โฆษกของขบวนการบีอาร์เอ็นเผยคณะทำงานของรัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกำลังอยู่ระหว่างการร่าง “โรดแมป” หรือแผนสันติภาพเพื่อยุติการสู้รบที่มีมาตั้งแต่ปี 2547 จนมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 7,000 คน
แถลงการณ์ที่ออกเมื่อ 10 ธ.ค. แตกต่างจากท่าทีเมื่อ 18 ต.ค. ที่โฆษกอีกคนของบีอาร์เอ็น หรือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani- BRN) ออกแถลงการณ์ประณามการลักพาตัว และสังหารสมาชิกของขบวนการในมาเลเซียเมื่อปลาย ก.ย.
อีกทั้งประณามการ “บังคับตรวจดีเอ็นเอ” เด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย โดยบอกว่าเป็นการ “สบประมาท” กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยและบีอาร์เอ็นที่ผ่านมาแล้ว 5 ครั้ง
ในเอกสารที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อสุดสัปดาห์นี้ นิมะตุลเลาะ บิน เสรี ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นโฆษกของการเจรจาบีอาร์เอ็น กล่าวว่า โรดแมปดังกล่าวเสนอ “การยุติความเป็นปรปักษ์ของทั้งสองฝ่ายบนเงื่อนไขการรับประกันความปลอดภัยและความคุ้มกันทางกฎหมาย เพื่อให้ตัวแทนบีอาร์เอ็นกลับภูมิลำเนาเพื่อปรึกษาหารือกับประชาชนและตรวจสอบความเป็นอยู่ของประชาชนที่ทนทุกข์ทรมานมายาวนาน”
เอกสารระบุว่า ชาวปาตานีร่วมกับบีอาร์เอ็นจะจับมือกัน “เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย การปกครองแบบกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐสภาพิเศษสำหรับชาวปาตานี”
แม้ว่าโรดแมปนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือ และรัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ บีอาร์เอ็นหวังว่าจะสามารถรายงานความคืบหน้าต่อชุมชนปาตานีก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการรอบต่อไปซึ่งรัฐบาลมาเลเซียจะอำนวยความสะดวก ภายใต้การนำของนายอันวา อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมาสู่กระบวนการสันติภาพสำหรับชาวปาตานี
- อัตลักษณ์มลายู แสดงออกทางวัฒนธรรมหรือมีนัยยะทางการเมือง
- LGBT: ชีวิตนอกรีตของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่ชายแดนใต้
- วิเคราะห์เหตุรุนแรงในตากใบ 4 จุด สั่นคลอนความสำเร็จช่วงหยุดยิงรอมฎอน
ไทย-บีอาร์เอ็น พบกันในยุโรป
นิมะตุลเลาะ เปิดเผยกับบีบีซีไทยเมื่อ 12 ธ.ค. ว่าโรดแมปดังกล่าวมาจากผลการหารือนอกรอบของคณะทำงานฝ่ายบีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายไทย ที่นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ในเมืองแห่งหนึ่งในทวีปยุโรปเมื่อ 7-9 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่มีผู้แทนจากมาเลเซียมาเข้าร่วม
แผนสันติภาพดังกล่าวประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ คือ การหยุดยิง (ceasefire) การปรึกษาหารือทางสาธารณะ (public consultation) และการหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน (political solution)
ในถ้อยแถลง บีอาร์เอ็นกล่าวว่าร่างดังกล่าวมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การหยุดยิง และการรับประกันความปลอดภัยและความคุ้มกันของตัวแทนบีอาร์เอ็นที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อหารือกับประชาชนในพื้นที่
นิมะตุลเลาะ บอกว่า ข้อเสนอทั้งหมดที่คณะทำงาน 2 ฝ่ายเสนอมา จะต้องถูกเสนอต่อให้ “ผู้ใหญ่” ของแต่ละฝ่ายรับทราบและเห็นชอบต่อไป
“ร่างความตกลงดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหารือและมีความสำคัญต่อการยุติความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในภาคใต้ของประเทศไทย
บีบีซีไทยอยู่ระหว่างติดต่อขอความเห็นจาก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ
สู้ไป-เจรจาไป
ความหวังใหม่เพื่อสันติภาพนี้ มีขึ้นหลังปฏิบัติการณ์ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุมของทางการไทย และการโจมตีเป้าหมายพลเรือนของผู้ก่อความไม่สงบ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อ 6 ธ.ค. เกิดเหตุระเบิดซ้ำลูกที่สองบริเวณเส้นทางรถไฟ ต.ท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยอยู่ห่างจากจุดที่เกิดระเบิดเมื่อ 3 ธ.ค.เพียง 400 เมตร เป็นเหตุให้พนักงาน และลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทยเสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 22 พ.ย. เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ที่บริเวณแฟลตตำรวจ สภ.เมือง จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นตำรวจ 1 นาย บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 36 คน สาหัส 2 ราย ถือเป็นเหตุระเบิดรถยนต์ครั้งครั้งที่ 2 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปีนี้ ซึ่ง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์วิเคราะห์ว่า เป็นการโจมตี “เชิงสัญลักษณ์” และ “ยกระดับความรุนแรง” หลังการเจรจาสันติภาพไร้ความคืบหน้า
- คาร์บอมบ์ลูก 2 ปี 65 เชื่อจงใจ “ยกระดับความรุนแรง”
- ระเบิด-วางเพลิงป่วน 3 จังหวัดใต้ 19 จุด มุ่งทำลายระบบเศรษฐกิจ
- รด. ชายแดนใต้ ฝึกหนักจนกล้ามเนื้อสลาย-ไตวาย
“เราพยายามเจรจาเพื่อให้ยุติความรุนแรงเหล่านี้ แต่นี่คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เราไม่สามารถบอกนักรบของเราให้ยุติกิจกรรมได้ หากเจ้าหน้าที่ไทยยังออกตามล่าพวกเรา พวกเราต้องป้องกันตัวเอง” นิมะตุลเลาะชี้แจงต่อคำถามว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นหรือไม่
บีอาร์เอ็นบอกว่า ตั้งแต่ปี 2503 บีอาร์เอ็นได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวปาตานี เอกราช การปลดปล่อย ความยุติธรรม และการยอมรับสิทธิการปกครองของชุมชนปาตานี โดยที่บีอาร์เอ็นไม่เคยปฏิเสธการพูดคุยสันติภาพ และสิ่งนี้พิสูจน์ได้จากการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นความต่อเนื่องของการพูดคุยสันติภาพในปี 2556 ภายใต้การอำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย
เมื่อ 31ต.ค. 2565 บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์เพื่อแจ้งให้ประชาชนชาวปาตานีทราบว่าความขัดแย้งในปาตานีจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างมีศักดิ์ศรีตามเจตนารมณ์ของการริเริ่มเบอร์ลิน ลงวันที่ 16 พ.ย. 2562 และหลักการทั่วไปของการเจรจาสันติภาพ กระบวนการลงวันที่ 31 มี.ค. 2565
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ม.ค. 2547 คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 7,000 ราย ทั้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคง พลเรือน และกองกำลังของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน
อยากเห็นสันติสุขโดยเร็ว
นิมะตุลเลาะบอกว่า อยากเห็นการลงนามของทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นในโรดแมปนี้ภายในสิ้นปีนี้ และอยากเห็นการนำแผนไปใช้ในทุกหัวข้อที่หารือกันภายในสิ้นปี 2566
“เราพร้อมที่จะกลับไปปาตานีเพื่อหารือกับประชาชนของเรา แต่ถ้าเราไม่ได้รับการยกเว้นทางกฎหมาย เราจะกลับไปได้อย่างไร” นิมะตุลเลาะกล่าวเป็นนัยถึงสมาชิกขบวนการที่หลบหนีความผิดตามกฎหมายไทยไปอยู่ต่างประเทศ
บีอาร์เอ็นกล่าวว่า การประชุมระหว่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็น ครั้งต่อไปในมาเลเซีย จะมีขึ้นในระหว่าง 20-21 ธ.ค. นี้ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมี ตัน ศรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกของฝั่งมาเลเซีย
มีการคาดการณ์กันว่าทางมาเลเซียอาจเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก ที่เคยชกเบ้าตานายกคนปัจจุบันในที่คุมขัง หลังนายอันวาร์ ถูกนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ขับออกจากพรรคและตั้งข้อหาหนัก
- บีอาร์เอ็นประณามการอุ้ม-ฆ่าสมาชิกในมาเลเซีย ชี้สั่นคลอนการพูดคุยสันติภาพ
- ชายแดนใต้ : “ความริเริ่มรอมฎอนเพื่อสันติสุข” คำมั่น 2 ฝ่ายที่รอการพิสูจน์
- รอมฎอน : บีอาร์เอ็น-รัฐบาลไทย ตกลงหยุดยิงในชายแดนใต้ช่วงถือศีลอด
- บีอาร์เอ็นแถลง 1 ปีพูดคุยสันติสุขฯ มาราปาตานียัน “ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ”
การเจรจาสันติภาพที่ยืดเยื้อ
การพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มกบฏที่เริ่มขึ้นในปี 2556 เพื่อนำสันติภาพมาหยุดชะงักหลังการรัฐประหารในประเทศไทยในอีกหนึ่งปีต่อมา
การเจรจาดำเนินต่อไปโดยไม่มีฝ่ายหลักรวมทั้งบีอาร์เอ็น
อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นเริ่มขึ้นในปี 2562 มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและมีความสำคัญ ซึ่งนำมาซึ่งความหวังที่จะยุติความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยหลังจากการประชุมหลายครั้ง
เมื่อต้น เม.ย. 2565 รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นตกลงหยุดปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ปาตานีในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมระหว่างวันที่ 3 เม.ย. ถึง 14 พ.ค. 2565 ในการเจรจาสันติภาพรอบที่ 4 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว