ทายาทอาณาจักรเพชรร้อยล้านในอินเดีย ทำไมเลือกบวชชีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ

เทวันชี สังข์วี เกิดมาในครอบครัวฐานะร่ำรวย / RUPESH SONAWANE

เด็กหญิงเทวันชี สังข์วี วัย 8 ขวบ ควรจะได้เติบโตบนกองเงินกองทอง และกลายเป็นเจ้าของธุรกิจเพชรมูลค่าหลายร้อยล้านบาท  

แต่บุตรสาวของพ่อค้าเพชรผู้มั่งคั่งชาวอินเดีย กลับเลือกชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและระเบียบวินัย แต่งกายในชุดส่าหรีสีขาว เดินเท้าเปล่า ไปตามบ้านเรือนผู้คน เพื่อขอบิณฑบาต

นั่นเพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด.ญ. เทวันชี บุตรสาวคนโตของธเนศ และอามี สังข์วี เจ้าของธุรกิจค้าเพชรรายใหญ่ ได้ประกาศละทางโลก เข้าสู่ทางธรรม ด้วยการบวชชี

เทวันชี สังข์วี เกิดมาในครอบครัวฐานะร่ำรวย / RUPESH SONAWANE

แม่ชีสังข์วี เป็นหนึ่งในผู้นับถือศาสนาเชน ที่มีกว่า 4.5 ล้านคน ศาสนาเชนเป็นหนึ่งในศาสนาขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ถือกำเนิดขึ้นในอินเดีย มากกว่า 2,500 ปีก่อน

นักวิชาการด้านศาสนาระบุว่า จำนวนผู้นับถือศาสนาเชนที่ละทางโลกมีจำนวนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กรณีเด็กหญิงอายุเพียง 8 ขวบ อย่างเทวันชี ที่บวชเป็นชีนั้น ถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ระหว่างพิธีบวชเมื่อวันพุธที่แล้ว (18 ม.ค. 2 565) ที่เมืองสุรัต ในรัฐคุชราต ทางตะวันตกของประเทศ, สังข์วี ได้กล่าว “ดิกษ” หรือ การประกาศสละแล้วซึ่งทางโลก ต่อหน้านักบวชเชนอาวุโสหลายองค์และมีผู้เข้าร่วมพิธีหลายหมื่นคน

พ่อแม่ของ ด.ญ. สังข์วี เข้าร่วมพิธีด้วย โดยเดินเคียงข้าง เด็กหญิงซึ่งนุ่มห่มด้วยอาภรณ์ผ้าฝ้าย ตกแต่งด้วยเครื่องเพชรมากมายบนศีรษะสวมมงกุฎเพชรมูลค่าสูง

เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ด.ญ. สังข์วี ยืนเคียงข้างแม่ชีคนอื่น ๆ ที่ล้วนแต่งกายในชุดส่าหรีสีขาวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า บดบังศีรษะที่ถูกโกนจนเกลี้ยงเกลา ในมือของแม่ชีน้อย เธอถือไม้กวาดเพื่อใช้ปัดแมลงให้พ้นทางเพื่อที่จะไม่เผลอเหยียบพวกมัน

RUPESH SONAWANE

RUPESH SONAWANE
เทวันชี และพ่อแม่ของเธอ ซึ่งเป็นพ่อค้าเพชรชื่อดัง

นับแต่พิธีบวช แม่ชีสังข์วีอาศัยอยู่ที่ศาสนสถาน “อูปาชรายา” ที่ซึ่งนักบวชและแม่ชีของศาสนาเชนพำนักอาศัย

“เธออาศัยที่บ้านไม่ได้อีกต่อไป พ่อแม่ของเธอ ก็ไม่ใช่พ่อแม่ของเธออีกต่อไป เธอเป็นแม่ชีสังข์วีแล้ว” กีรติ ชาห์ พ่อค้าเพชรในเมืองสุรัต ซึ่งเป็นเพื่อนกับครอบครัวสังข์วี และยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่นสังกัดพรรคภารติยะ ชนะตะ กล่าว

“ชีวิตของแม่ชีเชนนั้น ศักดิ์สิทธิ์มาก ต่อจากนี้เธอต้องเดินเท้าตลอด ขึ้นพาหนะอะไรก็ไม่ได้ เธอจะนอนบนผืนผ้าสีขาวบนพื้น และทานอาหารหลังพระอาทิตย์ตกไม่ได้” เขาเสริม

แม่ชีสังข์วี เป็นสมาชิกของลัทธิศาสนาเชนที่อนุญาตให้เด็กบวช ในขณะที่ลัทธิอื่นอีก 3 แห่ง อนุญาตให้ผู้ใหญ่เท่านั้นบวชเป็นนักบวชและแม่ชี

พ่อแม่ของแม่ชีสังข์วีเป็นที่รู้จักในชุมชนว่า “เลื่อมใสในศาสนามาก” โดยสื่ออินเดียรายงานข่าว อ้างคำพูดของเพื่อน ๆ ของครอบครัวสังข์วีว่า ด.ญ. สังข์วี “ถูกฟูมฟักให้เข้าสู่โลกแห่งจิตวิญญาณตั้งแต่เธอยังเป็นทารก”

“เทวันชี ไม่เคยดูโทรทัศน์ ไม่เคยเข้าโรงภาพยนตร์ ไม่เคยไปห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร” ไทม์ส ออฟ อินเดีย รายงาน

“ตั้งแต่ยังเด็ก ด.ญ. เทวันชี สวดภาวนา 3 ครั้งต่อวัน และถือศีลอดตั้งแต่อายุแค่ 2 ขวบ”

หนึ่งวันก่อนพิธีบวชชี ครอบครัวของเธอได้จัดงานเฉลิมฉลอง และเดินขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ในเมืองสุรัต

ประชาชนหลายพันคนได้รับชมขบวนอูฐ ม้า วัวลากเกวียน กลองวง และกลุ่มชายโพกหัว แห่นั่งร้านขนาดใหญ่บนท้องถนน ห้อมล้อมด้วยนักเต้นและนักแสดง ที่สร้างบรรยากาศให้ครื้นเครง

ด.ญ. เทวันชี (ที่ตอนนี้มีสถานะเป็นแม่ชี) และพ่อแม่ของเธอ นั่งอยู่บนนั่งร้านขนาดใหญ่ ลากจูงด้วยช้างหนึ่งเชือก เมื่อเดินผ่านไปที่ใด ฝูงชนก็จะโปรยกลีบกุหลาบสีขาวไปตามทาง

ไม่เพียงแต่ที่เมืองสุรัต แต่พิธีเฉลิมฉลองยังจัดขึ้นที่นครมุมไบ และเมืองแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม ที่ตระกูลสังข์วีมีธุรกิจอยู่

แม้ชุมชนผู้นับถือศาสนาเชนจะสนับสนุนการบวชชีของเด็กหญิง แต่การบวชชีของ ด.ญ. สังข์วี ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม บางคนตั้งคำถามว่า ทำไมครอบครัวของเธอไม่รอให้เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อน เพื่อที่จะตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้

RUPESH SONAWANE

RUPESH SONAWANE
พิธีแห่อย่างยิ่งใหญ่ หนึ่งวันก่อนพิธีบวชของเทวันชี

ชาห์ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีดิกษ แต่เลือกไม่เข้าร่วม เพราะรู้สึกไม่ดีกับการบวชชีเด็ก ยืนกรานว่า “ไม่มีศาสนาใดที่ควรอนุญาตให้เด็กบวช”

“เธอเป็นแค่เด็ก เธอเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นดีแค่ไหน” เขาตั้งคำถาม “เด็กวัยแค่นี้ ยังตัดสินใจเลือกสาขาที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยเองไม่ได้ด้วยซ้ำ จนกว่าจะอายุ 16 ปี แล้วพวกเขาจะตัดสินใจอะไรแบบนี้ ที่จะกระทบทั้งชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร”

สำหรับเด็กเล็กที่ประกาศละแล้วซึ่งทางโลก ยกสถานะสู่บุคคลผู้ศักดิ์สิทธิ์ จนชุมชนออกมาร่วมเฉลิมฉลอง เธออาจมองว่าเป็นงานสังสรรค์ แต่สำหรับศาสตราจารย์นิลิมา เมห์ตา ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กในนครมุมไบแล้ว มองว่า “เด็กจะเผชิญกับความยากลำบากและการถูกกีดกันอย่างยิ่งยวด”

“ชีวิตในฐานะแม่ชีศาสนาเชน มันยากลำบากมาก ๆ” เธอกล่าว

คนในชุมชนละแวกที่ครอบครัวสังข์วีอาศัยอยู่ แสดงความกังวลเช่นกัน เพราะเด็กหญิงต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ ทั้งที่อายุยังน้อย

และเมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไปในโลกสังคมออนไลน์ ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ครอบครัวสังข์วีว่า กำลังละเมิดสิทธิเด็ก

ชาห์ กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียควรเข้ามาแทรกแซง และยุติธรรมเนียมการให้เด็กละทางโลก แล้วบวชเป็นพระหรือแม่ชีตั้งแต่อายุยังน้อย

Getty Images

Getty Images
แม่ชีสังข์วี แต่งกายในชุดส่าหรีสีขาว เธอต้องเดินเท้าเปล่า บิณฑบาตตามบ้านเรือน

ทีมข่าวบีบีซีในอินเดีย ระบุว่า โอกาสที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงมีน้อยมาก โดยทีมข่าวได้ติดต่อไปยังสำนักงานของนายปรียังก์ คานุนโก ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิเด็ก เพื่อสอบถามท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องนี้ แต่ทางสำนักงานตอบว่า เขาไม่ต้องการแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเพราะ “เป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

ด้านนักเคลื่อนไหวมองว่า สิทธิของ ด.ญ. เทวันชี ถูกละเมิด

ศาสตราจารย์ เมห์ตา ชี้ว่า หากใครพูดว่าเด็กเลือกบวชด้วย “ความตั้งใจของตนเอง” อันที่จริง กรณีนี้ “ความยินยอมของผู้เยาว์ไม่ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย”

“ตามกฎหมายแล้ว บุคคลต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ถึงจะตัดสินใจอะไรเองได้ จนถึงเวลานั้น ผู้ปกครองมีสิทธิตัดสินแทนบุตรหลานว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา”

“แต่ถ้าการตัดสินใจนั้น ลิดรอนการเข้าถึงการศึกษาและสันทนาการของเด็ก ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเธอ”

แต่สำหรับ ดร. ไบปิน โดชิ อาจารย์สอนปรัชญาศาสนาเชนที่มหาวิทยาลัยแห่งมุมไบ อธิบายว่า “คุณไม่สามารถใช้หลักการทางกฎหมายกับโลกแห่งจิตวิญญาณได้”

RUPESH SONAWANE

RUPESH SONAWANE
สื่อรายงานว่า สังข์วี สวดภาวนา 3 ครั้งต่อวัน และเริ่มถือศีลอดตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

“บางคนกล่าวว่า เด็กยังโตไม่พอจะตัดสินใจ แต่มันก็มีเด็กที่มีสติปัญญาล้ำเลิศกว่า และทำอะไรได้มากกว่าผู้ใหญ่แม้อายุยังน้อย กรณีเดียวกัน มันก็มีเด็กที่หลงใหลในด้านจิตวิญญาณอย่างมาก แล้วมันผิดอะไรที่พวกเขาจะบวช” เขาถามกลับ

ไม่เพียงเท่านั้น ดร.โดชิ ยืนกรานว่า แม่ชีเทวันชี ไม่ตกอยู่ในอันตรายแต่อย่างใด

“เธออาจถูกห้ามไม่ให้เข้าถึงความบันเทิง แต่ความบันเทิงเหล่านั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนหรือ ผมไม่เชื่อว่า เธอจะมีชีวิตที่ถูกลิดรอนความรักและการศึกษา เพราะเธอจะได้ความรักจากครูบาอาจารย์ ได้เรียนเรื่องความซื่อสัตย์และการละซึ่งทางโลก นั่นเป็นชีวิตที่ดีกว่าไม่ใช่หรือ”

ดร.โดชิ ยังเสริมว่า เทวันชีสามารถเปลี่ยนใจได้ในภายหลัง หากคิดว่า “ตัดสินใจผิด” เธอก็สามารถกลับเข้าสู่ทางโลกได้

แต่ศาสตราจารย์เมห์ตา ถามกลับว่า แล้วทำไมไม่รอให้เธอเป็นผู้ใหญ่ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจล่ะ

“ความนึกคิดของเยาวชนเปลี่ยนไปได้ตามอิทธิพลที่ได้รับ ในอีกไม่กี่ปีจากนี้เธออาจคิดว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่เธอต้องการก็ได้” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่ามีหลายกรณีที่ผู้หญิงเปลี่ยนใจเลือกเส้นทางชีวิตอื่นเมื่ออายุมากขึ้น

ศ. เมห์ตา กล่าวว่า เมื่อไม่กี่ปีก่อนเธอได้รับเรื่องดูแลแม่ชีศาสนาเชนที่อายุยังน้อยรายหนึ่งที่หนีออกจากศาสนสถาน เพราะเธอรู้สึกบอบช้ำทางจิตใจ

เด็กหญิงอีกคนหนึ่งที่เลือกละซึ่งทางโลก บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ได้สร้างข่าวอื้อฉาวในสังคมเมื่อปี 2009 เพราะเมื่อเธออายุได้ 21 ปี เธอก็หนีตามไปแต่งงานกับแฟนหนุ่ม

“เยาวชนล้วนทุกข์ทรมานในทุกศาสนาของโลก แต่การท้าทายสิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนา” เธอกล่าว ก่อนปิดท้ายว่า ครอบครัวและสังคมควรได้รับการศึกษาว่า “เด็กไม่ใช่ทรัพย์สินของพ่อแม่” แต่พวกเขาเป็นชีวิตหนึ่งที่เลือกเส้นทางเดินเองได้

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว