น้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์มีต้นกำเนิดจากดวงอาทิตย์

 

Getty Images

Getty Images

 

หลังจากที่สองปีก่อน องค์การนาซาได้ค้นพบโมเลกุลน้ำในพื้นผิวของดวงจันทร์ ล่าสุดมีการวิเคราะห์เบื้องลึกจนพบว่า โมเลกุลน้ำที่แทรกอยู่ในฝุ่นดินดังกล่าว อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุไฟฟ้า “ไฮโดรเจนไอออน” ในลมสุริยะ ที่พัดมาจากดวงอาทิตย์นั่นเอง

ทีมนักธรณีเคมีจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยผลวิเคราะห์ตัวอย่างฝุ่นดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ (regolith) จากสถานที่ลงจอดของยานสำรวจในภารกิจฉางเอ๋อ 5 (Chang’e 5) โดยพบว่าลมสุริยะที่พัดกระหน่ำใส่พื้นผิวของดวงจันทร์ ได้ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุบางอย่างและสร้างพันธะกับอะตอมของออกซิเจน จนเกิดเป็นโมเลกุลน้ำขึ้นมา

รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ระบุว่า มีการใช้อุปกรณ์วิเคราะห์สารด้วยรังสีเอกซ์ ตรวจสอบเม็ดฝุ่นที่ได้จากชั้นหินบะซอลต์ภูเขาไฟอายุน้อย บริเวณละติจูดตอนกลางของดวงจันทร์

ทีมผู้วิจัยพบว่าบริเวณเปลือกนอกของเมล็ดฝุ่นมีร่องรอยการสัมผัสกับลมสุริยะอย่างรุนแรง เห็นได้จากความเข้มข้นของโมเลกุลไฮโดรเจนที่มีสูงถึง 1,116 – 2,516 ส่วนในล้านส่วน ทั้งยังมีปริมาณไอโซโทปของไฮโดรเจน เช่น ดิวเทอเรียม อยู่น้อยมาก สอดคล้องกับสัดส่วนของแร่ธาตุที่พบในลมสุริยะพอดี

ก่อนหน้านี้ มีการค้นพบแหล่งน้ำบนดวงจันทร์ในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นน้ำแข็งในแอ่งหลุมลึกที่ปกคลุมด้วยเงามืด และที่เป็นโมเลกุลซึ่งถูกกักเก็บไว้ในเม็ดแก้วภูเขาไฟขนาดเล็กจิ๋ว

Getty Images

Getty Images

 

น้ำบางส่วนของดวงจันทร์นั้นมาจากโลกและจากอุกกาบาตที่พุ่งชน แต่ที่พบในฝุ่นดินบนพื้นผิวซึ่งคาดว่ามีอยู่เป็นปริมาณมหาศาล และอาจนำมาใช้ประโยชน์ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาวได้นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดจากลมสุริยะ

ทีมผู้วิจัยยังพบว่าแร่ธาตุในฝุ่นดินของดวงจันทร์สามารถเก็บรักษาไฮโดรเจนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่บริเวณละติจูดตอนกลาง รวมทั้งขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ

ผลวิเคราะห์ในครั้งนี้ สามารถเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกสถานที่ลงจอดของยานอวกาศ เพื่อทำการสำรวจและตั้งฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในภารกิจครั้งต่อไป โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าพื้นดินของสถานที่นั้นจะมีโมเลกุลน้ำที่สกัดนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างเหลือเฟือ

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว