

นักเคลื่อนไหวด้านสัตว์ป่าเตือนว่า ข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการลักลอบค้างาช้างได้นำไปสู่การค้าฟันฮิปโปโปเตมัสเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฮิปโปโปเตมัสสายพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นบัญชีว่า “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์” (vulnerable to extinction)
ตอนที่สหราชอาณาจักรประกาศการห้ามการค้างาช้างเกือบทั้งหมดเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์กรการกุศลด้านสวัสดิภาพสัตว์ป่าได้ศึกษาความเคลื่อนไหวในตลาดออนไลน์ที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
“เราพบการค้าฟันฮิปโปเพิ่มมากขึ้นในสหราชอาณาจักร ในช่วงหนึ่งเดือนหลังจากการห้ามการค้างาช้างเกือบทั้งหมดมีผลบังคับใช้” แฟรงกี โอซูก ผู้นำการเขียนรายงานที่เผยแพร่โดยบอร์น ฟรี (Born Free) เมื่อเดือน ก.ย. กล่าว
นี่คือ “หลักฐานที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า มีความต้องการฟันฮิปโปเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนฮิปโปตามธรรมชาติก็เผชิญกับการคุกคามอยู่” รายงานระบุ
บรรดานักวิจัยระบุว่า รูปแบบนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1989 ซึ่งทั่วโลกเห็นชอบร่วมกันในการห้ามการค้างาช้างเป็นครั้งแรก และก็มีความเข้มงวดขึ้น เพราะรัฐบาลต่าง ๆ ได้นำมาตรการใหม่ ๆ มาใช้ในการห้าม
เช่นเดียวกับงาช้าง ฟันและเขี้ยวของฮิปโปมักถูกใช้ในการแกะสลักเพื่อนำไปประดับตกแต่ง แต่ของพวกนั้นราคาถูกกว่า และหามาครอบครองได้ง่ายกว่า

ส่วนต่าง ๆ ของฮิปโปยังสามารถนำไปขายภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora –CITES) หรือ ไซเตส ได้ด้วย แต่การขายในต่างประเทศต้องมีใบอนุญาตการส่งออก
มีการคำนวณว่า ระหว่างปี 1975 ซึ่งไซเตสเริ่มมีการบันทึกสถิติ และปี 2017 มีการค้าฟันฮิปโปอย่างถูกกฎหมาย 770,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ก็ยังมีการค้าที่ผิดกฎหมายด้วย
ตามรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ระบุว่า ในปี 2020 ฟันฮิปโปอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกยึดไว้ได้บ่อยครั้งที่สุดในสหภาพยุโรป
- แพทย์ รพ.เด็กในสหรัฐฯ ช่วยชีวิตฮิปโปน้อยคลอดก่อนกำหนด
- “นอแรด” ที่หายไปกับการขยายตัวของมาเฟียข้ามชาติ
- ดีเอ็นเอชี้ แรดขนยาวอาจสูญพันธุ์เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ถูกมนุษย์ล่า
ฟิลิป มูรูที รองประธานมูลนิธิสัตว์ป่าแอฟริกา (Africa Wildlife Foundation) กล่าวว่า “มีกรณีที่สุนัขดมกลิ่นตรวจพบฟันฮิปโปตามสนามบินต่าง ๆ ในแอฟริกาในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น และการตรวจพบไม่ได้หมายความว่า มีการจับกุมทั้งหมด บางทีก็เพียงครึ่งหนึ่ง”
การศึกษาของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature–IUCN) ในปี 2016 ประเมินว่า มีประชากรฮิปโปธรรมดาทั่วโลกอยู่ระหว่าง 115,000-130,000 ตัว ลดลงราว 30% นับตั้งแต่ปี 1994
10 ประเทศในแอฟริกากลางและตะวันตก ระบุว่า ฮิปโปจะมีจำนวนลดลงอย่างมากอย่างต่อเนื่อง เพราะการล่าสัตว์และการเสื่อมโทรมของที่ดิน
พวกเขาได้เสนอให้มีการห้ามการค้าอย่างสิ้นเชิงในช่วงเข้าใกล้การประชุมไซเตสที่จัดขึ้นในปานามาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ตามกฎของไซเตส เรื่องนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการลดลงของประชากรมากกว่า 50% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการวิเคราะห์ของ IUCN ก็ไม่ได้สนับสนุนข้อสรุปนี้

ชาติในแอฟริกากลางและตะวันตก 10 ชาตินี้จึงได้เสนอแนวทางที่เรียกว่า “ความเห็นประกอบ” ซึ่งจะส่งผลให้มีการกำหนดโควตาเป็นศูนย์ในการค้าตัวอย่างสัตว์ป่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป หรือจากชาติต่าง ๆ ในแอฟริกาใต้และตะวันออก ซึ่งระบุว่า จำนวนประชากรฮิปโปยังคงอยู่ในระดับที่ดี
บางประเทศในแอฟริกาใต้และตะวันออก ได้แก่ แทนซาเนีย, ยูกันดา, แซมเบีย และซิมบับเว ยังเป็นที่มาของฮิปโปราว 3 ใน 4 จากจำนวน 13,909 ตัว ที่ถูกนำชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากฮิปโปเหล่านี้ไปขายระหว่างปี 2009-2018
โจอันนา สวาเบ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ (Humane Society International) ชี้ว่า แทบไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรักษาจำนวนฮิปโป
“แทบไม่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจำนวนประชากรที่แท้จริงของฮิปโปในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เลย” เธอกล่าว “ขณะที่ในเวลาเดียวกัน ประเทศเหล่านี้รู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับฮิปโปภายในดินแดนของตัวเอง ดังนั้น พวกเขาไม่ควรเพิกเฉย”
ฮิปโปมีอัตราการเกิดต่ำ โดยออกลูกเพียง 1 ตัวในแต่ละปี ดังนั้นการมีจำนวนประชากรฮิปโปที่ลดลงอาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฮิปโป
- ฮิปโปทุกตัวอาศัยอยู่ในแอฟริกา โดยมี 2 ประเภทคือ ฮิปโปธรรมดา (common hippo) ซึ่งคาดว่า มีประชากรราว 115,000-130,000 ในปี 2016 และฮิปโปแคระ (pygmy hippo) ซึ่งมีประชากรราว 2,000-3,000 ตัว
- ฮิปโปธรรมดาจัดอยู่ในประเภท “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์” ในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในปี 2016
- มีการค้าชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของฮิปโป 13,909 ตัว อย่างถูกกฎหมาย ระหว่างปี 2009-2018 โดย 3 ใน 4 ของฮิปโปเหล่านี้มีต้นกำเนิดอยู่ในแทนซาเนีย, ยูกันดา, แซมเบีย และซิมบับเว
- มีการค้าฟันฮิปโปอย่างถูกกฎหมายน้ำหนักรวม 770,000 กก. ระหว่างปี 1975-2017 แต่ไม่ทราบปริมาณการค้าอย่างผิดกฎหมาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่ากล่าวด้วยว่า จำเป็นต้องจับตามองการค้าฟันฮิปโปทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่างใกล้ชิด
ฮิปโปธรรมดาถูกขึ้นบัญชีในภาคผนวกที่ 2 ของไซเตส ซึ่งหมายความว่า อาจจะสูญพันธุ์ได้ ถ้าไม่มีการควบคุมการค้าอย่างเข้มงวด
10 ประเทศดังกล่าว ซึ่งกำลังพยายามให้มีการห้ามการค้าฟันฮิปโปทั่วโลก ระบุว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า “มีการปนเปกันระหว่างฟันฮิปโปผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย” ทำให้ฟันฮิปโปที่ถูกลักลอบล่า “ถูกนำไปฟอกเพื่อนำไปขายในตลาดถูกกฎหมาย”
หากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น นักเคลื่อนไหวเตือนว่า ฮิปโปอาจจะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับช้าง ซึ่งกลายเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ในกรณีของช้างป่าแอฟริกา เพราะผู้ลักลอบล่าสัตว์ได้ฆ่าช้างป่าเหล่านี้จำนวนมากเพื่อเอางาของพวกมัน
……….
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว