
มนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ มีวิวัฒนาการแยกสายออกมาจากบรรพบุรุษร่วมกับลิงชิมแปนซีเมื่อเกือบ 7 ล้านปีก่อน แต่จนถึงขณะนี้มนุษย์เราก็ยังคงไม่หยุดยั้งกระบวนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพื่อความอยู่รอดดังกล่าว
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันวิจัยของยุโรป ตีพิมพ์รายงานการค้นพบหน่วยพันธุกรรมหรือยีน (genes) ชนิดใหม่ในมนุษย์ถึง 155 ตัว ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าเผ่าพันธุ์ของคนเรายังคงมีวิวัฒนาการไปข้างหน้า
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรีคนใหม่ มีผลทันที
- เปิดความเป็นมาองคมนตรี 18 คน อำนาจหน้าที่และการดำรงตำแหน่ง
รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Reports ฉบับวันที่ 20 ธ.ค.2022 ระบุว่า หน่วยพันธุกรรมที่ค้นพบใหม่เหล่านี้เป็นยีนขนาดเล็กหรือ “ไมโครยีน” (microgenes) ซึ่งเกิดขึ้นจากชิ้นส่วนดีเอ็นเอขนาดย่อมที่ไม่ทราบว่าทำหน้าที่อะไรแน่ ทั้งยังไม่เคยมีผู้ใดให้ความสนใจศึกษามันมากนัก

ดร. นิโคเลาส์ วาคีร์ลิส ผู้นำทีมนักพันธุศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ “อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง” ของประเทศกรีซอธิบายว่า พวกเขาสามารถค้นพบยีนใหม่ 155 ตัวนี้ได้ จากการสร้างแผนผังต้นไม้ที่สืบย้อนประวัติของพันธุกรรมในสายบรรพบุรุษมนุษย์เปรียบเทียบกับสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ จนพบว่ามีไมโครยีนกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งยีนบางตัวในจำนวนนี้สามารถย้อนไปถึงยุคกำเนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังค้นพบว่า มีไมโครยีนในกลุ่มข้างต้น 2 ตัว ที่พบแต่ในพันธุกรรมของมนุษย์ยุคใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งยังคงไม่แน่ใจว่ามีความสำคัญทางชีววิทยาต่อคนเราอย่างไร หรือมีความสำคัญในระดับที่มากน้อยเพียงใดกันแน่
- มนุษย์ยังวิวัฒนาการได้อีกด้วย “ไมโทคอนเดรีย”
- “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ยังเกิดขึ้นกับคนปัจจุบันในยีน 800 ตัว
- คนเรามีพันธุกรรมของมนุษย์ยุคใหม่ไม่เกิน 7% เท่านั้น

ส่วนไมโครยีนจำนวน 44 ตัว จากทั้งหมด 155 ตัวนั้น ทีมผู้วิจัยพบว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการเจริญเติบโตของเซลล์ ซึ่งบ่งชี้ถึงความสำคัญของพวกมันในการช่วยรักษาสุขภาพและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
นอกจากนี้ยังพบไมโครยีนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อหัวใจในมนุษย์และลิงชิมแปนซี ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไพรเมตทั้งสองชนิดวิวัฒนาการแยกสายออกจากกอริลลาอีกด้วย โดยปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ยีนสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อร่างกายในเวลาอันสั้น
อย่างไรก็ตามพบไมโครยีนบางส่วนที่มีเครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) ติดตัว ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับโรคภัยต่าง ๆ เช่นโรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) โรคจอประสาทตาเสื่อมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Retinitis Pigmentosa) และกลุ่มอาการอะลาซามี (Alazami Syndrome) ซึ่งทำให้สัดส่วนร่างกายและกะโหลกศีรษะเล็กผิดปกติ
ดร. วาคีร์ลิสกล่าวสรุปว่า “ไมโครยีนเหล่านี้มักถูกนักวิทยาศาสตร์มองข้ามไปเพราะศึกษาวิเคราะห์ได้ยาก แต่เราเชื่อว่าในอนาคตจะมีการตระหนักถึงความสำคัญของมันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า มีหน่วยพันธุกรรมซึ่งทำหน้าที่สำคัญซุกซ่อนอยู่อีกมากภายในจีโนมของมนุษย์”
……….
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว