

- เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- วันหยุดเดือนธันวาคม 2566 เช็กวันหยุด วันสำคัญ วันหยุดยาว-หยุดต่อเนื่อง
การสำรวจอวกาศในโลกสมัยใหม่เป็นการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แต่เมื่อพิจารณาถึงความยากเย็นและซับซ้อนของเป้าหมายของภารกิจที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องยากที่ชาติมหาอำนาจทั้งสองจะไปสู่เป้าหมายได้ด้วยตัวเอง
องค์การนาซาได้เริ่มโครงการอาร์ทิมิสแล้ว โดยตั้งเป้าว่าในที่สุดจะส่งนักบินอวกาศไปอยู่บนดวงจันทร์เพื่อทำการทดลองต่าง ๆ เป้าหมายคือเพื่อการลงหลักปักฐานสร้างอาณานิคมต่างดาวให้มนุษย์ได้อยู่อาศัยกันในระยะยาว ฐานที่มั่นบนดวงจันทร์นี้จะปูทางไปสู่การนำมนุษย์เหยียบดาวอังคารให้ได้
ด้านจีนเองก็ได้ก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกงสำเร็จแล้ว และก็วางแผนจะสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารหมือนกัน พวกเขาวางแผนจะก่อตั้งสถานีวิจัยแบบไม่มีมนุษย์ควบคุมบนดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2025 และจะส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2030
มนุษย์สามารถไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จแล้ว แต่การไปถึงดาวอังคารซึ่งอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์ถึง 250 เท่า เป็นเรื่องยากกว่ามาก แม้ว่าจะสามารถสร้างจรวดส่งมนุษย์ไปยังดาวที่ชั้นบรรยากาศบางเบามากสำเร็จ ความท้าทายที่รออยู่คือจะพานักบินอวกาศกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร

หากมองย้อนกลับไปในอดีต ชาติมหาอำนาจคอยแข่งขันกันในเรื่องการสำรวจอวกาศมาตลอด อย่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในทศวรรษ 50 และ 60 รัสเซียส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จก่อน ขณะที่ไม่กี่ปีต่อมา สหรัฐฯ ก็สามารถส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ทศวรรษ 70 เป็นยุคทองแห่งความร่วมมือซึ่งนำไปสู่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station – ISS) ซึ่งปล่อยขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศเมื่อปี 1998 ชาติมหาอำนาจทั้งสองสร้างสถานีดังกล่าวพร้อมกับชาติพันธมิตรอีก 13 ชาติ ISS เป็นสถานีที่ไม่ได้มีชาติใดชาติหนึ่งเป็นเจ้าของ ทุกชาติต้องอาศัยกันและกันในการปฏิบัติการ

โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถบรรลุเป้าหมายอะไรได้บ้างหากร่วมมือร่วมใจกัน แต่โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐฯ ไปห้ามไม่ให้จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติสมาชิกสร้างสถานี ISS ส่งผลให้จีนไปมุ่งสร้างสถานีของตัวเองขึ้นมา
ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้คือ หลังจากรัสเซียบุกยูเครนได้ไม่กี่สัปดาห์ ชาติต่าง ๆ ก็เลิกทำงานร่วมกับรัสเซีย โครงการสำรวจดวงจันทร์ 2 โครงการระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) กับรัสเซีย ถูกยกเลิก เช่นเดียวกับโครงการสำรวจดาวอังคาร
- ทำไมภารกิจส่งจรวดไปดวงจันทร์ของนาซ่าถึงยากลำบากเช่นนี้
- ทำไมหลายชาติอยากไปดวงจันทร์ในปี 2022
- “กระท่อมลึกลับ” ที่จีนพบบนดวงจันทร์ ที่แท้เป็นก้อนหินรูปกระต่าย
- พื้นผิวดวงจันทร์มีออกซิเจนเหลือเฟือ พอให้คนทั้งโลกใช้หายใจได้นับแสนปี

อย่างไรก็ดี เมื่อมองให้ลึกลงไป ประเทศตะวันตกก็ยังทำงานร่วมกับรัสเซียอยู่ในเรื่องโครงการสำรวจอวกาศ นักบินอวกาศอเมริกันและยุโรปยังไปรับการฝึกที่ Star City ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ด้านการสำรวจอวกาศของรัสเซียในกรุงมอสโก
คำถามสำคัญหลังจากนี้คือจะเกิดอะไรขึ้นหลังสถานีอวกาศนานาชาติหมดอายุขัยในปี 2030
จูเลียนา ซูเอสส์ นักวิเคราะห์ด้านนโยบายอวกาศจากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิสในกรุงลอนดอนบอกว่า รัสเซียมีประโยชน์ต่อชาติสมาชิกน้อยกว่าตอนแรกเพราะเทคโนโลยีของพวกเขาล้าสมัยแล้ว เธอบอกว่าเป็นไปได้ที่ชาติแรกที่เดินทางเข้าสู่วงโคจรอวกาศสำเร็จอาจเป็นชาติแรกที่ต้องถอนตัวออกมา
ความถดถอยของโครงการสำรวจอวกาศรัสเซียมาในช่วงที่โครงการสำรวจอวกาศของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนส่งจรวดเข้าสู่อวกาศมากกว่า 200 ลำ แม้ว่างบประมาณด้านอวกาศของสหรัฐฯ จะยังมากกว่าจีนมาก
จีนรู้ดีว่าการร่วมมือกับชาติอื่นจะเปิดช่องให้พวกเขาได้รับความรู้เชิงเทคนิคและก็ได้เงินสนับสนุนด้วย พวกเขาได้ชักชวนให้ชาติอื่น ๆ ที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมกับ ISS มาเข้าร่วมกับตัวเอง และเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน

ตอนนี้ มี 72 ประเทศที่มีโครงการอวกาศเป็นของตัวเองแล้วเพราะพวกเขาไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลังในยุคแห่งการแข่งขันสำรวจอวกาศ
โครงการของเศรษฐี
ในปัจจุบัน โครงการของเหล่าอภิมหาเศรษฐีเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การสำรวจอวกาศก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
อย่างบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ ก็พาผู้โดยสารไปโคจรอยู่ในอวกาศสำเร็จแล้ว โดยเขาสามารถลดต้นทุนได้ด้วยการใช้จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้านเจฟฟ์ เบซอส ต้องการจะสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์โดยจะใช้ชื่อว่า Orbital Reef
เฮเลน ชาร์แมน นักบินอวกาศคนแรกของสหราชอาณาจักร เชื่อว่าการแข่งขันระหว่างชาติจะถูกบดบังโดยการแข่งขันของภาคเอกชน เธอมองว่าการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์จะทำให้บริษัททั่วโลกมาร่วมมือกัน
เรื่องของผลกำไรและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์จะผลักดันให้คนร่วมมือกัน อย่างไรก็ดี บริษัทเอกชนยังต้องทำตามกฎหมายในประเทศตัวเองอยู่ อย่างตอนที่ชาติต่าง ๆ เริ่มคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อปี 2022 บริษัทต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องถอนตัวจากสัญญาที่ทำไว้กับรัสเซียด้วย
ดร.โจเซฟ แอสช์บาเคอร์ ประธานองค์การอวกาศยุโรป (ESA) บอกว่า ตั้งใจจะทำให้ยุโรปสู้กับชาติอื่น ๆ ในเรื่องการสำรวจอวกาศได้ โดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) เพิ่งจะได้ทุนเพิ่มขึ้น 2 พันล้านปอนด์

ในอนาคต จะเป็นชาติต่าง ๆ ที่เป็นผู้นำในการสำรวจอวกาศ แต่ความท้าทายคือชาติต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันเป็นกลุ่มเดียวกันให้ได้เพื่อแบ่งปันข้อมูลและแข่งกับกลุ่มชาติอื่น ๆ และนี่เป็นสิ่งที่องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ทำได้ดีมาหลายปีแล้ว
กฎหมายใหม่สำหรับอวกาศ
อีกอุปสรรคหนึ่งในการสำรวจดาวดวงอื่นคือชุดกฎหมายที่ควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ในอวกาศ “Outer Space Treaty” (สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่น ๆ) ไม่ได้รับการอัปเดตตั้งแต่ปี 1967 แล้ว ในตอนนั้น ชาติ 31 ชาติ รวมถึงสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ตกลงกันว่าจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ

จูเลียนา ซูเอสส์ จากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส บอกว่า สนธิสัญญาดังกล่าวใช้ไม่ได้กับยุคปัจจุบันแล้ว เพราะไม่มีการพูดถึงบริษัทเอกชน หรือเหล่าเศรษฐีพันล้าน เธอบอกว่า “อวกาศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยเป็นเมื่อปี 1967”
ย้อนไปปี 1979 สหประชาชาติเสนอกฎใหม่ในการควบคุมการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จากดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวอื่น ๆ ที่อยู่ไกลกว่านั้น แต่ทั้งสหรัฐฯ จีน และรัสเซียต่างปฏิเสธที่จะลงนามตกลง
ดร.โจเซฟ แอสช์บาเคอร์ ประธานองค์การอวกาศยุโรป (ESA) บอกว่า การแข่งขันสำรวจอวกาศครั้งใหม่จะยังไม่เดินหน้าจนกว่าจะมีสนธิสัญญาฉบับใหม่
“ในอวกาศ เราใช้วงโคจรเดียวกันสำหรับดาวเทียม ทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรปใช้ผืนผิวดวงจันทร์ดวงเดียวกัน เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะไปมีส่วนร่วมและทำงานบนนั้นกันอย่างไร”
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว