รัสเซีย ยูเครน : ชีวิตสงบสุขของหญิงยูเครนหลังหนีสงครามมาอังกฤษ

 

Nika playing piano in the UK

BBC
ตอนเราเจอหญิงวัยรุ่นคนนี้ครั้งแรก เธอและแม่กำลังหนีออกจากเมืองคาร์คิฟในฐานะผู้ลี้ภัย

ตอนที่รัสเซียบุกรุกรานประเทศของเธอ เวโรนิกา อาฮาโฟโนวา เล่นเปียโนเพื่อกลบเสียงระเบิดโจมตี

ตอนเราเจอหญิงวัยรุ่นคนนี้ครั้งแรก เธอและแม่กำลังหนีออกจากเมืองคาร์คิฟในฐานะผู้ลี้ภัย ทิ้งทุกอย่างในชีวิตไว้เบื้องหลัง พวกเขากำลังอาศัยอยู่ในโรงแรมอย่างแออัดโดยปิดม่านและหวังว่าเครื่องบินรบรัสเซียจะมองไม่เห็นอาคารที่พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่

เหมือนกับเด็กอีกหลายล้านชีวิต ชีวิตของเวโรนิกาเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อสงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น

“นิกา” ซึ่งเป็นชื่อที่เธอชอบให้คนเรียกตัวเอง บอกฉันว่าเธอตื่นมาแต่ละวันด้วยความประหลาดใจว่าเธอและครอบครัวยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ เธอเล่าว่าทุกครั้งที่สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นเธอต้องรีบไปหลบซ่อนในห้องใต้ดินที่ทั้งแออัดและหนาวเหน็บ เธอบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้สะเทือนจิตใจมาก

สิบเดือนผ่านไป ตอนนี้นิกาอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรแล้ว และบอกว่าในที่สุดเธอก็นอนหลับสนิท

“ฉันต้องใช้เวลาเพื่อเข้าใจว่าตอนนี้ฉันอยู่ในที่ ๆ ปลอดภัยแล้ว” เธอเล่าให้ฉันฟังตอนเราเจอกันเมื่อไม่นานมานี้ในอังกฤษ

ตอนนี้เธออยู่กับครอบครัวโฮสต์และกำลังเรียนหนังสือแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์อันโด่งดัง

ตอนนี้เธอเล่นเปียโนเพื่อหาความสุขเท่านั้น

“ฉันไม่ต้องได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทุก ๆ ชั่วโมง ไม่ต้องคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าระเบิดมาตกลงใกล้ ๆ” นิกา เล่า แต่ก็บอกว่ายังตกใจทุกครั้งเวลาได้ยินเสียงพลุ

“ฉันไม่คิดว่าจะลืมมันไปได้เพราะมันอยู่ในหัวฉัน แต่ฉันก็หวังว่ามันจะหายไป”

คาร์คิฟ เมืองบ้านเกิดของนิกา อยู่ใกล้กับพรมแดนทางเหนือของรัสเซีย และโดนถล่มโจมตีอยู่หลายเดือนก่อนที่ทหารรัสเซียจะถูกขับไล่ออกไปเมื่อเดือน ก.ย.

Shopping area in Kharkiv in March

BBC
คาร์คิฟ โดนถล่มโจมตีอยู่หลายเดือนก่อนที่ทหารรัสเซียจะถูกขับไล่ออกไปเมื่อเดือน ก.ย.

ตอนนี้เมืองกลายเป็นซากปรักหัก แต่ที่ใจกลางเมืองก็มีการจัดการเก็บกวาดเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ปัญหาใหม่คือมีบางช่วงที่ประชาชนไม่มีไฟฟ้า ไร้ความอบอุ่น และไม่มีน้ำใช้ อยู่หลายชั่วโมงติดต่อกัน หลังจากรัสเซียมุ่งโจมตีแหล่งพลังงานของยูเครนในช่วงฤดูหนาว

ตอนนี้ มีเพื่อนร่วมชั้น 8 คนจาก 28 คน เท่านั้นที่ยังอยู่ที่คาร์คิฟ และต้องเรียนหนังสือจากบ้านด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ครูของเธอที่ชื่อมาเรีย ไม่เคยหนีไปไหน ยังคงสอนหนังสือออนไลน์ให้เด็กที่กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วประเทศหรือแม้กระทั่งคนที่ย้ายไปเมืองนอก

หากไฟดับ ครูของเธอจะใช้อินเทอร์เน็ตจากมือถือแทน จุดเทียน แล้วก็เดินหน้าสอนต่อ

“รัสเซียไม่รู้ว่าพวกเราเป็นใคร พวกเราแข็งแกร่ง เราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้” มาเรียบอกฉัน เธอน้ำตาคลอเวลาพูดถึงนักเรียน “ฉันแค่อยากจะสวมกอดพวกเขา”

Maria the teacher in Kharkiv

BBC
ครูของเธอที่ชื่อมาเรีย ไม่เคยหนีไปไหน ยังคงสอนหนังสือออนไลน์ให้เด็กที่กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วประเทศหรือแม้กระทั่งคนที่ย้ายไปเมืองนอก

นิกาเองก็คิดถึงครูของเธอและเพื่อน ๆ ที่ร่วมทุกข์มาด้วยกัน

“คุณอาจจะได้รับความสนใจที่นี่[ในอังกฤษ] แต่คุณก็ยังโดดเดี่ยวเพราะไม่มีใครเข้าใจว่าฉันผ่านอะไรมา และฉันก็หวังว่าพวกเขาจะไม่มีวันเข้าใจ”

แม้ว่านิกาจะปรับตัวได้ดี นาตาเลีย แม่ของเธอ ยังไม่สามารถเลิกกังวลกับสถานการณ์ในยูเครนได้ เพราะแม่ของตัวเอง ทามารา ยังอยู่ที่บ้านไม่ยอมหนีไปไหน

ทามาราเหมือนกับคนสูงอายุชาวยูเครนหลายคนที่ไม่ยอมหนีไปไหนเพราะ “บ้านก็คือบ้าน”

“มันส่งผลต่อระบบประสาทฉันมาก” ทามารา เล่า ตอนที่บีบีซีเดินทางไปหา “แต่ฉันบอกตัวเองให้ตั้งสติไว้ว่าอีกไม่นานหรอก ลูกหลานฉันจะกลับมาในอีกไม่ช้า ฉันใช้ชีวิตเพื่อวินาทีนั้น แม้ฉันจะมีความสุขมากแล้วที่พวกเขาปลอดภัย”

Tamara

BBC
ทามารา

สำหรับนิกาเอง ตอนนี้เธอยังไม่ได้คิดถึงอนาคตตัวเอง

“ฉันอยากได้บ้านกลับคืนมา ชีวิตเดิมกลับคืนมา แต่ฉันรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นฉันอาจจะอยากได้เสถียรภาพและความสงบ สร้างชีวิตฉันก่อนสำหรับตอนนี้ ใช้ชีวิตในฐานะวัยรุ่นไป”

“ฉันอยากให้ยูเครนได้เสรีภาพและความสงบกลับคืนมา ให้คนหยุดตายจากไปเสียที”

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว