เนื้อเยื่อสังเคราะห์ แก้อาการ “นกเขาไม่ขัน” ในหมูทดลองได้สำเร็จ

หมูที่เคยได้รับบาดเจ็บ จนมีเนื้อเยื่อแผลเป็นที่อวัยวะเพศซึ่งส่งผลให้ “นกเขาไม่ขัน” หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้น ปัจจุบันสามารถรักษาได้แล้วด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสังเคราะห์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

ผลการทดลองนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Matter โดยทีมวิศวกรเนื้อเยื่อ (tissue engineer) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีจีนใต้ (SCUT) ระบุว่าประสบความสำเร็จในการสร้างเนื้อเยื่อเทียมส่วนที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรือเนื้อเยื่อ Tunica Albuginea (TA)

ครึ่งหนึ่งของประชากรชายวัย 40-70 ปีทั่วโลก ต่างเคยประสบกับภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาแล้ว การทดลองปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเทียมในหมูครั้งนี้ จึงเป็นความหวังให้กับบรรดาบุรุษเพศจำนวนไม่น้อย

ในกรณีของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่เกิดจากเหตุเคยได้รับบาดเจ็บมาในอดีต จนเนื้อเยื่อแผลเป็นทำให้รู้สึกเจ็บปวดและอวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ แพทย์จะรักษาโดยใช้เนื้อเยื่อจากอวัยวะส่วนอื่นมาปลูกถ่ายทดแทนของเดิม แต่วิธีนี้มักไม่ค่อยได้ผลซ้ำยังอาจทำให้อวัยวะเพศหดสั้นลง เนื่องจากเนื้อเยื่อต่างประเภทเข้ากันไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทีมวิศวกรเนื้อเยื่อของจีนนำโดย ดร. ไช่ มู่หยวน จึงได้คิดค้นวิธีสังเคราะห์เนื้อเยื่อ TA เทียมจากแอลกอฮอล์เจลบางชนิด โดยออกแบบให้มีโครงสร้างเป็นเส้นใยค้ำจุนเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำแบบที่อยู่ในอวัยวะเพศชาย ทั้งยังขยายตัวและหดตัวได้ตามแรงดันโลหิต ในทิศทางและรูปแบบเดียวกับเนื้อเยื่อ TA ของจริงอีกด้วย

มะเขือเผา

Getty Images

เมื่อนำเนื้อเยื่อเทียมดังกล่าวไปทดสอบปลูกถ่ายให้กับหมูทดลอง ทีมผู้วิจัยพบว่าหนึ่งเดือนหลังจากนั้นอวัยวะเพศของหมูทดลองกลับมาใช้งานได้ดี โดยสามารถแข็งตัวและคลายตัวได้เป็นปกติ แม้จะยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม

ดร. ชี่ ซูเถา หนึ่งในสมาชิกทีมวิศวกรเนื้อเยื่อจีนบอกว่า “สมรรถภาพทางเพศขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่นอกเหนือไปจากการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย ดังนั้นในขั้นต่อไปเราจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสังเคราะห์อวัยวะเพศเทียมขึ้นมาทั้งหมด เพื่อให้สามารถแก้ไขส่วนที่เสียหายได้อย่างครบถ้วนและมีความเป็นองค์รวม”

“อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะนำเทคนิคนี้มาประยุกต์ใช้กับมนุษย์ได้ แต่มันอาจมีประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่าใช้รักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพียงอย่างเดียว เช่นอาจใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อประเภทที่หดและขยายตัวตามแรงดันของเหลวอื่น ๆ อย่างเนื้อเยื่อในหลอดเลือด, ลำไส้เล็ก, กระจกตา, เส้นเอ็น, กระเพาะปัสสาวะ, และหัวใจ” ดร. ชี่กล่าว

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว