“บ็อกบอดี้” เมื่อศพบอกเล่าชีวิตหฤโหดของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

เมื่อปี 1950 ครอบครัวชาวเดนมาร์กที่กำลังขุดเอาถ่านหินเลน (peat) ขึ้นจากบริเวณที่ลุ่มมีน้ำขังใกล้บ้านเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ได้พบเข้ากับร่างไร้ชีวิตของชายวัยกลางคนผู้หนึ่งจมอยู่ใต้น้ำตื้น ท่ามกลางพงหญ้าและมอสส์ที่งอกงามเหนือพื้นโคลนของพรุ (bog) ซึ่งเต็มไปด้วยซากพืชเน่าเปื่อยทับถมกันอยู่

ศพนั้นอยู่ในท่านอนขดงอตัวเหมือนทารกในครรภ์ ใบหน้าเรียบเฉยดูสงบเยือกเย็นอย่างประหลาด แต่ที่คอนั้นมีเชือกหนังเส้นหนึ่งผูกเป็นบ่วงคล้องติดอยู่ด้วย

ตำรวจที่ได้รับแจ้งเหตุฆาตกรรมรีบรุดมาตรวจสอบ ก่อนจะพบว่านี่ไม่ใช่ศพธรรมดา ทั้งไม่ใช่ร่างของเหยื่อเหตุสังหารที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

ทีมนักโบราณคดีในท้องถิ่นที่ติดตามมาในภายหลังลงความเห็นว่า ศพของชายวัยกลางคนดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ถึง 2,400 ปี แต่กลับอยู่ในสภาพสมบูรณ์โดยลายนิ้วมือและริ้วรอยบนใบหน้ายังปรากฏอยู่อย่างชัดเจน

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ศพแช่อยู่ในน้ำเย็นจัดที่มีสาร Sphagnan จากหญ้ามอสส์ ซึ่งทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดอย่างอ่อนและมีปริมาณออกซิเจนต่ำมากจนจุลินทรีย์และแมลงรวมทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบไม่อาจทำให้ศพย่อยสลายได้

เรื่องราวทั้งหมดนี้คือประวัติความเป็นมาของ “ทอลลุนด์แมน” (Tollund Man) หนึ่งในมัมมี่จากหนองน้ำของยุโรปเหนือที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เศษอาหารมื้อสุดท้ายในกระเพาะยังบ่งชี้ว่า ชายผู้เคราะห์ร้ายจากยุคเหล็ก (Iron Age) ได้ตกเป็นเหยื่อของพิธีบูชายัญมนุษย์ โดยถูกแขวนคอเพื่อบวงสรวงเหล่าทวยเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์

ปัจจุบันนักโบราณคดีค้นพบมัมมี่แบบเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเสียหายบางส่วน รวมทั้งโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมากจาก “พรุ” หรือบริเวณที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปีแล้วกว่า 2,000 ร่าง โดยเรียกศพโบราณประเภทนี้รวมกันว่า “บ็อกบอดี้” (bog bodies) ซึ่งหมายถึงร่างมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่จมอยู่ในพรุนั่นเอง

ล่าสุดงานวิจัยของทีมนักโบราณคดีนานาชาติจากเนเธอร์แลนด์ สวีเดน และเอสโตเนีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Antiquity ได้ทำการศึกษาอย่างครอบคลุมกับ “บ็อกบอดี้” ถึงกว่า 1,000 ร่าง ทั้งจากที่พบในแถบสแกนดิเนเวีย ภูมิภาคยุโรปเหนือ และยุโรปตะวันออกแถบทะเลบอลติกหลายประเทศ

ผลการศึกษาพบว่า ธรรมเนียมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่จะฝังร่างผู้วายชนม์บางคนไว้ในพรุในบางกรณีนั้น ถือปฏิบัติติดต่อกันมาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 7,000 ปี โดยคาดว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคหินใหม่เมื่อราว 5,000 ปีก่อน ในดินแดนแถบสแกนดิเนเวียตอนใต้

ธรรมเนียมนี้ได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างและสืบทอดกันมาจนถึงยุคเหล็ก หรือราว 3,200 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่พิธีกรรมนี้ได้รับความนิยมสูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์

นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นยังชี้ว่า ยังคงมีการฝังศพในพรุมาจนถึงยุคจักรวรรดิโรมันและช่วงยุคกลางของยุโรป รวมทั้งช่วงเวลาที่ย่างเข้าสู่ “สมัยใหม่” ของมนุษยชาติหลังจากนั้นด้วย โดยบ็อกบอดี้ยุคใหม่เหล่านี้มักพบในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และเยอรมนี

วัฒนธรรมของภูมิภาคยุโรปเหนือในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ถือว่าพรุและหนองบึงบางแห่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามปกติแล้วมักจะพบมัมมี่หรือโครงกระดูกโบราณในพรุเพียงแห่งละ 1 ร่าง ซึ่งแสดงถึงการประกอบพิธีกรรมในช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก เช่นเหตุทุพภิกขภัยรุนแรงอาจทำให้ต้องบูชายัญด้วยบุคคลสำคัญที่เป็นกษัตริย์หรือชนชั้นสูง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจทำให้ต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

แต่พรุหลายแห่งก็มีการค้นพบมัมมี่หรือโครงกระดูกจำนวนมากด้วย เช่นที่ Alken Enge ของเดนมาร์ก พบบ็อกบอดี้ที่เป็นโครงกระดูกอยู่รวมกันมากที่สุดถึง 380 ร่าง โดยคาดว่า เป็นศพของชาวบ้านที่ถูกสังหารหมู่ในสงครามช่วงศตวรรษที่ 1

พรุหลายแห่งมีร่องรอยของการใช้ฝังศพซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยจะพบบ็อกบอดี้อยู่ตามพรุประเภทนี้ 2-100 ร่างด้วยกัน ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะมาจากเหตุรุนแรงที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการบูชายัญเสมอไป ร่องรอยทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่กับศพเช่นรอยสัก ของใช้ หรือเครื่องประดับของผู้ตาย บ่งบอกว่า บางคนอาจเป็นอาชญากรที่ถูกลงโทษประหารก็เป็นได้

ดร. รอย ฟาน บีก ผู้นำทีมวิจัยชาวดัตช์บอกว่า “เราพบร่างที่ทราบถึงสาเหตุการตายได้อย่างแน่ชัด 57 ร่าง ในจำนวนนี้ 45 ร่างเสียชีวิตเพราะถูกทำร้าย แต่ก็มีบางรายที่หลักฐานชี้ว่า เป็นการฆ่าตัวตายหรือประสบอุบัติเหตุจมน้ำตาย”

การที่ศพบางส่วนไม่กลายเป็นมัมมี่ แต่ถูกสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของพรุรักษาไว้ในรูปแบบของโครงกระดูกแทนนั้น อาจเนื่องมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะฝังศพ รวมทั้งความแตกต่างทางเคมีของพรุแต่ละแห่ง โดยร่างที่จมลงใต้น้ำอย่างรวดเร็วจะคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่า ในขณะที่น้ำซึ่งมีค่าความเป็นด่างสูงกว่าจะไม่อาจรักษาเนื้อเยื่อของศพไว้ได้

ดร. รอย ฟาน บีก ผู้นำทีมวิจัยกล่าวสรุปว่า “พรุและพื้นที่น้ำขังเหล่านี้ นอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ชนิดพิเศษสูงมากแล้ว ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ช่วยมนุษย์ต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันยังเป็นคลังเก็บของล้ำค่าซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเรา”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว