ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่า “รถมินิบัส” พุ่งเฉียดโลกในระยะใกล้กว่าดาวเทียมบางดวง

 

สถิติชี้ว่า มนุษย์ค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้เพียง 40% เท่านั้น

Getty Images
สถิติชี้ว่า มนุษย์ค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้เพียง 40% เท่านั้น

ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ได้พุ่งผ่านโลกไปแล้ว หลังเกิดความวิตกกันมานานหลายวัน

ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ารถมินิบัส มีชื่อเรียกว่า 2023 BU ได้พาดผ่านปลายสุดทางใต้ของแถบอเมริกาใต้ไปเมื่อเวลา 7.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย

ดาวเคราะห์น้อยพุ่งผ่านโลกไปโดยอยู่ห่างจากโลก 3,600 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มาก

เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่อีกหลายดวง ที่ยังซ่อนตัวและเร้นกายอยู่ใกล้โลก และนักดาราศาสตร์ยังไม่ได้ค้นพบพวกมัน

ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ถูกพบโดยนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่น ชื่อ เจนนาดีย์ โบริซอฟ ที่สำรวจห้วงอวกาศอยู่ในคาบสมุทรไครเมีย ที่รัสเซียผนวกรวมเข้ามาจากยูเครนเมื่อปี 2014

ยิ่งสำรวจและสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ก็ยิ่งทำให้นักดาราศาสตร์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ทั้งขนาด และวงโคจรของมัน

ผลการตรวจสอบอย่างละเอียด ทำให้นักดาราศาสตร์มั่นใจว่า ดาวเคราะห์น้อยจะไม่พุ่งชนโลกแน่นอน อย่างไรก็ดี มันได้พุ่งผ่านโลกเข้ามาใกล้ในระยะที่ใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคม ซึ่งจะอยู่ห่างจากโลก 36,000 กิโลเมตร

โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนดาวเทียมนั้นจึงน้อยมาก

ห้วงเวลาที่ดาวเคราะห์น้อยอยู่ใกล้โลกมากที่สุด คือ 7.27 น. ตามเวลาในประเทศไทย

และแม้ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU มีวิถีพุ่งตรงมายังโลกจริง ก็เชื่อว่าความเสียหายต่อโลกจะไม่มากนัก

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาด 3.5 -8.5 เมตร ซึ่งเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ดาวเคราะห์น้อยจะเผชิญกับความร้อนมหาศาล จนแตกสลายไปในชั้นบรรยากาศ หลงเหลือเพียงลูกไฟขนาดเล็ก พุ่งผ่านเหนือน่านฟ้าให้เราเห็นเท่านั้น

NASA

NASA
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เข้าใกล้โลกมากกว่าดาวเทียมเสียอีก

หากเทียบกันแล้ว อุกกาบาตเชเลียบินสค์ ที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัสเซีย เมื่อปี 2013 จะมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่า เพราะมีขนาดเกือบ 20 เมตรเลยทีเดียว ทำให้การเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกของมัน ก่อให้เกิดคลื่นกระแทก ที่ทำให้กระจกแตก

นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรบริหารการบินและอวกาศ หรือ นาซา ระบุว่า วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ได้ถูกเปลี่ยนวิถีไป จากการพุ่งเข้ามาใกล้โลก เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกได้ดึงดาวเคราะห์น้อยเข้ามาใกล้ และเปลี่ยนเส้นทางของมันในอวกาศไปแล้ว

“เมื่อมันเข้ามาใกล้โลก วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อยที่แต่เดิมแทบเป็นวงกลม และใกล้เคียงกับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ที่ใช้เวลา 359 วัน เพื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์” นาซา ระบุในแถลงการณ์

“การได้เข้ามาใกล้โลก ทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยยืดออกไป ราวครึ่งหนึ่งของระยะทางระหว่างวงโคจรของโลก และวงโคจรของดาวอังคาร… ตอนนี้ ดาวเคราะห์น้อยจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เปลี่ยนเป็น 425 วัน”

ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ พยายามมากขึ้นเพื่อควานหาดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ และอาจเป็นอันตรายต่อโลกได้ เหมือนกับ ดาวเคราะห์น้อย “สัตว์ประหลาด” ขนาดยักษ์กว้างถึง 12 กิโลเมตร ที่เคยพุ่งชนโลกและทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์มาก ๆ เหล่านี้ ได้ถูกค้นพบหมดแล้ว จึงหมดความวิตกไปได้ระดับหนึ่ง แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่า 150 เมตรนั้น ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้เรายังหาไม่เจออยู่

สถิติชี้ว่า มนุษย์ค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้เพียง 40% เท่านั้น

ดาวเคราะห์ขนาดเท่านั้น ยังเพียงพอจะสร้างความเสียหาย ทำลายเมืองได้ หากพุ่งชนโลก

ศาสตราจารย์ ดอน พอลลักโก จากมหาวิทยาลัยแห่งวอร์วิค สหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซีว่า “มันยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกมาก ที่อาจพาดผ่านวงโคจรโลก ที่ยังรอเราค้นพบ”

“มนุษย์เพิ่งค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ซึ่งมีขนาดเท่ารถมินิบัส ทั้งที่มันคงพาดผ่านโลกมาแล้วหลายพันครั้ง โดยครั้งนี้มันเข้าใกล้โลกในระยะเพียง 3,600 กิโลเมตร หรือคิดเป็น ระยะทาง 1% ของระยะห่างของโลกกับดวงจันทร์ ถือว่าเรียกว่าเฉียดโลกก็ว่าได้”

“ยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกมากที่มนุษย์ยังไม่ค้นพบ และอาจมีศักยภาพที่จะทะลวงชั้นบรรยากาศโลก ก่อนพุ่งชนพื้นโลกจนสร้างความเสียหายมหาศาลได้… นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เราอาจต้องเจอสถานการณ์เช่นนั้นสักวันหนึ่ง”


ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว