คริสต์ศาสนา : มิชชันนารีเกาหลีใต้รุกเนปาล ชวนคนเปลี่ยนศาสนา เสี่ยงถูกดำเนินคดี

 

เนปาลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชุมชนชาวคริสต์ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก

BBC
เนปาลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชุมชนชาวคริสต์ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก

 

การเปลี่ยนคนให้ไปนับถืออีกศาสนาเป็นเรื่องผิดกฎหมายในเนปาล แต่ผู้สอนศาสนาจำนวนมากกำลังเสี่ยงถูกดำเนินคดีในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์

“ชัยชนะแด่พระเยซู” พาง ชางอิน บาทหลวงชาวเกาหลีใต้ร้องออกมา ขณะประกอบพิธีประสาทพรให้โบสถ์แห่งใหม่ในหมู่บ้านจาร์ลัง บริเวณตีนเขาหิมาลัย

ผู้ที่เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์จำนวนมากมารวมตัวกัน ส่วนใหญ่มาจากชุมชนทามัง ชนพื้นเมืองที่เคยปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิลามะ

ADVERTISMENT

ในสายตาของพาง ชาวทามังเป็นคนที่ “ยากจนทั้งทางการเงินและขัดสนทางจิตวิญญาณ”

“ดังนั้น ความมหัศจรรย์เกิดขึ้น และทั้งหมู่บ้านก็เปลี่ยนศาสนา” เขากล่าว

ADVERTISMENT

บรรดามิชชันนารีจำนวนมาก ซึ่งหลายคนเป็นชาวเกาหลีใต้เหมือนกับพาง ได้ช่วยทำให้ชาวคริสต์ในเนปาลกลายเป็นชุมชนที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

เนปาลซึ่งอดีตเคยเป็นราชอาณาจักรฮินดูและเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า มีจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า จัณฑาล ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดของศาสนาฮินดู หรือมาจากชนพื้นเมือง พวกเขาอาจเชื่อในความมหัศจรรย์ตามที่พางบอก แต่สำหรับพวกเขา การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ทำให้มีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนและการเลือกปฏิบัติ

โบสถ์ใหม่ในเมืองจาร์ลัง เป็นหนึ่งในโบสถ์หลายสิบแห่งที่บาทหลวงพางเปิดในเนปาล

BBC
โบสถ์ใหม่ในเมืองจาร์ลัง เป็นหนึ่งในโบสถ์หลายสิบแห่งที่บาทหลวงพางเปิดในเนปาล

 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่อาศัยอยู่ในเนปาล พางช่วยเปิดโบสถ์เกือบ 70 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองดาดิง ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 2 ชั่วโมง เขาบอกว่า ชุมชนช่วยบริจาคที่ดิน และคริสตจักรเกาหลีช่วยจ่ายค่าก่อสร้าง

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจชุมชนชาวคริสต์ทั่วประเทศ ระบุว่า มีโบสถ์ 7,758 แห่ง ในประเทศเนปาลที่คนส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาฮินดู

เกาหลีใต้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ และกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ส่งออกมิชชันนารีมากที่สุดในโลก ทั้งที่เพิ่งเริ่มส่งเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ สมาคมเผยแผ่ศาสนาของเกาหลีใต้ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์จากเกาหลีใต้ในต่างประเทศ 22,000 คน

พาง ชางอิน และลี จองฮี ภรรยา อาศัยอยู่ในเนปาลมานาน 20 ปีแล้ว

BBC
พาง ชางอิน และลี จองฮี ภรรยา อาศัยอยู่ในเนปาลมานาน 20 ปีแล้ว

 

เนปาลเป็นรัฐโลกวิสัย หรือ รัฐฆราวาส (secular state) และรัฐธรรมนูญปี 2015 ปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนาในปี 2018 ซึ่งจะเอาผิดผู้ใดก็ตามที่พยายามโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนแปลงความเชื่อ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

แม้หวาดกลัว แต่ลี จองฮี ภรรยาของพาง กล่าวว่า “เราไม่อาจหยุดการเผยแผ่คำสอนของพระเยซูเพราะความกลัวได้ เราจะไม่หยุดการช่วยปกป้องจิตวิญญาณของผู้คน”

ทั้งคู่อยู่ในแวดวงการเงินการธนาคารมาก่อน ลี จองฮี บอกว่า สามีของเธอ “ได้รับเสียงเรียกจากพระเจ้าก่อน และไม่นานหลังจากนั้น พระเจ้าก็ส่งสัญญาณให้เราย้ายมาเนปาล”

ตอนที่ทั้งสองคนเดินทางมาถึงในปี 2003 ราชวงศ์ที่นับถือศาสนาฮินดูยังคงครองราชบัลลังก์ หลังจากนั้น 5 ปีต่อมา สถาบันกษัตริย์ที่มีอายุ 240 ปี ถูกโค่นล้ม หลังเกิดสงครามกลางเมือง และรัฐบาลผสมได้ขึ้นมามีอำนาจ เปลี่ยนการปกครองของเนปาลเป็นสาธารณรัฐ และรัฐโลกวิสัย ในปี 2008 ซึ่งเป็นผลดีต่องานเผยแผ่ศาสนา

ปัจจุบันพางและภรรยาเป็นส่วนหนึ่งของมิชชันนารีเกาหลีราว 300 ครอบครัวที่อยู่ในเนปาล

ในกรุงกาฐมาณฑุ มิชชันนารีเกาหลีใต้กระจุกตัวอยู่บริเวณโดยรอบโบสถ์เกาหลีในย่านไภเซพาที ไม่มีใครเป็นมิชชันนารีอย่างเป็นทางการ แต่เข้ามาในประเทศเนปาลด้วยวีซ่าธุรกิจหรือนักเรียน บางคนเปิดร้านอาหาร ขณะที่หลายคนจดทะเบียนองค์กรการกุศล

ในช่วงที่เราอยู่ในชุมชนมิชชันนารีนานหลายสัปดาห์ มีแค่พางและภรรยาเท่านั้นที่เต็มใจพูดคุยด้วย และเขาเห็นว่า งานที่เขาทำไม่ได้ละเมิดกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนศาสนาอย่างเปิดเผย

ผู้นับถือศาสนาคริสต์มีไม่ถึง 2% ของประชากรเนปาล ส่วนผู้นับถือศาสนาฮินดูมีอยู่ราว 80% และผู้นับถือศาสนาพุทธ 9% แต่ข้อมูลสำมะโนประชากรเปิดเผยว่า กำลังมีผู้นับถือศาสนาคริสต์เพิ่มขึ้น

ในปี 1951 ไม่มีชาวคริสต์ในเนปาลเลย และมีเพียง 458 คนในปี 1961 แต่ในปี 2011 มีอยู่เกือบ 376,000 คน การสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดประเมินว่า น่าจะมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ในปัจจุบันราว 545,000 คน

คามาล ธาพา ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนา และอยากให้เนปาลกลับไปเป็นรัฐฮินดูอีกครั้ง

BBC
คามาล ธาพา ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนา และอยากให้เนปาลกลับไปเป็นประเทศฮินดูอีกครั้ง

 

คามาล ธาพา อดีตรองนายกรัฐมนตรีเนปาล บอกว่า “มันแพร่กระจายเหมือนไฟป่า อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมกำลังเผชิญความเสี่ยง สายใยแห่งความสามัคคีในชาติกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง”

เขามองว่า งานเผยแผ่ศาสนาของชาวเกาหลีเป็น “การโจมตีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศอย่างเป็นระบบ”

“มิชชันนารีกำลังทำงานอยู่หลังฉากและใช้ประโยชน์จากความยากจนและคนไร้การศึกษา โน้มน้าวให้ผู้คนเปลี่ยนไปเป็นชาวคริสต์ นี่ไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา นี่คือการหาประโยชน์ในนามของศาสนา” เขากล่าว

เขากำลังพยายามโน้มน้าวทางการเนปาลให้กลับไปเป็นประเทศฮินดูเหมือนเดิม เขาสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนาและอยากจะเห็นการบังคับใช้กฎหมายนี้

ปัจจุบันมีเพียงชาวคริสต์ที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ แต่ยังไม่เคยมีใครถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามข้อหานี้ หลายคดียุติไปเพราะขาดหลักฐาน หรือจำเลยถูกยกฟ้องในชั้นอุทธรณ์

สมาคมชาวคริสต์ในเนปาลระบุว่า ปัจจุบันมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 5 คดี เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ข้อกล่าวหาต่อชาวเกาหลี 4 คน ซึ่งเป็นแม่ชี 2 รายถูกยกฟ้อง

BBC
บาทหลวงดิลลี ราม พอเดล กล่าวว่า “การเปลี่ยนศาสนาควรมาจากพระเยซู”

 

บาทหลวงดิลลี ราม พอเดล หัวหน้าสมาคมชาวคริสต์ในเนปาล เป็นคนแรก ๆ ที่ถูกสอบสวนภายใต้กฎหมายนี้ เขาถูกกล่าวหาเมื่อ เม.ย. 2018 ว่า ติดสินบนให้คนเปลี่ยนศาสนา ซึ่งเขาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ต่อมาเขาก็หลุดคดีนี้

“เราถูกกล่าวหาว่า ทำให้คนเปลี่ยนศาสนา แต่เราไม่ได้มีอำนาจนั้น” เขากล่าว

“ถ้าผมทำได้ ผมคงทำให้แม่ของผมเปลี่ยนศาสนาแล้ว แม่อายุ 92 ปี ผมให้เงินแม่ได้ ผมสวดขอพรให้แม่ได้ แต่ผมไม่สามารถทำให้แม่เปลี่ยนศาสนาได้ เพราะการเปลี่ยนศาสนาควรมาจากพระเยซู”

เขามาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาฮินดูและได้บวชเป็นนักบวชฮินดู “เหมือนกับคน 21 ชั่วอายุคนก่อนหน้าผม” ในวัย 20 ปีเศษ เขาไปเรียนต่อในเกาหลีใต้ ได้เริ่มรู้จักกับศาสนาคริสต์ มีคนให้พระคัมภีร์ไบเบิลที่เป็นภาษาเนปาลแก่เขา

ดิลลี ราม พอเดล เป็นนักบวชฮินดูตอนที่ยังหนุ่ม

BBC
ดิลลี ราม พอเดล เป็นนักบวชฮินดูตอนที่ยังหนุ่ม

 

เมื่อกลับไปเนปาล ครอบครัวไม่ต้อนรับเขา พวกเขาบอกว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาต่างชาติ บางคนบอกว่า เขาบ้าไปแล้ว เขาต้องใช้เวลานานกว่าที่ครอบครัวและชุมชนจะยอมรับเขา

แต่ละปีมีนักศึกษาเนปาลเดินทางไปเรียนที่เกาหลีใต้มากกว่า 2,000 คน มิชชันนารีเกาหลีที่ไม่เปิดเผยชื่อ บอกว่า คนเนปาลที่เดินทางไปเรียนเหล่านี้พยายามที่จะติดต่อกับโบสถ์ท้องถิ่นในเกาหลี

“การทำงานเปลี่ยนศาสนาในเนปาลเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น เรามีหลายทางเลือก” เขากล่าวและเสริมว่า ภารกิจของเขาคือการเปลี่ยนให้คนมานับถือศาสนาคริสต์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นจึงต้องทำอย่างลับ ๆ

พางและภรรยาของเขาช่วยตั้งโรงเรียนสอนศาสนาในกาฐมาณฑุ ปัจจุบันมีนักเรียนราว 50 คน กำลังศึกษาอยู่ คริสตจักรเกาหลีบริจาคค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ครอบคลุมทั้งค่าเรียนและการใช้ชีวิตกินนอนที่โรงเรียน

หนึ่งในนั้นคือ ซาพานา วัย 22 ปี จากหมู่บ้านทามังที่อยู่ห่างไกลในเมืองซินกัง

“พ่อของฉันรังเกียจคนที่ไปโบสถ์ เพราะพ่อเชื่อว่า เราไม่ควรลืมประเพณีของเรา” เธอกล่าว

BBC
ซาพานา กล่าวว่า เธอ “จะไปยังที่ใหม่ ๆ และเผยแพร่คำสอนของพระเยซู”

 

ลุงของเธอเป็นคนทำให้เธอรู้จักกับศาสนาคริสต์ ขณะที่เธอป่วยหนัก เธออ้างว่า เธอหายป่วยหลังจากเปลี่ยนศาสนา

หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลเช่นหมู่บ้านของเธอ คือพื้นที่ใหม่ที่มิชชันนารีอย่างพาง ชางอิน เข้าไปเผยแผ่ศาสนา เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนา

ซาพานาเรียนจบเมื่อปีที่แล้ว เธอวางแผนที่จะกลับไปยังหมู่บ้านบนเขาของเธอ เพื่อชักชวนให้คนหนุ่มสาวหันมานับถือศาสนาคริสต์

“ฉันจะไปยังที่ใหม่ ๆ และเผยแพร่คำสอนของพระเยซูแก่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน”

พาง ชางอิน ยอมรับว่า การเผยแพร่คำสอนของพระเยซู “อาจปะทะกับศาสนาและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน” แต่เขาเห็นว่า เรื่อง “ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรมนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

รายงานเพิ่มเติมโดย ราชัน พาราจูลี และรามา พาราจูลี

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว