“นักดนตรีที่เป็นหมอ” กับการกลับมาดังอีกครั้งของวง Old Doc

 

Old Doc

Thai News Pix

 

จุดสูงสุดของเส้นทางสายดนตรีของพวกเขาคือการได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดงานแข่งขันวงดนตรี ที่เคยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของวงดนตรีที่มีชื่อเสียงของประเทศหลายวง อย่างรายการ โค้ก มิวสิค อวอร์ด โดยในปี 2535 นั้น วงที่ได้ที่หนึ่งคือ Modern Dog และที่สองคือ Smile Buffalo

ในวันนั้น วงดนตรีที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในปัจจุบันภายใต้ชื่อ Old Doc เคยใช้ชื่อวงว่า Success ในการประกวดสมัยที่สมาชิกวงยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ และในฐานะที่เป็นท็อปสาม วง Success ก็ได้รับโอกาสทางด้านดนตรีมากมาย

แต่เนื่องจากสาขาวิชาแพทย์ที่มีการเรียนหนักกว่าสาขาวิชาอื่น และต้องเรียนต่อในวิชาเฉพาะ หากต้องการเดินทางต่อในสายแพทย์ ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาเดินสายเล่นดนตรี จนต้องละทิ้งเส้นทางนี้ไปนาน

แต่เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2565 จากวงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของคุณหมอวัยใกล้เกษียณที่เคยเล่นดนตรีอยู่ตามงานเลี้ยงรุ่น หรืองานสังสรรค์ของโรงพยาบาล กลับกลายมาเป็นวงดนตรีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อพวกเขาไปเล่นดนตรีเปิดหมวกรับบริจาคเพื่อการกุศล ที่สยามสแควร์ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สยามแตก”

“เพิ่งได้สัมผัสความรู้สึกของศิลปินจริง ๆ ว่า มันเป็นอย่างไร” นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช แพทย์ด้านสูตินรีเวชประจำคลินิก Beyond IVF หนึ่งในสมาชิกวง กล่าวด้วยความภูมิใจ

“มีคนติดต่อเรามาจากทั่วสารทิศ คนที่ไม่รู้จักเราก็ติดต่อเรามา มีงานต้องไปเล่นต่างจังหวัด ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับพวกเรา ตอนนี้ ตารางงานเล่นคอนเสิร์ตของพวกเราแทบจะมีวันเว้นวัน”

นักดนตรีที่เป็นหมอ

ภาพลักษณ์ของวง Old Doc (โอลด์ด็อก) ที่คนทั่วไปรู้จัก คือวงดนตรีที่สมาชิกหลักเป็นแพทย์ ใส่ชุดหมอที่ตัดพิเศษ เพื่อเป็นเครื่องแบบประจำวง เปิดหมวกร้องเพลงเพื่อการกุศลตามสถานที่ต่าง ๆ สำหรับสมาชิกในวงเองมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป

“เราเล่นดนตรีด้วยความสุข บางคนมองว่าเราเป็นหมอที่มาเล่นดนตรี แต่พวกเราคิดว่าเรารักการเล่นดนตรีและบังเอิญตั้งใจเรียนด้วย คะแนนดีพอที่จะเป็นหมอได้ ก็เลยเข้ามาเป็นหมอ เราก็เลยมองตัวเองว่าเป็นนักดนตรีที่มาเป็นหมอมากกว่า” นพ.พูนศักดิ์ อธิบายพร้อมหัวเราะ

“เป็นคนรักดนตรีมาก เล่นมาตั้งแต่ตอนอยู่มัธยม จำได้ว่ากลับถึงบ้านปุ๊บก็โยนกระเป๋าแล้วไปจับกีตาร์เลย มันเป็นความสุขของเรา”

นพ.สมนิมิต เหลืองรัศมีรุ่ง สูตินรีแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล นักร้องนำของวงบอกกับบีบีซีไทยว่า เล่นดนตรีกับวงมา 30 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนหมอที่มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยกัน โดยวง Old Doc เคยใช้ชื่อวงว่า Success และ Stethoscope มาก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น Old Doc เมื่อมารวมวงกันอีกครั้งหลังเรียนจบแล้ว

แม้จะเล่นดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง แต่วง Old Doc มักเน้นเล่นตามงานเลี้ยงรุ่น งานมหาวิทยาลัย งานสังสรรค์ภายในของโรงพยาบาลต่าง ๆ มาตลอด และด้วยความรักในดนตรีจึงทำให้พวกเขารวมตัวกันไปเล่นตามร้านอาหารในกรุงเทพ แต่ด้วยภาระหน้าที่การงาน ทำให้วง Old Doc มีโอกาสไปเล่นตามร้านอาหารช่วงกลางคืนเพียงแค่เดือนละครั้งเท่านั้น แต่พวกเขาก็เล่นกันมาร่วม 10 ปี

“ปกติ เราจะมีเวลามารวมตัวซ้อมเล่นดนตรีกันช่วงหลังเลิกงานหลังสามทุ่มไปแล้วจนถึงเที่ยงคืน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ตื่นไปรักษาคนไข้แต่เช้า ถึงจะเหนื่อยแต่มันเป็นความสุข” นพ.สมนิมิต กล่าว

งานที่เต็มไปด้วยความกดดัน

นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี หนึ่งในสมาชิกวง Old Doc ตำแหน่งมือกีตาร์ เป็นแพทย์มาเกือบ 30 ปี เขายอมรับว่า งานรักษาคนไข้เป็นงานที่มีความเครียดและมีความกดดันสูง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ช่วงโควิดได้รับผลกระทบเยอะเหมือนกัน โควิดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไป แพทย์ทางอายุรกรรม โดยเฉพาะเรื่องระบบทางเดินหายใจ” นพ.ธเนศ อธิบาย

“ด้วยความที่เกิดผลกระทบทั้งระบบ บุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ ก็โดนไปด้วย แต่ในส่วนของแพทย์ด้านศัลยกรรม จริง ๆ แล้วงานก็น้อยลงด้วย แต่ก็ยังมีเคสเร่งด้วย เช่น ปอดทะลุจากโควิด หรือเป็นไส้ติ่ง หรือผ่าตัดคลอด เราก็ต้องช่วยเหลืออย่างเต็มที่”

ส่วน นพ.พูนศักดิ์ ที่ทำงานด้านสูตินรีเวช ก็ยอมรับว่ามีความกดดันจากงาน เพราะไม่ได้รับผิดชอบแค่คนไข้คนเดียว แต่ต้องรับผิดชอบเด็กในท้องด้วย โรคที่ภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งแม่และลูก จึงทำให้มีความเครียดมากกว่าหมอทั่วไป

“ตอนที่เป็นหมอทั่วไป พอจบงานเราก็จบแล้ว ไม่ต้องคิดมากอะไร” เธอกล่าว

“แต่เวลาที่ดูแลคนไข้ฝากท้องคลอด ตรวจเสร็จแล้วเราต้องดูแลเขาต่อไปจนวันที่เขาคลอดเลย ซึ่งอาจจะมีภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นช่วงกลางคืนบ้าง เช่นเลือดออก ก็ต้องวิ่งมาช่วยคนไข้ตลอดเวลา มีความเครียดมาก” นพ.พูนศักดิ์ อธิบาย

“ส่วนมากถ้าคนไข้เป็นโรคอื่นมา ก็พอจะทราบอยู่ว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน แต่สำหรับคนไข้คลอดบุตร ไม่มีใครคิดว่าจะมีอันตรายอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้นนิดหนึ่ง มันจะเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ในแง่ความกดดัน จึงมากกว่าหมอทั่ว ๆ ไป”

ช่วงโควิดเขามักจะเจอคนไข้ที่ตรวจพบโควิดในขณะที่กำลังจะคลอด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ทำให้ต้องใส่ชุด PPE ตลอดการทำคลอด ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึงหนึ่งชั่วโมง

เริ่มกลับมามีชื่อเสียง

สภาพงานที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้วในสภาวะปกติ งานของบุคลากรทางการแพทย์ยิ่งหนักขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะช่วงก่อนที่วัคซีนจะเข้ามาในประเทศ แต่หมอกลุ่มนี้ใช้ดนตรีเป็นเครื่องคลายเครียดในช่วงที่สถานการณ์กดดันอย่างมาก

จนมาถึงช่วงหนึ่งที่การแพร่ระบาดไม่ได้รุนแรงมาก และกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มทยอยกลับมา หนึ่งในกิจกรรมที่ชาวกรุงเทพฯ ได้เข้าร่วม คือ กิจกรรมดนตรีในสวน และวง Old Doc ก็เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สมัครเข้าไปเล่นเพื่อให้ความสุขแก่ประชาชน

“เราก็เลยไปลงชื่อเอาไว้ ซึ่งเราก็ได้ไปเล่นให้ฟรี ๆ ครั้งแรกที่ไปเล่นในสวน คือที่สวนสันติภาพช่วงกลางปี 2565 ซึ่งถือเป็นการกลับมาเล่นในที่สาธารณะให้คนได้ชมหลังจากที่ปิดช่วงโควิดมานาน ก็ได้เสียงตอบรับดี และคนเริ่มรู้จักเราเยอะมากขึ้น” นพ.ธเนศ กล่าว

“ต่อมาได้เห็นประกาศรับนักเรียน นักศึกษามาเล่นดนตรีที่สยามสแควร์ ก็เลยสมัครไปอีก พร้อมระบุไปว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่นักเรียนตามที่ประกาศเอาไว้ แต่เราก็อยากจะมาเล่นดนตรีเพื่อการกุศล นำรายได้ที่ได้มาไปบริจาคเพื่อการแพทย์ ซึ่งเรื่องหายไป 3 เดือน ตอนแรกคิดว่าเขาไม่เอาเพราะอายุเกิน แต่หลังจากนั้นเค้าก็ติดต่อมาให้ไปเล่นได้”

หลังจากที่ไปเล่นที่สยามสแควร์ในวันที่ 23 ต.ค. 2565 กระแสนิยมของวง Old Doc เริ่มกลับมาจากการแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้พวกเขากลับมาโด่งดังอีกครั้ง

“เราคิดว่าอยากได้ชุดสวย ๆ ที่เป็นในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากซีรีส์เรื่อง Hospital Playlist ซึ่งนี่ไม่ใช่ชุดที่เราใส่ตอนทำงาน เลยสั่งทำให้เป็นทีมเดียวกัน ปักโลโก้ และนำเครื่องแบบหมอมาใส่ตอนที่กลับมาเล่นงานดนตรีในสวน” นพ.ธเนศ อธิบาย

Line

BBC

Hospital Playlist คืออะไร

Hospital Playlist เป็นซีรีส์เกาหลีที่สามารถรับชมได้ผ่านเน็ตฟลิกซ์ เป็นเรื่องราวของแพทย์เพื่อนซี้ทั้ง 5 คน ซึ่งพวกเขาเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ จนหลังจากเรียนจบไปพวกเขาก็ได้ทำงานอยู่ที่เดียวกัน

ทุกคนเป็นอาจารย์หมอ และมีความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน แม้ว่าพวกเขาจะงานยุ่งแค่ไหน แต่มิตรภาพของพวกเขา ก็แน่นแฟ้นเหมือนเดิม

นอกจากบทบาทในการเป็นหมอนักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลแล้ว หลังเลิกงานพวกเขาก็มีงานอดิเรกที่ชอบทำก็คือการเล่นดนตรี หมอทั้ง 5 คนตั้งวงเล่นดนตรีด้วยกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งในเรื่องนี้เราก็จะได้ฟังเพลงที่เหล่าคุณหมอทั้ง 5 เล่นและร้องด้วยกัน

ซีรีย์เกาหลีชื่อดังเรื่องนี้ มีเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของหมอสมาชิกวง Old Doc เป็นอย่างมาก

Line

BBC

การเป็นหมอและศิลปิน

“เมื่อมีคนถามมาว่าพอทำงานเป็นศิลปินเยอะ ๆ แล้วงานหมอเป็นอย่างไรบ้าง ก็บอกเลยครับว่าวุ่นวายมาก ต้องยกเลิกคนไข้ไปหลายราย แต่ก็คิดว่าคงเป็นแค่ช่วงนี้แหล่ะ ช่วงที่เรากำลังบูม เรากำลังเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่คนตามว่า วงนี้เป็นวงหมอ” นพ.พูนศักดิ์ อธิบาย

“เราก็เลยตั้งใจกันเอาไว้ว่าจะทำให้ดีทั้งสองงาน เราจะมอบความสุขให้กับผู้ชมที่มาดูเราในฐานะศิลปินให้มากที่สุด ในขณะที่งานหมอ ก็ต้องจัดสรรเวลาให้ดีมากขึ้น ตอนนี้ สิ่งที่ถูกเบียดมาจริง ๆ คือเวลานอนที่น้อยลงมาก”

ในขณะเดียวกัน นพ.ธเนศ มองว่าตอนทำงานเป็นแพทย์ ทุกคนต่างก็ทำงานกันเต็มที่ มีการแบ่งเวลากันเป็นอย่างดี

“เวลาเราเจอคนไข้ เราก็ทำงานจริงจัง แต่การเล่นดนตรีของเรา เราใช้เวลานอกเหนือเวลาทำงานของเรา เป็นเวลานอกราชการ ช่วงที่ไม่มีงาน เราจะเล่นกันเบา ๆ หน่อย แต่ถ้ามีงานก็จะซ้อมกันหนักขึ้น แต่ช่วงกลางวันก็ทำงานจริงจัง” นพ.ธเนศ กล่าวเสริม

“การที่เป็นหมอ ทุกคนต้องรักในอาชีพ ทุกคนที่เข้ามาเป็นแพทย์เพราะมีความตั้งใจอยากรักษาคนไข้ อยากให้คนไข้มีความสุข อยากให้คนไข้หายจากโรค”

“ส่วนการเล่นดนตรีเป็นเรื่องของการพักผ่อน เราไม่ได้คาดหวังว่าจะทำเป็นอาชีพจริงจังขนาดนั้นแต่เราใช้เวลานอกเวลาทำงานปกติของเราทำ ถ้างานนอกเวลาปกติมันทำได้ดีเช่นเดียวกัน เราก็จะทำทั้งสองอย่างเลย แต่ยังไงก็จะไม่ทิ้งอาชีพแพทย์” เขายืนยัน

“ถึงมีคนดูคนเดียวก็จะเล่นอยู่”

ช่วงนี้ ถือเป็นช่วงขาขึ้นของวง Old Doc, ตารางการเล่นคอนเสิร์ตตามงานต่าง ๆ ของพวกเขาแทบจะเกิดขึ้นวันเว้นวัน แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ไม่ย่อท้อ เพราะถือว่าเป็นความสุข

นพ. นพ.พูนศักดิ์ เห็นว่ากระแสน่าจะมาเพียงแค่สองถึงสามเดือนนี้ และนี่เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข จึงคิดว่าจะทำไปเรื่อย ๆ

“แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็คงต้องคิดว่าจะต้องเลือกงานแล้วว่าอยากทำอะไรกันแน่” นพ. นพ.พูนศักดิ์ กล่าว

“เราเล่นดนตรีด้วยความสุขโดยไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีงานหรือไม่ จะมีคนจ้างหรือเปล่า เล่นแบบเครียด ๆ แล้วมันจะไม่มีความสุข พอไม่มีความสุขคนดูก็รับรู้ได้”

“เพราะฉะนั้น กระแสจะเป็นอย่างไร และถึงแม้จะไม่มีคนมาดูพวกเราแล้ว แต่ก็อยากจะบอกว่าถึงแม้มีคนดูเพียงแค่คนเดียวก็ยังจะเล่นอยู่ เรื่องดนตรีมันเหมือนอยู่ในสายเลือด คงเลิกไม่ได้จริง ๆ”

นพ.ธเนศ ยืนยันเช่นกันว่า จะเล่นดนตรีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเล่นไม่ไหว และไม่ได้สนใจว่าจะมีคนดูมากมายขนาดไหน เพราะป็นกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข

“ถ้าสมมุติว่าวันหนึ่งเราไม่ดังเท่าวันนี้แล้ว แต่การเล่นดนตรีมันทำให้เรามีความสุข เป็นการพักผ่อนหย่อนใจของเรา เราก็จะเล่นจนกว่าเราจะเล่นไม่ไหว ถึงเราจะไม่มีคนมาดู เราก็จะเล่นกันเอง” นพ.ธเนศ กล่าว

“แต่ถ้ามีคนดูก็ดีนะ เพราะความสุขของการที่ได้มาเล่นดนตรี ส่วนหนึ่งมาจากคนดู ถ้าไม่มีคนดูมันก็ดูไม่สนุก ถ้าเราเล่นกันเอง เป็นสิงห้องซ้อม มันก็ไม่สนุกเท่าเล่นให้คนได้ดู พอเราเห็นคนร้องเพลงตาม มีคนขอเพลง มันรู้สึกดี”

ก้าวต่อไปของ Old Doc

สมาชิกในวงมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และกระแสนิยมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แต่หลังจากนี้นอกจากการรวมตัวกันเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกแล้ว พวกเขามองว่า Old Doc จะไปไกลกว่าการเป็นวงดนตรีของหมอวงหนึ่ง

“ที่คิดกันไปไกลกว่านั้นก็คือ ถ้าอีกหน่อย Old Doc กลายเป็นสถาบันแห่งหนึ่ง ที่เป็นหนทางให้หมอได้มาแสดงออกกัน ก็อาจมีน้องรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่พวกเราได้ แต่ส่วนตัวจะเล่นไปจนเล่นไม่ไหวแน่นอน” นพ.พูนศักดิ์ อธิบาย

“ทุกวันนี้อยู่กับเพื่อน เล่นดนตรีกันมา 30 กว่าปีแล้ว และนี่เป็นความผูกพันที่เชื่อมให้เรายังเล่นอยู่ด้วยกัน ตั้งใจกันว่าจะเล่นกันไปเรื่อย ๆ เคยคุยกันเล่น ๆ ว่าเดินไม่ไหวแล้ว ถ้าต้องนั่งรถเข็นก็ยังจะมา”

นพ.ธเนศ ยอมรับว่า รายได้ที่ได้จากการร้องเพลงไม่ได้มากอะไร แต่ที่ยังทำอยู่ทุกวันนี้เพราะเป็นความสุขทางใจ

“ความสุขของการเป็นหมอคือการที่เราทำให้คนไข้หาย รู้สึกสบายใจ เหมือนเราได้ช่วยเขา แต่ความสุขของการเล่นดนตรี เหมือนเราได้ช่วยให้ตัวเองผ่อนคลายและมีความสุขด้วย เพราะถ้าผู้ชมมีความสุข เราก็มีความสุขมาก ๆ เหมือนกัน แต่ถ้ารักษาคนไข้ พวกเขาอาจมีความสุขมากกว่าเราเมื่อเขาหายจากอาการป่วย แต่เล่นดนตรี เราอาจจะสุขมากกว่าคนฟัง” นพ.ธเนศ อธิบาย

“มาถึงจุดนี้ เรื่องเงินไม่ต้องพูดถึง เพราะรายได้จากการเล่นดนตรี มันสู้รายได้จากงานหลักไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราได้จากตรงนี้คือเราทำให้คนดูมีความสุข ทำให้ตัวเองมีความสุขด้วย และเป็นการเยียวยาความเครียดของแต่ละคน”

“บางทีแบ่งเงินกันแล้วเหลือคนละแค่ 600-700 เท่านั้น แต่ก็ยังรักที่จะทำต่อไป” เขาทิ้งท้าย

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว