สัตว์ป่า : สัตว์ 8 ชนิดที่อาจสูญพันธุ์ลงในเวลาอีกไม่นานนี้

 

โลมาวากีตา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่หายากที่สุด และจำนวนประชากรลดลงในอัตราที่น่าตกใจ

WWF
โลมาวากีตา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่หายากที่สุด และจำนวนประชากรลดลงในอัตราที่น่าตกใจ

 

การประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ (UN Biodiversity Conference—COP15) จัดขึ้นในแคนาดาช่วงก่อนคริสต์มาสที่ผ่านมา และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จากการประกาศพันธะสัญญาที่สำคัญในการคุ้มครองผืนดิน พื้นที่ชายฝั่งทะเล และแหล่งน้ำจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งโลกให้ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้

แต่ความพยายามนี้อาจจะสายเกินไปสำหรับสัตว์หลายสายพันธุ์ แม้ว่าสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources–IUCN) หนึ่งในองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลก ได้บรรจุรายชื่อสิ่งมีชีวิตมากกว่า 87,000 สายพันธุ์ ไว้ใน “บัญชีแดง” ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่มีสัตว์บางชนิดที่ “มีความเสี่ยงขั้นวิกฤต” ต่อการสูญพันธุ์ และอาจจะมีจำนวนเหลืออยู่ตามธรรมชาติไม่เกิน 20 ตัวเท่านั้น นั่นหมายความว่า พวกมันอาจจะสูญพันธุ์ลงในอีกไม่ช้า หรืออาจจะพบเห็นได้เฉพาะในพื้นที่ที่ถูกเลี้ยงดูไว้เท่านั้น

นี่คือสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมากเหล่านั้น :

โลมาวากีตา

เคยมีความพยายามในการผสมพันธุ์โลมาวากีตาที่เลี้ยงไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ล้มเหลว

Omar Vidal/WWF
เคยมีความพยายามในการผสมพันธุ์โลมาวากีตาที่เลี้ยงไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ล้มเหลว

 

“ผมไม่เชื่อว่า มันเป็นการต่อสู้ที่สูญเปล่า แต่เราต้องสู้ต่อไป”

น้ำเสียงของดร.โลเรนโซ โรฮาส-บราโว แสดงออกถึงความรู้สึกฉุนเฉียว

นักชีววิทยาชาวเม็กซิโกผู้นี้ กล่าวกับบีบีซีถึงการต่อสู้ยาวนาน 3 ทศวรรษในการอนุรักษ์โลมาวากีตา ซึ่งกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund–WWF) เรียกว่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่หายากที่สุดในโลก

พวกมันอาศัยอยู่ในอ่าวแคลิฟอร์เนียของเม็กซิโก และมีอัตราการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่มีการค้นพบครั้งแรกในปี 1958 คาดว่า ปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียง 10 ตัวเท่านั้น ลดลงจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่คาดว่า มีอยู่ราว 30 ตัว

ดร.โรฮาส-บราโว อธิบายการตายของโลมาวากีตาว่า มีส่วนสัมพันธ์กับการจับปลาเชิงพาณิชย์ เพราะพวกมันตายในตาข่ายจับปลาผิดกฎหมายที่ใช้ในการจับปลาโตโตอาบาของเม็กซิโก ซึ่งมีการนำกระเพาะลมของมันไปทำเป็นยาแผนโบราณของจีน

“เรามีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าทางการควบคุมการจับปลาผิดกฎหมายได้ ประชากร (ของโลมาวากีตา) ก็จะสูงขึ้นได้ แต่เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา” เขากล่าว

เคยมีความพยายามในการผสมพันธุ์โลมาวากีตาที่เลี้ยงไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ล้มเหลว

ซาวลา หรือ วัวหวูกวาง

ซาวลาอาศัยอยู่ในป่าพรมแดนระหว่างเวียดนามและลาว

David Hulse/WWF
ซาวลาอาศัยอยู่ในป่าพรมแดนระหว่างเวียดนามและลาว

 

วัวที่มีเขายาวและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย” ชนิดนี้ ถูกพบครั้งแรกในต้นทศวรรษ 1990 ถือเป็นการพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดใหม่ครั้งแรกในรอบ 50 ปี แต่ปัจจุบันซาวลาหายากอย่างมาก

นับตั้งแต่ตอนนั้น WWF ระบุว่า มีการยืนยันการพบเห็นซาวลาเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ทำให้เกิดความกังวลว่า พวกมันอาจจะสูญพันธุ์ในป่าที่อยู่บริเวณพรมแดนเวียดนามและลาว ซึ่งมีการล่าสัตว์ผิดกฎหมายอย่างมาก

“เราไม่อาจมั่นใจว่า ซาวลายังมีอยู่หรือไม่ เพราะครั้งสุดท้ายที่มีการถ่ายภาพซาวลาไว้ได้คือในปี 2013” ดร.มาร์กาเร็ต คินแนร์ด จาก WWF กล่าวกับบีบีซี

“เราไม่รู้ว่า มีอยู่กี่ตัวที่นั่น และฉันก็ไม่ได้มองโลกในแง่ดีมากเกินไป”

องค์กรต่าง ๆ อย่าง IUCN จะระบุว่า สัตว์สายพันธุ์ใดสูญพันธุ์ก็ต่อเมื่อไม่มีข้อสงสัยอย่างมีเหตุผลว่า สัตว์สายพันธุ์นั้นตัวสุดท้ายได้ตายไปแล้ว

แรดสุมาตรา

แรดสุมาตราต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

BBC
แรดสุมาตราต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

 

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ เป็นตัวอย่างว่าจำนวนประชากรสัตว์ที่เหลืออยู่ไม่ได้เป็นตัวชี้ว่า สัตว์นั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดเสมอไป โดยแรดสุมาตรามีจำนวนมากกว่าแรดชวา สัตว์อีกสายพันธุ์ที่วิกฤตต่อการสูญพันธุ์ในอินโดนีเซีย แต่แรดสุมาตรามีความเสี่ยงในการสูญเสียที่อยู่อาศัยและอยู่กันอย่างกระจัดกระจายมากกว่าแรดชวามาก

WWF ประเมินว่า มีแรดสุมาตราเหลืออยู่ไม่ถึง 80 ตัว โดยมีการกระจายตัวอยู่แยกกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ดร.คินแนร์ด อธิบายว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายพันธุ์ของพวกมัน

“พวกมันอยู่กันอย่างกระจัดกระจายและหากันไม่เจอ เราพบว่า ตัวเมียจะมีปัญหาที่มดลูกและรังไข่ หากไม่ได้รับการผสมพันธุ์เป็นเวลานาน” เธอกล่าว

ดร.คินแนร์ด ยังชี้ด้วยว่า แรดสุมาตรา มีขนยาวปกคลุมตัว และมีความใกล้เคียงกับแรดดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมากกว่าแรดชนิดอื่น ๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

นกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์

นับตั้งเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในปี 2015 มีการพบเห็นนกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์แค่ตัวเดียว

Alexander Zaidan
นับตั้งเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในปี 2015 มีการพบเห็นนกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์แค่ตัวเดียว

 

นกชนิดนี้ เป็นสัตว์พื้นถิ่นของป่าแอตแลนติกในบราซิล หนึ่งในชีวนิเวศที่เสื่อมโทรมและลดน้อยลงในทวีปอเมริกา มีการระบุชื่อนกชนิดนี้ครั้งแรกในปี 1960 จากนกที่ได้รับการรักษาสภาพ หรือถูกสตัฟฟ์ไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเยอรมนี และมีการพบเห็นนกชนิดนี้ตามธรรมชาติครั้งแรกในปี 1995

ในปี 2011 บรรดานักวิจัยชาวบราซิลประเมินว่า มีนกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์หลงเหลืออยู่ตามธรรมชาติราว 10-15 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในป่าที่รู้จักกันในชื่อว่า ป่านก ในรัฐบาเยียทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

น่าเศร้า เกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้ในปี 2015 นับจากนั้นมีการพบเห็นนกชนิดนี้เพียงตัวเดียว โดยเป็นนกเพศเมีย

“มีการตั้งชื่อเล่นให้มันว่า ‘โฮป’ (Hope แปลว่า ความหวัง) แต่เรายังไม่พบเห็นมันอีกเลยตั้งแต่ปี 2019” อเล็กซานเดอร์ เซดาน นักชีววิทยา ซึ่งศึกษานกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์ อธิบาย

“มีการเดินทางไปสำรวจในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อหานกชนิดนี้ตัวอื่น ๆ แต่เราก็ยังไม่พบเจอ”

เสือดาวอามูร์

เสือดาวอามูร์อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของ IUCU นับตั้งแต่ปี 1996

Getty Images
เสือดาวอามูร์อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของ IUCU นับตั้งแต่ปี 1996

 

ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมอยู่ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ทางเหนือของจีน และคาบสมุทรเกาหลี เสือชนิดนี้มีจำนวนประชากรลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จากการล่าสัตว์ การสูญเสียที่อยู่อาศัย และเหยื่อที่ลดจำนวนลง

IUCN ระบุว่า เสือดาวอามูร์เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 1996 และการประเมินจำนวนประชากรล่าสุดเหลืออยู่ประมาณ 85 ตัว

หมาป่าแดง

หมาป่าแดงกลับมาเพิ่มจำนวนขึ้น หลังถูกประกาศว่า สูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติแล้ว แต่จำนวนประชากรเริ่มลดลงอีกครั้ง

Getty Images
หมาป่าแดงกลับมาเพิ่มจำนวนขึ้น หลังถูกประกาศว่า สูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติแล้ว แต่จำนวนประชากรเริ่มลดลงอีกครั้ง

 

หมาป่าแดงเป็นกรณีที่น่าสงสัย มันเป็นหนึ่งในหมาป่าท้องถิ่น 2 สายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ หมาป่าแดงเคยถูกประกาศว่า สูญพันธุ์ไปแล้วตามธรรมชาติในปี 1980

อย่างไรก็ตาม บรรดานักอนุรักษ์ได้จับหมาป่าแดงมาเลี้ยงดูไว้มากพอที่จะเริ่มการขยายพันธุ์และทำโครงการนำหมาป่าแดงกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ โดยในปี 2011 หมาป่าแดงได้เพิ่มจำนวนขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 130 ตัว

แต่นับตั้งแต่นั้น หมาป่าแดงก็มีเหยื่อลดน้อยลง จากการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองและศัตรูตัวฉกาจของพวกมันคือ บรรดาเจ้าของที่ดินและเกษตรกรที่ตามล่าหรือยิงพวกมันเพื่อคุ้มครองปศุสัตว์ของตัวเอง

องค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐฯ (US Fish and Wildlife Service) ประเมินว่า มีหมาป่าแดงเหลืออยู่ตามธรรมชาติเพียง 20 ตัวเท่านั้น โดยทั้งหมดอยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา

กอริลลาครอสริเวอร์

กอริลลาคอรสริเวอร์ กลัวมนุษย์และไม่ค่อยมีการพบเห็นพวกมันบ่อยนัก

WCS Nigeria
กอริลลาคอรสริเวอร์ กลัวมนุษย์และไม่ค่อยมีการพบเห็นพวกมันบ่อยนัก

 

สัตว์ชนิดนี้เป็นลิงขนาดใหญ่สายพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลก และเท่าที่ทราบมีอยู่ตามธรรมชาติเพียงประมาณ 300 ตัวเท่านั้น โดยอาศัยอยู่ตามพื้นที่ภูเขาสูงในไนจีเรียและแคเมอรูน

พวกมันกลัวมนุษย์ และไม่ค่อยมีคนพบเห็น WWF ระบุว่า กอริลลาครอสริเวอร์กระจายกลุ่มกันอย่างน้อย 11 กลุ่ม

การล่าสัตว์และการสูญเสียที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามหลักของกอริลลาชนิดนี้ แต่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society–WCS) องค์กรเอกชนอีกแห่งหนึ่ง เชื่อว่า ยังคงมีความหวัง

“ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า สูญพันธุ์ไปแล้ว กอริลลาครอสริเวอร์กำลังกลับมาอีกครั้ง WCS สนับสนุนการฟื้นตัวนี้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรอย่างสำนักงานบริการอุทยานแห่งชาติไนจีเรีย (Nigeria National Park Service) และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากผู้บริจาคจากนานาประเทศ” แอนดรูว์ ดันน์ ผู้อำนวยการ WCS สำนักงานไนจีเรีย ระบุในแถลงการณ์

แมลงวันดอกไม้ยุโรป

ยาฆ่าแมลงและการทำการเกษตรเป็นปัญหาหลักของแมลงวันดอกไม้

Getty Images
ยาฆ่าแมลงและการทำการเกษตรเป็นปัญหาหลักของแมลงวันดอกไม้

 

แมลงเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผสมเกษรดอกไม้และขยายพันธุ์พืช

ในเดือน ต.ค. IUCN ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่พบว่า เกือบ 40% ของแมลงวันดอกไม้ยุโรปสายพันธุ์ต่าง ๆ เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ โดยจำนวนนี้มี 5 สายพันธุ์ที่ได้รับการจัดอันดับว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

การเกษตรแบบเข้มข้นเป็นตัวผลักดันหลักที่ทำให้ประชากรแมลงวันดอกไม้ลดจำนวนลง

“ในการพลิกชะตากรรมของแมลงวันดอกไม้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของเราอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร ให้มีความยั่งยืนและส่งผลดีต่อธรรมชาติ” ดร.บรูโน โอเบอร์ลี ผู้อำนวยใหญ่ IUCN ระบุในแถลงการณ์


ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว