LGBTQ+ : แดร็กควีนเกาหลีใต้กับการเคลื่อนไหวสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ

 

ฮีซี ยาง แต่งแดร็กเป็น เฮอร์ริเคน กิมจิ แสดงตามงานต่าง ๆ ในเกาหลีใต้

Kim Moonyang
ฮีซี ยาง แต่งแดร็กเป็น เฮอร์ริเคน กิมจิ แสดงตามงานต่าง ๆ ในเกาหลีใต้

 

“ตอนผมลองแต่งแดร็กครั้งแรก ผมไม่รู้ว่า มันจะออกมาเป็นยังไง แล้วผมจะชอบมันแค่ไหน มันทำให้ผมรู้สึกถึงพลังและการปลดปล่อยบางอย่าง” ฮีซี ยาง กล่าว

ยางแสดงการแต่งแดร็กในชื่อ เฮอร์ริเคน กิมจิ (Hurricane Kimchi) มานานเกือบ 10 ปีแล้ว โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างรวมถึง โซล ไพรด์ (Seoul Pride) ในกรุงโซลของเกาหลีใต้ด้วย

“มีคนหลายพันคนออกมาชมโซล ไพรด์ และผมรู้สึกเหมือนกับผมเป็นซูเปอร์สตาร์ ผมรู้สึกตื่นเต้นและอะดรีนาลีนสูบฉีดจริง ๆ” ยางกล่าวกับบีบีซี “ผมชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและได้รับพลังจากคนกลุ่มใหญ่”

เขาลองแต่งแดร็กเป็นครั้งแรกหลังจากเห็นเพื่อน ๆ แต่ง และเห็นว่า มันคือเครื่องมือที่ช่วยนำการเคลื่อนไหวของเขากับความชื่นชอบในศิลปะมารวมเข้าไว้ด้วยกันได้

“2-3 ครั้งแรก ผมไม่มีประเด็นอะไรเลย ผมลองทำสนุก ๆ” เขากล่าว “ยิ่งผมได้แต่งแดร็ก ยิ่งผมได้แสดง ผมก็ยิ่งเห็นว่า ผมสามารถใช้แดร็กได้และสนุกกับมันได้มากแค่ไหน”

แดร็กไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในเกาหลีใต้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ยางยอมรับว่า ผู้คนบางส่วนอาจมองเขาด้วยความตกใจได้ เมื่อเขาแต่งแดร็กเป็นเฮอร์ริเคน กิมจิ ออกไปปรากฏตัวในที่สาธารณะ

“บางครั้งผมแต่งแดร็กพร้อมกับแต่งหน้าออกไปตามท้องถนน คนจะรู้สึกสับสน” เขากล่าว “ผมไม่เคยรู้สึกว่า ถูกคุกคามทางร่างกายจากการแต่งแดร็กในที่พื้นที่สาธารณะเลย แม้ผมรู้ว่าคนอาจจะคิดในแง่ลบหรือมองผมในเชิงลบ”

ฮีซี เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อเป็นตัวแทนของแดร็กและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

Sangsuk Sylvia Kang
ฮีซี เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อเป็นตัวแทนของแดร็กและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

 

เกาหลีใต้ไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ให้การคุ้มครองคนที่เป็น LGBTQ+ และการแต่งงานของคนเพศเดียวกันไม่ได้รับการยอมรับ การเป็น LGBTQ+ มักจะถูกมองว่า เป็นความพิการ หรือความเจ็บป่วยทางจิต โบสถ์อนุรักษ์นิยมที่ทรงอิทธิพลบางแห่งถือว่า การเป็นชายรักชายหรือคนข้ามเพศเป็นบาป รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ปีที่แล้ว พบว่า การเลือกปฏิบัติต่อคน LGBTQ+ ในเกาหลีใต้เกิดขึ้นทั่วไปอย่างแพร่หลาย

ยางบอกว่า ทั้งวัฒนธรรมแดร็กและ LGBTQ+ ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนรุ่นเก่าที่อาจจะรู้สึกสับสน แต่ชาวเกาหลีรุ่นใหม่รู้จักวัฒนธรรมแดร็กมากขึ้น

“พวกเขาเติบโตมากับการชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดและอะไรอย่าง Ru Paul’s Drag Race (รายการโทรทัศน์แข่งขันแต่งแดร็กของสหรัฐฯ) ดังนั้นพวกเขาจึงสนับสนุนและยอมรับ แม้ว่าพวกเขาไม่รู้ว่า แดร็กคืออะไร พวกเขาก็ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว มีช่องว่างระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ แต่ผมรู้สึกทางบวกกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” ยางกล่าว

เขาเห็นว่า แดร็กอาจมีอิทธิพลในเชิงบวกได้ เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมไพรด์ขนาดเล็กตามเมืองต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ได้พบเห็นกลุ่มคน LGBTQ+ แพร่หลายมากนัก

คนเข้าร่วมงานน้อยกว่า แต่นั่นหมายความว่า คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับงานรื่นเริงและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+

“มันมีความหมายมากในการได้ไปอยู่ตรงนั้นและแสดงให้พวกเขาชม” เขากล่าว

ยางยังมักจะทำให้ผู้คนสนใจประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+ ด้วยการแต่งแดร็กเข้าร่วมการประท้วงต่าง ๆ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

การแต่งแดร็กของเฮอร์ริเคน กิมจิ มักจะเป็นเกี่ยวข้องกับด้านการเมืองมากกว่า

Incheon Queer Culture Festival
การแต่งแดร็กของเฮอร์ริเคน กิมจิ มักจะเป็นเกี่ยวข้องกับด้านการเมืองมากกว่า

 

“ผมเป็นควีนไว้หนวด และไม่ได้จัดการแสดงแบบที่อยู่ในกระแสหรือยั่วยวนทางเพศเพียงอย่างเดียว ผมยังชอบการประท้วงและการแสดงทางการเมืองด้วย มันสำคัญสำหรับผมเช่นกันในการตอบแทนชุมชนและสนับสนุนคนอื่น ๆ ในชุมชน” ยางกล่าว

“ถ้าเราต้องการได้สิ่งต่าง ๆ มาและทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ เราควรส่งเสียงและให้คนมองเห็น ผู้คนควรตระหนักว่า เราอยู่ตรงนี้ และเราก็ไม่ต่างจากพวกเขา และมีสิทธิมนุษยชน”

ความชื่นชอบในการแต่งแดร็กของยางและแนวคิดในการนำเสนอการแต่งแดร็กในระดับที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เขาได้เป็นผู้ร่วมจัดงานพาเหรดโซลแดร็ก (Seoul Drag Parade) ในปี 2018

“ผมคิดว่า ผมจะรวบรวมคนอาจจะ 20-30 คน และเราจะสนุกด้วยกันและสังสรรค์กัน พอจบกลางคืน มีคนมาร่วมกิจกรรมตลอดวันราว 1,000 คน มันมากมายจริง ๆ แต่ดีมาก” เขาเล่า

งานพาเหรดนี้จัดขึ้นทางออนไลน์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด แต่คาดว่า ปีนี้จะกลับมาจัดงานแบบให้คนมาพบเจอกันจริง ๆ อีกครั้ง ยางตั้งเป้าที่จะจัดงานนี้ขึ้นในย่านอิแทวอน ซึ่งเป็นย่านที่มีบาร์ที่กลุ่มคน LGBTQ+ เป็นเจ้าของหลายแห่ง ย่านนี้ได้รับผลกระทบทางการเงินจากการระบาดใหญ่และจากเหตุการณ์เมื่อไม่นานนี้ ที่มีการเบียดเสียดกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 159 คน ธุรกิจเกี่ยวกับ LGBTQ+ จำนวนหนึ่งก็ประสบปัญหาทางการเงิน เพราะจำนวนคนมาเที่ยวลดลง

ทอดด์ เฮนรี รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ในเมืองซานดิเอโก กล่าวว่า แดร็กและงานต่าง ๆ อย่างพาเหรดโซลแดร็กช่วยทำให้ชุมชน LGBTQ+ ในเกาหลีใต้อยู่รอด

“ถ้าคุณถามคนเมื่อ 20 ปีก่อนว่า แดร็กควีนคืออะไร ผมคิดว่า พวกเขาคงจะไม่รู้ว่า คุณพูดถึงอะไรอยู่ พวกเขาน่าจะเข้าใจผิดว่า คนคนนั้นคือคนข้ามเพศ ในแง่นี้กิจกรรมต่าง ๆ ที่นำโดยแดร็กควีนแต่ละคนและกลุ่มแดร็กควีน ได้ทำให้ความเข้าใจของคนไบนารี (คนที่เห็นว่า มีแค่เพศชายและหญิง) ในเรื่องเพศและรสนิยมทางเพศกว้างขึ้นในแง่ประวัติศาสตร์” เขากล่าว

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่เทศกาลไพรด์ต่าง ๆ มีพันธมิตรจำนวนมากออกมาแสดงการสนับสนุนการแสดงแดร็กและยังสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ ด้วย

“ในช่วงไม่กี่ปีนี้ คนที่เรียกตัวเองว่า ‘ชนกลุ่มน้อยทางเพศ’ (รวมถึงแดร็กควีนหลายคน) และผู้สนับสนุนหัวก้าวหน้าของพวกเขาได้เพิ่มเป็นมากกว่า 100,000 คนต่อปี ที่ศาลากลางเมือง หรือที่ไหนก็ตามที่มีการจัดเทศกาลโซล ไพรด์ (Seoul Pride Festival) ผมรู้สึกมีหวังกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” เขากล่าว

สำหรับยาง เขายังคงมุ่งเน้นไปที่การแต่งแดร็กและการนำคนในชุมชนมารวมตัวกัน

“บางครั้ง ผมได้รับข้อความและความเห็นทางโซเชียลมีเดียจากคนที่ขอบคุณผมที่ผมจัดกิจกรรมต่าง ๆ และการที่ผมทำให้งานต่าง ๆ เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ผมชอบที่จะคิดว่า ผมเปิดประตูให้คนและพวกเขาก็เห็นคุณค่านี้ มันทำให้ผมมีความสุข”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว