
“ฐาปณี หลูสุวรรณ” หรือ “ฐา” หญิงสาวผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Blue Again”
จากหนังระดับนักศึกษาที่ทำเป็นจุลนิพนธ์จบการศึกษาปริญญาตรี เธอผลักดันต่อยอดหนังเรื่องนี้และใช้เวลาในการสร้างกว่า 8 ปีเต็ม เพื่อขยายให้เป็นหนังขนาดยาวออกฉายสู่ผู้ชมในโรงใหญ่ และยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าสายประกวดรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ยอดเยี่ยม (New Currents Competition) ในเทศภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival) เทศกาลหนังระดับท็อปของโลกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ตรวจหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. 66 (อัพเดต)
- “เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด

Blue Again เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวลูกครึ่งฝรั่งอีสานคนหนึ่ง ที่ต้องจากบ้านเกิดเข้ามาเรียนด้านแฟชันในกรุงเทพฯ โดยหวังว่าการเรียนด้านแฟชันจะทำให้ธุรกิจการย้อมครามที่บ้านของเธอที่กำลังจะตายฟื้นคืนกลับมา และต้องพยายามประคับประคองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อกรกับความรู้สึกแปลกแยกในรั้วมหาวิทยาลัยนี้ไปในเวลาเดียวกันด้วย
ภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจจากมวลอารมณ์ในช่วงเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 ที่ผู้คนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรออกมาได้มากมายนัก ฐาจึงจับมวลอารมณ์นี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ของเธอ

จุดเริ่มต้นในการมาเป็น ‘นักทำหนัง’
“จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ก็เหมือนเด็กทั่วไปเลย ไม่ได้มีความฝันอะไรที่ยิ่งใหญ่ อยากเป็นแอร์โฮสเตส อยากเป็นสถาปนิก อยากเป็นนักร้อง มันก็เปลี่ยนความฝันไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่เราสั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ๆ คือการดูละครจากโทรทัศน์ และก็ดูหนังที่เขาเปิดตามงานศพ ที่เขาเปิดกันในภาคอีสาน แล้วเผอิญว่าละครหรือหนังที่เราดูมันมีผลกระทบในทางที่ดีกับตัวเรา ทำให้เรามีกำลังใจในการมีชีวิตต่อ
มันเปิดโลกทัศน์มาก เราเลยมีความฝันตั้งแต่อยู่ ม.4 ว่าเราอยากจะทำมัน เราไม่ได้อยากเป็นดาราในจอ แต่ว่าเราอยากเป็นคนทำที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่า หนังมันสามารถเป็นเพื่อน เหมือนที่เรารู้สึกกับมันได้” ฐา ในวัย 31 ปี เล่าอดีตของเธอให้ฟัง
แต่ด้วยความสับสนในช่วงชีวิตที่ต้องเลือกเส้นทางสายการเรียน ฐาจึงไม่ได้เข้าเรียนภาพยนตร์ตั้งแต่แรก ด้วยความที่อาจารย์เคยทักท้วงถึงความเสียดายเรื่องการสายวิทย์-คณิตของเธอมา อาจารย์จึงไม่สนับสนุนให้เธอเรียนสายนิเทศศาสตร์ หรือเรียนทำภาพยนตร์ เธอจึงเลยตัดสินใจเลือกเรียนเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งผลที่ตามมาคือเธอไม่สนุกกับการเรียนเลย เป็นผลทำให้เธอเลือกที่จะไม่เข้าเรียน ทำให้เกรดออกมาไม่ดี และโดนรีไทร์ในที่สุด
ฐา มีช่วงเวลาว่างอยู่ 1 ปี หลังจากโดนรีไทร์ เธอใช้ช่วงเวลานั้นวนเวียนอยู่ในโรงภาพยนตร์ ทำให้ความรู้สึกของความอยากเป็นนักทำหนังของเธอกลับมา เธอจึงตัดสินใจตั้งใจสอบเข้าเรียนสายภาพยนตร์ และพบว่ามันก็สนุกอย่างที่เธอคิดไว้จริงๆ ผลการเรียนของเธอดีขึ้น นั่นทำให้เธอมั่นใจว่าเธอสามารถทำหนังได้

เธอทำหนังเรื่อง Blue Again เป็นธีสิสจุลนิพนธ์เพื่อจบการศึกษา โดยความยาวของหนังอยู่ที่ 57 นาที ในตอนนั้น ซึ่งถือว่ายาวกว่าหนังนักศึกษาโดยทั่วไปที่จะเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 30 นาทีต่อเรื่อง ด้วยความยาวของหนังที่ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ จะเป็นหนังสั้นก็ไม่ใช่จะเป็นหนังยาวก็ไม่เชิง ทำให้หนังของเธอมีที่ทางบนเวทีรางวัลไม่ค่อยมาก เพราะไม่ค่อยมีหมวดที่เข้ากับความยาวหนังของเธอได้
เธอจึงตัดสินใจที่จะต่อยอดหนังของเธอให้ยาวขึ้น เขียนบทเพิ่มเติม ให้กลายเป็นหนังยาวเหมือนหนังเรื่องอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้หนังของเธอได้มีโอกาสให้คนหมู่มากได้ดูมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องใช้เงินมหาศาลในการสร้างหนังยาวเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นมา
“ตอนที่ตัดสินใจทำให้เป็นหนังยาว ตอบตามตรงเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเลย เราแค่คิดว่าเรามีเท่าไหนเราก็ทำเท่านั้น และเราเองก็ยังไม่ได้มีประสบการณ์มาก แต่พอลงไปทำจริง ๆ เราพบว่ามันใช้เงินเยอะมาก ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เราได้เรียนรู้ ในช่วงที่ถ่ายทำอยู่เราเลยเขียนไปขอทุนสนับสนุนทุนหนึ่งของรัฐบาล แต่ว่ามันไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งตอนนั้นก็เสียใจที่ไม่ได้ ไม่รู้ว่าเพราะเขาไม่ชอบหนังของเราหรือเปล่า แต่ว่าไอ้ความรู้สึกอยากทำหนังเรื่องนี้มันยังมีอยู่ เราก็เลยใช้เงินทั้งหมดที่เรามี จากทั้งตัวเราและคนรอบ ๆ ข้าง เพื่อที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ให้เสร็จ
“แต่พอเราไม่มีเงินมากขนาดนั้น การจะจ้างคน การจะยื้อคนไว้ หรือจัดการกองให้มันดีมันก็เลยเป็นเรื่องยาก หน้าที่เราในฐานะผู้กำกับ เราต้องรับผิดชอบคนที่เขาเข้ามาช่วยเราด้วยการทำหนังเรื่องนี้ให้ออกมาให้ดีที่สุด เพื่อที่พวกเขาจะไม่เสียดายที่ได้มาทำงานกับเรา”
การขอทุนสนับสนุนสำหรับการสร้างภาพยนตร์หรือศิลปะในไทย มีทุนให้ขออยู่หลายทุนด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน หากใครก็ตามต้องการเงินทุนสนับสนุน ซึ่งทุนสำหรับการสร้างภาพยนตร์ของรัฐบาลไทยขึ้นตรงอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะเปิดเป็นรอบ ๆ ให้ผู้สนใจยื่นขอทุน เขียนวัตถุประสงค์ในการขอทุนเข้ามา และจะมีการพิจารณาว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่
ฐาเสริมว่าหากคุณได้ทุนที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาล มันมักจะมาพร้อมกับการควบคุมหรือมีเงื่อนไขบางอย่าง หรือการจำกัดด้านเนื้อหา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนยื่นขอทุนต้องคิดว่าจะยอมรับได้หรือไม่ จะยอมเซ็นเซอร์อะไรบางอย่างของตัวเอง หรือต้องยอมพูดในสิ่งที่เขาอยากให้มี ซึ่งการได้ทุนหรือไม่ได้ทุนก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
เดินทางสู่ปูซาน

หลังจากใช้เวลาในการถ่ายทำ กว่า 2 ปี และใช้เวลาในการทำ Post-Production อยู่นานกว่า 6 ปีเต็ม จากกำลังทรัพย์เท่าที่มี จนในที่สุดหนังเวอร์ชั่นเสร็จสมบูรณ์ก็ออกมา ด้วยความยาวของหนังอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งถือว่ายาวกว่าหนังปกติโดยทั่วไปที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 – 2 ชั่วโมง แต่ฐาบอกว่านี่เป็นความยาวของหนังที่เธอเห็นว่ามันสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เพราะเวอร์ชั่นแรกยาวกว่า 5 ชั่วโมง
พอหนังเสร็จฐาจึงเริ่มมองหาที่ทางให้กับหนังของเธอ โดยการส่งหนังเข้าประกวดตามเวทีต่าง ๆ ทั่วโลก และมุ่งเป้าไปที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ที่เกาหลีใต้ ที่เหล่านักทำหนังต่างรู้ดีว่านี่คือเทศกาลหนังสำคัญและหมุดหมายที่ดีในการทำให้หนังของตัวเองเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หากคุณพิชิตใจกรรมการได้ และฐาก็ทำสำเร็จ
“ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า มันจริงใช่ไหม (หัวเราะ) รู้สึกช็อก ตื่นเต้น ดีใจ มันหลากหลายความรู้สึก” ฐา เล่าด้วยสายตาเป็นประกาย
Blue Again ได้เข้าไปในสายประกวดรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ยอดเยี่ยม (New Currents Competition) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายประกวดหลักของเทศกาล โดยจะมีภาพยนตร์แค่ 10 เรื่องเท่านั้นที่จะผ่านเข้ารอบนี้ได้จากประเทศทั่วเอเชีย ซึ่งหนังของฐาถือเป็นตัวแทนประเทศไทยในรอบ 9 ปี ของสายประกวดนี้ที่ได้เข้าไป แม้ไม่ได้รางวัล ก็เป็นความภูมิใจ
“การเข้าไปเดินพรหมแดงที่ปูซาน เป็นอะไรที่เปิดโลกเรามาก เหมือนเราถูกให้เกียรติในฐานะนักทำหนัง แอร์ไทม์ในการเดินเรามีเวลาเท่ากับผู้กำกับหนังใหญ่ ๆ อย่าง โคริเอดะ เลย (ผู้กำกับหนังชื่อดังชาวญี่ปุ่น) มีเสียงปรบมือ โห่ร้องเรียกชื่อเราและชื่อหนังเรา ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันหาได้ยากมากในประเทศเรา ที่จะมีคนมาซัพพอร์ตคนทำหนังขนาดนี้ การไปเดินพรหมแดงที่ปูซานทำให้เรารู้สึกเหมือนเรามีตัวตน”
“การเอาหนังเข้าโรงที่ไทยเป็นอะไรที่ยาก”
หลังจาก ฐา ได้ส่งหนังเข้าเทศกาลหนังที่ปูซาน ในขณะเดียวกันก็ยื่นส่งที่เทศกาลอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วนักทำหนังมักจะส่งหนังไปประกวดก่อนในช่วงล่ารางวัล แล้วค่อยวกกลับมาเข้าฉายปกติในบ้าน แต่ ฐา เลือกที่จะนำหนังกลับมาเข้าฉายโรงที่ไทยทันทีหลังจากเข้าสายประกวดที่ปูซาน ฐากล่าวว่าหนังแต่ละเรื่องมีพื้นที่ มีคนดูของมันอยู่เสมอ ซึ่งที่นั่นก็คือประเทศไทย บ้านเกิดของหนัง แต่ใครจะคิดว่าการเอาหนังเข้าโรงในไทยเป็นอะไรที่น่าปวดหัวกว่าที่คิด โดยเฉพาะหนังอิสระที่ไม่พึ่งพิงค่ายสตูดิโอใหญ่ ๆ อย่างหนังของเธอ
“การเอาหนังเข้าโรงที่ไทยเป็นอะไรที่ยาก จะได้โรงเยอะไหมมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เรา มันขึ้นอยู่ที่โรง รอบหนังเราก็เลือกไม่ได้ จำนวนโรงเราก็เลือกไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราอยากได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ ในโรงภาพยนตร์ที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย ซึ่งโรงเขาให้คำตอบกลับมาว่าเขาจะวิเคราะห์เองว่าโรงหรือรอบเท่าไหนถึงจะเหมาะกับหนังเรา ซึ่งเราได้จำนวนโรงที่น้อยมาก”
Blue Again ได้เข้าฉายหลักสัปดาห์แรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ โรงภาพยนตร์อิสระ เฮ้าส์ สามย่าน และ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีนีม่า ที่ เซ็นทรัลเวิลด์ แต่หนังเข้าฉายได้ไม่ถึงสัปดาห์ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ก็ได้ถอดหนังเรื่องนี้ออกโดยยืนโรงเพียงแค่ 6 วัน หลังจากที่ฉาย เพราะมีหนังบล็อกบลัสเตอร์ใหญ่อย่าง Avatar : The Way of Water เข้าฉายในวันดังกล่าว
ซึ่งภายหลังมีการเรียกร้องจากคนดูในบางพื้นที่ที่อยากดูหนังของเธอ Blue Again จึงได้กลับเข้ามาฉายในโรงในเครือ เอส เอฟ อีกรอบ ที่สาขา คอสโม บาร์ซา เมืองทองธานี และ สาขาโรบินสันไลฟ์สไตล์ ลพบุรี หลังจากหลุดโปรแกรมไป
“คนไทยก็จะมีความเชื่อว่าหนังไทยไม่หลากหลาย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ จำนวนหนังไทยต่อมีปีมันมีหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะหนังอิสระ ถ้าเราได้รับการสนับสนุนจากโรง ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เราได้มีโอกาสได้ฉายมันอย่างเต็มที่ เรารับรองว่าคนไทยจะได้รับรู้ศิลปะในตรงนี้มากขึ้น ที่ไม่ใช่มีแค่หนังตลก หนังผี หนังซ้ำ ๆ เดิม ๆ ซึ่งมันจะลบภาพจำนี้ไปไม่ได้เลย ถ้าเรายังไม่ได้รับการซัพพอร์ตให้ขยายโรงได้ทั่วประเทศมากขึ้น” ฐา กล่าวเสริม
บีบีซีไทยได้คุยกับ สุพัฒน์ งามวงศ์ไพบูลย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าบริหารบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถึงเรื่องเกณฑ์การจัดการรอบและโรงให้กับหนังแต่ละเรื่อง โดยระบุว่าหนังแต่ละเรื่องจะมีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญของทางโรงที่จะวิเคราะห์ว่าควรให้โรงและรอบเท่าไหร่
หากหนังที่มีทีท่าว่าจะสร้างเม็ดเงินก็จะมีโอกาสที่จะให้รอบและโรงที่มากกว่าหนังทั่วไป หรือหนังอิสระที่มีโอกาสทำเงินน้อยกว่า และหลังจากหนังได้เข้าฉายไปแล้วก็จะประเมินจากประสิทธิภาพของหนังว่าจะสามารถทำรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน หากหนังทำรายได้ได้ไม่ดีก็จำเป็นจะต้องถอดหนังออก และให้รอบแก่หนังเรื่องอื่น
เขากล่าวเสริมว่า หนังบางเรื่องรายได้อาจไม่ได้วัดจากสัปดาห์แรกของหนัง บางครั้งต้องอาศัยกระแสของหนังว่าดีหรือไม่ดี หากกระแสหนังยังมีการถูกพูดถึง คนก็จะเข้ามาดู หรือบางครั้งอาจจะต้องพาหนังไปหาคนดู ซึ่งกลุ่มคนดูในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความสนใจในการดูหนังที่แตกต่างกันไป บางพื้นที่หนังบล็อกบลัสเตอร์อาจจะทำรายได้ดี แต่หนังอิสระทำรายได้น้อย หรือบางพื้นที่หนังอิสระอาจทำรายได้ได้ดีกว่าหนังบล็อกบลัสเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและเก็บข้อมูลกันต่อไป
สุพัฒน์ เสริมว่า ทาง เอส เอฟ สนับสนุนคนทำหนังเสมอ หากหนังที่ได้ฉายมีศักยภาพและควรค่าแก่ให้คนได้ดู และพยายามหาที่ทางให้กับหนังเหล่านี้เสมอ อย่างที่ Blue Again ได้กลับเข้ามาฉายอีกครั้งในบางพื้นที่
เสียงสะท้อนจากคนดู
ผลตอบรับของหนังหลังจากออกฉายสู่สายตาประชาชนเป็นไปในทางที่ดีเกินกว่าที่เธอคิดไว้ นี่เป็นความเห็นส่วนหนึ่งจากทวิตเตอร์ที่พูดถึงหนัง รวมถึง ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังพูดถึง
พึ่งดู Blue Again ของฐาปณี หลูสุวรรณ จบครับ หนังดีมากๆ 3 ชม กว่า แต่ไม่รู้สึกว่ายาวเลย ชอบบทแบบนี้ของนักแสดงนำหญิง ไม่ต้องนางเอ๊กนางเอก แต่มาจากชีวิตจริง มีซ่อนฉากเหตุการณ์การเมืองจริงอยู่ด้วย ช่วงวันหยุดปีใหม่ ถ้าว่าง อยากให้ไปชมกันครับ ยังเหลือรอบฉายอยู่วันละรอบ
— Piyabutr Saengkanokkul (@Piyabutr_FWP) December 28, 2022
#blueagain เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่เราชอบมากในปีนี้ เล่าเรื่องเรื่อย ๆ แต่มีอะไรให้ตกตะกอนเยอะ บางอย่างก็แอบรีเลทกับชีวิตดี ตัวละครมีความเป็นมนุษย์สูงมาก ร้องไห้ไปพอสมควร ชอบการจัดคอมโพส มุมกล้องต่าง ๆ เราว้าวอยู่หลายซีนมาก เกรดสีได้เหงาโคตร ออกจากโรงมาเจออากาศหนาว ยิ่งเหงาไปใหญ่
— scnd (@flemqrs) December 20, 2022
#BlueAgain น่าจะเป็นหนังไทยที่เราชอบที่สุดในปีนี้ หนังเล่าเรื่องชีวิต ความสัมพันธ์ที่งอกเงยและเหี่ยวเฉาท่ามกลางข้อจำกัดทางสังคมและสภาพแวดล้อมได้เป็นธรรมชาติและมีหัวใจมาก ตัวละครมีความเป็นมนุษย์มาก สกอร์ดี นักแสดงดี เป็นสามชั่วโมงที่มีช่วงอืดบ้าง ดีมากๆ บ้าง แต่รู้สึกคุ้มค่าจริงๆ pic.twitter.com/hVlmvy59Xj
— BANK 👀 (@LifeAddicts) December 11, 2022
“เราอ่านฟีดแบกตลอดเลย เสิร์ชทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และก็ดูในข่าว เราคิดว่าฟีดแบกมันออกมาค่อนข้างดีเลย ส่วนใหญ่หนังมันทำงานกับคนดูที่มีประสบการณ์ร่วมอะไรบางอย่างในหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง บางคนเขาก็ชอบมากไปเลย หรือมีคนเขาก็ไม่ชอบก็มี ซึ่งก็เป็นปกติของหนัง ซึ่งบางอันที่เราอ่านเราก็เขินนะ ที่เขาบอกว่ายกให้เป็นหนังไทยที่ดีที่สุดในปีนี้”
“ตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงหนังได้ออกฉาย สิ่งที่เราประทับใจที่สุดคือการได้รับฟีดแบกจากคนดู หนังอิสระที่ฉายจำกัดโรงขนาดนี้ แต่กลับได้ฟีดแบกมากมาย และเป็นฟีดแบกที่ดีด้วย มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราอยากทำหนังอยู่เรื่อย ๆ บางคนก็บอกว่าอยากดูหนังเรื่องต่อไปของเราแล้ว เราก็ได้แต่นึกในใจว่า ใจเย็นโยม (หัวเราะ)”
ฐา บอกกับบีบีซีไทยว่าหากหนังเรื่องนี้ลาโรงไปแล้ว ในอนาคตต่อไปเธอก็ยังอยากที่ทำอยู่ในวงการนี้อยู่ ซึ่งจริง ๆ เธอมีโปรเจกท์ต่อไปอยู่ในมือแล้ว
…..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว