human band Billlie took advantage of the metaverse to communicate with fans during the pandemic

MYSTIC STORY
ค่ายเพลงต้นสังกัดของวง Billlie สร้างภาพอวตารของพวกเธอขึ้นเพื่อพบปะกับแฟนเพลงในโลกเสมือนจริงช่วงโควิดระบาด

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้สร้างความเป็นห่วงเชิงจริยธรรมในอุตสาหกรรมเพลงเค-ป็อป โดยเจฟฟ์ เบนจามิน คอลัมนิสต์เพลงเค-ป็อปของนิตยสารบิลบอร์ดให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เทคโนโลยีนี้อาจทำให้ศิลปินที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถควบคุมภาพลักษณ์ของตนเองได้ และอาจถูกนำภาพลักษณ์นี้ไปแสวงหาประโยชน์

เร็วเกินจะตัดสิน

ลี จีซู นักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์วัย 19 ปี เป็นแฟนตัวยงของวง Billlie มาตั้งแต่วงเปิดตัวในปี 2019

แต่การที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบชัดเจนเพื่อป้องกันการข่มเหงรังแกทางออนไลน์ ทำให้บางครั้งโลกเสมือนจริงอาจมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อทั้งแฟนเพลงและตัวศิลปินเค-ป็อป ที่ต้องเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งและสร้างความเสียหายต่อศิลปินที่ประสบความสำเร็จ

ลี จีซู คือหนึ่งในผู้ที่เจอกับประสบการณ์ลักษณะนี้ “ฉันรู้สึกเครียดเวลาที่เห็นคอมเมนต์ให้ร้ายวง Billlie ในโลกออนไลน์ มันคือการโจมตีสิ่งที่ฉันชอบ นี่จึงทำให้ฉันรู้สึกเครียดและใจสลาย”

Billlie threw a party for their fans in the virtual world

SK Telecom
วง Billlie เปิดการแสดงให้แฟนเพลงชมในโลกเสมือนจริง

 

ช็อง ยู คิม จิตแพทย์ที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนในกรุงโซลกล่าวว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดได้ว่าศิลปินเอไอในโลกเสมือนจริงจะส่งผลกระทบต่อคนวัยหนุ่มสาวอย่างไร

ขณะที่เจฟฟ์ เบนจามิน มองว่า ศิลปินอวตารที่สร้างขึ้นจากเอไออาจช่วยแบ่งเบาความกดดันจากการทำงานหนักของศิลปินเค-ป็อปได้ อย่างไรก็ตามยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ว่า ศิลปินเสมือนจริงเหล่านี้จะเป็นแค่ความนิยมระยะสั้น หรือจะอยู่คู่วงการเพลงเค-ป็อปตลอดไป

Jisoo has been a dedicated Billlie fan since the group launched in 2019

BBC
ลี จีซู ชื่นชอบวง Billlie ที่เป็นมนุษย์มากกว่าภาพอวตาร

 

แต่สำหรับแฟนเพลงอย่างลี จีซูนั้น เลือกได้ไม่ยากว่าเธอชื่นชอบศิลปินที่เป็นมนุษย์มากกว่า

“พูดตรง ๆ ว่าถ้ามีคนถามว่าฉันจะเลือกดูวง Billlie ในโลกเมตาเวิร์สนาน 100 นาที หรือเลือกดูในโลกความเป็นจริง 10 นาที ฉันจะเลือกดูวง Billlie ตัวจริงเป็นเวลา 10 นาที”

ลี จีซู เชื่อว่าคนที่ชื่นชอบศิลปินที่เป็นมนุษย์จริงกับศิลปินเอไอนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสำหรับเธอนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะหลงรักภาพอวตารที่มาจากการตักตวงประโยชน์จากศิลปินเค-ป็อปที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขจริง ๆ

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว