เอคโม่ (ECMO) “ปอดเทียม หัวใจเทียม” พยุงชีพผู้ป่วยวิกฤต

เครื่องเอคโม่ (extracorporeal membrane oxygenation หรือ ECMO) ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ปอดเทียม หัวใจเทียม” เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้พยุงชีพผู้ป่วยอาการวิกฤต โดยทำงานทดแทนปอดและหัวใจที่ทำงานผิดปกติจนไม่สามารถประคับประคองด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ เพื่อรอให้หัวใจและปอดได้รับการรักษาจนกระทั่งกลับมาทำงานเป็นปกติ

ทำงานอย่างไร

เอคโม่ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพิ่มระดับออกซิเจนและลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดจากภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยผู้ป่วยที่ปอดและหัวใจไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ

วิธีการนี้ช่วยให้หัวใจและปอดได้พักการทำงานและฟื้นตัวได้ดีขึ้น

Working ecmo machine in intensive care department
Getty Images เครื่องเอคโม่ ทำงานทดแทนปอดและหัวใจที่ทำงานผิดปกติจนไม่สามารถประคับประคองด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ

เมโย คลินิก (Mayo Clinic) ศูนย์การแพทย์ชั้นนำในสหรัฐฯ ระบุว่า วิธีนี้ทำโดยแพทย์จะสอดท่อที่มีความยืดหยุ่นเข้าหลอดเลือดดำ ให้เลือดไหลจากหัวใจข้างขวาเข้าเครื่องเอคโม่ เพื่อขจัดก๊าซ

คาร์บอนไดออกไซด์ แล้วเติมก๊าซออกซิเจนให้เลือดก่อนส่งกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง

ในกระบวนการนี้ แพทย์จะให้ยาระงับประสาทเพื่อช่วยให้คนไข้รู้สึกสบายตัวขึ้น และอาจให้ใช้เครื่องเอคโม่ได้ระหว่าง 2-3 วันไปจนถึง 2-3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้

ใช้กับคนไข้กลุ่มใด

แพทย์จะเครื่องเอคโม่ดูแลคนไข้อาการวิกฤตที่หัวใจและปอดต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว เช่น ผู้ป่วยโควิด ผู้มีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือการติดเชื้ออื่น ๆ รวมทั้งคนไข้ที่อยู่ระหว่างการรอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ หรือกำลังพักฟื้นจากการผ่าตัดดังกล่าว

เครื่องเอคโม่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่แพทย์ใช้พยุงชีพคนไข้ในกรณีที่วิธีการอื่นใช้ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์นี้ไม่ได้ช่วยรักษาโรค แต่ช่วยคนไข้ในยามที่ปอดและหัวใจไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในร่างกายได้เพียงพอ

อาจใช้เครื่องเอคโม่กับผู้มีอาการทางหัวใจดังต่อไปนี้:

  • หัวใจวาย หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction)
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (decompensated cardiomyopathy)
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis)
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)
  • ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (severe hypothermia)
  • อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ภาวะช็อคจากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไม่เพียงพอ

อาจใช้เครื่องเอคโม่กับผู้มีอาการทางปอดดังต่อไปนี้:

  • อาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome หรือ ARDS)
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism)
  • โรคโควิด-19
  • ไส้เลื่อนกะบังลมแต่กำเนิด (congenital diaphragmatic hernia)
  • ภาวะสูดสำลักขี้เทาในเด็กแรกเกิด (meconium aspiration)
  • ไข้หวัดใหญ่
  • ภาวะการหายใจล้มเหลว (respiratory failure)
  • ภาวะบาดเจ็บ (trauma)
Extracorporeal membrane oxygenation

Getty Images
เครื่องเอกโม่ช่วยให้หัวใจและปอดได้พักการทำงานและฟื้นตัวได้ดีขึ้น

มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

ความเสี่ยงที่มักเกิดขึ้นกับคนไข้ที่ใช้เครื่องเอคโม่มีอาทิ:

  • เลือดออก
  • ลิ่มเลือดอุดตัน (thromboembolism)
  • ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (coagulopathy)
  • การติดเชื้อ
  • ภาวะขาดเลือดที่มือ เท้า และขา (limb ischemia)
  • อาการชัก
  • โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) สมองอาจได้รับความเสียหายจากการขาดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองแตก

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว